สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อสรพิษข้างกาย

อสรพิษข้างกาย

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




หากถามนักลงทุนและนักเศรษฐศาสตร์ถึงปัจจัยบวกท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่รุมเร้าเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน

หลายท่านอาจกล่าวว่าได้แก่ การลดลงของราคาน้ำมันโลกที่ลดกว่า 30% จากที่เคยวิ่งที่ระดับ 100-125 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เหลือประมาณ 70 ดอลลาร์ในปัจจุบัน อันจะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจโลกและไทยอย่างมหาศาล

แต่หากฉุกคิดให้ดีแล้ว จะรู้ว่าราคาน้ำมันที่ลดลงครั้งนี้หาได้เกิดจากธรรมชาติไม่ แต่เกิดจากการทำสงครามราคาระหว่าง OPEC และสหรัฐ หลังจากที่การขุด Shale Gas/Shale Oil ในสหรัฐทำให้มีอุปทานน้ำมันใหม่เข้ามาในตลาดโลก และทำให้ OPEC สูญเสียรายได้อย่างมาก ดังนั้น ทางแก้ของ OPEC คือทุบราคาให้ลดลงโดยยังคงกำลังการผลิตไว้ เพื่อดัมพ์ราคาให้ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต Shale Oil

คำถามที่น่าสนใจคือ ผลกระทบของราคาน้ำมันที่ถูกลงในระยะสั้นและยาวคืออะไร และราคาน้ำมันที่ลดลงนี้ จะเป็นการถาวรหรือไม่ จะตอบคำถามเหล่านี้ได้ ต้องเข้าใจพลวัตรของตลาดน้ำมันโลก รวมถึงสาเหตุที่ราคาน้ำมันปรับลดลงในช่วงที่ผ่านมา

สาเหตุแรก เกิดจากการกำเนิดขึ้นของ Shale Gas/Shale Oil ของสหรัฐ อันได้มาจากเทคโนโลยีใหม่ในการขุดเจาะน้ำมันแนวขวางลึกลงในชั้นหินดินดาน ที่ทำให้ได้สหรัฐได้น้ำมันใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ณ ปัจจุบันสหรัฐผลิต Shale Oil ได้ประมาณ 4.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้กำลังการผลิตรวมของสหรัฐอยู่ที่ประมาณ 12 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นอันดับหนึ่งในโลก

สาเหตุที่สอง เกิดจากการคงกำลังการผลิตของ OPEC โดยที่ผ่านมา OPEC มีกำลังการผลิตประมาณ 30% ของกำลังการผลิตรวมของโลกที่ประมาณ 93 ล้านบาร์เรลต่อวัน การที่ซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นพี่ใหญ่สุดยังคงกำลังการผลิตไว้ ขณะที่ประเทศที่เคยหยุดการผลิตไปเช่น ลิเบีย กลับมาผลิตใหม่อีกครั้ง ทำให้มีปริมาณน้ำมันออกสู่ตลาดโลกเพิ่มขึ้น

แต่ที่สำคัญที่สุด ได้แก่ การตัดสินใจของ OPEC ที่ยังคงกำลังการผลิตไว้เช่นเดิมเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา สวนทางตลาดและนักวิเคราะห์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะลดการผลิตลง ทำให้เกิดการ Shock ตลาด และทำให้ราคาตกลงอย่างรวดเร็ว จากประมาณ 85 ดอลลาร์เหลือ 65 ดอลลาร์ในปัจจุบัน

สาเหตุที่สาม ได้แก่ การที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทั้งในประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะจีนและประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง การเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันจึงลดลง โดยคาดว่าความต้องการน้ำมันในปีนี้และปีหน้าจะเพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 7 แสนบาร์เรลต่อวัน น้อยกว่า 3 ปีก่อนที่เพิ่มขึ้นที่อัตราเฉลี่ย 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน

คำถามต่อไปคือ ผลกระทบของน้ำมันถูกในระยะสั้นและยาวคืออะไร อาจตอบได้ว่า ในระยะสั้น น้ำมันที่ถูกลงนั้นย่อมเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นอน โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ เพราะน้ำมันเป็นต้นทุนในการผลิต/การขนส่งแทบทุกกิจกรรม ซึ่งต้นทุนที่ถูกลงย่อมทำให้เงินเฟ้อลดลง และทำให้ประชาชนมีเงินเหลือในกระเป๋าเพิ่มขึ้น โดยมีการคาดการณ์กันว่าราคาน้ำมันที่ลดลงจะทำให้ GDP ของประเทศในเอเชียที่เป็นผู้นำเข้าสุทธิอย่างเกาหลี ไทย ฟิลิปปินส์ และจีนเพิ่มขึ้น 0.3-0.5% และเงินเฟ้อลดลง 0.3-0.6% ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐ ยุโรปและญี่ปุ่น อาจได้ผลบวกต่ำกว่าเล็กน้อย ซึ่งเศรษฐกิจที่ดีขึ้นขณะที่เงินเฟ้อไม่สูง ย่อมทำให้นโยบายการเงินโลกสามารถผ่อนคลายได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่ถูกลงมิได้มีแต่ข้อดี เพราะก็มีข้อเสียด้วยโดยเฉพาะต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ดังนี้

หนึ่ง ผลกระทบโดยตรง ราคาถูกลงย่อมกระทบต่อธุรกิจ Shale Oil ที่เน้นการลงทุนในเทคโนโลยีการขุดเจาะแนวขวาง (Fracking) ที่ใช้เม็ดเงินลงทุนสูงเป็นหลัก โดยที่ผ่านมา การลงทุนจะคุ้มค่าทางการเงินเมื่อราคาน้ำมันอยู่ที่ประมาณ 40-80 ดอลลาร์ (ขึ้นอยู่กับสถานที่และความยากง่ายในการขุดเจาะ) ซึ่งหากราคาตลาดโลกอยู่ที่ 50-70 ดังเช่นปัจจุบันต่อเนื่อง 3-6 เดือน อาจทำให้การผลิต Shale หายไป 3 แสนถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และอาจทำให้ราคาเด้งกลับไปที่ 100-120 ใน 1-2 ปีข้างหน้าได้

นอกจากนั้น ยังกระทบต่อภาคการเงินสหรัฐด้วย เพราะที่ผ่านมาบริษัทผลิต Shale Gas/Oil ต่างออกหุ้นกู้เพื่อมาระดมทุนในการขุดเจาะค่อนข้างมาก (เพิ่มถึง 1 เท่าตัวในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา) การลดลงของราคาน้ำมันอาจทำให้บางบริษัทล้มละลาย และกระทบต่อตลาดหุ้นกู้ในสหรัฐได้

สอง ผลกระทบทางอ้อม จะกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐ โดยแม้สัดส่วนของภาคเหมืองแร่ต่อเศรษฐกิจสหรัฐจะค่อนข้างต่ำ แต่การที่ราคาน้ำมันที่ถูกลงในช่วงที่ผ่านมาก็มีผลบวกต่อเศรษฐกิจหลายประการโดยเฉพาะต้นทุนการผลิตของสหรัฐที่ถูกลง การที่การผลิต Shale Oil ถูกทุบเช่นนี้อาจทำให้ราคาเด้งกลับขึ้นไปในระยะยาว และทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่ม

นอกจากนั้น ในระยะสั้น ยังอาจกระทบต่อธุรกิจพลังงานทางเลือกต่าง ๆ เช่น การผลิตโซล่าเซลล์ Bio-Fuel ต่าง ๆ และรถยนต์ Eco Car เป็นต้น และทำให้โลกต้องหันไปพึ่งน้ำมันมากขึ้นอีกครั้ง

สำหรับคำถามสุดท้าย ที่ว่าราคาน้ำมันถูกต่อเนื่องระยะยาวหรือไม่ ผู้เขียนขอวิเคราะห์ว่า น้ำมันเป็นสินค้าจำเป็น ฉะนั้นความต้องการน้ำมัน (Demand) จะปรับตัวต่อราคาช้า (ประมาณ 3-6 เดือน) ขณะที่ฝั่งการผลิตอาจปรับตัวเร็วกว่าเล็กน้อย เนื่องจากผู้ผลิตบางรายที่สายป่านสั้นอาจล้มละลายไป อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีการผลิตที่พัฒนาขึ้นต่อเนื่อง อาจทำให้ผู้ผลิตที่สายป่านยาวจะฟื้นขึ้นในช่วงต่อไป ทำให้ในช่วงสั้นราคาอาจตกต่ำไปกว่าระดับปัจจุบัน (วิ่งที่ 50-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล) ก่อนกลับขึ้นไปที่ 70-80 ดอลลาร์ในไตรมาส 2 ปี 2558 โดยเฉลี่ยทั้งปีอาจอยู่ที่ 75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์เช่นนี้มีความเสี่ยงสูงมาก โดยเฉพาะต่อปัจจัยอื่น ๆ ที่เหนือความคาดหมาย

แม่น้ำมันราคาถูกจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโลกในช่วงสั้น แต่จำไว้เสมอว่าจะหาความจริงใจจากอสรพิษร้ายอย่าง OPEC หาได้ไม่ การเร่งพัฒนาพลังงานทางเลือก เตรียมพร้อมรับมือเมื่อราคาน้ำมันทะยานขึ้นอีกครั้ง รวมถึงลดการพึ่งพาน้ำมัน ย่อมเป็นทางออกในระยะยาวสำหรับชาวโลก

-------------------------------

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อสรพิษข้างกาย

view