สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จุดอ่อนของ VI

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ คิดวิเคราะห์แยกแยะ โดย วีระพงษ์ ธัม

วีระพงษ์ ธัม www.facebook.com/10000Li


การลงทุนให้ประสบความสำเร็จ นอกจากจะต้องยึดมั่น "แก่น" ของการลงทุนวิธีนั้นๆ อย่างมั่นคงแล้ว เราก็ควรจะเข้าใจ "จุดอ่อน" หรือ "ข้อจำกัด" ของวิธีการลงทุนนั้นๆ เพื่อให้แน่ใจว่าจุดอ่อนของการลงทุน "วิธีนั้นๆ" จะไม่ใช่จุดที่ทำให้การลงทุน "ของเรา" ล้มเหลว และทำให้เราเสียศรัทธาในการลงทุนวิธีนั้นไป

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า (VI) เป็นการลงทุนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีผู้ที่ประสบความสำเร็จได้จำนวนมาก มีวิถี มีแบบอย่าง มีหลักการที่ถ่ายทอดกันอย่างเป็นระบบ และจับต้องได้ นี่เป็นจุดเริ่มต้นของนักลงทุน VI จำนวนมาก แต่ไม่มีวิธีการลงทุนอะไรที่ไม่มีจุดอ่อน และนี่คือจุดอ่อนหลักๆ ของการลงทุนแบบ VI

1. "เชื่อ" ในมูลค่าที่เราประเมินมากจนเกินไป เพราะการลงทุนแบบ VI ไม่ได้เป็นการวิเคราะห์ที่ถูกต้องแน่นอน 100% แม้ว่าจะมีส่วนต่างความปลอดภัยแค่ไหน หรือกิจการมีความแข็งแรงมากเพียงใด ก็อาจจะเกิด "เหตุการณ์" บางอย่างที่ไม่คาดฝัน ตัวอย่างล่าสุดอย่างหุ้นกิจการค้าปลีกที่ยิ่งใหญ่อย่างเทสโก้ฯก็ประสบปัญหา และวอร์เรน บัฟเฟตต์ก็เสียหายจากการลงทุนครั้งนี้ อีกมุมหนึ่งอาจเป็นเพราะเราไม่เข้าใจสิ่งที่เห็นอย่างถ่องแท้ หรือมองข้ามจุดอ่อนของกิจการบางอย่าง สรุปคือเราอย่าดูถูก Mr. Market เพราะเขาฉลาดกว่าคุณมาก

นอกจากนั้น ความเสียหายอาจขยายผลมากขึ้นมาก ถ้าเรา "ซื้อถัวเฉลี่ย" ขาลง รวมไปถึงการใช้บัญชีเงินกู้ หรือมาร์จิ้นโลน หลักการ VI อาจทำให้เราคิดว่าราคาหุ้นยิ่งลงยิ่งถูก อยากขายบ้านขายรถมาซื้อหุ้น แต่การจำกัดสัดส่วนของหุ้นแต่ละตัวจะช่วยลดความเสียหายสำหรับมือใหม่ ผมคิดว่าไม่ควรถือหุ้นเกิน 25% ต่อตัว ไม่ว่าเราจะมั่นใจแค่ไหน

2. คุณเข้าใจหลักการหรือความรู้ในการลงทุนน้อยเกินไป แม้ว่าคุณคิดว่าเพียงพอแล้ว แต่ความรู้ที่จำเป็นในธุรกิจที่คุณจะลงทุนเยอะกว่าที่คุณคิดมาก เป็นสิ่งที่คุณต้องมีภาระในการ "อ่าน" "อ่าน" "อ่าน" และ "อ่าน" ซึ่งเหมือนเป็นกิจกรรมหลักของการลงทุนแบบ VI ความเข้าใจธุรกิจอย่างถ่องแท้ช่วยให้เราสามารถคาดการณ์อนาคตได้แม่นยำขึ้น เรื่อยๆ แต่จุดอ่อนนี้คือจุดแข็งที่สุดของการลงทุนแบบ VI เพราะความรู้เกือบ "ทุกเม็ด" สามารถนำไปใช้ได้ตลอดชีวิตการลงทุน และสามารถนำไปต่อยอดได้นับไม่ถ้วน

3. จำเป็นต้องมี "นิสัย" และ "ทัศนคติ" ของการลงทุนที่ถูกต้องตั้งแต่แรก นิสัยเป็นส่วนที่ค่อย ๆ สร้างมาตั้งแต่คุณเกิดและชีวิตทั้งหมด "ก่อน" ที่คุณจะเริ่มลงทุน และยิ่งถ้าคุณเริ่มต้นลงทุนในตลาดหุ้นที่ร้อนแรงมาก ๆ ยิ่งทำให้โอกาสที่คุณจะ "เสียนิสัย" ที่จำเป็นต้องการลงทุนแบบ VI มากขึ้นและแก้ไขยาก นิสัยของการลงทุนที่ถูกต้อง เช่น ความอดทนรอคอย ไม่ตื่นเต้นกับราคาหุ้น แต่สนใจที่คุณค่าบริษัท ความมีวินัยที่จะพยายาม "รักษาเงินต้น" ก่อนที่จะ "มุ่งหวังกำไร" นิสัยที่กล้าในเวลาที่ควรตัดสินใจ มีความเป็นตัวของตัวเองและอิสระจากฝูงชน เป็นต้น

4. การลงทุนแบบ VI ไม่จับจังหวะตลาดเท่าไหร่ นั่นหมายถึงว่าคุณมีโอกาสถือหุ้นโดยที่ราคาหุ้นไม่ไปไหนเลย ในขณะที่

คน อื่นอาจจะทำกำไรมากมาย ซึ่งหมายถึงเรา "เสียโอกาส" ของการทำรอบของเงินทุน ขณะที่ความอดทนในการถือหุ้นมักจะหมดลง ทำให้เราขายหุ้นก่อนหุ้นจะขึ้น นักลงทุน VI ใช้ "โอกาส" ในการซื้อหุ้นในตลาดหุ้นได้ ต่อเมื่อตลาดหุ้นเป็นตลาดที่ Undervalued หรือต่ำกว่ามูลค่าเท่านั้น แต่ถ้าเป็นตลาดเก็งกำไร VI จะได้ประโยชน์น้อยกว่าในขาซื้อ แต่เป็นโอกาสในการขายแทน ซึ่งถ้าเป็นการลงทุนแบบอื่น อาจได้โอกาสจากตลาดตลอดเวลา ถ้าเก็งตลาดได้ถูกต้อง

5.VI มักจำกัดความถนัดตัวเองไปในหุ้นไม่กี่กลุ่ม เพราะข้อจำกัดเรื่อง Circle of Competence แปลว่าหุ้นนอกกลุ่มที่เรารู้เราจะไม่ลงทุน ซึ่งข้อจำกัดการลงทุนและตัดโอกาสการลงทุน ซึ่ง VI จำเป็นต้องมีความรู้มาก

ดัง นั้น โอกาสที่จะรู้จักหุ้นทุกตัว หรือเข้าไปลงทุนในหุ้นทุกตัว เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก แตกต่างจากวิธีการลงทุนแบบอื่น ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องรู้จักหุ้นลึกซึ้งเหมือนการลงทุน VI หรือบางวิธี การรู้จักหุ้นก็ไม่มีความจำเป็น

6. การบริหารความเสี่ยง VI ไม่มีแนวคิด Cut Loss ด้วย "ราคา" หุ้น หรือมี "กฎเกณฑ์" ที่ชัดเจน เช่น ถ้าหุ้นลง 10% จะตัดขาดทุน แต่การบริหารความเสี่ยงขึ้นอยู่กับมุมมองว่าเรา "คิดผิด" รึเปล่ามากกว่า อีกส่วนหนึ่งคือ VI บริหารความเสี่ยงด้วยส่วนต่างความปลอดภัย (Margin of Safety) และบริหารด้วยการสร้างพอร์ตโฟลิโอ ซึ่งล้วนแต่เป็นวิธีการที่อาศัยศิลปะที่ต้องอาศัยประสบการณ์มาก

7. จุดอ่อนที่สำคัญที่สุดคือการลงทุน VI ให้ชนะ ต้องอาศัย "จิตใจ" ที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยการฝึกฝน การยกตัวอย่างของบัฟเฟตต์เรื่องคุณต้องทนขาดทุนได้ 50% คือตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดของการเอาชนะ "จิตใจ" ของตัวเอง ถ้าเราบันทึกความรู้สึกของตัวเองทุกๆ วันหรือทุกๆ เดือน เราจะเห็นความปะปนของความตื่นเต้น ความสิ้นหวัง ดีใจ เสียใจที่เกิดขึ้นในใจตัวเองตลอดเวลา และด้วยความเป็นวาระจิตที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของคนนั่นเอง ทำให้ความล้มเหลวในการลงทุนของการลงทุน VI จำนวนมาก เกิดจากการยอมแพ้ "ใจ" ตัวเอง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : จุดอ่อนของ VI

view