สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิด10เส้นทางกว่า4แสนล้าน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



เปิดยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง รถไฟฟ้า-รถไฟทางคู่ปีนี้10เส้นทาง มูลค่ากว่า 4 แสนล้าน

"สร้อยทิพย์"มั่นใจเปิดประมูลได้ภายในปีนี้ ระบุทุกหน่วยงานมีความพร้อม เหลือเพียงเสนอครม.อนุุมัติ เชื่อทุกโครงการเป็นไปตามแผนงานและเปิดให้บริการได้

หลังจากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนการดำเนินงานยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ ปี2558-2565 ทำให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เร่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบคมนาคมขนส่งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มีหลายโครงการที่มีความคืบหน้า แต่มีหลายโครงการที่ต้องเลื่อนจากแผนเดิมออกไป

สำหรับแผนการก่อสร้างที่จะดำเนินการในปี2558 กระทรวงคมนาคมจะเร่งประกวดราคาในส่วนของโครงการรถไฟฟ้า 5 เส้นทาง และรถไฟทางคู่อีก 5 เส้นทาง ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

เปิดแผนคมนาคมเร่งก่อสร้างรถไฟฟ้าปีนี้

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26.30 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ล่าสุดเมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.อ.ประจินยอม รับว่าการก่อสร้างยังล่าช้ากว่าแผนที่กำหนด โดยสัญญาที่ 1 งานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อ มีความคืบหน้าเพียง 15.45% และสัญญาที่ 2 งานโยธาทางรถไฟ คืบหน้า 27.29% ในภาพรวมแล้วการก่อสร้างทั้งหมดล่าช้ากว่าแผนงานประมาณ 20% คาดจะเปิดบริการได้ปี 2561 ซึ่งล่าช้าจากเดิมที่กำหนดไว้ปี 2560

ส่วนสัญญาที่ 3 งานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล อยู่ระหว่างต่อรองราคากับ กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็มเอชเอสซี คอนซอร์เตียม ประกอบด้วยบริษัท มิตซูบิชิ เฮฟวี อินดัสเทรียล จำกัด บริษัท ฮิตาชิ และบริษัท ซูมิโตโม คอร์เปอเรชั่น ที่เสนอรวม 49,000 ล้านบาท จากราคากลางที่ตั้งไว้ 29,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงเกินกว่าราคากลาง

ยอมรับบางชื่อ-ตลิ่งชันยังเดินรถไม่ได้

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน แบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) กล่าวว่าโครงการนี้ก่อสร้างเสร็จแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเดินรถได้ ต้องรอเชื่อมต่อเป็นระบบเดียวกัน กับโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ในส่วนของช่วง รังสิต-ธรรมศาสตร์ คาดเปิดซองประกวดราคาได้ปีนี้ และก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2561

ส่วนโครงการก่อสร้างสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพงนั้นวันที่ 13 ม.ค. 2558 จะเสนอประชุมคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ก่อนเสนอครม.อนุมัติ คาดจะเปิดซองประกวดราคาได้ปี2558 ก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2561 โดยทั้ง 2 ช่วงมีวงเงินก่อสร้างเบื้องต้น 38,954 ล้านบาท

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ส่วนต่อขยาย ดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท ระยะทาง 21.80 กิโลเมตร คาดจะเสนอครม.อนุมัติได้ดือน ม.ค.นี้ หลังจากนั้นก็จะให้เอกชนยื่นซองประกวดราคาได้ประมาณเดือน มี.ค. 2558 วงเงินโครงการ 31,103.55 ล้านบาท เร่งเปิดประมูล

เร่งเสนอครม.อนุมัติอีก3เส้นทาง

นางสร้อยทิพย์ กล่าวว่าในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม(ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) เป็นรถไฟฟ้าขนาดหนัก (เฮฟวีเรล) ระยะทาง 21.20 กิโลเมตร ขณะนี้เตรียมเสนอครม.อนุมัติงานก่อสร้างงานโยธา จากนั้นก็จะเปิดประกวดราคาต่อไป วงเงิน 110,325 ล้านบาท

สำหรับสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) วงเงิน 56,691 ล้านบาท และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) วงเงิน 54,644 ล้านบาท ทั้งสองโครงการ เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว หรือระบบโมโนเรล จะเร่งก่อสร้างได้ตามกำหนดแผน ปัจจุบันอยู่ระหว่าง เสนอครม.อนุมัติ คาดไม่เกินเดือนก.พ.2558 จากนั้นภายในเดือน ส.ค. 2558 สามารถคัดเลือกขบวนรถไฟฟ้า และจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน พร้อมกับออกแบบรายละเอียดงานโยธาในเดือน ธ.ค. 2558

ประมูลทางคู่5เส้นทางกว่าแสนล้าน

นางสร้อยทิพย์ กล่าวถึงแผนการลงทุนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ โดยยืนยันว่าจะดำเนินโครงการได้ตามแผน โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างรถไฟทางชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กิโลเมตร วงเงิน 26,007 ล้านบาท เส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงิน 17,929 ล้านบาท และช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ วงเงิน 29,855 ล้านบาท

"ทั้ง 3 โครงการ มั่นใจว่าจะประกวดราคาได้ปีนี้ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนรอครม.อนุมัติโครงการ หากครม.อนุมัติก็ดำเนินการได้ทันที "

ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เส้นทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ระยะทาง 106 กิโลเมตร วงเงิน 11,348 ล้านบาท อยู่ระหว่างขั้นตอนการประกวดราคา และช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กิโลเมตร วงเงิน 24,842 ล้านบาท ปัจจุบันได้เสนอให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อมพิจารณา เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (EIA) ได้ในช่วงเดือน ม.ค. นี้ และประกวดราคาได้เดือนก.พ. 2558 ทั้ง 5 เส้นทางคาดจะใช้งบประมาณ 109,981 ล้านบาท

นางสร้อยทิพย์ กล่าวว่าการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้า 5 โครงการ และรถไฟทางคู่ 5 โครงการ ตนมั่นใจว่าจะสามารถประกวดราคาได้แน่นอน เพราะทุกโครงการได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งข้อมูลภายในสิ้นปี2557ไปแล้ว เพื่อให้มีการประกวดราคา และก่อสร้างเสร็จตามแผน

หวังเปิดใช้สายสีม่วง12ส.ค.59

นอกจากนี้ ปี2558 ยังเป็นการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการดำเนินก่อสร้าง และเปิดราคาประมูลก่อสร้างโยธาที่ดำเนินการต่อเนื่องจากปี 2557 เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ระยะทาง 23 กิโลเมตร ปัจจุบันมีความคืบหน้า 96% โดยบอร์ด รฟม.ได้เร่งรัดให้เปิดให้บริการได้ทันวันที่ 12 ส.ค.2559 เร็วกว่าเดิมที่จะเปิดให้บริการปลายปี 2559

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และช่วงหัวลำโพง-บางแค ระยะทาง 27 กิโลเมตร ขณะนี้มีความก้าวหน้า 68.09% ล่าสุดประสบความสำเร็จในการขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าลอดแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงสถานีสนามไชย-สถานีท่าพระระยะทาง 2.6 กิโลเมตร คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2559 และเปิดเดินรถทั้งระบบในเดือน เม.ย. 2562

จี้ฝ่ายบริหารรฟม.หาข้อสรุปส่วนต่อสีน้ำเงิน

พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานบอร์ดการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ได้สั่งให้นายรณชิต แย้มสอาด รองผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รักษาการผู้ว่าฯรฟม. เร่งหาข้อสรุป ด้านโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงต่อขยาย บางแค-พุทธมณฑล สาย 4 ระยะทาง 8 กิโลเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของการออกแบบ การจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ EIA คาดเสนอ ครม. อนุมัติก่อสร้างได้ในปี 2558

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ช่วงต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการ ขณะนี้ได้ให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้บริหารโครงการแทน โดยกทม. จะให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส ดำเนินการเชื่อมต่อในการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ ซึ่งจะช่วยให้สามารถเปิดให้บริการได้เร็วขึ้น คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการเดินรถได้ในปี 2561

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือช่วงส่วนต่อขยายหมอชิต - สะพานใหม่- คูคต ได้เปิดซองประกวดราคาแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดราคา และรายละเอียดระบบงานก่อสร้างโยธาของบอร์ดรฟม. คาดสรุปให้กับคณะกรรมการ รฟม.ได้เดือนก.พ.นี้ เพื่อพิจารณาเสนอครม.ต่อๆไป คาดว่าภายในเดือน มิ.ย.2558 จะก่อสร้างได้จะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี 8 เดือน เพื่อให้เป็นไปตามแผนก่อสร้างรถไฟฟ้า 10 ของกระทรวงคมนาคม


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เปิด10เส้นทาง 4แสนล้าน

view