สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ถ้าไม่อยากแพ้ต้องแหกกฎ

ถ้าไม่อยากแพ้ต้องแหกกฎ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




การแหกกฎครั้งหนึ่งที่จัดเป็นตำนานในประวัติศาสตร์คือการแหกกฎของทัพเรืออังกฤษ

ซึ่งช่วยให้อังกฤษพ้นจากเงื้อมมือของชายผู้สั่นคลอนทวีปยุโรปอย่างนโปเลียน โบนาปาร์ต ได้สำเร็จ

ยุทธนาวีที่กลายเป็นตำนานนี้ เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1805 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กองทัพของนโปเลียนเป็นขุมพลังทางบกที่ทรงอำนาจที่สุดในทวีปยุโรป แต่จนแล้วจนรอด ความทะเยอทะยานของนโปเลียนในการจะยึดครองยุโรปทั้งหมดก็ไม่เป็นจริงเสียที สาเหตุหนึ่งก็เพราะกองทัพเรือของอังกฤษยังเป็นหนามยอกอก คอยโจมตีสร้างความเสียหายให้กับกองเรือของนโปเลียน ทำให้การเดินทัพและขนส่งยุทธพันธ์ทางทะเลช้ากว่าที่คาดไว้ ตัวนโปเลียนเองก็หมายตาเกาะอังกฤษไว้เช่นกัน เพราะหากตีอังกฤษได้ จะเป็นการทำลายขวัญกำลังใจของผู้ที่ยังต่อต้านเขาในส่วนอื่นของยุโรป

อย่างไรก็ตาม การจะบุกอังกฤษต้องข้ามช่องแคบอังกฤษเสียก่อน ปัญหาก็คือ อังกฤษเป็นเจ้าของน่านน้ำ ดังนั้น ก่อนจะยกพลไปถล่มเกาะอังกฤษได้ ทัพของนโปเลียน ต้องยึดครองน่านน้ำช่องแคบอังกฤษให้ได้เสียก่อน

ด้วยเหตุนี้ นโปเลียนจึงได้ระดมกำลังเรือรบทั้งหมด โดยให้นายพลวิลเนเวอร์เป็นผู้บังคับบัญชากองเรือจำนวน 33 ลำ ซึ่งในจำนวนนั้น มีเรือรบ 3 ลำที่มีขนาดใหญ่กว่าเรือธงของอังกฤษ จำนวนปืนใหญ่ที่ติดตั้งอยู่ในเรือรบทั้งหมดของนโปเลียน เท่ากับ 2,632 กระบอก ทัพเรืออังกฤษภายใต้การนำของลอร์ดเนลสัน มีทั้งหมด 27 ลำ และส่วนใหญ่เป็นเพียงเรือรบขนาดกลางและขนาดเล็ก จำนวนปืนที่มีรวมกันแล้วเท่ากับ 2,148 กระบอก น้อยกว่าทัพเรือของนโปเลียนถึง 484 กระบอก

ความแตกต่างขนาดนี้มีผลอย่างมากต่อการสู้รบทางทะเล เพราะ “ธรรมเนียมปฏิบัติ” ของการสู้รบทางทะเลในสมัยนั้น เรือรบของทั้งสองฝ่ายจะตั้งแถวเรียงกันเป็นเส้นตรง แล้วแล่นเรือสวนทางเพื่อยิงต่อสู้กัน

เนลสันรู้ดีว่า ชะตากรรมของอังกฤษอยู่ในกำมือของเขา จึงตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่ายุทธนาวีครั้งนี้จะต้องมีผลแพ้ชนะเด็ดขาด และอังกฤษต้องเป็นผู้มีชัย เขาลองศึกษาเปรียบเทียบจุดอ่อนจุดแข็งของกองทัพทั้งสองฝ่ายแล้วพบว่า ในแง่จำนวนเรือและปืนใหญ่ อังกฤษแพ้ขาด ที่พอจะอุ่นใจได้บ้างก็คือ ทหารเรืออังกฤษมีความเชี่ยวชาญในการรบทางน้ำสูงกว่ากองทัพเรือของนโปเลียนซึ่งเป็นกองทัพผสมระหว่างทหารฝรั่งเศสและเสปน ทหารส่วนใหญ่ไม่ได้มีความชำนาญในการรบทางทะเลเท่ากับทหารเรืออังกฤษที่ถูกฝึกมาอย่างดี มีประสบการณ์ในการรบโชกโชน

เนลสันจึงต้องคิดแผนการรบที่จะสร้างเงื่อนไขให้ทัพเรืออังกฤษสามารถใช้จุดแข็งที่มีอย่างเต็มที่ และในขณะเดียวกัน แผนการนี้ต้องบีบให้กองทัพเรือของนโปเลียนสู้ด้วยวิธีการที่ทำให้พวกเขาเสียเปรียบที่สุด ในที่สุดเขาก็คิดแผนการรบได้สำเร็จ

เขามองว่า เมื่อธรรมเนียมการรบเดิมไม่ส่งผลดีต่อเขา งั้นก็ต้องเปลี่ยนรูปแบบการรบเสียใหม่ แทนที่จะตั้งแถวสาดกระสุนเหมือนกับที่เคยทำมา เนลสันจัดทัพเป็นสองแถว วิ่งเข้าหาทัพเรือของนโปเลียนในมุมฉาก โดยแถวบนจะตัดผ่านหลังเรือธงของนโปเลียน เพื่อบังไม่ให้เรือลำต่อมามองเห็นธงสัญญาณ และแถวที่สองตัดผ่านส่วนกลาง เพื่อตัดขาดส่วนกลางของแถวออกจากส่วนล่าง หลังจากนั้นทั้งสองแถวจะทำการโอบล้อมเพื่อรุมกินโต๊ะส่วนกลางที่ถูกตัดขาดก่อน เพื่อสร้างความเสียหายให้กับกำลังหลักของฝ่ายตรงข้าม และเนื่องจากสัญญาณจากเรือธงส่งมาไม่ถึง เขามั่นใจว่า บรรดาทหารเรือด้อยประสบการณ์เหล่านี้จะเกิดอาการสับสน จนนำไปสู่ความวุ่นวายในกองทัพเรือของศัตรู

เมื่อแผนการขั้นแรกลุล่วงขั้นต่อไป คือ ให้เรือรบของอังกฤษแต่ละลำเข้ารบประจัญบานกันเรือที่เหลือจะเป็นตัวต่อตัวหรือสองรุมหนึ่งก็ได้ เพื่อบีบให้กองทัพเลือกของศัตรูแตกแถวออกมาสู้เอาตัวรอด ซึ่งการรบประจัญบานนี้ เป็นเงื่อนไขที่ทหารเรืออังกฤษจะสำแดงความสามารถที่เหนือกว่าในการรบทางน้ำออกมาได้มากที่สุดเนลสันได้กำชับกัปตันเรือของเขาทุกลำว่า เมื่อถึงตอนนี้ไม่ต้องรอฟังคำสั่งเขา ให้ใช้สัญชาตญาณของตนเอง “ออกล่าเหยื่อ” ได้เลย จะไม่มีการส่งสัญญาณอะไรจากเรือธงอีก

ความเสี่ยงของแผนการนี้ก็คือ เรือลำแรกของทั้งสองแถวจะต้องเผชิญกับปืนใหญ่นับพันกระบอก ถ้าโดนจังๆ แค่ชุดเดียวซากก็ไม่เหลือแล้ว เนลสันก็คิดถึงประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน สำหรับเขา ความเสี่ยงนี้เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ด้วยเหตุผลสองข้อ

ข้อแรก การจะยิงปืนใหญ่ในทะเลให้แม่นนั้น จะต้องเข้าในธรรมชาติของทะเล อ่านจังหวะคลื่นออก จึงจะสามารถจุดชนวนปืนใหญ่ได้สอดคล้องกับการโยนตัวของเรือ สำหรับคนที่ใช้ชีวิตเกือบทั้งหมดกับท้องทะเล การอ่านคลื่นได้กลายเป็นสัญชาตญาณไปแล้ว แต่สำหรับกองทัพเรือของนโปเลียนซึ่งไม่ได้มีความชำนาญในการรบทางทะเล พวกเขาไม่มีสัญชาตญาณในเรื่องนี้ โอกาสที่จะยิงพลาดหรือโดนจุดสำคัญของเรือจึงมีน้อย

ข้อสอง เขาได้สั่งให้เรือรบติดใบเสริมแบบเต็มอัตราศึก เพื่อเพิ่มความเร็วของเรือให้สูงที่สุด จะได้ลดช่วงเวลาที่ต้องถูกรุมยิ่งให้สั้นลง และยังเพิ่มแรงกดดันให้กับทหารฝ่ายตรงข้าม ทำให้เกิดความผิดพลาดมากขึ้น

กองเรือของทั้งสองฝ่ายเข้าปะทะกันในวันที่ 21 ตุลาคม 1805 ณ แหลมทราฟัลกา ประเทศสเปน กองทัพเรืออังกฤษไม่เสียเรือรบเลยแม้แต่ลำเดียว ฝ่ายกองทัพเรือของนโปเลียน โดนทหารอังกฤษยึดเรือได้ 21 ลำ และถูกจม 1 ลำ แม้ว่าจะมีเรือรอดไปได้ แต่ก็เสียหายหนักจนไม่สามารถจะกลับมาสู้รบได้อีกในระยะเวลาอันสั้น นโปเลียนต้องสูญเสียทหารเรือจากการบาดเจ็บล้มตายหรือไม่ก็ถูกจับรวม 13,781 คน ในขณะที่ทหารเรืออังกฤษเสียชีวิตเพียง 458 คน และบาดเจ็บจำนวน 1,208 คน แต่ที่น่าเศร้าก็คือ เนลสันเองก็ต้องจบชีวิตลงจากบาดแผลระหว่างที่นำเรือธงบุกเข้าไปโจมตี

ผลจากการยุทธนาวีครั้งนี้ นอกจากจะสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลแล้ว ยังทำให้กองทัพเรืออังกฤษกลายเป็นที่หวาดกลัวของกองทัพเรือของนโปเลียน ช่วยให้เกาะอังกฤษปลอดภัยจากการย่ำยี และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยเปลี่ยนโฉมหน้าสงคราม ช่วยให้อิสรภาพกลับคืนสู่ทวีปยุโรปอีกครั้ง

ไหนๆ ก็ปีใหม่แล้ว ลองเอาอย่างเนลสันคิดแบบแหกกฎบ้าง มองให้ต่างจากมุมเดิม ดูว่าเราจะมีวิธีรับมือกับชีวิตในปี 2558 ให้ต่างจากปีก่อนได้ยังไง ไม่แน่ว่า บางทีสิ่งที่เราทำสำเร็จในปีก่อนอาจสำเร็จในปีนี้ก็ได้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน,สำนักงานบัญชี พี.เอ็ม.เอส.

Tags : ถ้าไม่อยากแพ้ ต้องแหกกฎ

view