สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ดร.วิรไท สันติประภพ เปิดโมเดลยกเครื่อง รัฐวิสาหกิจ

จากประชาชาติธุรกิจ

สัมภาษณ์พิเศษ



ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 75/2557 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2557 และมีหัวหน้า คสช.เป็นประธานกรรมการ มีกรรมการทั้งสิ้น 15 คน หนึ่งในนั้นปรากฏชื่อนักเศรษฐศาสตร์หนุ่ม "ดร.วิรไท สันติประภพ" ที่น่าจะมีอาวุโสน้อยที่สุดใน คนร. หรือ "ซูเปอร์บอร์ด"

"ประชา ชาติธุรกิจ" มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษถึงบทบาทหน้าที่ในฐานะเป็นฟันเฟืองหนึ่งในขบวนการ ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจไทยในสถานการณ์พิเศษรอบนี้ขณะเดียวกันปัจจุบันเขายังมี บทบาทเป็นกรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)และเป็น 1 ใน 7 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ผู้ชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วย

-
การขับเคลื่อนงานใน คนร.ตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว

คนมักเข้าใจกันผิดว่า ซูเปอร์บอร์ดจะมีซูเปอร์พาวเวอร์ มันไม่ใช่ ที่ถูกมาจาก Supervisory คือทำหน้าที่กำกับดูแลและกำหนดนโยบาย แก้ปัญหาสิ่งที่หมักหมมมานาน ดังนั้น คนร.จึงให้ความสำคัญมากกับการวางระบบ การออกแบบระบบสำหรับอนาคต มากกว่าจะจัดการกับรัฐวิสาหกิจแห่งใดแห่งหนึ่ง

- สิ่งที่ซูเปอร์บอร์ดโฟกัสคือ

หลักใหญ่ที่ให้ความสำคัญมี 3-4 เรื่อง คือ 1) ต้องทำให้รัฐวิสาหกิจกลับไปทำพันธกิจหลัก เพราะที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจหลายแห่งทำในสิ่งที่ไม่ใช่พันธกิจมากขึ้น มีการลงทุนสูงมาก แต่ไม่มีประสิทธิภาพ และผลตอบแทนต่ำ หลายโครงการไม่ประสบความสำเร็จ เช่น ทีโอทีลงทุน 3G ก่อนคนอื่น วันนี้ก็ยังไม่ไปไหนเมื่อเทียบกับภาคเอกชน

2) ทบทวนภารกิจหลักของรัฐวิสาหกิจบางแห่งว่ายังมีความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่ หลายแห่งตั้งมา 30-40 ปีแล้ว เพราะอดีตไม่มีเอกชนที่เก่งพอหรือจำนวนมากพอมาให้บริการประชาชน กลุ่มนี้ก็ต้องมาทบทวนหรือหาโมเดลใหม่

3) การทำบทบาทหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจให้ชัดเจน ระหว่างฝ่ายกำหนดนโยบาย (Policy maker) ฝ่ายกำกับดูแล (Regulator) และผู้ให้บริการ (Operator) ซึ่ง 3 เรื่องนี้ปนๆ กันอยู่ เช่น รัฐวิสาหกิจบางแห่งเป็นทั้งผู้ให้บริการและเป็นผู้กำกับดูแลอย่างมีโจทย์ที่หลายคนเสนอว่า คลื่นความถี่ 4G ที่ทีโอทีเก็บไว้ และจะต่อสัญญาไป 10-15 ปีนั้น หากจะเอาไปอยู่ในมือของผู้ประกอบการเอกชนจะดีต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมมากกว่าหรือไม่ เพราะก็มีคำถามว่า ทำไมจึงเอาทรัพย์สินที่มีค่าไปอยู่ในมือของรัฐวิสาหกิจที่การบริหารจัดการยังไม่มีประสิทธิภาพ ทำไมปล่อยให้รัฐวิสาหกิจมาปิดกุญแจขังสินทรัพย์ที่มีค่าขนาดนี้ไว้ เมื่อเอกชนคนไทยและเศรษฐกิจไทยโดยรวมก็สามารถได้ประโยชน์จากสิ่งนี้มากกว่า เป็นต้น



ส่วนเรื่องที่ 4) ผมให้น้ำหนักอย่างมากคือประเทศไทยควรมีองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจ หรือ Ownership Agency เหมือนกับบริษัทเอกชนที่ผู้ถือหุ้นมีบทบาทมองความยั่งยืนและการแข่งขันของธุรกิจ ซึ่งรัฐวิสาหกิจไทยยังขาดตรงนี้

เพราะระบบ Ownership Agency ที่เข้มแข็ง จะมองความยั่งยืนเป็นตัวตั้ง มองความเป็นมืออาชีพในการบริหารจัดการเป็นตัวตั้ง จะเป็นเกราะป้องกันจากภาคการเมือง สิ่งเหล่านี้คือโจทย์ที่ท้าทายที่สุด

- รูปแบบของ Ownership Agency ควรเป็นอย่างไร

ถ้าดูตัวอย่างจากรอบๆ ประเทศไทย เช่น ที่สิงคโปร์มี Temasek มาเลเซียมี Khazanah จีนมี SASAC ซึ่งเป็นองค์กรที่มีการบริหารแบบมืออาชีพและมีระบบป้องกันการแทรกแซงจากการเมือง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มีความซับซ้อน เพราะรัฐวิสาหกิจมี 6 กลุ่ม 56 แห่ง จึงต้องพิจารณาในหลายมิติ หลายโมเดล และยังไม่ได้ข้อสรุป ส่วนที่เสนอให้มีองค์กรกลางมาทำหน้าที่เป็น Ownership Agency นี้ เป็นข้อเสนอส่วนตัวของผมที่ต้องรอให้บอร์ดใหญ่พิจารณา ซึ่งผมเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญและโมเดลนี้ก็เป็นระบบคานอำนาจในระบอบประชาธิปไตยด้วย

- การให้อำนาจ ธปท.กำกับดูแล SFIs เป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูป

การที่ คนร. ยกอำนาจการกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ทั้งหมดไปอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นการแบ่งแยกอำนาจระหว่างฝ่ายกำหนดนโยบาย (คลัง) กับฝ่ายกำกับดูแล (ธปท.) ให้ชัดเจน เพราะที่ผ่านมาแบงก์ชาติมีหน้าที่เป็นเพียงผู้ตรวจสอบ เวลาพบการกระทำผิดในแบงก์รัฐ ส่งรายงานไปให้กระทรวงการคลัง ก็หายไปเฉย ๆ ไม่มีการดำเนินการ และหลายครั้งก็ผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ดังนั้นการให้อำนาจเป็นผู้ตรวจสอบอย่างในอดีตจึงไม่พอ ต้องมอบอำนาจทั้งกระบวนการกำกับดูแล การให้ความเห็นชอบตั้งกรรมการ ตั้งผู้บริหาร การตั้งเกณฑ์เรื่องทุนขั้นต่ำ เป็นต้น

- บทบาทของ สคร.ในอนาคตจะเป็นอย่างไร

ก็มีข้อเสนอว่า อนาคตอาจต้องยกระดับ สคร. แต่จะอยู่ภายใต้กระทรวงการคลัง หรือสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ต้องดูว่าแบบไหนจะเหมาะสม

ส่วนการปฏิรูปการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น สิ่งสำคัญคือกฎหมายที่จะคงอยู่หลังจากนี้ ดังนั้นข้อเสนอของผมคือการพัฒนารัฐวิสาหกิจต้องมีการยกร่างกฎหมาย ซึ่งตอนนี้เป็นโอกาสดันให้ผ่าน เพื่อเซตกรอบการกำกับดูแล กรอบการทำงานใหม่ที่จะมีผลในระยะยาว โดยน่าจะเสนอร่างให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาในช่วงเดือน ก.พ. 2558 ขณะนี้ สคร.กำลังยกร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการรัฐวิสาหกิจที่ดี และเรื่อง Ownership Agency จะใส่ไว้ในร่างกฎหมายด้วย

-  สิ่งที่อยากจะเห็นหลังจากนี้คืออะไร

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ผมเชื่อว่า เรื่องประสิทธิภาพเป็นเรื่องสำคัญ รัฐวิสาหกิจต้องแข่งขันได้ ซึ่งกลไกตลาดจะมีบทบาทมากขึ้น ตัวอย่างง่าย ๆ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) มีรถร่วมบริการกับรถที่ ขสมก.ทำธุรกิจเอง รถร่วมบริการเข้ามาดำเนินธุรกิจด้วยการประมูลเส้นทางที่มีกำไรและจ่ายค่าตอบแทนให้ ขสมก. ขณะที่ ขสมก.ทำธุรกิจเดินรถของตัวเองในเส้นทางไม่ทำกำไร

โจทย์คือ ขสมก.จะต้องทำเส้นทางเหล่านี้เองหรือไม่ ทำไมไม่เปิดประมูล และสิทธิ์เดินรถกับเอกชนรายใดที่มีประสิทธิภาพและขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐต่ำสุด ถ้าทำได้ก็รู้ว่ารัฐต้องใช้งบประมาณอุดหนุนปีละเท่าไร กำหนดวงเงินได้ ไม่ต้องเป็นการอุดหนุนปลายเปิดอย่างปัจจุบัน ซึ่งไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีการแข่งขัน ไม่มี Benchmark และของบประมาณอุดหนุนเพิ่มขึ้นทุกปี


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ดร.วิรไท สันติประภพ เปิดโมเดล ยกเครื่อง รัฐวิสาหกิจ

view