สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เศรษฐกิจโลกจะไปทางไหน

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์คนเดินตรอก โดย วีรพงษ์ รามางกูร

เริ่มต้นปีนี้บรรยากาศเศรษฐกิจของโลกคงจะไม่ต่างจากปีที่ผ่านมาเท่าใดนัก เพราะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ที่ไม่มีใครคาดฝัน

ไม่มีใครนึกมาก่อนว่า สหรัฐอเมริกาจะสามารถผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติได้มากพอที่จะไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมัน และพลังงานอย่างอื่นจากต่างประเทศ เคยแต่ได้ยินเล่าลือกันว่าสหรัฐมีบ่อน้ำมันดิบอยู่มากมายที่มลรัฐเทกซัส แต่สหรัฐปิดเงียบไม่ยอมสูบน้ำมันขึ้นมาใช้ รอเอาไว้ให้ราคาน้ำมันแพงเสียก่อนจึงจะผลิตออกมาใช้ แต่ก็ไม่เห็นว่าข่าวลือดังกล่าวจะเป็นจริง

ปรากฏว่าเมื่อสหรัฐสามารถผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ได้ด้วยปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของตนโดยไม่ต้องนำเข้า อีกทั้งราคายังถูกลงเรื่อย ๆ เมื่อผลิตในปริมาณที่มากขึ้นเรื่อย ๆ

ยังไม่ทันจะได้ส่งออกเพราะค่าขนส่งก๊าซธรรมชาติยังแพงอยู่ ราคาน้ำมันดิบก็ลดลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว เมื่อซาอุดีอาระเบียผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของกลุ่มประเทศโอเปกและของโลก ประกาศว่าจะไม่ลดปริมาณการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติลงเพื่อพยุงราคาน้ำมัน ราคาน้ำมันก็ร่วงหล่นลงไปอีก จากที่เกิน 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ประมาณ 50-60 เหรียญต่อบาร์เรล มีแนวโน้มจะตกลงต่อไปอีก


ภาพจาก : www.tullyproductions.com

การที่ตลาดน้ำมันดิบอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของโลกหายไปตลาดหนึ่ง ย่อมมีผลต่อราคาน้ำมันและพลังงานของโลกอย่างมหาศาล

เพียงเท่านี้ก็ทำให้ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกอันได้แก่ รัสเซีย ไนจีเรีย เวเนซุเอลา อังกฤษ และที่สำคัญคือประเทศในตะวันออกกลาง ได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวง ที่เกิดขึ้นแล้วก็คือค่าเงินรูเบิลของรัสเซีย เกิดวิกฤตการณ์การเงินขึ้นทันทีเป็นประเทศแรก

ที่น่าคิดก็คือ ผลของวิกฤตการณ์รัสเซียจะขยายลุกลามไปประเทศอื่น เช่น ยุโรปตะวันออกและตะวันตกหรือไม่ ประการที่ 2 ผลของการลดลงของราคาน้ำมันดิบ จะทำให้เศรษฐกิจของโลกฟื้นตัวเร็วขึ้นหรือไม่ ถ้าจะฟื้นตัวจะฟื้นตัวในภูมิภาคใด หลังจากที่สหรัฐอเมริกาเริ่มฟื้นตัว และใน 10-20 ปีข้างหน้าโครงสร้างของเศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไร

สำหรับคำถามว่า วิกฤตการณ์ทางการเงินของรัสเซียจะขยายตัวลุกลามไปยังประเทศอื่น ๆ ในยุโรปหรือไม่ คำถามนี้รู้สึกว่าจะเป็นคำถามแรกที่ผู้คนต้องการคำตอบ และเป็นที่ค่อนข้างจะมีความรู้สึกสบายใจ เพราะรัสเซียไม่ได้ทุ่มเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพื่อปกป้องเงินรูเบิลจนหมดตัว เหมือนกรณี "ต้มยำกุ้ง" ของประเทศไทย ที่เกิดขึ้นและลุกลามไปยังประเทศอื่น ๆ เช่น เกาหลีใต้ และประเทศอื่น ๆ ความเสียหายในชั้นนี้ของรัสเซียจึงสูญเสียแค่ทุนสำรองของตนไปไม่มาก

การที่รัสเซียยอมปล่อยให้ค่าเงินรูเบิลตกลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงจากประมาณ 32 รูเบิลต่อดอลลาร์ เป็น 80 รูเบิลต่อดอลลาร์ แล้วดีดกลับมาที่ประมาณ 60 รูเบิลต่อเหรียญสหรัฐ โดยการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างก้าวกระโดด จากร้อยละ 10.5 เป็นร้อยละ 17 คงคาดการณ์ได้ว่าเศรษฐกิจของรัสเซียคงจะหดตัวอย่างรุนแรง ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดคงเปลี่ยนจากการขาดดุลมาเป็นเกินดุลได้ยาก เพราะรัสเซียพึ่งพาการส่งออกน้ำมันถึงร้อยละ 70 ของการส่งออกทั้งหมด มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมเป็นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินเสียเกือบร้อยละ 50 หรือครึ่งหนึ่งของจีดีพี

ผลของการหดตัวของเศรษฐกิจรัสเซีย ซึ่งประมาณการกันว่าปี 2558 นี้น่าจะหดตัวถึงร้อยละ 4 น่าจะทำให้ตลาดสินค้าอื่น ๆ ที่รัสเซียเคยนำเข้าจากยุโรป ทั้งยุโรปตะวันออก และยุโรปตะวันตกลดน้อยลง โอกาสที่เศรษฐกิจยุโรปจะฟื้นตัวก็คงจะยืดยาวออกไปอีก แม้ว่าต้นทุนการผลิตจะต่ำลงเนื่องจากราคาพลังงานที่ต่ำลงด้วย

ที่น่าสงสัยและต้องติดตามก็คือ หนี้ต่างประเทศของรัสเซียนั้นส่วนใหญ่เป็นหนี้ของเอกชน ที่ออกพันธบัตรขายทั้งในรัสเซียและยุโรป ในกรณีที่ค่าเงินรูเบิลลดลงไปกว่าครึ่งหนึ่งของที่เคยเป็น คงจะมีผลทำให้บริษัทต่าง ๆ เหล่านี้ไม่มีหนทางจะดำเนินกิจการได้ต่อไป คงจะต้องปิดตัวเองลงในปี 2558 นี้ เจ้าหนี้ของบริษัทเหล่านี้น่าจะเป็นธนาคารและสถาบันการเงินในรัสเซียและยุโรปเป็นส่วนใหญ่ เราคงจะได้เห็นธนาคารพาณิชย์ในรัสเซียและยุโรปต้องล้มลงไปอีก ต่อจากที่เคยมีปัญหาในประเทศยุโรปตะวันตก เช่น กรีซ อิตาลี สเปน โปรตุเกส ไอร์แลนด์ เป็นต้น

เมื่อเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดก็น่าจะมีผลต่อความมั่นคงของธนาคารและสถาบันการเงินในยุโรป เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ รวมทั้งสแกนดิเนเวียด้วย เหตุผลนี้ที่นักเศรษฐศาสตร์ตะวันตกจะเบาใจว่าเหตุการณ์คงไม่ลุกลามไปยังประเทศอื่น ๆ ในยุโรปตะวันตก ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป เพราะสถานการณ์ยังคงอ่อนไหวและเปราะบาง

ที่ยังเบาใจอยู่อีกอย่าง นอกจากรัสเซียจะไม่ดื้อดึงขัดขืนกับกลไกตลาด ทำให้รัสเซียไม่ได้ถูกโจมตีโดยกองทุนตรึงมูลค่า รัสเซียจึงไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศเหมือนกรณีประเทศไทย หรือกรณีของประเทศยุโรปตะวันตกในขณะนี้ ดังนั้นรัสเซียก็ยังคงมีอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายการคลังของตนเอง ซึ่งคงจะยืดหยุ่นได้มากกว่ากรณีที่ต้องเข้าโครงการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของยุโรปตะวันตก ซึ่งคนรัสเซียคงยอมรับไม่ได้

เหตุการณ์ดังกล่าวทั้งสองเหตุการณ์เป็นเหตุการณ์ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นเหตุการณ์ในคราววิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 เป็นเหตุการณ์ที่กลับกัน กล่าวคือเหตุการณ์ในครั้งนั้น ประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำมันขึ้นราคา ทำให้เกิดการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดไปทั่วโลก ราคาน้ำมันแพงขึ้นในคราววิกฤตการณ์น้ำมันขึ้นราคา ทำให้ราคาสินค้าเกษตรกรรมแพงขึ้น มีผลทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรงขึ้น ผลกระทบยังไม่มาก แต่เมื่อเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่ 2 เมื่อปี 1977-78 ราคาสินค้าต่าง ๆ แพงขึ้น เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงขึ้นไปอีก แต่ภาวะเศรษฐกิจซบเซา ภาวะเช่นว่านั้นเรียกว่า "Stagflation" ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ประเทศที่ต้องพึ่งพาน้ำมันจากต่างประเทศจึงเกิดปัญหาล้มละลาย ต้องเข้าโครงการไอเอ็มเอฟไปตาม ๆ กัน รวมทั้งประเทศไทยเราด้วย

ถ้าหากวิกฤตการณ์ทางการเงินในรัสเซียไม่ขยายตัวลุกลามไปประเทศอื่น ๆ ในยุโรป ผลกระทบทางด้านอื่นก็ยังมีกล่าวคือ คนรัสเซียก็จะมีฐานะจนลงทันทีเพราะค่าเงินรูเบิลตกลงอย่างรุนแรง คล้าย ๆ กับภาวะหลังต้มยำกุ้งในประเทศไทยเมื่อปี 2540 ภาวะเงินเฟ้อและภาวะการว่างงานของคนรัสเซียก็จะเกิดขึ้นอย่างรุนแรง ตลาดสินค้าเกษตรกรรม อาหาร และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ตลาดหนึ่งก็จะหายไปจากตลาดโลก ความต้องการสินค้าและบริการของคนรัสเซียก็จะหายไปจากตลาดโลก ซึ่งจะเป็นแรงดึงให้เศรษฐกิจของยุโรปและประเทศอื่น ๆ ต้องปรับตัวลง เพราะทั่วโลกขณะนี้เชื่อมโยงกันไปหมด สำหรับประเทศไทยเราแม้จะมีสินค้าส่งออกไปรัสเซียไม่มาก แต่เราก็ขายบริการทางด้านการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากให้รัสเซีย รัสเซียระยะหลัง ๆ เป็นตลาดส่งออกการท่องเที่ยวที่สำคัญของไทย และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ ขณะเดียวกันก็เป็นตลาดส่งออกของสินค้าอื่น ๆ ของยุโรปและเอเชียด้วย ผลกระทบย่อมจะต้องมีมากเป็นของธรรมดา

การล่มสลายของเศรษฐกิจรัสเซียเป็นผลที่ตามมาจากการที่ราคาน้ำมันและพลังงานพังทลายจะพาเศรษฐกิจของโลกพังทลายก่อน แล้วค่อย ๆ ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาหรือไม่ หรือจะฟื้นตัวเลย ยังไม่มีใครตอบได้

ที่สำคัญโครงสร้างการเมืองของโลกคงจะเปลี่ยนไปจากการที่ราคาน้ำมันลดลง ประเทศมหาอำนาจที่ได้รับประโยชน์คงได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีนในทศวรรษหน้า จีนคงก้าวต่อไปอีกก้าวหนึ่ง ส่วนสหภาพยุโรปและรัสเซียคงจะต้องถอยไปอยู่ลำดับที่ 2 บทบาทของมหาอำนาจของโลกก็คงจะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย การแข่งขันกันระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนในเรื่องต่าง ๆ น่าจะมีมากขึ้น ประเทศไทยเราไม่ควรจะเข้าไปเกี่ยวข้องและควรจะดำเนินนโยบายที่เป็นกลาง น่าจะเป็นนโยบายที่ดีที่สุด แม้ว่าจะมีปฏิกิริยาในทางลบจากสหรัฐอเมริกาอยู่บ้าง

ปีนี้จึงเป็นปีของการเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองของโลก


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน,สำนักงานบัญชี พี.เอ็ม.เอส.

Tags : เศรษฐกิจโลก จะไปทางไหน

view