สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ตำแหน่งรมต. ที่คนไทยอยากได้แต่ (ยัง) ไม่มี

ตำแหน่งรมต. ที่คนไทยอยากได้แต่ (ยัง) ไม่มี

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ช่วงต้นเดือนผมได้ร่วมเป็นวิทยากรในการประชุมหน่วยงานปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันกลุ่มประเทศอาเซียนสิบประเทศ

ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ผมได้รับเชิญเป็นวิทยากรในหัวข้อแรกเรื่องการสืบสวนและป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในภาคเอกชนในฐานะกรรมการผู้อำนวยการ สถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ ไอโอดี และเลขาธิการโครงการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริต จากที่ผู้จัดงานคือ ป.ป.ช. มาเลเซียมองว่าบทบาทภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริตในประเทศไทยมีความเข้มแข็ง ทำให้ประเทศไทยแตกต่างกับประเทศอื่นในภูมิภาคที่ส่วนใหญ่บทบาทแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันจะอยู่ที่หน่วยงานภาครัฐฝ่ายเดียวไม่มีบทบาทภาคเอกชน

ประเด็นที่ผมได้ย้ำในการสัมมนาก็คือในประเทศที่มีการทุจริตคอร์รัปชันกว้างขวาง บทบาทภาครัฐฝ่ายเดียวจะไม่เพียงพอที่จะหยุดหรือลดทอนปัญหาคอร์รัปชันแต่การแก้ไขต้องมาจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาคทางการ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม สำหรับภาคธุรกิจ บริษัทเอกชนมีบทบาทอย่างสำคัญในการต่อต้านการทุจริต เพราะบริษัทเอกชนถูกมองว่าอยู่ในสมการคอร์รัปชันในฐานะผู้ให้ ขณะที่ผู้รับ ก็คือ เจ้าหน้าที่หน่วยราชการที่ทุจริตคอร์รัปชัน ดังนั้นถ้าบริษัทเอกชนร่วมใจกันปฏิเสธไม่ให้ไม่จ่าย โอกาสที่คอร์รัปชันจะเกิดก็จะลดลง แต่การปฏิเสธไม่ให้ไม่จ่าย ไม่สามารถทำได้โดยเพียงสองสามบริษัท แต่จะต้องทำพร้อมกันเป็นแนวร่วมโดยมีหลายๆ บริษัทเข้าร่วม และถ้าบริษัทเข้าร่วมมีจำนวนมาก พลังการรวมตัวก็จะสร้างโมเมนตั้มผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในปัญหาคอร์รัปชันได้

ในที่ประชุม ผมได้ให้ความเห็นว่า บริษัทเอกชนมีบทบาทได้อย่างน้อยสามทางในการลดทอนปัญหาคอร์รัปชันหนึ่งบริษัทต้องมีการกำกับดูแลกิจการหรือธรรมาภิบาลที่ดีในการประกอบธุรกิจ อันนี้คือหัวใจ ถ้าไม่มี บริษัทก็จะอ่อนไหวต่อการทำผิดกฎหมายและก็จะทำผิดกฎหมาย ตรงข้ามกับบริษัทที่มีธรรมาภิบาลหรือมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ธุรกิจของบริษัทจะได้รับความไว้วางใจและเป็นที่ยอมรับจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นำไปสู่ความยั่งยืนของธุรกิจ สองบริษัทต้องรวมตัวกันเป็นแนวร่วมปฏิบัติ หรือ ร่วมจับมือกันเป็นเครือข่าย สร้างการทำธุรกิจที่สะอาด โปร่งใส และปลอดคอร์รัปชัน เพื่อสร้างพื้นที่ให้บริษัทอื่นๆ ที่คิดเหมือนกัน เห็นเหมือนกัน เข้าร่วม และขยายพลังธุรกิจสะอาดสามสมาคมธุรกิจต้องเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนทั้งเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดี และเป็นเครือข่ายผลักดันการทำธุรกิจที่สะอาด เพื่อให้บริษัทสมาชิกที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจหรืออุตสาหกรรมเดียวกัน มีมาตรฐานการทำธุรกิจเหมือนกัน คือทำธุรกิจที่สะอาด ซึ่งจะยกมาตรฐานการทำธุรกิจของสมาคมให้สูงขึ้น

สำหรับประเทศไทยทั้งสามเรื่องเป็นประเด็นที่กำลังมีการขับเคลื่อนโดยสมาคมธุรกิจ หน่วยงานกำกับดูแล และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันของภาครัฐและเอกชน ทำให้ต่างประเทศมองว่าบทบาทภาคเอกชนไทยดูเข้มแข็งในการต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชัน ที่เป็นอย่างนี้เพราะปัญหาคอร์รัปชันของเรารุนแรงกว่าหลายประเทศ ทำให้การแก้ไขต้องมีบทบาทจากหลายฝ่าย ตัวอย่างเช่น เทียบกับมาเลเซีย อันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชันประเทศไทยล่าสุดปี 2014 ที่จัดโดยองค์กรโปร่งใสระหว่างประเทศ หรือ Transparency International อยู่ที่ 85 เท่ากับฟิลิปปินส์ แต่มาเลเซียที่อยู่อันดับ 50 ดีกว่าไทย และถ้าย้อนกลับไปสิบปีก่อน อันดับของไทยก็สู้มาเลเซียไม่ได้มาตลอด เพราะปัญหาคอร์รัปชันของเราแย่ลงตลอด

แม้ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันของมาเลเซียจะดีกว่าไทย แต่ทางการมาเลเซียก็ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันต่อเนื่อง มีนโยบายชัดเจนที่จะเอาจริงกับคอร์รัปชัน ล่าสุดความตั้งใจนี้ก็แสดงให้เห็นในรูปการมีตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลเรื่องธรรมาภิบาลและจริยธรรม (Minister in charge of Governance and Integrity) ในภาครัฐและขับเคลื่อนนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาลโดยตรง ซึ่งผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งนี้เป็นคนแรกก็คือDatuk Paul Lowมีอำนาจควบคุมการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับธรรมาภิบาล จริยธรรม การซื่อตรงในการทำหน้าที่และการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันโดยตรงสามหน่วยงาน คือ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ของ Malaysia หรือ Malaysian Anti Corruption Committee สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (National Audit Department) และ คณะกรรมการประสานการปราบปรามอิสระ (Enforcement Agencies of Independent Committee) นอกจากนี้ ก็กำกับดูแลงานของ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมาเลเซีย หรือ Human Rights Committee of Malaysia โดยพันธกิจของรัฐมนตรีก็คือ สร้างการปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี ความโปร่งใส และความรับผิดรับชอบให้เกิดขึ้นในภาครัฐบาล ทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น คราวนี้ผมได้มีโอกาสหารือกับรัฐมนตรี DutukPaul Low ถึงประโยชน์ของการมีตำแหน่ง รมต. ที่ขับเคลื่อนธรรมาภิบาลและการต่อต้านการทุจริต ซึ่งท่านรัฐมนตรีได้อธิบายว่ามีประโยชน์มาก คือหนึ่งประโยชน์จากการมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธรรมาภิบาลและการปราบปรามการทุจริตที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีโดยตรง ทำให้สามารถขับเคลื่อนงานต่างๆ ได้ทันที ทันเวลา และสามารถประสานงานกับกระทรวงต่างๆ ได้ เพราะเป็นระดับรัฐมนตรีเหมือนกันและเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทุกครั้ง

สองการที่ได้นั่งอยู่ใน ครม. ทำให้สามารถติดตามสอบถามรัฐมนตรีคนอื่นในเรื่องที่เสนอเข้าที่ประชุมครม. ไม่ว่าจะเป็นโครงการลงทุน การใช้จ่ายเงิน หรือเรื่องนโยบายในแง่มุมของการปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลที่ดีและการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน ทำให้เกิดการตรวจสอบและการคานอำนาจการทำงานของกระทรวงต่างๆ (Check and balance) ในระดับรัฐมนตรีอีกระดับหนึ่งสามเนื่องจาก รมต. Paul Low เป็นผู้บริหารที่มาจากภาคเอกชน ไม่ใช่นักการเมืองอาชีพ ไม่ต้องลงเลือกตั้ง ทำให้เขาสามารถทำหน้าที่ด้านธรรมาภิบาลในรัฐบาลได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องห่วงคะแนนนิยม (หรือเกรงใจข้าราชการประจำ) ซึ่งต่างจากนักการเมืองอาชีพที่ต้องประชานิยมไว้ก่อน ซึ่งช่วงที่ผมอยู่มาเลเซียก็ได้รับทราบข่าวการปราบปรามคอร์รัปชัน ที่มีการจับกุมโดยหน่วยงานภายใต้รมต. คนนี้ ทำให้ฉุกคิดว่าเงินที่รัฐบาลประหยัดได้จากการจับกุมคงเกินพอเงินเดือนรมต.ใหม่คนนี้แล้ว

ในกรณีบ้านเรา รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนที่จะปราบการทุจริตคอร์รัปชัน และการขับเคลื่อนนโยบายถือเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีทุกคนที่ต้องดูแล ไม่มีการแต่งตั้งรัฐมนตรีขึ้นมาดูแลงานด้านนี้โดยเฉพาะเหมือนมาเลเซีย จุดเสียก็คืออาจเกิดความหลักลั่นว่าแต่ละกระทรวงให้ความสำคัญกับเรื่องธรรมาภิบาล และการทุจริตคอร์รัปชันมากน้อยแค่ไหน และจะดูแลเรื่องคอร์รัปชันจริงจังแค่ไหน ที่สำคัญในคณะรัฐมนตรีก็จะไม่มีใครที่จะติดตามเรื่องนี้ กล้าซักถามเรื่องนี้ตรงไปตรงมา เพราะไม่ใช่หน้าที่ ต่างคนจะต่างทำไม่ก้าวก่ายกัน ทำให้ไม่มีการตรวจสอบหรือตั้งคำถามระหว่างกันใน ครม.เหมือนกรณีมาเลเซีย ที่สำคัญสำหรับนักลงทุนที่อยากเชิญคนในรัฐบาลระดับรัฐมนตรีมาพูดเรื่องนโยบายด้านธรรมาภิบาลและคอร์รัปชันของรัฐบาลที่เป็นคนที่รู้จริงและรับผิดชอบจริง ก็จะไม่รู้ว่าควรเชิญใครเพราะไม่มีคนในรัฐบาลที่ทำหน้าที่นี้ ทำให้อาจเกิดคำถามว่ารัฐบาลจริงจังแค่ไหนเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันเทียบกับมาเลเซีย

ผมอยากให้รัฐบาลคิดเรื่องนี้ เพราะรัฐบาลได้ประกาศว่าการปราบคอร์รัปชันเป็นยุทธศาสตร์ชาติ เป็นสาเหตุที่ต้องปฏิวัติ เพื่อให้ชัดเจนว่ารัฐบาลให้ความสำคัญจริงตามที่พูดไม่อย่างนั้นการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของรัฐบาล ก็จะเป็นงาน “ประจำ” เหมือนเดิมที่ขับเคลื่อนโดยระบบราชการ และเต็มไปด้วยข่าวลือเรื่องคอร์รัปชัน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ตำแหน่งรมต. คนไทยอยากได้ ไม่มี

view