สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปฏิรูปบริษัทรัฐวิสาหกิจ

จากประชาชาติธุรกิจ

บริษัทรัฐวิสาหกิจควรมีการปรับนโยบายและโครงสร้าง เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ในปัจจุบันนี้ได้ว่า ภาครัฐยังจำเป็นต้องมีรัฐวิสาหกิจเหล่านี้หรือไม่

ในยุคก่อน ๆ ที่มีการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมามากมายเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ลงทุนและขายบริการหรือสินค้าต่าง ๆกับประชาชน เช่น ปตท. ลงทุนขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติขึ้นมาขายกับประชาชน การบินไทยก็ขายบริการขนส่งกับประชาชน อสมท / องค์การโทรศัพท์ฯ และการสื่อสารแห่งประเทศไทย (ปัจจุบันทั้ง 3 หน่วยงานนี้เปลี่ยนชื่อแล้ว) ก็ขายบริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมและสารสนเทศให้ประชาชน เป็นต้น

และเมื่อเวลาผ่านหลาย ๆ รัฐวิสาหกิจก็มีการเปลี่ยนแปลงสถานะให้เป็นบริษัทมหาชน และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยที่ภาครัฐเอง

ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ร่วมกับนักลงทุนต่าง ๆ ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ จะยกเว้นก็แต่รัฐวิสาหกิจอยู่เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ยังไม่สามารถเดินหน้าในการแปรรูปการบริหารจัดการ หรือรูปแบบธุรกิจให้เหมาะสมกับภารกิจในการเป็นบริษัทมหาชนได้ อีกทั้งยังมีปัจจัยที่ต้องปรับในเรื่องของผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัวของฝ่ายต่าง ๆ

ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือนักการเมืองก็ดีที่เข้ามาบริหารจัดการทั้งด้านนโยบายและการจัดการประจำวันภายในรัฐวิสาหกิจเหล่านั้น

จริงๆ แล้ว บริษัทรัฐวิสาหกิจควรมีการปรับนโยบาย และโครงสร้างเพื่อให้สามารถที่จะตอบโจทย์ในปัจจุบันนี้ได้ว่า ภาครัฐยังจำเป็นที่จะต้องมีรัฐวิสาหกิจเหล่านี้หรือไม่ และรัฐควรปล่อยให้กลไกของตลาดเสรีจัดการให้กิจการของรัฐวิสาหกิจเหล่านี้เติบโตหรือหดเล็กลง ?

ทำไมภาครัฐจึงจำเป็นที่ต้องอุ้มชูกิจการรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ต่อไป ทั้ง ๆ ที่บางรัฐวิสาหกิจมีผลประกอบการที่ย่ำแย่มาก และทำไมกิจการรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ยังคงมีสิทธิพิเศษต่าง ๆ มากกว่ากิจการเดียวกันอื่น ๆ ที่เอกชนเป็นเจ้าของ ฯลฯ

อีกประเด็นคงเป็นเรื่องการควบรวมรัฐวิสาหกิจที่มีภารกิจที่ใกล้เคียงหรือซ้ำซ้อนที่อาจจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเดียวกันหรือต่างกระทรวงก็แล้วแต่เพื่อลดความซ้ำซ้อนไม่ว่าเป็นเรื่องของนโยบายการบริหารจัดการการตลาดและโดยเฉพาะเรื่องการลงทุนเพราะการที่มีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ทำงานซ้ำซ้อนกัน ทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรของรัฐโดยเฉพาะด้านงบประมาณไม่มีประสิทธิภาพ

ยกตัวอย่างเช่น บมจ.กสท.โทรคมฯ และทีโอที เป็นต้น หาก 2 หน่วยงานนี้ควบรวมเข้าด้วยกันจะสามารถลดความซ้ำซ้อนที่เกิดขึ้นในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมาได้อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ การลงทุน หรือแม้แต่เรื่องอัตรากำลังคน

ในยุคแห่งการปฏิรูปด้านต่าง ๆ การแก้ไขข้อด้อยให้ดี แก้ไขข้อเสียให้น้อยลง หรือแก้ไขเรื่องที่ล้าสมัยให้ทันสมัยในยุค "คสช." นี้ เราน่าจะต้องหยิบยกประเด็นการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจมาเป็นวาระที่ต้องเร่งดูแลจัดการ เพราะถ้าเลยยุคนี้ไปโอกาสปัญหาที่เกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ที่ควรมีการแก้ไขก็จะไม่ได้รับการแก้ไข อีกทั้งจะตกเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ของกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่จะแอบแฝงเข้ามากับระบบการเมืองอีก

การยุบรวมควบรวมหรือแม้กระทั่งยุบเลิกก็เป็นทางเลือกที่ต้องตัดสินใจกันแบบกล้า ๆ ครับ

แน่นอนว่ามันจะเป็นเรื่องที่กระทบด้านการเมืองภายในองค์กร หรือแม้กระทั่งกระทบความมั่นคงของรัฐบาล เพราะรัฐวิสาหกิจเหล่านี้มักมีสหภาพแรงงานพนักงานที่เข้มแข็งและมีอิทธิพลสูง แต่ด้วยเจตนารมณ์ที่บริสุทธิ์ที่ต้องการปรับปรุงการบริหารจัดการกิจการต่าง ๆ ของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ และเพื่อรับใช้ประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้ ประกอบกับการดำเนินการจะมีความโปร่งใส และมองเห็นประโยชน์ระยะยาวสามารถอธิบายได้ จึงควรดำเนินการ

การรักษางานที่จำเป็น และก่อให้เกิดประโยชน์กับชาติระยะยาว ประกอบกับความพร้อมใจให้ความร่วมมือของทุกฝ่ายจะช่วยทำให้อุปสรรคต่าง ๆ ลดน้อยลง

แน่นอนว่า ในเรื่องนี้กระบวนการที่ต่อเนื่องและระยะเวลาที่ต้องใช้มีความสำคัญมาก ทั้งพรรคการเมืองฝ่ายต่าง ๆ ต้องเห็นชอบ เพราะพวกเขาเหล่านั้นอาจจะมาเป็นรัฐบาลในอนาคตจะต้องดำเนินตามแผนปฏิรูปบริษัทรัฐวิสาหกิจเหล่านี้

เรื่องตรงนี้คงน่าจะท้าทายมากกว่าปฏิรูปรัฐวิสาหกิจมั้งครับ

ผมว่า...เพราะตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยเห็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ขนาดเล็กที่สำคัญ ๆ และไม่สำคัญของประเทศไทยเคยมีความเห็นตรงกันเรื่องการพัฒนาชาติสักเรื่องเลยครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปฏิรูปบริษัทรัฐวิสาหกิจ

view