สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ราคาน้ำมัน (1)

ราคาน้ำมัน (1)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ในช่วงเกือบ 6 เดือนที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลงกว่า 35%

เพราะผู้เชี่ยวชาญประเมินว่ามีการผลิตน้ำมันเกินความต้องการประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วนหนึ่งเพราะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นตัวอย่างกระท่อนกระแท่นของยุโรป ซึ่งไม่น่าจะกระเตื้องขึ้นมากนักในปีหน้าคือเศรษฐกิจน่าจะขยายตัวเพียง 1.2% และอีก 1.3% ในปี 2016 ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจจีนแม้จะยังขยายตัวที่ระดับสูงคือประมาณ 7.3% ในปีนี้ แต่ก็ลดลงจาก 10% ต่อปีในทศวรรษก่อนหน้าและน่าจะชะลอลงต่อไปอีกเหลือ 7% ต่อปีหรือต่ำกว่านั้นในปีหน้าและปีต่อๆ ไป

แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกลดลงอย่างฮวบฮาบคือการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นมากจากสหรัฐอเมริกา กล่าวคือการนำเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่าการขุดเจาะทแยงและใช้ของเหลวผลักดันก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบซึ่งอยู่ที่ลึกหรือ hydraulic fracturing นั้นทำให้ผลผลิต shale gas และ shale oil ของสหรัฐปรับเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเกินความคาดหมายไปอย่างมาก กล่าวคือ shale oil เพิ่มจาก 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2007 มาเป็น 5 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2014 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปเกือบถึง 7 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในปี 2018 โดยรวมแล้วน้ำมันที่สหรัฐผลิตได้ทั้งหมดในขณะนี้จึงมากกว่า 8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้เชื่อกันว่าสหรัฐจะกลายเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในโลกใน 2-3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าสหรัฐจะกลายเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกเพราะสหรัฐก็ยังต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ แต่การพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากโอเปกโดยเฉพาะจากประเทศซาอุดีอาระเบียและเวเนซุเอลากำลังลดลงอย่างรวดเร็วโดยประมาณการว่าสหรัฐจะนำเข้าน้ำมันจากโอเปกเพียง 2 ล้านบาร์เรลต่อวันเท่านั้น

กล่าวโดยสรุปคือ อุปสงค์ก็ขยายตัวน้อย ในขณะที่อุปทานจาก shale oil ขยายตัวสูงขึ้นเกิน คาดในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา แต่ราคาน้ำมันก็ยังอยู่ที่ระดับสูงคือประมาณ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลมาโดยตลอด เพราะความกังวลเกี่ยวกับวิกฤติทางการเมืองและความมั่นคงในตะวันออกกลาง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ลิเบียตามด้วยการสู้รบกันที่ซีเรียซึ่งลามมาที่อิรัก ตลอดจนการเผชิญหน้ากันระหว่างรัสเซียกับประเทศสหรัฐและยุโรปทำให้เกิดการตอบโต้กันทางการค้า ซึ่งกระทบถึงภาคพลังงานด้วย แต่ก็ต้องยอมรับว่าในที่สุดความอ่อนแอของอุปสงค์โลกโดยรวม ตลอดจนการประเมินว่าตราบใดที่ราคาน้ำมันอยู่ที่ระดับใกล้ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล การผลิต shale oil ก็จะเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อไป ทำให้กลไกตลาดกดดันราคาน้ำมันให้ไหลลงอย่างต่อเนื่องจาก 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในเดือนมิ.ย. มาเป็น 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในขณะนี้

บางคนอาจตั้งคำถามว่า หากเห็นแนวโน้มความอ่อนแอของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมานาน 2-3 ปีแล้วและการผลิต shale oil ก็เพิ่มขึ้นมาหลายปีแล้วเช่นกัน ทำไมราคาน้ำมันจึงได้ยืนอยู่ที่ 100 ดอลลาร์มานานหลายปีและเพิ่งจะมาทรุดตัวลงใน 6 เดือนที่ผ่านมา ตรงนี้คำตอบอาจเป็นเพราะมีการคาดการณ์กันว่ากลุ่มผู้ผลิตน้ำมันโอเปกจะเป็นผู้ปรับลดการผลิตของกลุ่ม ทำให้อุปสงค์และอุปทานกลับมามีความสมดุลอีกครั้งหนึ่งเพราะในอดีตโอเปกโดยเฉพาะประเทศซาอุดีอาระเบียจะรับภาระเป็นผู้รักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมัน

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จึงตั้งความหวังเอาไว้ว่าประเทศกลุ่มโอเปกจะประกาศหลังการประชุมเมื่อวันที่ 27 พ.ย. ว่าจะร่วมกันลดการผลิตจริงลงจาก 30.6 ล้านบาร์เรลต่อวันมาเป็น 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับการผลิตที่ได้เคยประกาศออกมานานแล้ว แต่ก็ผลิตเกินกว่าโควตาเสมอมา ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ประเมินว่าการลดการผลิตลงประมาณ 6 แสนบาร์เรลต่อวันจะช่วยให้ราคาน้ำมัน WTI คงอยู่ได้ที่ระดับ 70-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (Brent จะแพงกว่า WTI ประมาณ 5-6 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล)

แต่ผลปรากฏว่าประเทศที่เป็นแกนนำหลักของโอเปกคือซาอุดีอาระเบียยืนยันว่าโอเปกจะไม่ปรับลดการผลิตแต่อย่างใด เพราะซาอุดีอาระเบียทราบดีว่าภาระหลักของการปรับลดการผลิตของโอเปกก็จะต้องกลับมาตกอยู่กับซาอุดีอาระเบียเพียงประเทศเดียว ทั้งนี้เพราะประเทศโอเปกอื่นๆ เช่นเวเนซุเอลาก็กำลังมีปัญหาขาดเงินงบประมาณอย่างมากเพราะมีรายจ่ายสูงและหากจะให้งบประมาณสมดุล ราคาน้ำมันก็จะต้องเท่ากับ 115 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อิหร่านเองก็ต้องการผลิตมากขึ้นเพราะเพิ่งได้รับการผ่อนคลายการคว่ำบาตรจากการเจรจาจำกัดการผลิตอุปกรณ์เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ในขณะที่ลิเบียและอิรักก็ต้องการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มรายได้ของรัฐมาฟื้นฟูประเทศเช่นกัน นอกจากนั้นประเทศนอกโอเปกเช่นรัสเซียก็กำลังต้องการรายได้จากการส่งออกน้ำมันเพื่อช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินรูเบิลและกอบกู้เศรษฐกิจรัสเซียซึ่งกำลังเข้าสู่สภาวะถดถอย

กล่าวคือ การไม่ยอมลดการผลิตของซาอุดีอาระเบียในวันที่ 27 พ.ย. นั้นผิดคาดของผู้เชี่ยวชาญและนักลงทุนอย่างมาก ทำให้ราคาน้ำมันปรับลดลงทันทีในคืนนั้น 5% ซึ่งถือได้ว่าเสียงส่วนใหญ่คาดการณ์ผิดพลาดอย่างมาก เพราะความผันผวนของราคามากถึง 5% แปลว่าผู้ที่เก็งถูกจะสามารถทำกำไรได้มหาศาลภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง คำถามคือทำไมเสียงส่วนใหญ่และผู้เชี่ยวชาญจึงคาดการณ์ผิดพลาดทั้งๆ ที่การประเมินท่าทีของประเทศเดียวคือซาอุดีอาระเบียในเรื่องเดียวคือจะลดหรือไม่ลดการผลิต ไม่น่าเป็นเรื่องที่ทำให้ถูกต้องได้ยากมากนัก

ซึ่งเมื่อเหตุการณ์ผ่านไปเสียงส่วนใหญ่จึงสรุปความได้ว่าซาอุดีอาระเบียไม่มีทางเลือกเพราะหากลดการผลิตของตนเองลงไป ก็เหมือนกับการ “ใส่พาน” ส่วนแบ่งตลาดให้กับ shale oil เพราะผู้เชี่ยวชาญเองก็ประเมินว่าที่ราคาน้ำมันดิบที่ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลนั้น shale oil มีแต่จะเพิ่มขึ้นปีละ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ดังนั้น ซาอุดีอาระเบียจึงต้องเผชิญหน้ากับ shale oil แล้วตอบตัวเองว่าจะจัดการกับ shale oil อย่างไร ซึ่งเราก็ได้คำตอบแล้วว่าจะต้องทนเจ็บในระยะสั้นคือยอมให้น้ำมันดิบราคาลดลงไปที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลซึ่งจะส่งผลให้การผลิต shale oil ไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้

รายละเอียดเรื่องนี้และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ขอขยายความในตอนต่อไปครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ราคาน้ำมัน (1)

view