สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Nasdaq 2014 เป็นฟองสบู่อีกรอบไหม?

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



เมื่อกว่า 2 สัปดาห์ที่แล้ว ดัชนี Nasdaq ของสหรัฐ สามารถทำสถิติขึ้นมาสูงสุดตลอดกาล

ทำให้หลายคนเริ่มนึกถึงฟองสบู่อินเทอร์เน็ตยุคปี 2000 ที่ หุ้น Nasdaq ตกรวดเดียวร้อยละ 31 และ 78 ในหนึ่งและสองปีต่อมาตามลำดับ โดยวิตกว่าหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐที่กำลังคึกคักอยู่ในขณะนี้ กำลังอยู่ในโหมดดังกล่าวหรือไม่ ส่วนตัวผมเห็นว่ามีหลายอย่างที่แตกต่างกับเมื่อสิบกว่าปีก่อน ที่เห็นกันจะจะ ได้แก่ คีย์แมนที่เป็นหัวหอกในวงการไอทีแห่ง Silicon Valley

ในตอนนี้มีให้เห็นตัวเป็นๆ อยู่หลายท่าน ไม่ว่าจะเป็นมาร์ก ซักเกอร์เบอร์กแห่ง Facebook เจฟฟ์ เบซอสแห่ง Amazon แลรี่ เพจแห่ง Google หรือจะเป็นอีลอน มัสก์แห่ง SpaceX นี่ยังไม่รวมสตีฟ จอบส์ที่โด่งดังทว่าได้จากเราไปแล้ว ผิดกับช่วงปี 2001 ที่เห็นจะมีแค่สตีฟ เคสแห่ง AOL หรือ ไมเคิล เดลล์ที่ผมพอจะนึกออก รวมถึงอุปกรณ์ไอทีก็ยังไม่พัฒนาสักเท่าไร ผมจำได้ว่าตอนนั้นขนาดใช้ Palm Pilot ก็ถือว่าโก้มากแล้ว จึงไม่น่าแปลกที่หลายคนมองว่าฟองสบู่อินเทอร์เน็ตยุคปี 2000 คงจะไม่มาซ้ำรอยในเที่ยวนี้อีก

สำหรับเหตุผลที่น่าจะมองหุ้นไอทีในแง่ดี ณ เวลานี้ วงการหุ้นสหรัฐมองกันว่า มีอยู่ด้วยกัน 3 ประการ

หนึ่ง หากวัดกันด้วยกำไรของบริษัท ตลาดหุ้นใน Dow เทรดกันที่ P/E 15 เท่าของกำไรสุทธิในปีหน้า เทียบกับ 18 เท่าในช่วงที่ตลาดบูมๆ ในยุคปี 2000 ส่วนดัชนี S&P500 เทรดกันที่ 17 เท่า เทียบกับ ที่ 30 เท่าในช่วงปี 2000 ที่หนักไปกว่านั้น ดัชนี Nasdaq ในตอนนี้ เทรดที่ 22 เท่า เทียบกับ 102 เท่าในยุคฟองสบู่อินเทอร์เน็ตยุคปี 2000

ทั้งนี้ จากการศึกษาของ Bates Research Group พบว่า ในช่วงปี 2000 มีบริษัทอินเทอร์เน็ตใน Nasdaq อยู่ 51 แห่งที่มีเงินสดเหลือแค่หนึ่งปีในการใช้จ่าย ในขณะที่ในตอนนี้ มีอยู่แค่ 5 แห่งที่มีเงินสดเหลือแค่หนึ่งปี

หากพิจารณากำไรจากการดำเนินงาน พบว่าบริษัทที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ 80 แห่งในช่วงเร็วๆ นี้ มีกำไรจากการดำเนินงานเท่ากับ 1.6 พันล้านดอลลาร์สำหรับไตรมาสล่าสุด แม้ว่าเกือบ 1.4 พันล้านดอลลาร์ จะมาจากเฟสบุ๊กก็ตาม โดยหากพิจารณาเทียบกับช่วงปี 2000 พบว่าขาดทุนกว่า 5 พันล้านดอลลาร์ต่อไตรมาส ตัวเลขนี้ยังไม่นับรวม Alibaba ที่มีกำไรจากการดำเนินงานกว่า 7 ร้อยล้านดอลลาร์



สอง ฟองสบู่ของหุ้นอินเทอร์เน็ตในงวดนี้ ไม่ได้มาจากตลาดหุ้น Nasdaq ทว่ามาจากบริษัทที่นักลงทุนแบบเฉพาะกลุ่มหรือ Venture Capital จากรูปที่ 2 พบว่า ณ เดือนกันยายน ของปีนี้ ตามข้อมูลของ Dow Jones Venture Source จะพบว่าบริษัทที่สนับสนุนการเงินจาก Venture Capital มีมูลค่าเท่ากับ 350 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าบริษัทในลักษณะเดียวกันช่วงปี 2000 ที่มีมูลค่า 89 ล้านดอลลาร์

สาเหตุหนึ่ง ได้แก่ การที่อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากในขณะนี้ ทำให้นักธุรกิจใน Silicon Valley สามารถหาเงินมาได้อย่างง่ายดายในการสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทที่ตั้งใหม่ ยกตัวอย่างเช่น Uber บริษัทแท็กซี่ในยุค 2.0 สามารถทำให้บริษัทของตนเองมีมูลค่าสูงถึง 4.1 หมื่นล้านดอลลาร์ หากเทียบกับบริษัทในตลาด Nasdaq อยู่ที่อันดับ 32 โดยเวลาผ่านไปเพียงแค่ 9 เดือน สามารถมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า ไม่เพียงแค่ Uber บริษัทที่จัดเก็บข้อมูลแบบ Cloud อย่าง Dropbox ก็มีมูลค่าผ่าน 1 หมื่นล้านดอลลาร์เรียบร้อยแล้ว โดย ณ วันนี้ มีบริษัทเอกชนที่อยู่นอกตลาดอยู่ 60 แห่งที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์



สาม อย่างไรก็ดี บริษัทที่ทำ IPO เข้าตลาด Nasdaq นั้นมีความแตกต่างระหว่างในปัจจุบันกับในช่วงปี 2000 โดยที่อายุของบริษัทที่จะนำเข้าตลาดเท่ากับ 11 ปีและ 5 ปีตามลำดับ โดยยิ่งบริษัทมีอายุก่อน IPO มากเท่าไร ก็จะยิ่งดี โดยรายได้เฉลี่ยของบริษัทเทคโนโลยี เพิ่มจาก 1.72 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 1999 เป็น 9.22 หมื่นล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน

หากจะนับเป็นรายบริษัท ระหว่างปี 1999 ถึงปี 2000 มีอยู่ 632 แห่งที่เข้าตลาด เมื่อปีที่แล้วมีอยู่ 43 แห่งส่วนในปีนี้มีอยู่ 46 แห่ง

นอกจากนี้ นักลงทุนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับบริษัทเทคโนโลยีในงวดนี้ล้วนแต่เป็นบิ๊กเนมไม่ว่าจะเป็น BlackRock Fidelity หรือ Merrill Lynch ซึ่งบริษัทเทคโนโลยีใหม่ๆ จะมาแบบกลวงๆ แล้วหาเงินได้เป็นถุงเป็นถังเหมือนกว่า 10 ปีที่แล้วคงจะลำบาก

โดยสรุป ผมเห็นว่าหากฟองสบู่อินเทอร์เน็ตรอบนี้จะแตกเข้าจริงๆ คงน่าจะมาจากสาเหตุภายนอกมากกว่าตัวบริษัทเองจะมีปัญหาจากภายในครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : Nasdaq 2014 เป็นฟองสบู่ อีกรอบ

view