สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การแก้ปัญหาหนี้ที่ยั่งยืน : บทบาทของรัฐและธนาคาร

การแก้ปัญหาหนี้ที่ยั่งยืน : บทบาทของรัฐและธนาคาร

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ยุคนี้เรื่อง“หนี้”นับว่าเป็นปัญหาอันดับต้นๆของคนไทยก่อให้เกิดความเครียด ความทุกข์ทรมานและบางครั้งก็ถึงแก่ชีวิต

ในเมื่อประชาชนเดือดร้อน รัฐบาลทุกชุดก็พยายามช่วย แต่มักจะลงเอยด้วยการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น ยกหนี้ให้ หรือจ่ายหนี้นอกระบบให้ โดยแทบไม่เคยแตะ “ราก” ของปัญหา

ล่าสุดในเดือนต.ค. 2557 กระทรวงการคลังผุดแนวคิด “นาโนไฟแนนซ์” ซึ่งผู้เขียนอ่านแล้วก็ไม่เห็นแตกต่างจากแนวคิด “ไมโครไฟแนนซ์” หรือการเงินขนาดจิ๋วเน้นลูกค้าคนจนที่ไม่มีหลักประกัน ฟังเหมือน “เหล้าเก่าในขวดใหม่” มากกว่า

การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยั่งยืนไม่ใช่การยกหนี้หรือบอกธนาคารรัฐให้ปล่อยกู้เพิ่ม แต่ควรเริ่มจากการแยกแยะประเภทของ “หนี้” และ “ลูกหนี้” ให้ออก

ผู้เขียนเคยเขียนเรื่องนี้ลงคอลัมน์ “การเงินปฏิวัติ” หนังสือพิมพ์ ประชาชาติธุรกิจ ปี 2553 หรือกว่าสี่ปีที่แล้ว อยากยกเนื้อหามาอธิบายและขยายความอีกครั้ง

เป็นเหล้าเก่าในขวดเก่า เพราะเรายังก้าวไม่พ้นความเข้าใจผิด

“ลำพังการเป็นหนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้ในระบบหรือนอกระบบ ไม่ใช่ปัญหาในตัวมันเองถ้าเราชำระหนี้ได้ตรงเวลา หนี้สินเป็นปัญหาเฉพาะกรณีที่ลูกหนี้มีหนี้เกินตัว ชำระหนี้ไม่ได้เลย ต้องค้างชำระหรือไม่ก็กู้เงินจากเจ้าหนี้รายใหม่มาโปะหนี้ก้อนเก่า ที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “ผลัดผ้าขาวม้า”

ในเมื่อหนี้เป็นเรื่องส่วนตัว ลองมาดูกรณีตัวอย่างกันเล็กน้อยเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น

ลูกหนี้คนแรกชื่อพัชรี กู้เงินธนาคารมาเปิดร้านขายของชำในหมู่บ้าน มีรายได้พอใช้หนี้ธนาคารทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยตรงเวลาทุกงวดตลอดปีแรก แต่พอขึ้นปีที่สอง สามีของเธอเกิดล้มป่วยกะทันหันจนต้องเข้าโรงพยาบาล ทั้งครอบครัวไม่มีใครเคยทำประกัน มีเงินออมไม่มากพอที่จะจ่ายค่ารักษาส่วนที่นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคไม่จ่ายให้ สถานการณ์บีบคั้นให้เธอต้องเอารายได้จากการขายของมาช่วยสามีก่อน แล้วไปกู้เงินจากเจ้าหนี้นอกระบบในหมู่บ้านมาจ่ายธนาคาร (กรณีนี้เท่ากับเอาเงินกู้ในระบบออกไปนอกระบบ)

ถ้าโชคช่วยและดอกเบี้ยนอกระบบไม่โหดหินเกินความสามารถของพัชรีในการจ่าย เธอก็จะสามารถทยอยชำระหนี้ก้อนใหม่ได้จากการขายของชำ เหมือนก่อนหน้านี้ที่ชำระหนี้ธนาคารได้ แต่ความมั่นคงในชีวิตของเธอและครอบครัวอาจลดน้อยถอยลง เช่น ก่อนหน้านี้ตอนที่จ่ายดอกเบี้ยธนาคารร้อยละ 7 ต่อปี สามีก็ทำงาน ครอบครัวของเธออาจออมเงินได้เดือนละ 3,000 บาท แต่ตอนนี้เมื่อผลัดผ้าขาวม้าไปเป็นหนี้นอกระบบ สามีก็ล้มป่วยทำงานไม่ได้ เธอก็ออมเงินไม่ได้เลยเพราะต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อเดือน เท่ากับร้อยละ 36 ต่อปี สูงกว่าดอกเบี้ยธนาคารกว่า 5 เท่า พัชรีต้องกัดฟันผ่อนชำระหนี้ก้อนนี้ให้หมดก่อนที่จะออมเงินได้ใหม่

ในบริบทเช่นนี้ การผลัดผ้าขาวม้าของพัชรีจึงเป็นการกระทำที่ทั้งเข้าใจได้และน่าเห็นใจ การที่เธอชำระหนี้ธนาคารไม่ได้ด้วยตัวเอง ย่อมไม่ได้แปลว่าเธอเป็นลูกหนี้ที่ไม่ดี อยากเบี้ยวหรือไม่รับผิดชอบแต่อย่างใด แต่เผชิญกับเหตุสุดวิสัย (สามีล้มป่วย) ที่ทำให้ประสบปัญหาทางการเงิน

มาดูอีกกรณีหนึ่ง ลูกหนี้คนนี้ชื่อนายพิชัย ทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศในกรุงเทพฯ ไม่มีครอบครัว เขาใช้ชีวิตอย่างสนุกสนานและปราศจากการวางแผนทางการเงิน เรื่องเงินออมไม่ต้องพูดถึง เงินเดือนและโบนัสของพิชัยพอจ่ายสินเชื่อคอนโดและรถยนต์ที่เขาผ่อน แต่ไม่พอสำหรับไลฟ์สไตล์ฟู่ฟ่าและฟุ้งเฟ้อที่เขาชอบ ทำให้พิชัยมีบัตรเครดิต 4-5 ใบ ใช้เต็มวงเงินและหมุนเงินไม่ทัน ต้องหันไปพึ่งเงินด่วนเสาไฟฟ้า กลายเป็นลูกหนี้นอกระบบและถูกทวงหนี้แบบข่มขู่คุกคามหลังจากที่ผิดนัด

ลูกหนี้สมมุติรายต่อมาชื่อ นายไพศาล เกษตรกรรายย่อยจากชัยภูมิ มีที่นาเป็นของตัวเอง 20 ไร่ มีรายได้จากการปลูกพืชเศรษฐกิจขาย ส่วนใหญ่เป็นข้าวและข้าวโพด เขาเป็นหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) สี่แสนบาทมาหลายปีแล้ว ถึงแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะค่อนข้างถูกคือร้อยละ 5 ต่อปี เขาก็ยังประสบปัญหาชำระหนี้ไม่ได้หลายครั้ง ต้องผลัดผ้าขาวม้าบางส่วนจากกลุ่มออมทรัพย์ในหมู่บ้าน เพราะขายข้าวและข้าวโพดไม่ได้ราคาดีพอที่จะไปชำระหนี้ หลังจากหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ต้องใช้ในการเพาะปลูก โดยเฉพาะค่าปุ๋ยและค่าน้ำมันรถไถที่สูงขึ้นทุกปี

นอกจากนี้ ปีหลังๆ ไพศาลต้องประสบกับปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงและถี่กว่าสมัยก่อนมาก ผลผลิตที่เคยคิดว่าจะได้กลับไม่ได้ ซ้ำเติมภาระหนี้สินให้สาหัสขึ้นเรื่อยๆ

สังคมไทยปัจจุบันเต็มไปด้วยคนอย่างพัชรี พิชัย กับไพศาล ที่ซับซ้อนคือลูกหนี้จำนวนมากเป็นส่วนผสมของคนทั้งสามในคนคนเดียว นั่นคือ หนี้บางก้อนจ่ายไม่ได้เพราะกู้มาใช้จ่ายยามฉุกเฉินและรายได้ยังไม่พอใช้ บางก้อนจ่ายไม่ได้เพราะอยากมีไลฟ์สไตล์ที่โก้หรูเกินฐานะของตัวเอง และบางก้อนก็จ่ายไม่ได้เพราะประกอบอาชีพที่ได้กำไรน้อยหรือมีความเสี่ยงสูงมาก

การแก้ปัญหาหนี้ที่ยั่งยืนจึงใช้วิธีการแบบเหมารวมไม่ได้ ต้องแยกแยะให้ออกระหว่างหนี้แต่ละแบบ ซึ่งแตกต่างกันไปตามสถานการณ์เฉพาะตัวของลูกหนี้แต่ละคน

หลักการสำคัญของการแก้ปัญหาหนี้อยู่ที่การหา “ทางสายกลาง” ให้พบ ระหว่างการยกหนี้ให้เฉยๆ ทั้งจำนวน (ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหา “จริยวิบัติ” (moral hazard) คือลูกหนี้จงใจก่อหนี้เกินตัวในอนาคตเพราะเชื่อว่าเดี๋ยวรัฐบาลก็มายกหนี้ให้) กับการบังคับให้ลูกหนี้จ่ายหนี้ตรงตามเงื่อนไข (ซึ่งอาจทำให้ลูกหนี้ถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัว)

ถึงที่สุดแล้ว ปัญหาหนี้ที่แท้จริง (ไม่มีเงินพอจ่าย) นั้นเป็นเพียงอาการของโรค ไม่ใช่รากสาเหตุของโรค การรักษาอาการนั้นช่วยบรรเทาความเดือดร้อนก็จริง แต่ก็บรรเทาได้เพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น ตราบใดที่ไม่แก้ปัญหาที่รากสาเหตุ ไม่ช้าก็เร็วคนจะกลับมามีปัญหาหนี้รอบใหม่

การแก้ปัญหาหนี้ที่ยั่งยืนจึงจะต้องแก้ที่รากสาเหตุ

คนอย่างพัชรีไม่น่าวิตกมากนัก เพราะไม่มีนิสัยก่อหนี้เกินตัว ปัญหาหนี้ของเธอเกิดจากเหตุสุดวิสัยจริงๆ ฉะนั้นการปรับโครงสร้างหนี้และนโยบายแก้ปัญหาหนี้นอกระบบน่าจะช่วยคนอย่างเธอได้

อย่างไรก็ดี รัฐบาลก็ควรไปดูแลด้วยว่า ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการนี้จะเต็มใจปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง และปรับปรุงศักยภาพของธนาคารในการบริหารความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม รวมถึงกระตุ้นให้ธนาคารไปศึกษาโมเดลใหม่ๆ เพื่อเจาะตลาดล่างอย่างมีกำไร ไม่ว่าจะเป็นการธนาคารผ่านมือถือ (mobile banking) การใช้ทุนทางสังคมแทนหลักประกัน การจับมือกับองค์กรการเงินฐานราก อย่างกองทุนหมู่บ้านหรือสัจจะออมทรัพย์ ให้ช่วยติดตามหนี้ให้ธนาคารแลกกับค่าธรรมเนียม ฯลฯ

ไม่ใช่ปล่อยให้ธนาคารไม่ปล่อยกู้เพราะอ้างว่าคนอย่างพัชรีมีความเสี่ยงสูงเกินไป กลายเป็นว่าอยาก “หนี” ความเสี่ยง ไม่ใช่ “บริหาร” ความเสี่ยงในระดับที่ธนาคารพึงกระทำ

คนอย่างพิชัยมีปัญหาหนี้เพราะขาดวินัยทางการเงิน กู้เงินเกินความสามารถในการชำระคืน ควรต้องตั้งข้อสังเกตกับเจ้าหนี้ที่ปล่อยกู้ด้วยว่า มีส่วนกระตุ้นให้พิชัยใช้จ่ายเงินเกินตัวหรือไม่ เช่น ซุกซ่อนค่าธรรมเนียมและเงื่อนไขสำคัญ และหละหลวมในกระบวนการปล่อยกู้ วิธีแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนของคนอย่างพิชัยคือ บรรจุเรื่อง “การอ่านออกเขียนได้ทางการเงิน” (financial literacy) เป็นวิชาบังคับตั้งแต่ระดับประถมถึงมัธยม เพื่อให้ประชาชนตระหนักในความสำคัญของการวางแผนทางการเงินและการออม

ในด้านเจ้าหนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยควรส่งเสริมการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ควบคู่ไปกับการปรับปรุงกลไกคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงิน เช่น บังคับให้สถาบันการเงินเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆ เป็นมาตรฐานเดียวกันและใช้ภาษาที่ชาวบ้านเข้าใจง่าย

ในระยะยาว รัฐควรพิจารณาออกกฎหมายยื่นล้มละลายโดยสมัครใจ (voluntary bankruptcy) สำหรับลูกหนี้รายย่อย

คนอย่างไพศาลมีปัญหาหนี้เพราะประกอบอาชีพที่ไม่ได้กำไรพอจ่ายหนี้ ปัญหาของเขาแก้ยากที่สุดเพราะอาจผูกโยงกับโครงสร้างธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม หรือเป็นความผิดพลาดเชิงนโยบาย เช่น เกษตรกรกู้เงินมาปลูกพืชเศรษฐกิจเพราะนักการเมืองคุยโวว่าจะได้ราคาดีแน่ พอถึงเวลาจริงกลับไม่ใช่ หนี้เกษตรกรกลายเป็นหนี้เสียโดยที่นักการเมืองไม่รับผิดชอบ

การแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับคนอย่างไพศาล หนีไม่พ้นการแก้ปัญหาระดับโครงสร้างอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการหาทางเพิ่มรายได้ ทลายอำนาจผูกขาดของพ่อค้าคนกลางถ้ามีการผูกขาดจริง ปรับปรุงผลิตภาพต่อไร่ สร้างกลไกลดความเสี่ยงสำหรับเกษตรกร เช่น ส่งเสริมประกันพืชผลบนดัชนีภูมิอากาศ (weather index insurance) และยกหนี้ทั้งจำนวนในกรณีที่ชัดเจนว่าหนี้นั้นเกิดจากความผิดพลาดหรือคอร์รัปชันเชิงนโยบาย เพราะเป็นหนี้ที่ไม่เป็นธรรม”


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การแก้ปัญหา หนี้ที่ยั่งยืน บทบาทของรัฐ ธนาคาร

view