สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เข้าใจเศรษฐกิจโลกและ ความเสี่ยง จากนี้ไป

เข้าใจเศรษฐกิจโลกและ 'ความเสี่ยง' จากนี้ไป

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




พูดถึงเศรษฐกิจโลกปีนี้ นักวิเคราะห์หลายคนอยากยกธงขาว เพราะประเมินยาก

ล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกปีนี้ และปีหน้าลงจากเดือนต.ค.ปีที่แล้วเหลือร้อยละ 3.5 สำหรับปีนี้และร้อยละ 3.8 ปีหน้า การปรับลดเกิดขึ้นทั้งที่ราคาน้ำมันปีนี้จะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าที่ประเมินไว้เมื่อเดือนต.ค.มาก (ลดลงร้อยละ 41 จากปีก่อน) ซึ่งควรเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้เศรษฐกิจสหรัฐก็จะฟื้นตัวได้เข้มแข็งกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม ทั้งหมดจึงชี้ว่าเศรษฐกิจโลกคงมีปัจจัยลบอีกมากที่สามารถลดทอนผลของปัจจัยบวกดังกล่าวได้ ทำให้ปีนี้เศรษฐกิจโลกอาจจะยังขยายตัวในอัตราที่ต่ำต่อไป ขณะที่ความไม่แน่นอนที่มีอยู่มาก ก็จะเป็นความเสี่ยงด้านลบที่อาจซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไปได้

เศรษฐกิจโลกขณะนี้แม้จะดูซับซ้อน และดูเหมือนจะไม่ดี แต่โดยพื้นฐานแล้วสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นก็เข้าใจได้ เพราะสะท้อนผลของแรงกดดันจากสามปัจจัยที่กำลังกระทบเศรษฐกิจโลกขณะนี้ ในความเห็นของผม แรงกดดันเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในช่วงของการปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพใหม่ ตามข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจที่ได้เกิดขึ้น ซึ่งจะมีผลให้เศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้า จะขยายตัวในอัตราที่ต่ำลงกว่าในอดีต แต่ก็ยังเป็นการขยายตัว และจะเป็นการขยายตัวในอัตราที่จะดีขึ้นเรื่อยๆ หลังปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพใหม่ นี้คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

ในความเห็นของผม เศรษฐกิจโลกขณะนี้ กำลังปรับตัวกับแรงกดดันสามด้าน หนึ่ง ความแตกต่างของการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ที่มีผลไปถึงทิศทางของนโยบายในแต่ละประเทศ สอง ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจที่ยังแก้ไขไม่ได้ในประเทศอุตสาหกรรม จนมีผลให้ศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลดต่ำลงกว่าเดิม สาม การปรับตัวของราคาสินค้า เช่น น้ำมัน ตามศักยภาพทางเศรษฐกิจของเศรษฐกิจโลกที่ได้เปลี่ยนไป

ในประเด็นแรกเรื่องความแตกต่าง (Uneven Recovery) ตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2008 เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวกลับไปสู่อัตราการขยายตัวที่เป็นปรกติขณะนี้มีสหรัฐประเทศเดียวที่ฟื้นตัวได้ชัดเจน นำไปสู่การปรับนโยบายการเงินเพื่อให้อัตราดอกเบี้ยกลับเข้าสู่ภาวะที่เป็นปรกติมากขึ้น สำหรับสหภาพยุโรปหรือกลุ่มยูโรโซนและญี่ปุ่น เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเงินฝืด คือ ระดับราคาสินค้าปรับลดลง ซึ่งถ้าเกิดขึ้นภาคธุรกิจก็จะไม่ลงทุน และเศรษฐกิจก็จะเข้าสู่ภาวะถดถอย ดังนั้น ปัญหาของยุโรปและญี่ปุ่น ก็คือ ป้องกันภาวะเงินฝืดไม่ให้เกิดขึ้น สำหรับประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมถึงจีน เศรษฐกิจอยู่ในช่วงชะลอตัวจากที่ได้ขยายตัวสูงในช่วงก่อนหน้าจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้หลายประเทศได้ลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น จีน เพื่อให้อัตราการขยายตัวลดลงสอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ แต่การชะลอตัวของจีน ก็ดึงให้ประเทศที่ค้าขายใกล้ชิดกับจีน เช่น กลุ่มอาเซียนและออสเตรเลีย มีอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ลดต่ำลงตามไปด้วย

นี่คือความแตกต่างของการฟื้นตัวที่กำลังเกิดขึ้น ทำให้ทิศทางนโยบายการเงินในแต่ละประเทศแตกต่างกัน เช่น สหรัฐที่เศรษฐกิจมีการฟื้นตัว นโยบายการเงินก็มุ่งหาจังหวะที่เหมาะสมที่จะเริ่มขึ้นปรับอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น สำหรับกลุ่มยูโรโซนและญี่ปุ่น นโยบายการเงินก็คงต้องผ่อนคลายมากต่อไป เพื่อสร้างกำลังซื้อและป้องกันภาวะเงินฝืด โดยการใช้มาตรการแบบคิวอี ซึ่งมีผลให้เงินยูโรอ่อนค่าลงเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งก็จะช่วยกระตุ้นการส่งออก สำหรับประเทศตลาดเกิดใหม่ เช่น จีน และกลุ่มอาเซียน โจทย์ของนโยบายขณะนี้ก็คือ ประคับประคองให้การชะลอตัวของเศรษฐกิจไม่รุนแรง ซึ่งหมายถึง นโยบายการเงินที่ยังจะต้องสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจต่อไป เสริมโดยมาตรการใช้จ่ายด้านการคลัง เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรักษาโมเมนตั้มของการใช้จ่ายในประเทศ ความแตกต่างของการฟื้นตัวและทิศทางของนโยบายการเงินดังกล่าว ได้ส่งผลให้ความผันผวนในตลาดการเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนมีมากขึ้น กระตุ้นโดยการไหลเข้าออกของเงินทุนระหว่างประเทศ นี่คือแรงกดดันแรก

แรงกดดันที่สองก็คือ ปัญหาโครงสร้างที่มีอยู่ในประเทศอุตสาหกรรมหลักตั้งแต่เกิดวิกฤติปี 2008 ที่ยังไม่ได้แก้ไข จนปัญหาได้กลายเป็นข้อจำกัดต่อศักยภาพการเติบโตของประเทศอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจโลกในระยะยาว ปัญหาเหล่านี้ได้แก่ ภาระหนี้ภาครัฐที่ได้เพิ่มสูงขึ้นมาก (High Debt) ทั้งในสหรัฐและประเทศอุตสาหกรรมในยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งไม่ชัดเจนว่าปัญหานี้จะแก้ไขได้หรือไม่ ตามด้วยปัญหาฐานะและความเข้มแข็งของสถาบันการเงินในประเทศอุตสาหกรรมหลัก (Weak Bank) ที่ยังเรื้อรังจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2008 และท้ายสุดปัญหาการว่างงานและการไม่มีงานทำ (High unemployment) โดยเฉพาะในประชากรวัยหนุ่มสาว

สาเหตุสำคัญที่ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขก็เพราะ หนึ่ง พื้นที่ที่จะทำนโยบายเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ปัจจุบันไม่มีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นด้านการคลังเพราะระดับหนี้สาธารณะที่ได้เพิ่มขึ้นสูงมาก หรือนโยบายการเงินที่ได้ผ่อนคลายเต็มที่จนต้องทำมาตรการคิวอีในเกือบทุกประเทศ สอง ไม่มีความกล้าหาญทางการเมือง (Political will) ในประเทศที่มีปัญหาที่จะแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้อย่างจริงจังโดยนักการเมือง ทำให้การแก้ไขปัญหาไม่เกิดขึ้น และสาม ความร่วมมือแก้ไขปัญหาโดยประเทศอุตสาหกรรมขณะนี้ก็ไม่มี แม้จะเป็นปัญหาเศรษฐกิจร่วมกัน แต่การประสานนโยบายเศรษฐกิจ (Policy Collaboration) เพื่อแก้ปัญหาก็ไม่เกิดขึ้น ทำให้การแก้ไขปัญหายิ่งยากขึ้น

เมื่อไม่ได้แก้ ปัญหาก็ยังอยู่ และผลที่ตามมาก็คือ อำนาจซื้อในระบบเศรษฐกิจโลกลดลง เมื่อเศรษฐกิจโลกไม่มีการใช้จ่าย (Lack of demand) ภาคธุรกิจก็ไม่ลงทุนแม้สภาพคล่องในระบบการเงินโลกจะมีมาก และเมื่อไม่ลงทุนศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะยาว ก็ลดลงจากเดิม ทำให้เศรษฐกิจโลกในระยะต่อไปจะขยายตัวในอัตราที่น้อยลงเมื่อเทียบกับอดีต นี่คือแรงกดดันที่สอง

แรงกดดันที่สาม ก็คือ การปรับลดลงของราคาสินค้าตามกลไกตลาดเมื่อเศรษฐกิจโลกไม่มีการเติบโตของการใช้จ่าย นำไปสู่ภาวะอุปทานส่วนเกินที่ผลผลิตมีมากกว่าความต้องการใช้จ่าย ทำให้ราคาสินค้าปรับลดลง ซึ่งกำลังเกิดขึ้นกับสินค้าสำคัญๆ ของโลก เช่น น้ำมัน เกษตร วัตถุดิบ และสินค้าโภคภัณฑ์ และที่จะเกิดขึ้นตามมาในระยะข้างหน้า ก็คือ การปรับลดของราคาสินทรัพย์ ตามปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจโลกที่ศักยภาพการขยายตัวได้ลดต่ำลง ปัจจุบันการปรับตัวของราคาสินทรัพย์ยังไม่เกิดขึ้น เพราะถูกบิดเบือนโดยการลงทุน (เก็งกำไร) ระยะสั้นที่ได้ประโยชน์จากสภาพคล่องในระบบการเงินที่มีมาก (จากการอัดฉีดของมาตรการคิวอี) ทำให้ราคาหุ้นปรับสูงขึ้นทั้งที่ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจแย่ลงกว่าเดิม เช่นกรณีของไทยปีที่แล้ว

นี่คือสามแรงกดดันที่กำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกขณะนี้ ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วก็คือ การปรับตัวของเศรษฐกิจโลกออกจากดุลยภาพเก่า (ที่เศรษฐกิจโลกมีอัตราการขยายตัวตามศักยภาพที่สูง) เข้าสู่ดุลยภาพใหม่ที่เศรษฐกิจโลกในระยะต่อไปจะมีอัตราการขยายตัวตามศักยภาพที่ต่ำกว่าเดิม การปรับตัวเป็นกระบวนการที่ต้องเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม และในกระบวนการปรับตัวนี้ ก็จะมีประเด็นความเสี่ยงสองประเด็นที่ต้องระวัง ประเด็นแรก คือ ประเทศที่มีหนี้สูงอาจเกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโดยเฉพาะประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน จากปัญหาผิดนัดชำระหนี้ ส่วนประเด็นที่สอง ก็คือ เกิดปัญหาฟองสบู่แตกอย่างใหญ่อีกครั้งจากสภาพคล่องที่มีมาก ที่อาจนำไปสู่การเติบโตของราคาสินทรัพย์จากการเก็งกำไรจนเกินเลยปัจจัยพื้นฐานมาก นำมาสู่การปรับตัวของตลาด หรือภาวะฟองสบู่แตกในที่สุด นี่คือความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้า


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เข้าใจเศรษฐกิจโลก ความเสี่ยง จากนี้ไป

view