สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ย้อนปมถอดถอน ยิ่งลักษณ์

ย้อนปมถอดถอน'ยิ่งลักษณ์'

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เปิดศักราชใหม่ 2558 ปมถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็ได้ฤกษ์เดินเครื่องในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

(สนช.) ซึ่งทำหน้าที่แทนสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

"ปมถอดถอน" ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 3 คน คือ อดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตประธานรัฐสภา สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตรองประธานรัฐสภา นิคม ไวยรัชพานิช ในที่นี้จะเขียนจำเพาะราย อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์

ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกทักท้วงถึงนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกเหนียว 15,000 บาท ข้าวเปลือกจ้าว 20,000 บาทต่อเกวียน จากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งอ้างผลการศึกษาร่วมกันกับ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ระมัดระวังการใช้จ่ายงบประมาณโครงการที่ส่อว่าจะรั่วไหล โดยป.ป.ช.เตือนไปยังผู้นำรัฐบาล ถึง 2 ครั้ง

ภายในรัฐสภา พรรคฝ่ายค้าน อภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2555 ในวันเดียวกันนั้น "ยิ่งลักษณ์" ยืนยันต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ว่า โครงการรับจำนำข้าวเกษตรกรได้ประโยชน์

พรรคฝ่ายค้านตั้งกระทู้ถามสด เรื่อง "ปัญหาการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว" โดยส.ส.ประชาธิปัตย์ วรงค์ เดชกิจวิกรม ถาม นายกรัฐมนตรี ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2556 ในครั้งนี้ นำกระสอบข้าวสารตากโครงการรับจำนำข้าวใน จ.สุรินทร์ มาแสดงและย้ำว่า นี่คือการทุจริตทุกขั้นตอน แบบ "ไร้รอยต่อ"

ในด้านการสอบสวนความผิดของ "ยิ่งลักษณ์" คณะกรรมการป.ป.ช. ได้มีมติให้เริ่มดำเนินการไต่สวนตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2557 เนื่องจากมีผู้ร้องมายังป.ป.ช.ว่า "ยิ่งลักษณ์" มีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย โดยปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และการระบายข้าว และเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นตามอำนาจหน้าที่

28 มกราคม 2557 ป.ป.ช.ตั้งกรรมการชุดใหญ่ ไต่สวนคดีนี้

18 กุมภาพันธ์ 2557 ป.ป.ช.มีมติเรียก "ยิ่งลักษณ์" มารับทราบข้อกล่าวหา

20 กุมภาพันธ์ 2557 "ยิ่งลักษณ์" โพสต์เฟซบุ๊ค ถึงความอยุติธรรมของ ป.ป.ช.

31 มีนาคม "ยิ่งลักษณ์" เข้าชี้แจงข้อกล่าวหา กับ ป.ป.ช.

วันที่ 8 พฤษภาคม 2557 คณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. สรุปสำนวนคดีส่งให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่พิจารณาความผิดของ "ยิ่งลักษณ์" ซึ่ง ป.ป.ช. มีมติให้ถอดถอน "ยิ่งลักษณ์" ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

โดยข้อหา ที่ป.ป.ช.ชี้มูล คือ "ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 178 และส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ มาตรา 11 (1) อันเป็นเหตุแห่งการถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 270 ซึ่งมีมูลเพียงพอที่จะดำเนินการส่งให้วุฒิสภาดำเนินการถอดถอนต่อไปได้" โดยมีมติ 7 ต่อ 0

ดังนั้น "ยิ่งลักษณ์" ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ไม่ยับยั้งความเสียหายโครงการรับจำนำข้าว ที่เสียหายกว่า 6 แสนล้านบาท เป็นความผิดตามพ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดินฯ และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. มาตรา 58

พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับที่ป.ป.ช.ใช้อ้างฐานความผิดยังคงบังคับใช้อยู่

คณะกรรมการ ป.ป.ช.อ้างความผิดของ "ยิ่งลักษณ์" โดยใช้คำว่า 'ส่อว่าจงใจจะทุจริต' เข้าข่ายที่ "ยิ่งลักษณ์" มีความผิด

เป็นคนละกรณีกับความผิด "สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์" อดีตประธานรัฐสภา และ "นิคม ไวยรัชพานิช" อดีตรองประธานรัฐสภา ในกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เรื่องที่มาส.ว.

บทบาทหน้าที่ของ สนช. คือ จะต้องดูว่า "ยิ่งลักษณ์" ละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

ส่วนมติถอดถอน นั้นใช้เสียง 3 ใน 5 ของสมาชิกที่มีอยู่ 150 คน เสียงที่จะถอดถอนได้ คือ 132 เสียง

กรณีถอดถอน "ยิ่งลักษณ์" มีข้อหาหลักชัดเจน ส่อว่าจงใจใช้ตำแหน่งหน้าที่ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหน้าที่ของสนช. เมื่อรับฟังคำแถลงทั้งจากป.ป.ช. และจาก ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 9 มกราคม นี้แล้ว จะยืนอยู่ข้าง "ผู้รักษากฎหมาย" หรือ "จะสมยอมกันไปด้วยเหตุผลเพื่อความปรองดอง"


เปิดข้อหา-คำหักล้าง-ยิ่งลักษณ์คดีจำนำข้าว

จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...เจษฎา จี้สละ

การแถลงเปิดคดีถอดถอน “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีโครงการรับจำนำข้าว ในวันที่ 9 ม.ค.นั้น คงจะมีการหักล้างกันดุเดือด ระหว่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กับยิ่งลักษณ์ แต่ก่อนที่จะไปถึงวันดังกล่าว ย้อนไปดูข้อกล่าวหา ข้อหักล้างของทั้งคู่ในชั้นไต่สวนของ ป.ป.ช. ซึ่งมีสาระน่าสนใจดังนี้

ป.ป.ช.กล่าวหายิ่งลักษณ์ว่าได้กระทำความผิด “ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

ทั้งนี้ ป.ป.ช.ได้ยกเหตุผล 7 ประเด็น ที่มีการท้วงติงและขอให้ยกเลิกโครงการจำนำข้าวแต่ยิ่งลักษณ์ ไม่ยอมยกเลิก คือ

1.นายกรัฐมนตรีได้รับทราบข้อเสนอแนะ ป.ป.ช. ว่า โครงการรับจำนับข้าวมีปัญหาในการทุจริตทุกขั้นตอน และนำไปสู่การทุจริตหรือแสวงหาผลประโยชน์ อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติจึงเสนอรัฐบาลยกเลิก 

2.นายกรัฐมนตรีรับทราบผลการติดตามของ ป.ป.ช. ว่ามีปัญหาการทุจริตเชิงนโยบาย และในขั้นตอนและกระบวนการดำเนินโครงการ เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2555

3.นายกรัฐมนตรีรับทราบเกี่ยวกับเรื่องทุจริตจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านในสภา ระหว่างวันที่ 25-27 พ.ย. 2555

4.นายกรัฐมนตรีรับทราบปัญหาจากการตั้งกระทู้ถามเรื่องการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ และปัญหาโครงการรับจำนำข้าวของ วรงค์ เดชกิจวิกรม  สส.ประชาธิปัตย์

5.นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ทราบจากรายงานจากคณะอนุฯ กขช. เมื่อวันที่ 9  ต.ค. 2555 ว่ามีการขาดทุน 32,301 ล้านบาท และรับทราบข้อสังเกตและข้อเสนอแนะจุดอ่อนของโครงการว่า ราคาสูงกว่าตลาดมากเป็นภาระของรัฐ  และเสี่ยงเป็นภาระรายจ่ายของรัฐและขาดทุนจำนวนมาก

6.คณะอนุฯ กขช. แจ้ง นายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน กขช. เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2555 ว่าโครงการ ขาดทุน 220,968 ล้านบาท และแม้นายกรัฐมนตรีจะได้รับข้อเท็จจริงดังกล่าว แต่ยังดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในฤดูการผลิตต่อมา

7.นายกรัฐมนตรีได้รับข้อมูลเป็นหนังสือจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2557 ซึ่งระบุว่า โครงการจำนำมีจุดอ่อนหรือความเสี่ยงทุกขั้นตอน และไม่เกิดการพัฒนาข้าวอย่างยั่งยืน พร้อมเสนอให้พิจารณาทบทวน ยุติการดำเนินโครงการ

ด้าน “ยิ่งลักษณ์” ได้เข้าชี้แจงต่อ ป.ป.ช. ด้วย การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และแสดงเหตุผลใน 7 ประเด็น ดังนี้

1.กระบวนการรับคำร้องและเริ่มคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจาก ป.ป.ช.ทราบอยู่แล้วว่า อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ส่วนหนึ่งที่ร่วมลงชื่อให้มีการถอดถอน ไม่มีอำนาจลงชื่อ เพราะพ้นจากการเป็น สส.ไปแล้ว

2.ป.ป.ช.ใช้อำนาจเกินขอบเขตแห่งอำนาจ เพราะเคยเสนอให้นายกรัฐมนตรียกเลิกโครงการรับจำนำ แต่รัฐบาลมิได้ยกเลิก จึงถือว่า ป.ป.ช.เป็นผู้มีส่วนได้เสียและเป็นปฏิปักษ์อย่างร้ายแรงกับรัฐบาล ไม่เช่นนั้นจะเท่ากับว่า ป.ป.ช.มีอำนาจเหนือรัฐบาล

3.ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจาก “วิชา มหาคุณ” หนึ่งในองค์คณะไต่สวน มีลักษณะต้องห้ามตามระเบียบ ป.ป.ช. เพราะมีความโกรธเคืองส่วนตัวกับ “ยิ่งลักษณ์”

4.กระบวนการไต่สวนไม่เป็นธรรม รวบรัด รีบร้อน เร่งรีบ เนื่องจากใช้เวลาไต่สวนเพียง 21 วัน ซึ่งหากเปรียบเทียบกับคดีโครงการประกันราคาข้าว ที่มี “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” กับพวกเป็นผู้ถูกกล่าวหาดำเนินการล่าช้ากว่ามาก นอกจากนั้น ป.ป.ช.ยังรับฟังพยานหลักฐานที่เป็นปฏิปักษ์

5.การรับฟังพยานบุคคล คือ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” และ “วรงค์ เดชกิจวิกรม” ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะทั้งสองคนเป็นคู่แข่งทางการเมืองและนโยบายของพรรคการเมือง จึงไม่มีความน่าเชื่อถือ

6.มติ ป.ป.ช.ที่ให้มีการไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่ชอบด้วยระเบียบ ป.ป.ช.ว่าด้วยการไต่สวนข้อเท็จจริง เพราะยังไม่มีมูลความจริงเพียงพอที่จะสงสัยว่า “ยิ่งลักษณ์” ในฐานะนายกรัฐมนตรี ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ฉะนั้นไม่เข้าเงื่อนไขที่จะเริ่มคดี ด้วยการสั่งให้มีไต่สวนได้

7.การตรวจพยานหลักฐานไม่ชอบด้วยระเบียบ ป.ป.ช. ว่าด้วยการไต่สวนข้อเท็จจริง ข้อ 40 เพราะในวันที่ 11 มี.ค. 2557 กระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริง ทนายความฝ่าย “ยิ่งลักษณ์” ได้รับเอกสารหลักฐานเพียง 12 รายการ 49 แผ่นเท่านั้น ส่วนพยานหลักฐานอย่างอื่น ป.ป.ช.อ้างว่าไม่มี ขณะที่ “วิชา มหาคุณ” ให้สัมภาษณ์สื่อในลักษณะที่ว่า ตนเองมีเอกสารอื่นที่ยังไม่ได้มอบให้กับ “ยิ่งลักษณ์” จึงเป็นการขัดต่อระเบียบ ป.ป.ช.

ทั้งหมดนี้ใครจะรอด ใครจะตกเป็นจำเลยของสังคม อีกไม่นานจะรู้กัน


ทำไม? ..ยิ่งลักษณ์ถึงมั่นใจ

วันนี้และพรุ่งนี้ความสนใจของผู้คน คงจะมุ่งไปที่รัฐสภากันเป็นส่วนใหญ่ กับการประชุมของ

สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยเฉพาะการพิจารณาถอดถอนยิ่งลักษณ์ ชินวัตรอดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่งตามมาตรา 6 วรรคสองของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ประกอบมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว และคดีถอดถอนนิคม ไวยรัชพานิชอดีตประธานวุฒิสภา และสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์อดีตประธานรัฐสภา

ประเด็นของยิ่งลักษณ์ ดูเหมือนจะเป็นที่สนใจของผู้คนเสียมากกว่าในเวลานี้ แต่การเข้าไปชี้แจงข้อกล่าวหากรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวต่อสนช.พรุ่งนี้น่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงเปิดคดีมากกว่า พร้อม ๆ กับเปิดโอกาสให้ตอบข้อซักถามได้เต็มที่

แต่ที่น่าจับตาอย่างยิ่งยวด คงมีผู้คนจำนวนไม่น้อยต้องการเห็นการชี้แจงของยิ่งลักษณ์ จะด้วย"ปากเปล่า"หรือ"พกโพย"เข้าไปก็ตาม ตรงนี้ต่างหากที่ใครๆ ก็อยากฟังคำอธิบายและการชี้แจงในสิ่งที่เกิดขึ้น

แม้ผู้คนจำนวนมากจะรับรู้มาก่อนแล้วว่า โครงการรับจำนำข้าวทำให้เกิดความเสียหายไปหลายแสนล้านบาทแล้วก็ตาม การชี้แจงในสิ่งที่เกิดขึ้นกับที่ผ่านๆ มา น่าจะเป็นเครื่องพิสูจน์ความจริงได้ว่าเกิดอะไรขึ้น หากยิ่งลักษณ์ มั่นใจว่าไม่ได้กระทำการอะไรที่ผิดเพี้ยน ก็น่าจะชี้แจงเหตุผลต่างๆ นานาได้

แต่ทว่าการชี้แจงอ้ำๆ อึ้งๆ ผลที่เกิดขึ้นตามมา ก็คงจะหนีไม่พ้น และคงต้องเป็นหน้าที่ของสมาชิกสนช.ทั้งหมด ที่จะลงมติกับเรื่องนี้ ส่วนเสียงจะเป็นอย่างไรต้องรอพิสูจน์อีกครั้ง ไม่เดือนนี้ก็เดือนหน้า อดใจรอก็แล้วกัน

สำหรับยิ่งลักษณ์ ว่ากันว่างานนี้ทำการบ้านหนักเข้า"คอร์สติวเข้ม ซักซ้อมข้อมูล"เตรียมการชี้แจงต่อสนช.ทุกวัน ถึงขั้นเอ่ยกับคนใกล้ชิด"ฉันไม่หนีอยู่แล้ว"แถมมีอาการมั่นใจทำนองสามารถชี้แจงได้ทุกข้อกล่าวหา

ว่ากันว่าทีมงานยิ่งลักษณ์ ดูเหมือนจะมั่นใจเสียเหลือเกินว่าจะชี้แจงได้ทุกประเด็นมีการหนีบข้อมูลการแต่งตั้งคณะกรรมการแต่ละชุด ขึ้นมาตรวจสอบเรื่องข้าว รวมไปถึงการดูแลรับผิดชอบสต็อกข้าวที่อยู่ในโกดัง มีสัญญาชัดเจนโกดังไหนได้รับความเสียหาย หน่วยงานที่ดูแลต้องไล่ลี้หาผู้รับผิดชอบ ฉะนั้นงานนี้องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และองค์การคลังสินค้า (อ.ค.ส.) โปรดทราบ ไหนๆ ปีนี้ก็"ปีแพะ"แล้ว

เอาละ..วันนี้ยังบอกไม่ได้ว่าคดีนี้จะออกมาอย่างไร แต่ที่แน่ๆ หากถึงขั้นลงมติถอดถอนสำเร็จ ตระกูล"ชินวัตร"อาจต้องสูญหายไปจากถนนสายการเมืองอย่างน้อย 5 ปีแน่นอนหากยิ่งลักษณ์ เข้าสู่มุมอับไปสู่จุดจบแบบต้องถูกเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี ตระกูล"ชินวัตร"คงจะหมดทายาททางการเมืองชั่วขณะ ประเด็นนี้ดูเหมือนเริ่มมีการประเมินเกิดขึ้นแล้วหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นจะต้องทำอย่างไร

แต่กว่าจะไปถึงจุดจบของเรื่องนี้ได้ มีหวัง"องครักษ์พิทักษ์นาย"ทั้งหลาย คงจะต้องฟาดฟันกับกลุ่มตรงข้าม อย่างดุเด็ดเผ็ดมันนับจากนี้ไป

ยิ่งเห็นนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชาออกมาพูดทำนอง เรื่องนี้ไม่กระทบความมั่นคง ต้องถามก่อนว่าคดีนี้เป็นความผิดหรือไม่ ทุกอย่างหากผิดกฎหมายคือ"ผิด"ตรวจสอบแล้วไม่ผิดกฎหมายก็คือ"จบ"เพราะมีคนเสนอให้ตรวจสอบเป็นหน้าที่

จริงๆ แล้ว เรื่องนี้ นายกฯประยุทธ์ เองก็ยากที่จะบอกได้ว่าผลจะเป็นอย่างไร แต่ระหว่างทางที่ยังไม่ถึงจุดจบ อะไรก็เกิดขึ้นได้ อาจเป็นการสร้างเรื่องปวดหัวให้นายกฯประยุทธ์ก็เป็นได้

อยากฝากไปถึงป.ป.ช.ด้วย เรื่องเกี่ยวข้องกับการทุจริตจำนำข้าวที่ยังมีผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายลอยนวลอยู่นั้นลากเข้ามารับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย โดยเฉพาะกลุ่มที่หลอกขายข้าวจีทูจี ตอนนี้ดูเหมือนยังลอยละล่องอยู่ในสังคม

ได้โปรดเถอะ..ลากพวกเขามารับผิดชอบต่อความเสียหายด้วย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน,สำนักงานบัญชี พี.เอ็ม.เอส.

Tags : ย้อนปมถอดถอน ยิ่งลักษณ์

view