สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชี้บทเรียน จำนำข้าว ราคาแพง

ชี้บทเรียน'จำนำข้าว'ราคาแพง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



 ชี้บทเรียนจำนำข้าวราคาแพง เลิกมายาคติ-จำกัดการอุดหนุน

วานนี้ (5 พ.ย.) นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอและคณะ ได้เสนอรายงานผลการศึกษา สู่แนวคิดใหม่ของนโยบายอุดหนุนภาคเกษตร:บทเรียนจากนโยบายจำนำข้าวเสนอต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มีรายละเอียดบางตอนของผลการศึกษา

โครงการจำนำข้าวปี 2554-57 เป็นโครงการแทรกแซงตลาดข้าวไทยครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยรัฐบาลใช้เงิน 9.85 แสนล้านบาท ซื้อข้าว 54.4 ล้านตัน (53% ของผลผลิต) ชาวนาเข้าโครงการมากที่สุด 1.77 ล้านราย รอบ 1 ปี 2555/56 โรงสี 826 แห่ง โกดัง 1,685 แห่ง ผู้ตรวจข้าว 20 ราย โดยชาวนาในโครงการได้รายได้ทางตรงเพิ่มขึ้น 2.96 แสนล้านบาท ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม 5.61 แสนล้านบาท โดยประโยชน์ส่วนใหญ่ตกกับชาวนารายกลางและรายใหญ่

ถ้าตีราคาสต็อกในเดือนเม.ย. 2557 จะขาดทุนรวม 5.4 แสนล้านบาท และเพิ่มเป็น 7.5 แสนล้านบาท ถ้าขายข้าวหมดใน 10 ปี แต่ถ้ารวมปัญหาข้าวในสต็อก 85% มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน (ณ ต.ค. 2557) มูลค่าขาดทุนจะเพิ่มเป็น 6.6 แสนล้านบาท และจะขาดทุนเพิ่มเป็น 9.6 แสนล้านบาทถ้าขายข้าวหมดใน 10 ปี

นโยบายจำนำข้าวก่อให้เกิดต้นทุนและความเสียหายต่อสังคม มากกว่าประโยชน์ต่อชาวนาและผู้บริโภคเป็นมูลค่า 1.23 แสนล้านบาท (ต้นทุนสวัสดิการ -1.23 แสนล้านบาท)

ชาวนาผู้เข้าร่วมโครงการและที่ไม่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว เห็นว่ามีการทุจริตในโครงการอยู่ในระดับค่อนข้างสูง และมีการทุจริตอยู่ในทุกระดับของการดำเนินงาน ถ้ารวมทุจริตส่งข้าวคุณภาพต่ำเข้าโกดังกลาง มูลค่าทุจริตจะเพิ่มเป็น 1.09 แสนล้านบาท

หลักฐานเชื่อมโยงการทุจริตระบายข้าวกับเจ้าหน้าที่รัฐ

รัฐบาลขายข้าวให้พรรคพวก โดยขายข้าว 5.3 ล้านตันให้พรรคพวกที่เสนอซื้อในราคาต่ำ ข้าวส่วนใหญ่ถูกขายในประเทศ เพราะราคาข้าวสารขายปลีกใกล้เคียงสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ มีการลักลอบนำข้าวเปลือก/ข้าวสารจากโรงสีของโครงการจำนำไปขายก่อน แล้วซื้อข้าวคุณภาพต่ำมาคืน ปรากฏรายงานข้าวหาย 2.98 ล้านตัน ณ 31 ม.ค.2556

นายหน้าใช้อิทธิพลนำข้าวเปลือกจากโรงสีไปขายให้ผู้ส่งออกข้าวนึ่ง โดยไทยสามารถส่งออกข้าวนึ่ง 4.76 ล้านตัน ในช่วงต.ค.2554-เม.ย.2557 ทั้งๆที่โครงการไม่มีการทำข้าวนึ่งและข้าวนาปรังเกือบทุกเม็ดขายให้รัฐบาลหมด

วิธีหาข้าวคืนคลัง : ใช้อิทธิพลซื้อข้าวเก่าจากโครงการจำนำในอดีต 2 ล้านตัน ข้าวคุณภาพต่ำ ข้าวต่างประเทศ มาส่งคืนคลัง นี่คือสาเหตุที่ข้าวกว่า 85% ในโกดังไม่ได้มาตรฐาน แต่ก็มีบางส่วนที่ไม่ได้นำมาคืนโกดังกลาง คือ ความไม่ชอบพามากล เมื่อมีข่าวข้าวหาย 2.98 ล้านตัน การหาข้าวมาคืนคลัง โดยการ “ยืม” ข้าวจากโครงการรับจำนำรอบ 2 ปี 2555/56 ไปคืนโครงการรอบ 1 ปี 2555/56

มีการทุจริตขายข้าวถุงของ อคส. โดยการตรวจสอบพบของการสอบสวนของคณะกรรมาธิการเกษตรวุฒิสภา

การตรวจสต็อกของ คสช.พบข้าวหายเพียง 1.2 แสนตัน ไม่น่าแปลกใจ เพราะเวลาล่วงเลยมาถึง 12 เดือน หลังมีข่าวข้าวหาย เพราะโรงสีและโกดังสามารถหาซื้อข้าวเก่าจากรัฐบาล (2 ล้านตัน) ข้าวต่างประเทศ (2-3 ล้านตัน) และข้าวตกเกรดการคัดมาตรฐานมาส่งแทนข้าวใหม่

ความเสียหายของโครงการรับจำนำเกิดจากความล้มเหลวทั้งด้านตัวนโยบาย หรือความบกพร่องในการดำเนินงาน ค่าเช่าทางเศรษฐกิจมีมูลค่า 5.85 แสนล้านบาท (41% ของGDPเกษตร) ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องลงทุนเพื่อแสวงหากำไรพิเศษนี้ เป็นการถลุงทรัพยากรแท้จริงของประเทศ และส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

การป้องกันมิให้เกิดนโยบายรับจำนำข้าวรอบที่ 3

ปัญหาสำคัญ คือ ชาวนาและสื่อมวลชนจำนวนมากยัง “ติดกับดักการจำนำข้าว” โดยคนจำนวนมากยังมีมายาคติว่า “ชาวนาเป็นคนยากจน หากรัฐไม่ช่วยเหลือ จะอยู่ไม่รอด” ซึ่งรัฐบาลจะต้องกล้ารณรงค์ สร้างทัศนคติใหม่ในหมู่ชาวนา ประชาชนและสื่อมวลชนเรื่อง การร่วมมือกันแก้ปัญหา แทนนโยบายอุดหนุนราคาได้อย่างไร

ต้องแก้กฎหมายกำหนดให้พรรคการเมืองที่หาเสียงต้องแจกแจง ภาระค่าใช้จ่ายและที่มาของเงินได้ กำหนดให้พรรคที่ชนะเลือกตั้งต้องเสนอร่างงบประมาณรายจ่ายพิเศษต่อรัฐสภา เปิดเผยบัญชีการเงินและผลการดำเนินงานต่อรัฐสภาก่อนเสนอร่างงบประมาณปีใหม่ แก้ไขกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการให้รัฐบาลต้องเปิดเผยข้อมูล หากปกปิดมีความผิด ตราพระราชบัญญัติจำกัดอำนาจรัฐในการแทรกแซงตลาด

นอกจากนี้การจัดทำบัญชีรวมของโครงการประชานิยมทุกโครงการ เมื่อสิ้นปีงบประมาณ ทั้งนี้เพื่อให้รัฐบาลและรัฐสภารับทราบค่าใช้จ่ายทั้งหมด การจัดทำรายงานอิสระเรื่องผลกระทบและบทเรียนจากโครงการรับจำนำข้าว เพื่อสรุปเป็นบทเรียนสำหรับประชาชน

การแปลงภาระขาดทุนให้เป็นหนี้การคลัง หลังจากการตรวจสอบสต็อกและจัดทำบัญชีรวมเสร็จสิ้น รัฐบาลควรทำการออกพันธบัตรเพื่อหาเงินชำระหนี้ และจัดทำแผนการชำระทั้งต้นและดอกเบี้ยให้ชัดเจน พร้อมกำหนดแนวทางการระบายข้าวในสต็อก

ข้อเสนอแนะต่อ คสช.และรัฐบาลชุดปัจจุบัน

ควรเริ่มจัดวางระเบียบใหม่ว่าด้วยการแทรกแซงตลาดแบบโปร่งใส กำหนดและเร่งรัดให้หน่วยงานรัฐจัดทำบัญชี และบัญชีรวมโครงการเสนอ สนช. และสภาปฏิรูปทุกไตรมาส จัดตั้งคณะกรรมการอิสระสอบสวนปัญหาข้าวในโกดังไม่ได้มาตรฐาน เพื่อหาสาเหตุ และให้หน่วยงานรัฐสืบสวนหาผู้รับผิดชอบทั้งผู้ประกอบการเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐมนตรี และนักการเมืองที่อยู่เบื้องหลัง

นโยบายจำนำข้าวเป็นโครงการอุดหนุนที่แพงและสร้างความเสียหายใหญ่หลวงที่สุดในประวัติศาสตร์นโยบายเกษตรไทย อุดหนุนชาวนามีฐานะ ผู้บริโภค โรงสี โกดัง ผู้ตรวจข้าว สร้างความร่ำรวยให้พ่อค้าพรรคพวก และนักการเมือง

แนวคิด“ทศวรรษใหม่ของการอุดหนุนเพื่อพัฒนาศักยภาพและเพิ่มสมรรถนะการแข่งขันของภาคเกษตร” ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องมีแผนการลงทุนใช้เงินเพื่อพัฒนาเกษตร จำกัดวงเงินอุดหนุนด้านราคา จำกัดการช่วยเหลือเฉพาะเกษตรกรยากจน/คนชรา การช่วยเหลือเกษตรกรยากจนควรเป็นเพียงการสงเคราะห์ชั่วคราวควบคู่กับการสร้างศักยภาพในการประกอบอาชีพ ใช้งบประมาณส่วนใหญ่ ในการสร้างศักยภาพในการผลิตของเกษตรกรและเกษตรกรรม (productive capacity)

การแทรกแซงตลาดควรมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ตลาดมีการแข่งขันมากขึ้น และทำงานได้ดีขึ้น ให้เกษตรกรหัวก้าวหน้า/ชุมชน/ภาคประชาสังคม/มหาวิทยาลัย/ภาคเอกชนเป็นผู้เสนอและร่วมดำเนินโครงการ โดยรัฐให้เงินทุนสนับสนุนหน่วยราชการปรับบทบาทมาเป็นผู้ประสานงาน ผู้จัดการโครงการ และติดตามประเมินผลโครงการ

การกำหนดประเภทและเงินอุดหนุนควรเริ่มจากการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรและการปรับโครงสร้างการเกษตรก่อน โจทย์ 1 : กลุ่มชาวนาเงินล้าน....ไม่น่าห่วง...ไม่ต้องอุดหนุน แต่ช่วยลดอุปสรรค ต้องมีวิจัยการตลาด และวิจัยสายพันธุ์ข้าวที่ตลาดต้องการบริโภค

ต้องหยุดการอุดหนุน โดยเฉพาะชาวนารายใหญ่ในเขตชลประทานที่ใช้น้ำฟรี

โจทย์ 2 : เกษตรทางเลือกเป็นเกษตรกรกลุ่มเล็กๆ และปราชญ์ชาวบ้าน รัฐจะมีมาตรการอย่างไรให้ชาวนากลุ่มนี้มีบทบาทช่วย นำการส่งเสริมและพัฒนาข้าวไทยในอนาคต

โจทย์ 3 : ชาวนารายเล็ก-กลางทำนาบางเวลา ทำอย่างไรจึงจะมีกำไรรวมเพิ่มจากการทำนา อาจต้องรวมแปลงนา เพื่อลดต้นทุน และแก้ปัญหาเรื่องขาดน้ำ จัดการแปลงนาใหม่ แก้กฎหมายการเช่านา แก้ดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อที่ดินแพง และข้อจำกัดเรื่องน้ำ รวมทั้งการรวมกลุ่มผลิตข้าวคุณภาพดี

โจทย์ 4 : เกษตรกรยากจนออกนอกเกษตรเท่านั้น ต้องพัฒนาทักษะและความรู้เพื่อให้ย้ายออกจากภาคเกษตร และการพัฒนาชนบท

สรุปนโยบายด้านเกษตรกร ต้องยกฐานะความเป็นอยู่ และสร้างความยืดหยุ่นให้เกษตรกร พัฒนาความรู้และการจัดการสมัยใหม่ ควบคู่กับการพัฒนาตลาด ย้ายเกษตรกรยากจนออกจากเกษตรโดยการพัฒนาทักษะควบคู่กับการพัฒนาชนบท


tdriชำแหละทุจริตจำนำข้าว1-1แสนล้าน

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...กนกวรรณ บุญประเสริฐ

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ศึกษาพฤติกรรมการทุจริต ในโครงการรับจำนำข้าวปี 2554-2557 ที่ใช้เงิน 9.85 แสนล้าบาท ในการแทรกแซงตลาดข้าวครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติการณ์ มีการรับซื้อข้าวรวม 54.4 ล้านตัน หรือประมาณ 53% ของผลผลิต

นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงกระบวนการทุจริตในการระบายข้าวที่มีมูลค่ากว่า 1.1 แสนล้านบาท ว่า เกิดจากการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ 7.8 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าทุจริต 4.5 หมื่นล้านบาท ข้าวหาย 1.2 แสนตัน และการสับเปลี่ยนข้าวที่มีคุณภาพจากโรงสีไปขายก่อน แล้วเอาข้าวคุณภาพต่ำมาคืนโกดัง ปริมาณ 5.9 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าทุจริตรวมกันกว่า 3.44 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ การเลือกข้าวขายให้พ่อค้าพรรคพวกเดียวกันในราคา 11 บาท/กิโลกรัม (กก.) ต่ำกว่าต้นทุนที่รับจำนำมา จำนวน 5.3 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าทุจริต 2.15 หมื่นล้านบาท การดำเนินการขายข้าวถุง 2.4 ล้านตัน ที่คาดว่ามีข้าวเข้าตลาดจริงเพียง 1.86 แสนตัน เมื่อคำนวณรวมกับค่าปรับปรุงคุณภาพและค่าขนส่งข้าวถุง คิดเป็นมูลค่าทุจริตกว่า 8,541 ล้านบาท

นอกจากนี้ จากการลงพื้นที่สำรวจ ได้พบพฤติกรรมการทุจริต เช่น มีการโกหกว่าขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ 1.76 ล้านตัน ในปี 2555 และ 7-8 ล้านตัน ในปี 2555-2556 แต่ตรวจหาเอกสารหลักฐานไม่เจอ โดยเฉพาะตัวเลขการส่งออกที่กรมศุลกากร ไม่พบการส่งออกโดยรัฐบาล มีเพียงข้อมูลการส่งออกของสมาคมส่งออกข้าวไทย นอกจากนี้ยังมีการปิดบังข้อมูล ด้วยการโอนหน้าที่การออกใบอนุญาตส่งออกข้าวขาวจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กลับไปที่กระทรวงพาณิชย์ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า บริษัทที่ส่งออกข้าวมีการส่งออกจำนวนและราคาเท่าไหร่

ขณะเดียวกัน ยังพบว่ามีการลักลอบขนข้าวคุณภาพดีไปขายก่อน โดยมีการรายงานว่าข้าวหาย 2.98 ล้านตัน เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2556 แต่กว่าที่จะมีการประกาศออกมา ก็เดือน มิ.ย. 2556 โดย สุภา ปิยะจิตติ ประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีข้าว

การลักลอบขนข้าวคุณภาพออกไป จากนั้นมีการซื้อข้าวคุณภาพต่ำเข้ามาคืนโกดัง ทั้งข้าวเก่าในยุครัฐบาลทักษิณ ประมาณ 2 ล้านตัน และข้าวคุณภาพต่ำจากประเทศเพื่อนบ้านมาแทน จนปริมาณเพิ่มขึ้น 3 ล้านตัน และคาดว่าน่าจะมีการนำข้าวจากการรับจำนำในรอบที่ 4 มาใช้คืนรอบที่ 3 เพราะกลัวความผิด

และนี่เป็นสาเหตุให้รัฐบาลชุดนี้เมื่อตรวจสอบสต๊อกข้าวในโกดังแล้ว พบว่า เป็นข้าวที่ไม่ได้มาตรฐานกว่า 85% โดยข้าวที่มีมาตรฐานมีเพียง 14%

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่นายหน้าใช้อิทธิพลนำข้าวเปลือกจากโรงสีไปขายให้ผู้ส่งออกข้าวนึ่ง ทำให้ไทยสามารถส่งออกข้าวนึ่งได้ 4.76 ล้านตัน ช่วงเดือน ต.ค. 2554-เม.ย. 2557 ทั้งที่โครงการรับจำนำข้าวไม่เคยมีโครงการทำข้าวนึ่ง ขณะที่ข้าวนาปรังถูกขายให้รัฐบาลหมดทุกเมล็ด แต่ทำไมจึงยังมีการส่งออกข้าวนึ่งได้

ขณะเดียวกัน หากประเมินความเสียหายเป็นค่าเช่าทางเศรษฐกิจ มูลค่าสูงถึง 5.85 แสนล้านบาท หรือ 41% ของจีดีพีเกษตร ทำให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถลงทุนเพื่อแสวงหากำไรพิเศษนี้ และส่งผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะทำให้ต้นทุนการปลูกข้าวแพงขึ้น ทำให้มีการใช้น้ำชลประทานมากกว่าแผนการจ่ายของกรมชลประทาน และกลายเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาน้ำแล้งในปีนี้ (2557/2558)

รวมทั้งโรงสีมีกำลังการผลิตส่วนเกิน ประมาณ 100 ล้านตัน ซึ่งเมื่อเลิกโครงการรับจำนำข้าว ก็มีแนวโน้มว่าโรงสีเหล่านี้จะประสบปัญหาล้มละลาย กลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคารพาณิชย์

นิพนธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การทุจริตที่เกิดขึ้นทำความเสียหายมากขนาดนี้ ภาครัฐควรหาตัวผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องมาดำเนินคดีเพิ่ม


ทนายยิ่งลักษณ์โวยทีดีอาร์ไอปูดตัวเลขทุจริตจำนำข้าว

จาก โพสต์ทูเดย์

ทนายยิ่งลักษณ์ ซัด "นิพนธ์" มีวาระซ่อนเร้นแถลงตัวเลขทุจริตจำนำข้าว หวัง ชี้นำสังคม กดดันระชุมร่วม ป.ป.ช.-อัยการ

เมื่อวันที่ 6 พ.ย. นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ตั้งข้อสังเกตกรณี นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ ได้ออกมาเปิดเผยว่า โครงการรับจำนำข้าวปี 2554 - 2556 มีการทุจริตถึง 1.1 แสนล้านบาท โดยมีเกี่ยวข้องกับการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าวถึง 7.5 หมื่นล้านบาท อ้างว่ามีหลักฐานเชื่อมโยงการทุจริต ว่า ตนเป็นทนายความ ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ได้รับผิดชอบคดีในโครงการรับจำนำข้าว จึงขอตั้งข้อสังเกตในประเด็นดังต่อไปนี้

1. นายนิพนธ์  มีวาระซ่อนเร้น ในการนำตัวเลขดังกล่าวมาแถลงและชี้นำในช่วงเวลาที่จะมีการประชุมของคณะกรรมการร่วม อัยการ ป.ป.ช.ในวันที่ 7 พ.ย. และนายนิพนธ์ ฯ มีเจตนาที่จะชี้นำสังคมเพื่อให้สังคมกดดันคณะกรรมการร่วมอัยการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่สมควร

2.นายนิพนธ์ โดยสถานะ ก็เป็นพยานในคดีโครงการรับจำนำข้าวและในในการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าว แห่งชาติครั้งที่ 5/2552 เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2552 นายนิพนธ์ ก็เคยไปช่วยรัฐบาลในสมัยนั้นทำโครงการช่วยเหลือชาวนาที่ตรงข้ามกับโครงการ รับจำนำข้าว จึงขอตั้งข้อสังเกต และถามว่ามีวาระช้อนเร้นหรือไม่อย่างไร ที่ต้องนำ มาเปิดเผยในช่วงเวลาดังกล่าว

3. หากพิจารณาถึงตัวตัวเลขที่นำมาเปิดเผย แล้วจะเห็นได้ว่ามีข้อโต้แย้งและผิดพลาดเกี่ยวกับตัวเลขของเจ้าหน้าที่รัฐอยู่หลายเรื่อง เช่น เรื่องค่าใช้จ่ายในโครงการตลอดจนหลักฐานที่อ้างว่ามีการทุจริต ก็ปราศจากหลักฐาน เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ซึ่งโดยข้อเท็จจริงในปัจจุบันก็ยังไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รายใด

นายนรวิชญ์ กล่าวอีกว่า ตนในฐานะทนายความของน.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงขอวอนให้นายนิพนธ์ ยุติการเคลื่อนไหว และชี้นำสังคมในช่วงที่จะมีการพิจารณาคดีต่อลูกความของตน ควรปล่อยให้คดีได้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมมากกว่าการชี้นำทางสังคมเช่นนี้


'วรงค์'อัดนิวัฒน์ธำรงแนะรอปปช.ชี้มูลความผิดเร็วๆนี้

"นพ.วรงค์"อัด"นิวัฒน์ธำรง" อ้างตัวเลขจำนำข้าวเสียหายไม่มาก แนะรอผลปิดบัญชีฯ-ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดเร็วๆนี้

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรมว.พาณิชย์ ยกตัวเลขมาคำนวณให้เห็นว่าโครงการรับจำนำข้าวไม่เสียหายมาก โดยยกตัวเลขข้าว 16.2 ล้านตันซึ่งคิดจาก 90 เปอร์เซ็นต์ของยอดรวม 18 ล้านตัน และไปจินตนาการราคาขายเฉลี่ยของข้าวทุกชนิดที่ตันละ 15,000 บาท เบ็ดเสร็จบอกว่าเสียหายไม่มากแค่ปีละแสนกว่าล้าน

นพ.วรงค์ กล่าวว่าแค่สมมุติฐานตัวเลขที่ใช้ก็ไม่ถูกต้องแล้ว ทั้งนี้ข้าวคุณภาพพร้อมขาย 10 เปอร์เซ็นต์ ข้าวต่ำกว่ามาตรฐาน 70 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือเป็นอื่น ๆ ข้าวส่วนใหญ่ในโครงการรับจำนำเป็นข้าวเจ้า ราคาขายข้าวเจ้าที่คุณภาพดีวันนี้ประมูลกันที่ราคาตันละ 11,000 บาทกว่า ส่วนข้าวที่ต่ำกว่ามาตรฐานไม่ต้องพูดถึง ดังนั้นตัวเลขที่คุณนิวัฒน์ธำรงนำมาอ้าง ที่ราคาตันละ 15,000 จึงไม่มีเหตุผล ขนาดยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายทางบริหารที่ต้องจ่ายให้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) องค์การคลังสินค้า(อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) ค่าดอกเบี้ย ค่าเช่าโกดังรวมทั้งค่าประกันภัย ดังนั้นทางที่ดี นายนิวัฒน์ธำรง ควรอดใจรอการแจ้งผลการปิดบัญชีของโครงการจำนำข้าวดีกว่า

“นโยบายนี้คือการทำลายการส่งออก การทำลายการพัฒนาสายพันธ์ สร้างวัฒนธรรมการโกงแบบทั่วถึง แต่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกแก่นักการเมืองและบริวาร โดยเฉพาะจีทูจีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะชี้มูลความผิดเร็ว ๆ นี้ และอย่างที่เห็นคือมรดกบาปที่สร้างปัญหา นั่นคือข้าว18 ล้านตัน ที่รัฐบาลจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา ซึ่งมีผลทางจิตวิทยาต่อราคาข้าวในปัจจุบัน ขนาดคนในวงการค้าข้าวบอกว่า 18 ล้านตัน จะหลอกหลอนวงการข้าวไทยไม่น้อยกว่า 5 ถึง 10 ปี ความจริงแล้วเห็นข้าวเสื่อมถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ชาวนาฆ่าตัวตายถึง 16 ราย น่าจะทำให้ท่านสำนึกบ้าง” นพ.วรงค์ กล่าว


จี้'นิพนธ์'หยุดชี้นำสังคมโครงการรับจำนำข้าว

ทนายยิ่งลักษณ์วอน"นิพนธ์" ทีดีอาร์ไอ หยุด ชี้นำสังคม โครงการรับจำนำข้าว

นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ตั้งข้อสังเกตกรณี นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ ได้ออกมาเปิดเผยว่า โครงการรับจำนำข้าวปี 2554 - 2556 มีการทุจริตถึง 1.1 แสนล้านบาท โดยมีเกี่ยวข้องกับการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าวถึง 7.5 หมื่นล้านบาท อ้างว่ามีหลักฐานเชื่อมโยงการทุจริต ว่า ตนเป็นทนายความ ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ได้รับผิดชอบคดีในโครงการรับจำนำข้าว จึงขอตั้งข้อสังเกตในประเด็นดังต่อไปนี้ 1. นายนิพนธ์ ฯ มีวาระซ่อนเร้น ในการนำตัวเลขดังกล่าวมาแถลงและชี้นำในช่วงเวลาที่จะมีการประชุมของคณะกรรมการร่วม อัยการ ป.ป.ช.ในวันที่ 7 พ.ย. และนายนิพนธ์ ฯ มีเจตนาที่จะชี้นำสังคมเพื่อให้สังคมกดดันคณะกรรมการร่วมอัยการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่สมควร

นายนรวิชญ์ กล่าวต่อว่า 2.นายนิพนธ์ ฯ เอง โดยสถานะ ก็เป็นพยานในคดีโครงการรับจำนำข้าวและในในการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าว แห่งชาติครั้งที่ ๕/๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๑๗ ก.ค. ๕๒ นายนิพนธ์ฯ ก็เคยไปช่วยรัฐบาลในสมัยนั้นทำโครงการช่วยเหลือชาวนาที่ตรงข้ามกับโครงการ รับจำนำข้าว จึงขอตั้งข้อสังเกต และถามว่ามีวาระช้อนเร้นหรือไม่อย่างไร ที่ต้องนำ มาเปิดเผยในช่วงเวลาดังกล่าว 3. หากพิจารณาถึงตัวตัวเลขที่นำมาเปิดเผย แล้วจะเห็นได้ว่ามีข้อโต้แย้งและผิดพลาดเกี่ยวกับตัวเลขของเจ้าหน้าที่รัฐอยู่หลายเรื่อง เช่น เรื่องค่าใช้จ่ายในโครงการตลอดจนหลักฐานที่อ้างว่ามีการทุจริต ก็ปราศจากหลักฐาน เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ซึ่งโดยข้อเท็จจริงในปัจจุบันก็ยังไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รายใด

นายนรวิชญ์ กล่าวอีกว่า ตนในฐานะทนายความของน.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงขอวอนให้นายนิพนธ์ฯ ยุติการเคลื่อนไหว และชี้นำสังคมในช่วงที่จะมีการพิจารณาคดีต่อลูกความของตน ควรปล่อยให้คดีได้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมมากกว่าการชี้นำทางสังคมเช่นนี้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ชี้บทเรียน จำนำข้าว ราคาแพง

view