สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เรื่องเล่า (ของ) ชาวหนี้

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ มุมคิดคนข่าว โดย ปัญจาวรรณ pan_jawan@hotmail.com


ข่าวว่าเศรษฐกิจไทยปี 2558 จะดีขึ้นตามลำดับ กูรูหลายสำนักคาดการณ์กันไว้ก็ประมาณ 3.5-4.0% แต่ไม่รู้จะเป็นความหวังลม ๆ แล้งๆ หรือไม่ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นดังกล่าว จะทำให้รายได้ในกระเป๋าของคนไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น และทลายหนี้ที่แบกหนักอึ้งมานานแรมปีให้ลดน้อยถอยลง (บ้าง)


ที่ ผ่านมามนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ ท่านๆ พอเงินเดือนออกปุ๊บก็ต้อง "กางแผนที่" เดินสายจ่ายหนี้ยาวเหยียดปั๊บ ตั้งแต่หนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อบุคคล หนี้บ้าน หนี้รถ และหนี้อื่นๆ จิปาถะ ถ้าจะให้คำนวณกันจริงๆ คงมีอยู่ไม่น้อยรายที่ภาระหนี้เกินกว่าระดับ 50% ของรายได้รับเข้าไปทุกทีแล้ว

ถ้าดูจากข้อมูลในภาพรวมของธนาคารแห่ง ประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ในไตรมาส 3/2557 หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ในระดับสูงถึง 10.22 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.86 แสนล้านบาท จากไตรมาส 2/2557 และหากคำนวณในมิติสัดส่วนต่อจีดีพี ณ สิ้นไตรมาส 3/2557 อยู่ที่ 84.7% เพิ่มขึ้นจากระดับ 83.5% และ 82.3% ณ สิ้นไตรมาส 2/2557 และ ณ สิ้นปี 2556 ตามลำดับ เป็นผลจากการขยายสินเชื่อของกลุ่มแบงก์พาณิชย์ในหมวดสินเชื่อบ้าน สินเชื่ออเนกประสงค์ รวมถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจก็เร่งปล่อยสินเชื่อมากขึ้นหลังมีความชัดเจน จากนโยบายภาครัฐ

ขณะที่ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สำรวจทุกๆ ปีที่ลงท้ายด้วยเลขคู่) พบว่าในปี 2556 มีครัวเรือนไทยที่มีหนี้สิน 53.8% หนี้สินเฉลี่ยอยู่ที่ 163,087 บาท คิดเป็น 6.5 เท่าของรายได้ ซึ่งอยู่ที่ระดับ 25,194 บาทต่อเดือน โดยส่วนใหญ่เป็นการก่อหนี้เพื่อใช้ในครัวเรือนสูงถึง 75% แบ่งเป็นซื้อบ้าน/ที่ดิน 36.8% อุปโภคบริโภค 36.7% ส่วนหนี้เพื่อใช้ในการลงทุนและอื่น ๆ 25% พบว่าเป็นหนี้ใช้ทำการเกษตร 13.4% และทำธุรกิจ 11.6%

โดยจำนวนนี้เป็นหนี้ในระบบอย่างเดียว 91.7% เป็นหนี้ในระบบและนอกระบบ 3.7% และเป็นหนี้นอกระบบอย่างเดียว 4.6% มาดูที่ฝั่งจำนวนเงินการเป็นหนี้ดูบ้าง พบหนี้ในระบบสูงถึง 159,816 บาทต่อราย สูงกว่าหนี้นอกระบบซึ่งอยู่ที่ 3,271 บาทต่อราย ถึง 49 เท่า ฟังแล้วน่าหดหู่ใจเพราะช่วงเวลาปีเศษที่แบงก์พาณิชย์บอกว่าตั้งการ์ด "เข้มงวด" ในการปล่อยกู้ แต่ความเป็นจริงก็ยังเห็นการ "กระตุ้น" ให้คนเป็นหนี้อยู่เนือง ๆ แค่สับเปลี่ยนไปหากลุ่มใหม่ที่มีรายได้สูงขึ้นสัก 25,000-30,000 บาทขึ้นไปก็เท่านั้น

แถมศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังประเมินว่า สัด ส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปี 2558 จะขยับขึ้นไปอีก โดยกรอบคาดการณ์อยู่ที่ระดับ 88-89% จากปี 2557 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 85.5% เพิ่มขึ้นราว 3.2% จากสิ้นปี 2556 คราวนี้ไม่ต้องพูดถึง "หนี้เสีย" ที่ตั้งเค้าอยู่ เห็น ๆ ว่ามีโอกาสปรับตัวขึ้นเช่นกัน

ทั้งหมด นี้ไม่ใช่ "บทเรียนราคาแพง" ให้ "ประชาชนตาดำๆ" หรอกหรือ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องย้อนคิด พิจารณา ทบทวน วิเคราะห์ และตรึกตรอง โดยละเอียดว่า "จำเป็นและคุ้มค่า" แล้วหรือกับ "สิ่งที่ได้มา" กับ "ความสุขเพียงชั่วครู่" แล้วต้องมานั่งระทมทุกข์ในภายหลังไปอีกนานหลายปี

ฝั่ง สถาบันการเงินทั้งหลาย แม้จะถือเป็น "สิทธิ์โดยชอบธรรม" ในการประกอบธุรกิจ แต่ก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการ "เข้มงวด" ในการปล่อยกู้ เพราะจะเป็นตัวกลั่นกรองให้เฉพาะคนที่มีความพร้อมทางการเงินจริง ๆ เท่านั้น ต้องเลือกให้ถูกตัวกันหน่อย ไม่ใช่แค่ทำเพื่อให้ได้ตามเป้าหมาย

"ทุก ฝ่าย" ต้องร่วมมือร่วมไม้กัน ขจัดและปัดรังควานให้ "หนี้สิน" ออกไปให้พ้นตัว แม้ผู้เขียนจะไม่ใช่กูรูหรือหมอรักษาอาการคนเป็นหนี้ แต่ก็พอทราบหลักการง่ายๆ แค่อย่าก่อหนี้ใหม่ หยุดหมุนเงินจากหนี้ใหม่มาโปะหนี้เก่า และอยู่ให้ได้ด้วยเงินเดือนของตัวเอง แม้จะน้อยนิดก็ต้องประมาณตน แต่ถ้าจนมุมจริงๆ วิธีที่ดีที่สุดก็คือ การจับเข่าคุยกับแบงก์ตรงๆ "อย่าได้อาย"

เพราะ "การไม่เป็นหนี้เป็นลาภอันประเสริฐที่สุดแล้ว"


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เรื่องเล่า (ของ) ชาวหนี้

view