สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ประโยชน์ทางธุรกิจของธนาคารที่ยั่งยืน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ทุกวันนี้ วงการ “ความรับผิดชอบต่อสังคม” หรือ “ซีเอสอาร์” ในประเทศพัฒนาแล้วกำลังเคลื่อนเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง

ครั้งสำคัญ ช้าบ้างเร็วบ้างแล้วแต่ความตื่นตัวของสังคม นั่นคือ จากที่เคยถูกมองว่าเป็นกิจกรรมที่ “ทำก็ดี ไม่ทำก็ไม่เป็นไร” ซึ่งแยกขาดจากการทำธุรกิจหลัก กลายเป็นสิ่งที่ “ต้องทำ” ในศตวรรษที่ 21 และต้องบูรณาการเข้ากับการทำธุรกิจทุกมิติ

เพราะสังคมมองเห็นผลกระทบด้านลบที่เกิดจากการทำธุรกิจอย่างชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ และเรียกร้องให้ภาคธุรกิจมีบทบาทนำในการแก้ไขปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งที่เกิดจากตัวเอง และเกิดจากความไม่เอาไหนของภาครัฐ

พูดอีกอย่างคือ เมื่อ “ความไม่ยั่งยืน” จากการทำธุรกิจแบบเดิมๆ มองเห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ การเปลี่ยนผ่านธุรกิจไปสู่ “ธุรกิจที่ยั่งยืน” จึงกลายเป็นส่วนสำคัญของการแสดง “ความรับผิดชอบต่อสังคม” ของธุรกิจ

ในบรรดาธุรกิจทั้งหมด ภาคธนาคารดูจะเป็นธุรกิจที่ปรับตัวช้าที่สุด ผู้เขียนมองว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการเป็นธุรกิจที่อนุรักษนิยมที่สุด และอีกส่วนเกิดจากการที่ธนาคารมองว่าตนเป็นเพียงธุรกิจ “ตัวกลาง” เท่านั้น มิใช่ผู้ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยตรง ลูกค้าต่างหากที่ทำ

การระบุและเผยแพร่ “ประโยชน์ทางธุรกิจ” ของการเปลี่ยนวิถีไปสู่ธุรกิจที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุน ลดความเสี่ยง ปรับปรุงประสิทธิภาพ เพิ่มยอดขาย ขยายตลาด ฯลฯ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการสร้างแรงจูงใจให้ธนาคารเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ไม่ใช่เปลี่ยนแต่โลโก้ สโลแกน หรือแคมเปญการตลาดเท่านั้น

วันนี้เรามีงานวิจัยมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างผลประกอบการทางการเงินกับธนาคาร กับผลประกอบการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม นักวิจัยบางคน อาทิ Wu & Shen (2013) พบความสัมพันธ์อย่างมีนัยระหว่างผลประกอบการทางการเงินของธนาคารกับกิจกรรมซีเอสอาร์ และพบว่าซีเอสอาร์มีความผันแปรกับระดับหนี้เสีย - ยิ่งธนาคารใส่ใจกับความรับผิดชอบต่อสังคมเท่าไร หนี้เสียยิ่งมีแนวโน้มจะลดลงเท่านั้น นอกจากนี้ Cornett, Erhemjamts, & Tehranian (2014) ยังพบว่าธนาคารขนาดใหญ่ดูจะ “ได้รางวัล” จากการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยพบว่าทั้งผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (return on asset) และอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (return on equity) มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับคะแนนซีเอสอาร์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

ในปี 2013 แนวร่วมธนาคารเน้นคุณค่าแห่งโลก (Global Alliance for Banking on Values - GABV) ซึ่งผู้เขียนเคยแนะนำไปแล้วในคอลัมน์นี้ ตีพิมพ์ผลการวิจัยซึ่งเปรียบเทียบ “ธนาคารที่ยั่งยืน” ในความหมาย “สถาบันการเงินที่เป็นสมาชิก GABV 25 แห่ง” ณ เดือนมีนาคม 2013 กับธนาคารขนาดใหญ่ที่มีนัยสำคัญเชิงระบบ (คือรัฐปล่อยให้ล้มไม่ได้) ซึ่งยังประกอบธุรกิจแบบเดิมๆ ในกระแสหลักที่เราคุ้นเคย

งานวิจัยชิ้นนี้พยายามตอบคำถามหลักๆ สี่ข้อดังต่อไปนี้

1. ธนาคารสนับสนุนเศรษฐกิจจริงอย่างไร?

2. ธนาคารมีความยืดหยุ่น ปรับตัวได้ดีเพียงใดเมื่อเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ?

3. ธนาคารส่งมอบผลตอบแทนอะไรบ้างให้กับสังคม ลูกค้า และนักลงทุน?

4. ธนาคารเติบโตเพียงใดในการขยายผลกระทบเชิงบวกของตัวเอง?

คณะวิจัยสำรวจผลประกอบการของธนาคารสองกลุ่มนี้ตลอดระยะเวลาสิบปี แบ่งออกเป็นสองช่วงเวลา ได้แก่ 2003-2007 (ก่อนเกิดวิกฤติการเงินโลก) และ 2008-2012 (หลังเกิดวิกฤติ)

ผลการวิจัย (ดาวน์โหลดฉบับเต็มได้จากเว็บไซต์ GABV - http://www.gabv.org/our-news/report-shows-sustainable-banks-outperform-big-banks) ระบุว่า โดยถ้าวัดจากสัดส่วนสินเชื่อต่อสินทรัพย์ทั้งหมดของธนาคาร ธนาคารที่ยั่งยืนมีสัดส่วนนี้เท่ากับร้อยละ 75.9 เฉลี่ยตลอดสิบปี 2003-2012 ขณะที่สัดส่วนนี้ของธนาคารกระแสหลักอยู่ที่ร้อยละ 40.1 ในช่วงเวลาเดียวกันเท่านั้น

ตัวเลขนี้สะท้อนว่าธนาคารกระแสหลักทำกิจกรรมอื่นๆ อีกมากที่ไม่ใช่การสนับสนุนภาคเศรษฐกิจจริงผ่านการปล่อยกู้ เช่น เก็งกำไรตราสารทางการเงิน เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้นอกจากจะไม่ใช่หน้าที่หลักของธนาคารแล้ว บางครั้งยังทำให้ระบบการเงินและเศรษฐกิจโลกเปราะบางมากกว่าเดิม แทนที่จะน้อยลง

นอกจากนี้ ธนาคารที่ยั่งยืนยังหาทุนมาหนุนงบดุลของตัวเองจากเงินฝากมากกว่าธนาคารกระแสหลัก - สัดส่วนเงินฝากต่อสินทรัพย์รวมของธนาคารที่ยั่งยืนอยู่ที่ร้อยละ 73.1 ระหว่างปี 2003-2012 เทียบกับร้อยละ 42.9 ของธนาคารกระแสหลัก

การรับเงินฝากจากประชาชนเป็นเงินทุนหลักในการดำเนินธุรกิจนั้น นอกจากจะสะท้อนว่าธนาคารที่ยั่งยืนมีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจจริงมากกว่าธนาคารกระแสหลักแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกลยุทธ์การระดมทุนอีกด้วย

หันมาดูด้านความแข็งแกร่งของเงินทุน คณะวิจัยพบว่าธนาคารที่ยั่งยืนมีฐานทุนแข็งแกร่งกว่าธนาคารกระแสหลัก - สัดส่วนทุนต่อสินทรัพย์รวม (equity to total assets) เฉลี่ยสิบปีอยู่ที่ร้อยละ 7.2 เทียบกับร้อยละ 5.5 ของธนาคารกระแสหลัก สัดส่วนนี้เมื่อมองเปรียบเทียบกับสัดส่วนสินเชื่อต่อสินทรัพย์ ซึ่งธนาคารที่ยั่งยืนก็สูงกว่าเช่นกัน เป็นข้อพิสูจน์อย่างดีที่หักล้างข้ออ้างของซีอีโอธนาคารกระแสหลักหลายรายที่ว่า การกันสัดส่วนทุนสูงๆ จะส่งผลให้ธนาคารปล่อยกู้น้อยลง (อ่านคำอธิบายของมายาคติข้อนี้ได้ใน ถอดรื้อมายาคติที่ไม่ยั่งยืน : บทเรียนจาก “เสื้อใหม่ของนายธนาคาร” สองตอนก่อนของคอลัมน์นี้)

เมื่อหันมาดูผลประกอบการทางการเงิน คณะวิจัยพบว่าธนาคารที่ยั่งยืนสร้างผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ในระดับที่แข่งขันได้กับธนาคารกระแสหลัก (เฉลี่ยสิบปีเท่ากับร้อยละ 0.56 เทียบกับ 0.57) โดยมีระดับความผันผวนต่ำกว่า (เปรียบเทียบก่อนและหลังวิกฤติ) และสร้างผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ช่วงหลังวิกฤติสูงกว่าธนาคารกระแสหลัก (ร้อยละ 0.53 เทียบกับร้อยละ 0.37 ระหว่างปี 2008-2012)

ข้อค้นพบข้อนี้อาจทำให้หลายคนแปลกใจ เพราะนักธนาคารโดยมากยังเชื่อว่า เนื่องจากธนาคารที่ยั่งยืนโดยนิยามต้องพยายามรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากกว่าปกติ ธนาคารประเภทนี้จึงน่าจะสร้างผลตอบแทนต่ำกว่าธนาคารกระแสหลักที่เน้นการสร้างผลตอบแทนทางการเงินสูงสุด

ในเมื่อธนาคารกระแสหลักยังเน้นการสร้างผลตอบแทนทางการเงินสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้น ตัวเลขที่น่าสนใจที่สุดจึงอาจเป็นอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น ในจุดนี้ข้อค้นพบของคณะวิจัยตรงกับสิ่งที่คนส่วนใหญ่เชื่อ นั่นคือ ธนาคารกระแสหลักสร้างผลตอบแทนต่อส่วนทุนสูงกว่าธนาคารที่ยั่งยืน ถ้าดูค่าเฉลี่ยทั้งสิบปี (ร้อยละ 11.5 เทียบกับร้อยละ 8.2 ตามลำดับ) แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ ผลตอบแทนของธนาคารกระแสหลักผันผวนมากกว่าธนาคารที่ยั่งยืนมาก (ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานหรือ standard deviation สูงถึงร้อยละ 10.2 เทียบกับร้อยละ 2.7 ของธนาคารที่ยั่งยืน) และผลตอบแทนช่วงหลังวิกฤติก็ต่ำกว่า (ร้อยละ 5.2 เทียบกับร้อยละ 7.5 - ดูภาพประกอบ)

เมื่อคำนึงว่าธนาคารกระแสหลักมีส่วนทุนต่อสินทรัพย์ต่ำกว่าธนาคารที่ยั่งยืน ตัวเลขนี้หมายความว่าธนาคารกระแสหลักสร้างผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นด้วยการกู้เงินมาทำธุรกิจในระดับสูง (high leverage) แปลว่ามีความเสี่ยงสูงกว่าธนาคารที่ยั่งยืน ด้วยเหตุนี้ ก็ไม่น่าแปลกใจถ้านักลงทุน (ในฐานะผู้ถือหุ้น) จะคาดหวังผลตอบแทนสูงกว่านักลงทุนในธนาคารที่ยั่งยืน เพราะธนาคารที่เสี่ยงกว่า (ทั้งจากการกู้เงินมามากกว่า และผลตอบแทนผันผวนกว่า) ย่อมต้องเสนอผลตอบแทนที่สูงกว่า เพื่อชดเชยความเสี่ยงของนักลงทุน

หันมาดูการเติบโต คณะวิจัยพบว่าธนาคารที่ยั่งยืนมีอัตราการเติบโตของสินเชื่อ เงินฝาก และรายได้รวมสูงกว่าธนาคารกระแสหลักเมื่อดูค่าเฉลี่ยทั้งสิบปี ตัวเลขเหล่านี้ของธนาคารกระแสหลักเติบโตสูงกว่าในช่วงก่อนเกิดวิกฤติ (ปี 2003-2007) แต่เติบโตช้าลงมากในช่วงหลังวิกฤติ เท่ากับว่าธนาคารที่ยั่งยืนสามารถเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพมากกว่า

ข้อมูลที่ค้นพบทั้งหมดข้างต้น ทำให้คณะวิจัยสรุปว่า ถ้าหากมองในระยะยาว โมเดลธุรกิจของ “ธนาคารที่ยั่งยืน” น่าดึงดูดกว่าโมเดลของธนาคารกระแสหลัก เพราะนอกจากจะทำให้อุตสาหกรรมธนาคารโดยรวมมีความมั่นคง ยั่งยืน และยืดหยุ่นปรับตัวได้มากกว่าในอดีตแล้ว ยังช่วยให้ตัวธนาคารเองได้ประโยชน์ทางธุรกิจ (ดังสะท้อนจากผลตอบแทนต่อสินทรัพย์และอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น) ที่เติบโตอย่างยั่งยืนมากกว่าเดิมอีกด้วย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ประโยชน์ทางธุรกิจ ธนาคารที่ยั่งยืน

view