สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ข้อผิดพลาดที่พบเสมอในการทำ Digital Marketing

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ธนพล ทรัพย์สมบูรณ์



เริ่มต้นปีใหม่ด้วยอาการงงๆ งวยๆ หลายคนคงคิดว่า ช่วงวันหยุดที่ผ่านมา มันคือฝันหรือนี่!!

หลังจากนอนตีพุง ไปเที่ยว พักผ่อนกันจนกระหน่ำหนำใจ หลายคนเลยยังมีอาการยังปรับตัวไม่ถูก อยากจะหยุดต่ออีกสัก 5 วัน แต่ไม่ว่ายังไงก็ตาม ชีวิตและหน้าที่ ยังคงต้องเดินต่อไป เรียนรู้จากสิ่งผิดพลาดในปีที่ผ่านมา เพื่อนำมาวางแผนในปีนี้ และปีต่อไปว่าจะพัฒนาและปรับปรุงอะไรกันบ้าง

วันนี้จะมาสรุปสิ่งผิดพลาด!! ในการทำ Digital Marketing ที่พบเห็นบ่อยที่สุดในปี 2557 ให้ฟัง เพื่อจะได้เก็บมาคิด มาวางแผนกันว่าปีนี้ควรจะพัฒนาวางแผนอะไรกันต่อไป มาว่ากันเป็นข้อๆเลยนะครับ

1.มอง Search Marketing เป็น Awareness

ถือเป็นข้อผิดพลาดใหญ่หลวงนัก เพราะเป็นการสิ้นเปลืองพลังงาน และงบประมาณอย่างเหลือเชื่อ คือมองการทำ Search Marketing เป็นการสร้าง Awareness กล่าวคือพยายามซื้อ Keywords จาก Google ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เรียกได้ว่า Keywords อะไรที่มีความเกี่ยวข้องกับแบรนด์นิดเดียว ก็ซื้อแหลก สากกะเบือ ยันเรือรบ พอไต่ถาม Marketing Team ก็ได้ความว่าเพราะว่าเค้าถูกตั้ง KPI เป็นจำนวนคนเข้าเว็บไซต์ ดังนั้นจำเป็นต้องซื้อให้เยอะไว้ก่อน

ฟังแล้วร้องอั้ยหยาตังค์หนาจัง!!

ท่องไว้เป็นสูตรเสมอครับ Search Marketing มีไว้เพื่อ “Capture Demand” ที่มีอยู่แล้วในโลกออนไลน์ เมื่อใดก็ตามที่คน Search เข้ามายังเว็บไซต์ แล้วไม่พบกับข้อมูลที่เค้าต้องการ จะคลิก back ออกไปจากเว็บไซต์ทันที บางที 3 วินาทียังไม่ถึงด้วยซ้ำ เผ่นแน่บไปแล้ว เป็นการสูญเสียงบประมาณโดยใช่เหตุ

ตัวอย่าง มีแบรนด์ๆหนึ่ง ซื้อ keyword เป็นชื่อ presenter ของตัวเอง โดยมีเหตุผลที่ว่า ถ้าคน search ชื่อ presenter แล้วมาเจอเว็บไซต์ของเรา ก็จะได้รู้ว่า presenter คนนี้ เป็น presenter ของเรา ฟังแล้วแอบชะงักเล็กๆ ผมอยากให้ลองคิดมุมกลับแบบ consumer ที่เค้าตั้งใจ search ดูบ้าง จริงๆแล้ว ที่คนเค้า search ชื่อดาราเค้ากำลังต้องการหาข้อมูลอะไรอยู่

แน่นอนครับต้องเป็นข้อมูลของ presenter ที่เค้าสนใจ อาจหา Facebook หรือ IG ของตัว presenter หรืออาจหารูปภาพ รูปหลุด อะไรก็แล้วแต่ แต่เชื่อได้เกือบ 100% ครับ ว่าเค้าไม่ได้ตั้งใจหาข้อมูลสินค้าหรือบริการของเราอยู่แน่ๆ ดังนั้นไม่ต้องสงสัยเลยครับ ถ้ามีคนเผลอคลิกเข้ามาในเว็บไซต์ ใน keyword ชื่อ presenter อย่างเก่งจะอยู่ในเว็บไซต์เราไม่ถึง 3 วินาที ก็ชิ่งแล้ว!

2.มีเว็บเหมือนกับมีนามบัตร

ปัญหา Classic ที่มีอยู่ในวงการดิจิทัลไทยมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ต้องจำให้ขึ้นใจเสมอ เวลามีเว็บไซต์ คืออย่าปล่อยให้คนเข้าเว็บมา แล้วจากไป โดยที่เราไม่ได้อะไรเลย ….เว็บของพวกเราที่ทำขึ้นมา โดยส่วนใหญ่แล้วเพื่อจุดประสงค์ทางการตลาดกันทั้งนั้น เว็บของเราไม่ใช่เว็บข่าว เว็บวาไรตี้ ที่เน้นให้คนเข้ามาอ่านๆ แล้วจากไป

อย่างน้อยที่สุดควรจะมีช่องให้กรอกข้อมูล E-mail , มีกล่อง Facebook ให้คลิก Like หรือจะมีเบอร์โทรศัพท์ใหญ่โตสะใจในทุกหน้า เพื่อให้คนติดต่อเราเข้ามาให้ง่ายที่สุด โดยไม่ต้องควานหาให้เหนื่อย

ลองคิดดูสิครับมันน่าเสียดายขนาดไหน ถ้าเราอุตส่าห์ลงทุนซื้อ Search, ซื้อ Banner , ลงโฆษณา Facebook ส่ง Traffic มาที่เว็บไซต์ คนเข้ามาอ่านอยู่ 1-2 นาที เสร็จแล้วก็จากเราไป อย่างน้อยยังไม่ตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการของเราในตอนนี้ แต่ถ้าเราสามารถเก็บ contact ของคนที่เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็น Email , เบอร์โทรหรือว่าให้เค้ากลายเป็น Fan เราใน Facebook เสียก่อน อย่างน้อยก็มีโอกาสที่จะติดตาม เพื่อให้เค้ากลับมาเป็นลูกค้าของเราได้

3.เอาโฆษณา Offline มาลง Online แบบดื้อๆ

อันนี้แบรนด์ใหญ่ๆ จะมีปัญหากันมาก เช่น นำดีไซน์บิลบอร์ดมาใส่ Banner ตามเว็บต่างๆ นำโฆษณา TVC มาใส่ ใน Youtube เสร็จแล้วก็มานั่งบ่นกันขโยงใหญ่ ว่าทำออนไลน์แล้วไม่เวิร์คเอาเสียเลย

จริงๆเราต้องยอมรับกันครับ ว่าคนออนไลน์โดยส่วนใหญ่นั้นไม่ค่อยชอบโฆษณา! แถมมีความสามารถพิเศษ สามารถมองข้ามโฆษณาได้อย่างไม่แยแส ถ้าเป็นแบนเนอร์พอเราจะมีลูกเล่น ทำ Animation วิ๊บแว๊บ วูบวาบเพื่อเรียกความสนใจหน่อย ก็กลายเป็นว่าคนรำคาญ! หรือถ้าเราบังคับให้คนดูโฆษณา อย่างโฆษณายูทูบ ที่รันวีดิโอโฆษณาก่อนจะดูวีดีโอตัวจริง คนก็นั่งนับถอยหลัง เมื่อไหร่หนอปุ่ม Skip ข้ามโฆษณา จะโผล่มาให้คลิกเสียที!

ดังนั้นการทำงานโฆษณาออนไลน์ จะเอาโฆษณาออฟไลน์มาใช้แบบดื้อๆไม่ได้ บางทีต้องมีการสร้างคอนเทนท์ใหม่ หรือมีการปรับ Communication ใหม่ด้วยซ้ำ โดยมีแนวคิดสร้างคอนเทนท์ที่เน้นความพึงพอใจของคอนซูเมอร์เป็นหลักไว้ก่อน เสร็จแล้วค่อยหาทางแทรกโฆษณาลงไปแบบเนียนๆ ไม่ใช่คิดแต่ว่าตัวเองอยากจะพูดอะไร โฆษณาอะไร แล้วยัดเยียดให้คนได้ยิน ได้ฟังอย่างเช่นสื่ออื่นๆ

เขียนไปเขียนมาชักจะเริ่มยาว ตอนเดียวไม่จบครับ…ขอให้ติดตามในตอนต่อไปครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน,สำนักงานบัญชี พี.เอ็ม.เอส.

Tags : ข้อผิดพลาด พบเสมอ Digital Marketing

view