สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เลือกสินค้าทางการเงินให้เหมาะสม

เลือกสินค้าทางการเงินให้เหมาะสม

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เริ่มปีใหม่ หลายท่านจัดพอร์ตการลงทุนใหม่ หลายท่านที่ยังไม่เคยลงทุนเริ่มเสาะแสวงหาสินค้าและบริการทางการเงิน

ที่เหมาะสมกับตัวเอง

ในวันนี้ดิฉันอยากจะเสนอแนะเทคนิคการเลือกสินค้าทางการเงินให้เหมาะสมกับตัวท่านค่ะ

นอกเหนือจากการเลือกสินค้าทางการเงินให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่รับได้ ให้สอดคล้องกับระยะเวลาการลงทุน และให้สอดคล้องกับผลตอบแทนที่คาดหวังแล้ว ในบางครั้งเราอาจจะมีความต้องการพิเศษ หรือมีสถานการณ์พิเศษที่ทำให้เราอยากจัดพอร์ตการลงทุนเพื่อรองรับกับสถานการณ์นั้น ซึ่งขอเล่าเทคนิคในการเลือกมาประกอบค่ะ

ประการแรก ดูความเหมาะสม ทั้งให้เหมาะสมกับสถานะ กำลังทรัพย์และสภาพคล่อง การลงทุน หรือการใช้บริการทางการเงินของทุกๆ คนไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ท่านที่เปิดบัญชีออมทรัพย์ไว้เพื่อการออมเงิน ก่อนที่จะนำไปจัดการลงทุน ก็ไม่จำเป็นต้องมีบัตรเอทีเอ็ม หรือบัตรเดบิต การมีบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิต ที่ใช้ถอนเงินหรือหักเงินจากบัญชีออมทรัพย์นั้น ควรจะมีในกรณีที่บัญชีนั้นเป็นบัญชีเพื่อใช้หมุนเวียน เพื่อความสะดวก

ค่าธรรมเนียมบัตรต่างๆก็ไม่ถูกนะคะ ถ้าท่านต้องการฝากเงินเพื่อออมเงินและตั้งใจจะไม่ถอน แนะนำเปิดบัญชีแบบฝากเท่าๆกันทุกเดือน ฝากได้สูงสุด 24 เดือน นอกจากจะได้ดอกเบี้ยในอัตราที่ดีกว่ามีเงินฝากประจำแล้ว ยังได้รับยกเว้นภาษีดอกเบี้ย (อัตรา 15%ของดอกเบี้ยที่ได้รับ) อีกด้วย เงินฝากประเภทนี้บางธนาคารเรียกว่า “เงินฝากทวีทรัพย์” บางธนาคารเรียกว่า “เงินฝากสินมัธยะ” ดิฉันเริ่มการออมด้วยเงินฝากแบบนี้ค่ะ เพราะสมัยที่ดิฉันเริ่มออมเงิน ยังไม่มีกองทุนเปิด ซึ่งเปิดโอกาสให้เราลงทุนได้ทุกวัน และยังไม่มีการหักบัญชีอัตโนมัติเพื่อซื้อกองทุนเป็นประจำสม่ำเสมอ ถือได้ว่าผู้ลงทุนในยุคนี้ มีทางเลือกมากขึ้นกว่าเดิม

ความเหมาะสมในที่นี้รวมถึงประโยชน์ใช้สอยด้วย ถ้าท่านยังไม่เคยมีการประกันภัยใดๆ เลย รายได้ไม่สูง เงินออมมีน้อย ท่านอาจจะสนใจทำบัตรเดบิตแบบมีประกันภัยให้ด้วย โดยธนาคารจะคิดค่าเบี้ยประกันรวมอยู่ในค่าธรรมเนียมบัตรแล้ว หรือท่านอาจจะอยากเปิดบัญชีปกติ แต่ซื้อประกันไมโครอินชัวรันส์แถมด้วย โดยจ่ายค่าเบี้ยประกันของไมโครอินชัวรันส์ 200 บาทต่อปี ได้รับความคุ้มครองอุบัติเหตุ 100,000 บาท

บางท่านตั้งอกตั้งใจจะลงทุนใน LTF เพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีมาก พอถามเข้าไปลึกๆ ปรากฏว่า หากลงทุนไปในเดือนธันวาคม เมื่อถึงเดือนมกราคมจะมีปัญหาสภาพคล่อง เงินไม่พอใช้จ่าย ดิฉันแนะนำไปว่า ลืมสิทธิประโยชน์ทางภาษีของ LTF ไปเสียเถิด เพราะหากท่านมีเงินไม่พอใช้จ่ายในเดือนมกราคม ท่านต้องไปกู้ยืมนอกระบบ คาดเดาได้เลยว่า ดอกเบี้ยที่ท่านจะต้องจ่าย จะมากกว่าภาษีที่ท่านประหยัดได้อย่างแน่นอน

เป็นนักการเงินจึงต้องละเอียด คิดเผื่อหลายๆ กรณี เพราะบางครั้งผู้มาขอรับคำปรึกษาคิดไม่ครบถ้วน และมองจากด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น

ประการที่สอง ซื้อหรือลงทุนเพื่อเตรียมรับมือ คือตั้งอยู่ในความไม่ประมาท อันนี้มีตัวอย่างเล่ายาวนิดหน่อย การเตรียมรับมือกับสถานการณ์ มีได้ทั้งทางบวกและทางลบ ขอเริ่มจากทางลบก่อน

แต่เดิมดิฉันซื้อประกันภัยการเดินทางต่างประเทศเป็นครั้งๆ ก่อนออกเดินทางทุกครั้ง เพราะการทำประกันภัยเป็นการถ่ายโอนความเสี่ยงให้กับผู้รับประกัน ซึ่งตั้งแต่ทำมาหลายปี เคยเรียกร้องสินไหมทดแทนไปแล้วเพียงหนึ่งครั้งเมื่อ 3 ปีก่อน ตอนไปถึงที่หมายแล้ว กระเป๋าไม่มาถึงด้วย ต้องไปหาซื้อเสื้อผ้าใหม่ใส่ 1 วัน ก็ได้รับชดเชยจากบริษัทประกัน

เมื่อปีที่แล้ว ดิฉันมีการเดินทางไปต่างประเทศบ่อยครั้ง และด้วยความที่ทราบว่าเป็นปี “ชง” คือเป็นปีที่คนเกิดในปีนักษัตรเดียวกับดิฉัน ดวงจะ“ขัด”กับดวงดาวประจำปีนั้นๆ นอกจากจะเพิ่มความระมัดระวังเกี่ยวกับอุบัติเหตุแล้ว ดิฉันยังวางแผนบรรเทาความเสียหายด้วยการซื้อประกันภัยการเดินทางแบบรายปี เพราะสะดวกและประหยัดกว่า และเชื่อไหมคะ ได้ใช้จนได้ ถูกประตูห้องน้ำในรถไฟที่ญี่ปุ่นเลื่อนมาหนีบมือตอนรถกระชาก นิ้วเปลี่ยนเป็นสีม่วง 3 นิ้ว กระดูกนิ้วนางร้าว ต้องรักษากันอยู่สองเดือน

ที่อยากเล่าให้ทราบคือ การซื้อประกันภัยเดินทางต่างประเทศ แม้จะซื้อแบบรายปี แต่สัญญาไม่ได้ครอบคลุมท่านทั้ง 365 วันนะคะ ความคุ้มครองจะเริ่มเมื่อออกเดินทาง และสิ้นสุดเมื่อกลับมาถึงที่พักในแต่ละเที่ยวค่ะ

เพราะฉะนั้น หากเกิดเหตุขึ้นแล้วท่านยังไม่ได้เข้ารับการรักษาในต่างประเทศ เมื่อกลับมาถึงท่าอากาศยานในประเทศไทย ท่านต้องตรงดิ่งไปโรงพยาบาลก่อน ห้ามแวะเข้าบ้าน มิฉะนั้นสัญญาจะไม่คุ้มครองค่ะ

ตัวอย่างการซื้อสินค้าทางการเงินเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ ที่เห็นได้ชัดเจน คือ การจัดพอร์ตการลงทุนค่ะ มีหลายกรณี เช่น หากเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะลดลง การจัดพอร์ตในส่วนที่เป็นตราสารหนี้ ก็ควรลงทุนในตราสารหนี้ที่มีระยะยาวขึ้น เพื่อคงผลตอบแทนไว้ในระดับปัจจุบัน

นอกจากนี้ หากเห็นว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น และกลุ่มธุรกิจไหนจะมีเป็นพิเศษ เราก็สามารถปรับน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มธุรกิจนั้นๆได้ หลายท่านอาจจะสงสัยว่า ถ้าลงทุนผ่านกองทุนรวม จะยังสามารถจัดพอร์ตปรับน้ำหนักรับสถานการณ์ได้ไหม เรียนว่าปกติผู้จัดการกองทุนเขาก็จะปรับน้ำหนักการลงทุนให้สอดรับกับสถานการณ์อยู่แล้ว แต่ถ้าเราอยากให้น้ำหนักเพิ่มเป็นพิเศษ เราก็สามารถลงทุนโดยตรงในธุรกิจนั้นๆเสริมได้ค่ะ เช่น ในสองสามปีที่ผ่านมา ดิฉันลงทุนในหุ้นไทยบางบริษัท หรือในตลาดต่างประเทศในบางภูมิภาค หรือบางกลุ่มธุรกิจ เสริมในพอร์ตของตัวเอง เพื่อเพิ่มน้ำหนักในกลุ่มที่เราเห็นว่าน่าจะไปได้ดีเป็นต้น

หรือ กรณีที่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวเพิ่มขึ้น การจัดพอร์ตในส่วนตราสารหนี้ ก็ควรจะถือตราสารระยะสั้นเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะได้ลงทุนต่อในอัตราดอกเบี้ยใหม่ที่สูงขึ้น เมื่อดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้น อย่างนี้ถือเป็นการเตรียมรับมือในทางบวกค่ะ

ประการที่สาม ลงทุนเพื่อพักรอจังหวะ หรือรอเวลา ในบางครั้งทิศทางเศรษฐกิจหรือทิศทางการลงทุนต่างๆอาจไม่ชัดเจน ถ้าเกิดสถานการณ์อย่างนี้ เราควรจะรอดูก่อน สินค้าหรือบริการที่ควรจะซื้อหรือมี ก็คือสินทรัพย์ทางการเงินที่มีสภาพคล่องสูง ซึ่งก็คือ เงินสด เงินฝากระยะสั้น หรือกองทุนรวมตลาดเงิน เพื่อรอโอกาส รอจังหวะลงทุนที่ดี เราจะสามารถเข้าไปลงทุนในตราสารหรือหลักทรัพย์อื่นๆ ได้ต่อไป

การรอพักนี้ เราไม่จำเป็นต้องตั้งความคาดหวังในผลตอบแทนที่สูงค่ะ บางครั้งไม่ได้ผลตอบแทนอะไรเลยก็ยังได้ เนื่องจากหากไปลงทุนอย่างอื่น อาจจะขาดทุน และช่วงเวลารอก็ควรจะไม่นาน เช่น ไม่เกิน 3-6 เดือน หากเกินกว่านั้น ควรจะหาตราสารอื่นเพื่อลงทุนค่ะ

ดิฉันเคยพบว่าผู้ลงทุนบางท่าน มีสภาพคล่องรอไว้ลงทุนสูงมาก และโดยไม่รู้ตัว สภาพคล่องนี้อาจจะพอกพูนเป็นสัดส่วนที่สูงมากได้ อย่างนี้ทำให้เสียโอกาสค่ะ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน,สำนักงานบัญชี พี.เอ็ม.เอส.

Tags : สินค้าทางการเงิน เหมาะสม

view