สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความสำคัญของวิชาธุรกิจ

ความสำคัญของวิชาธุรกิจ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




นิตยสารฟอร์จูนฉบับ 22 ธ.ค. ได้เสนอบทสัมภาษณ์ ทายาทธุรกิจของบริษัทเบียร์เนเธอร์แลนด์ที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก

ไฮนิเก้น คุณชาร์ลีน เดอ คาร์วาลโฮ (Charlene de Carvalho) ซึ่งรับสืบทอดกิจการของบิดามาโดยไม่ได้ตั้งเนื้อตั้งตัว เพราะเหตุที่เป็นลูกคนเดียว แต่คุณพ่อไม่ได้ให้ยุ่งเกี่ยวกับกิจการมากนักเพราะเห็นว่าเป็นผู้หญิง และอยากให้เธอมีชีวิตที่มีความสุขมากกว่า

เจอราร์ด ไฮนิเก้น คุณทวดของคุณชาร์ลีน ซื้อกิจการกลั่นเบียร์ขนาดเล็กในอัมสเตอร์ดัมมาเมื่อปี 1864 และได้กลั่นเบียร์ด้วยยีสต์พิเศษ คุณทวดมีลูกคนเดียวคือคุณปู่ชื่อ เฮนรี ซึ่งเป็นประธานของไฮนิเก้นอยู่ 23 ปี แต่คุณปู่เฮนรีสูญเสียความเป็นหุ้นส่วนใหญ่ในการควบคุมบริษัท เพราะต้องขายหุ้นบางส่วนไปเพื่อนำไปจ่ายภาษีและขยายโรงกลั่น

เมื่อมาถึงยุคสมัยของคุณพ่อ คือคุณอัลเฟรด ไฮนิเก้น หรือสมญาว่า เฟรดดี้ซึ่งเป็นลูกคนเดียวของคุณปู่นั้น คุณพ่อเรียนรู้ธุรกิจเบียร์ตั้งแต่รากลึกเลยค่ะ คือทำตั้งแต่แบกหามกระสอบข้าวบาร์เลย์ คุณพ่อเฟรดดี้ได้กู้เงินไปซื้อหุ้นของบริษัทกลับคืนมาเพื่อกลับมาควบคุมบริหารบริษัทได้อีก

เมื่อคุณพ่อของเธอเสียชีวิตลงในปี 2002 หรือ เมื่อ 12 ปีก่อน คุณชาร์ลีน ทายาทคนเดียวของครอบครัวจึงต้องตัดสินใจที่จะเข้ามาสืบทอดดำเนินธุรกิจต่อ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เรียนมาทางด้านบริหารธุรกิจ เธอเรียนวิชาเลขานุการ กฎหมาย และภาษาฝรั่งเศส แต่ด้วยความสามารถ และด้วยกำลังใจ กำลังกาย และกำลังความคิดสนับสนุนจากสามีนักการธนาคารลูกครึ่งบราซิลเลียน-อังกฤษของเธอ ประกอบกับการรู้จักใช้คนที่เหมาะสมกับงาน ทำให้เธอนำพาบริษัทไฮนิเก้น เติบใหญ่และขยายไปมีชื่อเสียงทั่วโลกตราบเท่าทุกวันนี้ โดยมีมูลค่าตลาดถึง 44,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.45 ล้านล้านบาท และเธอถือหุ้นในสัดส่วน 25%

เธอเป็นผู้ออกปากว่า หากเธอได้เรียนวิชาธุรกิจมา ก็อาจจะไม่ต้องเหนื่อยที่ต้องพิสูจน์ตัวเองมากเท่านี้

ใช่ค่ะ การเรียนวิชาธุรกิจ นอกจากจะทำให้มีความรู้เรื่องการจัดการองค์กร การผลิต การตลาด การเงิน บัญชี การบริหารทรัพยากรบุคคล ฯลฯ แล้ว ยังมักจะเป็นใบเบิกทางให้คนยอมรับว่า มีความรู้เพียงพอที่จะเข้าใจและนำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจอีกด้วย

ฝากให้ข้อคิดกับผู้มีทายาทและอาจจะแอบตั้งความหวังที่จะฝากให้ดูแลสืบทอดธุรกิจต่อไปว่า อย่างน้อยก็ต้องให้เขาได้เรียนรู้เรื่องธุรกิจไว้บ้าง แม้เขาจะตัดสินใจที่จะไม่ลงมือทำเอง เช่น ออกไปทำในสิ่งที่รัก ที่ชอบ แต่ยังเป็นผู้ถือหุ้นของกิจการอยู่ เขาก็ควรจะมีความรู้เกี่ยวกับการบริหารธุรกิจ เพื่อที่จะสามารถกำหนดบทบาทของตนเอง และติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการของกิจการได้ในฐานะหุ้นส่วนรายใหญ่

ดิฉันเห็นด้วยมากๆ กับการที่ทายาทธุรกิจ จะถูกส่งออกไปทำงานในบริษัทอื่นก่อน เพื่อเรียนรู้การทำงานในฐานะลูกจ้าง เรียนรู้กลไกในการดำเนินธุรกิจ และรู้จักการมีมนุษยสัมพันธ์กับหัวหน้า ผู้ใต้บังคับบัญชา และเพื่อนร่วมงานอื่นๆ

แต่หากท่านต้องการให้เขากลับมาช่วยกิจการของครอบครัว ต้องอย่าปล่อยให้เขาทำงานที่อื่นนานจนเกินไปนะคะ อายุประมาณ 32-35 ปี ก็ควรจะกลับมาช่วยงานแล้ว เพราะหากเขาพัฒนาความสามารถจนมีความเก่งกาจและมีความรักในธุรกิจอื่นแล้ว อาจจะยากที่ท่านจะดึงเขากลับมาช่วย และเมื่อกลับมา เขาอาจจะเป็นคนแปลกหน้าของธุรกิจได้

คุณชาร์ลีนได้ให้ข้อแนะนำกับลูกๆ ทั้งห้าคนของเธอว่า ใครก็ตามที่จะขึ้นมาเป็นผู้บริหารกิจการ จะต้องมีคนเก่งคนดีที่สุดที่จะสามารถหาได้อยู่รอบๆ ตัว อย่าเลือกคนที่คอยแต่จะเห็นดีเห็นงามคล้อยตามกัน หรือที่เรียกว่า Yes Man เพราะสิ่งที่ลูกๆ ต้องการคือคนที่จะคอยตั้งข้อสงสัยและข้อสังเกต (เพื่อให้มองเรื่องต่างๆได้ละเอียด รอบคอบมากขึ้น ก่อนตัดสินใจ)

เขียนถึงประโยชน์ของวิชาธุรกิจสำหรับเจ้าของกิจการและผู้สืบทอดกิจการแล้ว ดิฉันก็อยากให้มาดูประโยชน์ของวิชาธุรกิจที่มีต่อผู้คนธรรมดาๆ ที่อยู่ในภาคอื่นๆ บ้าง

ดิฉันได้กล่าวถึงการให้การศึกษาเรื่องการเงินและธุรกิจแก่เยาวชนไปหลายครั้ง ในครั้งนี้อยากจะขอเสนอเพื่อให้นำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาไม่เพียงแต่เพื่อรองรับนโยบาย การผลักดันให้ไทยเป็นประเทศการค้าเท่านั้น แต่ในระยะยาว ยังจะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกร และช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนที่มีรายได้น้อย มีโอกาสน้อย และนำไปสู่การลดช่องว่างในสังคมอีกด้วย

ข้อเสนอนี้คือการจัดให้มีการศึกษาวิชา ธุรกิจ ในการศึกษาภาคบังคับ โดยให้เรียนในระดับชั้นมัธยมต้นเพื่อให้มีทักษะนี้ก่อนออกไปประกอบอาชีพ โดยเรียน กฎหมายธุรกิจเบื้องต้น เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น การจัดการธุรกิจ และการเงินเบื้องต้นสำหรับธุรกิจ

การศึกษาธุรกิจนี้สมัยก่อนเราจะเรียกว่า พาณิชยศาสตร์ แต่คำว่าพาณิชยศาสตร์จะให้ความรู้สึกเหมือนว่า เน้นเรียนเรื่องการค้า การศึกษาวิชาธุรกิจ จะครอบคลุมทั้งการค้า การเกษตร อุตสาหกรรม และการบริการ โดยในประเทศอังกฤษ เรียกว่าวิชา Enterprise ในสหรัฐอเมริกาจะเรียกว่า Vocational Education

เกษตรกร ควรจะสามารถคำนวณได้ว่า หากลงทุนด้วยต้นทุนในการผลิต จำนวนหนึ่ง และลงแรงของตัวเองและครอบครัว ที่สามารถตีออกมาในมูลค่าหนึ่ง จุดคุ้มทุนของเขา คือที่ราคาขายพืชผล หรือ ผลิตภัณฑ์ในราคาเท่าใด

ผู้ผลิตรายย่อยควรจะสามารถคำนวณได้ว่าเงินหมุนเวียนที่ต้องใช้ในการผลิตแต่ละรอบ ตั้งแต่การซื้อวัตถุดิบ การผลิต การขาย จนกระทั่งเรียกเก็บเงินและได้รับเงินในมือนั้น ใช้เวลาเท่าใด และคิดเป็นเงินหมุนเวียนที่ต้องใช้เป็นจำนวนเงินเท่าใด

ส่วนแม่บ้านควรจะสามารถคำนวณจัดสรรงบประมาณ และการเก็บออมเพื่อความมั่นคงในชีวิตของคนในครอบครัว

การคำนวณนี้ไม่ยากเลยค่ะ ใครที่คิดเลข บวก ลบ คูณ หารได้ ย่อมสามารถคำนวณได้ ตัวเลขที่สำคัญและจำเป็นที่จะต้องใช้ในการตัดสินใจต่างๆ นั้น ใช้เพียงทักษะ บวก ลบ คูณ หาร เท่านั้นจริงๆ

ขอฝากการเรียนการสอนวิชาธุรกิจ (รวมถึงการเงิน) ไว้ให้คณะกรรมการปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาด้วยค่ะ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ความสำคัญ วิชาธุรกิจ

view