สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

น้ำมันลด ใครได้ ใครเสีย

จากประชาชาติธุรกิจ

ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลงอย่างน่าตกใจ จากราคาที่เคยสูงกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงต้นปี มาเหลือต่ำกว่า 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในปัจจุบัน สำหรับผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างเรา ๆ ก็ถือเป็นเรื่องดี เพราะเราได้ใช้น้ำมันถูกลง แต่นักวิเคราะห์หลายสำนักกลับมองว่าราคาน้ำมันที่ถูกลงมากนี้เป็นเรื่องน่ากังวล หรือที่จริงแล้วราคาน้ำมันที่ถูกลงมีคนเสียมากกว่าคนได้ ที่สำคัญ ใครคือคนได้ ใครคือคนเสีย

ในมุมมองเชิงเศรษฐศาสตร์ น้ำมันเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตสินค้าและบริการ ทั้งที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตอย่างพลาสติก เส้นใยสังเคราะห์ สารซักล้าง รวมไปถึงถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงในการขนส่งสินค้า เมื่อราคาน้ำมันลดลงย่อมทำให้ต้นทุนของผู้ผลิตลดลงตามไปด้วย ซึ่งในตลาดที่มีคนซื้อคนขายจำนวนมาก หรือตลาดแข่งขันสมบูรณ์ ต้นทุนการผลิตที่ต่ำลงก็ย่อมทำให้คนขายสามารถขายสินค้าถูกลงเพื่อให้ขายของได้จำนวนมากขึ้น จึงทำให้ราคาสินค้าและบริการถูกลง สรุปง่าย ๆ คือ คนขายก็ดีใจ คนซื้อก็มีความสุข



สำหรับเศรษฐกิจโลกในภาพรวม ราคาน้ำมันที่ถูกลงมีผลดีมากกว่าผลเสียคือ ทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวดีขึ้น โดย IMF ประเมินว่า ราคาน้ำมันลดลงร้อยละ 30 จะทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 0.8 เลยทีเดียว แต่มิใช่ว่าทุก ๆ ประเทศจะได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างเท่าเทียมกัน เพราะแต่ละประเทศก็มีบทบาทต่อน้ำมันในทางที่แตกต่างกัน และตลาดก็ไม่ได้แข่งขันกันอย่างสมบูรณ์เหมือนในทฤษฎี จึงมีคนที่ได้และมีคนที่เสีย แต่โดยรวมแล้วยังมีคนที่ได้มากกว่าคนที่เสียประโยชน์นั่นเอง

แน่นอนว่าคนที่ได้ประโยชน์ในงานนี้ คือประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิอย่างบ้านเรา จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และอินเดีย เพราะเราจะเสียเงินตราต่างประเทศนำเข้าน้ำมันลดลง แต่ได้น้ำมันในปริมาณเท่าเดิม ดุลบัญชีเดินสะพัดก็ปรับตัวดีขึ้น เมื่อราคาสินค้าโดยรวมในประเทศลดลงตามราคาน้ำมัน ก็ส่งผลโดยตรงให้อัตราเงินเฟ้อลดลง ผู้บริโภคก็สามารถซื้อสินค้าและบริการได้มากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจในประเทศขยายตัว ขณะที่นักลงทุนก็กล้าลงทุนมากขึ้น เมื่อต้นทุนน้ำมันต่ำลงและทิศทางเศรษฐกิจดูสดใสขึ้น

ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันก็ใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้โดยเฉพาะอินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันอันดับต้น ๆ ของโลกและเป็นสมาชิกโอเปก แต่การอุดหนุนราคาการบริโภคน้ำมันในประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลับส่งผลให้อินโดนีเซียใช้น้ำมันเกินกว่ากำลังการผลิตของตน และกลายเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ ในช่วงที่ราคาน้ำมันปรับลดลงในขณะนี้ ประเทศที่อุดหนุนน้ำมันจึงได้โอกาสลดการอุดหนุนราคาน้ำมันอันเป็นการลดภาระทางการคลังของรัฐ และนำเงินงบประมาณไปใช้พัฒนาสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานทดแทน หรือในกรณีของจีน ซึ่งได้ใช้โอกาสจากช่วงที่ราคาน้ำมันลดลงในการปรับเพิ่มภาษีน้ำมันเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการคลังของรัฐ

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันซึ่งมีน้ำหนักในตะกร้าเงินเฟ้อค่อนข้างมากที่ถูกลง ช่วยลดแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อส่งผลให้ธนาคารกลางในประเทศที่ดำเนินนโยบายการเงินโดยอ้างอิงเกณฑ์กรอบอัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย (Inflation Targeting) สามารถคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปได้ โดยไม่กระทบต่อภาวะเงินเฟ้ออีกด้วย

คนที่เสียประโยชน์ชัดเจนคือ ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันสุทธิ โดยทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดปรับตัวลดลงจากการขายน้ำมันในปริมาณเท่าเดิม แต่ได้รับเงินตราต่างประเทศน้อยลง และยิ่งหากเป็นประเทศที่พึ่งพิงรายได้จากน้ำมันเป็นหลัก มีกองทุนช่วยเหลือในยามราคาน้ำมันตกต่ำในวงจำกัด และยังขาดดุลการคลังเป็นทุนเดิมอย่างรัสเซีย อิรัก อิหร่าน ไนจีเรีย เวเนซุเอลา และลิเบียด้วยแล้ว จะยิ่งกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น เพราะรายได้ของประชาชนจากการขายน้ำมันลดลง เศรษฐกิจในประเทศซบเซา และรัฐอาจต้องตัดงบประมาณในการพัฒนาประเทศด้านอื่น ๆ เพื่อนำเงินมาพยุงธุรกิจน้ำมันให้อยู่รอดอีกด้วย

ยกตัวอย่าง เช่น รัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก มีรายได้จากการส่งออกน้ำมันคิดเป็นกว่าร้อยละ 70 ของการส่งออกทั้งหมด และรายได้จากภาษีน้ำมัน

คิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ภาครัฐ ราคาน้ำมันที่ตกต่ำจึงกระทบต่อรายได้ประชาชนและรายได้รัฐค่อนข้างมาก กอปรกับรัสเซียเองก็ยังมีความขัดแย้งกับยูเครน จนทำให้ถูกคว่ำบาตรการค้าจากสหรัฐ และยุโรป ซึ่งราคาน้ำมันที่ตกต่ำจึงกลายเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจรัสเซียให้ย่ำแย่ลงไปอีก

นอกจากนี้ ผู้ผลิตสินค้าที่สามารถใช้ทดแทนน้ำมันได้อย่างยางพาราก็ประสบปัญหาไม่ต่างจากผู้ผลิตน้ำมันเท่าไหร่นัก เพราะเมื่อราคาน้ำมันตกต่ำ ผู้ประกอบการที่เคยใช้ยางพาราหรือสินค้าอื่น ๆ ทดแทนน้ำมันก็หันกลับมาใช้น้ำมันในการผลิตเพื่อลดต้นทุนการผลิต ทำให้ราคาของสินค้าเหล่านี้พากันดิ่งลงตามราคาน้ำมัน อย่างราคายางพาราดิบก็ดิ่งลงจากที่เคยขายอยู่โลละ 100 บาท ตอนนี้เหลือเพียง 3 โล 100 บาทเท่านั้น

ราคาน้ำมันมิได้กระทบเพียงภาคเศรษฐกิจจริง แต่ยังกระทบต่อตลาดการเงิน อีกด้วย เนื่องจากธุรกิจน้ำมันมีสัดส่วนค่อนข้างใหญ่ในดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลก อย่างไทยเราเอง กลุ่มพลังงานก็มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากเพียงกลุ่มธนาคาร ราคาน้ำมันจะทำให้ผลประกอบการของกลุ่มบริษัทพลังงานลดลง ส่งผลต่อราคาหุ้นของบริษัทเหล่านั้น และทำให้ดัชนีตลาดหุ้นผันผวน ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตามอง

อย่างไรก็ตาม แม้เราจะมองว่าประเทศที่เสียประโยชน์อย่างรัสเซียจะไม่ส่งผลใด ๆ ต่อเศรษฐกิจ เพราะเป็นประเทศที่ดูจะไม่มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับไทยมากนัก แต่หากราคาน้ำมันที่ตกต่ำนี้ส่งผลต่อเศรษฐกิจประเทศเหล่านี้รุนแรงขึ้น ก็อาจทำให้เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบ และส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอีกทีหนึ่งได้เช่นกัน อีกทั้งในไทยเอง บริษัทพลังงานก็มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจไทยทั้งในภาคเศรษฐกิจจริงและภาคการเงิน ไทยจึงไม่อาจนิ่งนอนใจต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกได้เลย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : น้ำมันลด ใครได้ใครเสีย

view