สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สงครามห้าทัพ

สงครามห้าทัพ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




สิ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นความเสี่ยงที่สุด ได้แก่ สงครามค่าเงิน ที่ได้บังเกิดขึ้นแล้ว

สำหรับนักธุรกิจ นักลงทุนและผู้วางแผนงานทุกท่าน ช่วงปีใหม่เป็นห้วงเวลาที่จะย้อนกลับไปคิดถึงในช่วงปีที่ผ่านมาเพื่อมองไปถึงอนาคต

สำหรับในห้วงปีนี้นั้น ความเสี่ยงต่างๆ เริ่มส่งผลเด่นชัดตั้งแต่ต้นปี ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงด้านการเมืองในกรีซที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรป หรือจากภาวะราคาโภคภัณฑ์ ทั้งน้ำมันและโลหะอุตสาหกรรม เช่น ทองแดง ที่ปรับตัวลดลงมาก

แต่สิ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นความเสี่ยงที่สุด ได้แก่ สงครามค่าเงิน ที่ได้บังเกิดขึ้นแล้ว โดยในสัปดาห์ที่แล้ว เหยื่อรายแรกของสงครามนี้ได้แก่ค่าเงินสวิสฟรังก์ที่เคยผูกค่าเงินไว้กับเงินยูโร จำเป็นต้องลอยตัวและแข็งค่าขึ้นถึงกว่า 30% ทำให้นักลงทุนจำนวนมากขาดทุนและส่งผลกระทบต่อการส่งออกของสวิตเซอร์แลนด์ในระยะต่อไป

เพื่อให้เข้าใจถึงยุทธภูมิแห่งสงครามครั้งนี้ ผู้เขียนจะขอฉายภาพถึงทัพทั้งห้าอันเป็นผู้เล่นหลักของสงครามครั้งนี้ ดังนี้

ทัพที่หนึ่ง ได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐ ที่ในช่วงที่ผ่านแข็งค่าสูงสุดในรอบ 9 ปีเมื่อเทียบกับสกุลหลักอื่น ๆ จากเศรษฐกิจสหรัฐที่ฟื้นขึ้น จนทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ยุติมาตรการอัดฉีดเงิน (QE) ที่เคยทำมาตลอด 4 ปีลง รวมถึงมีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ยในกลางปีนี้ด้วย ภาพดังกล่าวทำให้เงินทุนมีแนวโน้มไหลกลับสหรัฐมากขึ้น เป็นเหตุให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลอื่น โดยแข็งค่าถึง 12.7% และมีแนวโน้มแข็งขึ้นต่อเนื่องในปีนี้

ทัพที่สอง ได้แก่ เงินยูโร ที่ในปีที่ผ่านมาอ่อนค่าลงถึง 14.4% อันเป็นผลจากเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองและเสี่ยงต่อภาวะเงินฝืด (เงินเฟ้อติดลบ) จนทำให้ธนาคารกลาง (ECB) ต้องออกนโยบายสินเชื่อดอกเบี้ยถูก (TLTRO) รวมถึงเข้าซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชน (หรือที่เรียกว่า Private QE) จำนวนเงินรวมกว่า 2 แสนล้านยูโรในช่วงที่ผ่านมา หลังจากลดดอกเบี้ยเงินฝากจนติดลบ กระนั้นก็ตาม นโยบายต่างๆ ก็ไม่สัมฤทธิผลในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจยุโรปเท่าใดนัก

และความเสี่ยงเงินฝืดที่มีมากขึ้น ทำให้เป็นไปได้ที่ ECB จะทำการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล (หรือที่เรียกว่า Full QE) ในการประชุมวันที่ 21 ม.ค. นี้ โดยอาจเข้าซื้อถึง 5-7 แสนล้านยูโร เพื่อให้เงินยูโรอ่อนค่าลงอย่างมีนัยสำคัญและมีส่วนช่วยกระตุ้นการส่งออก

ทัพที่สาม ได้แก่ เงินเยนของญี่ปุ่น ที่ในห้วงปีที่ผ่านมาอ่อนค่าลงกว่า 10% อันเป็นผลจากนโยบายธนาคารกลางที่อัดฉีดเงินผ่านมาตรการ QQE ปีละกว่า 80 ล้านล้านเยนเข้าซื้อสินทรัพย์ต่างๆ และทำให้เงินเยนอ่อนจากระดับ 80-90 เยนต่อดอลลาร์ในต้นปี 2013 เป็น 115-120 เยนในปัจจุบัน ทั้งนี้ นโยบายนี้ที่เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2012 ทำให้เงินเยนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับยูโรด้วย จากประมาณ 115 เยนต่อยูโรในต้นปี 2013 เป็นประมาณ 145 เยนต่อยูโรในปลายปี 2014

อย่างไรก็ตาม สงครามค่าเงินที่เริ่มเกิดขึ้นแล้วจากความคาดหวังของนักลงทุนว่ายูโรจะอ่อนค่าหลังมาตรการ QE ทำให้เกิดการเทขายยูโรและเข้าซื้อเยน จนทำให้เยนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับยูโรมาอยู่ที่ 135 เยนในปัจจุบัน

ทัพที่สี่ ได้แก่ ค่าเงินหยวนของจีน ที่อ่อนค่าลงประมาณ 2.6% นับจากต้นปี 2014 อันเป็นผลมาจากการที่ทางการจีนจำเป็นต้องหันมาใช้นโยบายเงินหยวนอ่อนค่าในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น หลังจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวมากขณะที่ภาคการเงินยังเผชิญภาวะฟองสบู่ ทำให้ทางการไม่สามารถลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก

ขณะที่การใช้นโยบายการคลังผ่านการกระตุ้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานก็ไม่สามารถทำได้อีกมากนัก เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญได้ถูกสร้างไปมากแล้ว ดังนั้น จึงเป็นไปได้สูงว่านโยบายเงินหยวนอ่อนค่าจะเป็นนโยบายหลักของทางการจีนในระยะต่อไป

ทัพสุดท้าย ได้แก่ ค่าเงินในประเทศตลาดเกิดใหม่ ทั้งในเอเชีย (รวมทั้งไทย) ละตินอเมริกา รวมถึงในยุโรปตะวันออก ที่ตามปัจจัยพื้นฐานแล้วน่าจะมีแนวโน้มอ่อนค่าลง อันเป็นผลจากการที่ประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้นำเข้าน้ำมันเป็นหลัก ราคาน้ำมันที่ถูกลงถึงกว่า 40% ในปีนี้ทำให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศเหล่านี้ต่ำลง ทำให้ทางการมีช่องทางที่จะทำให้สกุลเงินท้องถิ่นอ่อนค่าโดยไม่ทำให้เกิดเงินเฟ้อได้

ขณะเดียวกันปัจจัยพื้นฐานในประเทศเหล่านี้ยังคงอ่อนแอ อันเป็นเหตุให้เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ชะลอลงในช่วงที่ผ่านมา จึงเป็นไปได้สูงที่ทางการประเทศเหล่านี้จะยินยอมให้ค่าเงินของตนอ่อนค่าลงในปีนี้เพื่อช่วยการส่งออก ซึ่งก็สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของโลกการเงิน ที่ดอลลาร์สหรัฐจะต้องแข็งค่าอยู่แล้วด้วย

จากที่กล่าวเบื้องต้น จะเห็นได้ว่าตามปัจจัยพื้นฐานในปีนี้นั้น เงินดอลลาร์สหรัฐควรจะแข็งค่าอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่สกุลอื่นๆ น่าจะอ่อนค่าลง อันจะทำให้การขยายตัวเศรษฐกิจเป็นไปอย่างสมดุลมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงของโลกการเงินในปัจจุบันที่มีอยู่มาก รวมถึงแนวโน้มการเข้าเก็งกำไรค่าเงินของกองทุนระดับโลก ประกอบกับการฉวยโอกาสของทางการหนึ่งใดในการผลักดันให้เงินของตนอ่อนค่าลงเร็วเพื่อให้ได้ประโยชน์จากแนวโน้มนี้ อาจทำให้นักลงทุนตื่นตระหนก กระแสเงินทุนอาจไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่เข้าสู่สหรัฐอย่างรวดเร็ว และอาจนำไปสู่วิกฤติการเงินที่รุนแรงในระดับเดียวกับวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อเกือบ 2 ทศวรรษก่อนได้ และเมื่อนั้นเหยื่อสงครามค่าเงินคงมิได้มีแต่สวิสฟรังก์อย่างแน่นอน

สงครามค่าเงินบังเกิดขึ้นแล้ว และจะรุนแรงขึ้นในปีนี้ เป็นหน้าที่ของผู้กำหนดนโยบาย รวมทั้งนักธุรกิจและนักลงทุนที่จะต้องพิจารณาปัจจัยรอบด้าน เพื่อที่จะนำพาประเทศและองค์กรธุรกิจให้อยู่รอดได้ในสงครามนี้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สงครามห้าทัพ

view