สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กรีซและไซปรัสกับ ทางลัดสู่ห้วงเหว

กรีซและไซปรัสกับ ทางลัดสู่ห้วงเหว

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




กรีซเพิ่งได้นายกรัฐมนตรีอายุ 40 ปีหลังเลือกตั้งวันอาทิตย์ที่ผ่านมา การเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้เป็นครั้งที่ 3

ในเวลาไม่ถึง 3 ปี ต้นตอของปัญหาที่ทำให้ต้องเสียเวลาและทรัพย์สินเลือกตั้งกันซ้ำแล้วซ้ำอีกได้แก่วิกฤติเศรษฐกิจแสนสาหัสถึงขั้นล้มละลายหลังเศรษฐกิจโลกเริ่มถดถอยครั้งใหญ่เมื่อปี 2551 กรีซต้องไปขอความช่วยเหลือจากสหภาพยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เป็นเงินถึง 2.68 แสนล้านดอลลาร์ซึ่งมากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของตนเมื่อที่ 2557 เสียอีก การช่วยเหลือนั้นมาพร้อมกับเงื่อนไขหลายอย่างรวมทั้งการลดการใช้จ่ายของรัฐบาลพร้อมการขึ้นภาษีซึ่งมีผลทำให้คนตกงาน ความไม่พอใจรัฐบาลส่งผลให้ต้องจัดการเลือกตั้งบ่อย

เป็นที่ทราบกันดีว่า พื้นดินของกรีซในปัจจุบันเคยมีอารยธรรมกรีกโบราณตั้งอยู่ ชาวกรีกโบราณเป็นต้นคิดของหลักปรัชญาที่วิวัฒน์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย กรีซยุคใหม่ได้เอกราชจากอาณาจักรออตโตมานเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่การปกครองของกรีซมักห่างไกลประชาธิปไตยจนกระทั่งรัฐบาลทหารถูกกดดันให้สละอำนาจหลังดำเนินนโยบายผิดพลาดอย่างมหันต์เมื่อปี 2517 นั่นคือ สนับสนุนให้เกิดการยึดอำนาจในไซปรัสซึ่งนำไปสู่การแทรกแซงของตุรกีและไซปรัสถูกแยกเป็นสองส่วน หลังเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย กรีซได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปเมื่อปี 2524

การเปลี่ยนระบอบปกครองครั้งนั้นนำไปสู่การเลือกตั้งทุก 4 ปี ในการช่วงชิงอำนาจกัน รัฐบาลมักนำมาตรการประชานิยมแนวเลวร้ายมาใช้เพื่อซื้อใจประชาชน การใช้จ่ายสูงของรัฐบาลทำให้งบประมาณขาดดุลซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องปิดด้วยการกู้ยืม ประชาชนพอใจเพราะมีรายได้และใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้นอันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวในอัตราสูงอีกแรงหนึ่ง อย่างไรก็ดี การขยายตัวนั้นมิได้ส่งผลให้รัฐบาลเก็บภาษีได้มากขึ้นจนทำให้งบประมาณขาดดุลน้อยลง ตรงข้าม การขาดดุลยังดำเนินต่อไปในอัตราสูง เนื่องจากกฎของสหภาพยุโรปห้ามสมาชิกขาดดุลงบประมาณเกิน 3% ของจีดีพี รัฐบาลกรีซจึงใช้วิธีตกแต่งบัญชีเพื่อตบตา การทำเช่นนั้นเป็นการวางยาพิษจนเศรษฐกิจต้องล้มละลาย

ผู้นำรัฐบาลใหม่ให้ค่ำมั่นสัญญากับชาวกรีกว่าจะไม่ยอมทำตามเงื่อนไขที่รัฐบาลทำไว้กับเจ้าหนี้และจะขอทำข้อตกลงใหม่ ตามข้อตกลงที่รัฐบาลก่อนทำไว้ หากรัฐบาลกรีซไม่ทำตามเงื่อนไข กรีซจะไม่มีเงินชำระหนี้ที่ถึงกำหนดในเดือนหน้า นั่นหมายความว่า กรีซจะเดินเข้าสู่ภาวะล้มละลายอีกครั้งหากเจ้าหนี้ไม่ยอมผ่อนปรน ในวันที่ร่างบทความนี้ บรรดาเจ้าหนี้ยังไม่แสดงทีท่าว่าจะยอมทำตามคำเรียกร้องของกรีซ หากตกลงกันไม่ได้ กรีซอาจต้องเลิกใช้เงินสกุลยูโร การทำเช่นนั้นจะเกิดผลเสียหายใหญ่หลวงต่อกรีซเอง อาทิเช่น ค่าเงินของตนจะตกต่ำทำให้เกิดเงินเฟ้อร้ายแรง การตกงานและความยากจนจะเพิ่มขึ้นจากอัตราที่สูงกว่า 25% และ 23% ตามลำดับอยู่แล้วในปัจจุบัน วิกฤติร้ายแรงของกรีซยืนยันว่า นโยบายประชานิยมอาจเป็นทางลัดที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวสูงและประชาชนพอใจได้ในเวลาอันสั้น แต่ไม่เพียงนาน วันใช้กรรมจะมาถึง

ไซปรัสเชื่อมโยงกับกรีซอย่างใกล้ชิดมานาน ชาวไซปรัสส่วนใหญ่มีเชื้อสายกรีก แม้ทั้งสองจะเป็นเอกราช แต่ชาวกรีกและชาวไซปรัสจำนวนมากยังมองว่าไซปรัสเป็นส่วนหนึ่งของกรีซ เป้าหมายพื้นฐานของการยึดอำนาจในไซปรัสเมื่อปี 2517 โดยการสนับสนุนของรัฐบาลทหารในกรีซอยู่ที่การรวมไซปรัสเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกรีซ ตุรกีมองทะลุจึงเข้าแทรกแซงเพราะชาวไซปรัสส่วนหนึ่งมีเชื้อสายตุรกี หลังจากถูกแยกออกเป็นสองส่วน ชาวไซปรัสเชื้อสายกรีกตั้งรัฐบาลอยู่ทางใต้ รัฐบาลนี้ได้รับการรับรองจากนานาประเทศและองค์การสหประชาชาติ ส่วนชาวไซปรัสเชื้อสายตุรกีตั้งรัฐบาลอยู่ทางเหนือซึ่งตุรกีเพียงประเทศเดียวรับรอง ด้วยเหตุนี้ การช่วยเหลือจากภายนอกตามกรอบขององค์การระหว่างประเทศเช่นธนาคารโลกจึงไปตกอยู่กับรัฐบาลทางใต้เพียงฝ่ายเดียว เนื่องจากรัฐบาลนั้นดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างเหมาะสม เศรษฐกิจจึงขยายตัวได้ในอัตราสูง (รายละเอียดมีอยู่ในหนังสือชื่อ “จดหมายจากวอชิงตัน” ซึ่งดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com) เวลาผ่านไปเพียงไม่นาน ไซปรัสก็เปลี่ยนสถานะจากประเทศกำลังพัฒนาเป็นประเทศก้าวหน้าและเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปเมื่อปี 2547

ในช่วงที่ไซปรัสเริ่มเข้ากลุ่มประเทศก้าวหน้านั้น สหภาพโซเวียตแตกสลายก่อให้เกิดประเทศเอกราชใหม่ 14 ประเทศรวมทั้งรัสเซีย ไซปรัสปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อดูดเงินจากภายนอกให้ไหลเข้าไปฝากในธนาคารของตน ปรากฏว่าได้ผลดีมาก เงินฝากจากรัสเซียเพียงประเทศเดียวในปี 2554 มีจำนวนถึงเกือบ 3 เท่าของจีดีพีของไซปรัส ผู้รอบรู้สถานการณ์มักมองกันว่าเงินจำนวนมหาศาลนั้นส่วนหนึ่งมาจากธุรกิจสีเทา ธนาคารไซปรัสนำเงินฝากนั้นออกให้ชาวไซปรัสกู้ยืมไปลงทุนและใช้จ่ายส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวสูง หรือไม่ก็ฝากต่อในกรีซซึ่งให้ผลตอบแทนสูงเป็นพิเศษ เมื่อวิกฤติเกิดขึ้นในกรีซ ธนาคารไซปรัสไม่สามารถถอนเงินได้ ส่งผลให้ขาดสภาพคล่องจนหนึ่งในสองของธนาคารขนาดใหญ่ถูกปิดและเกิดวิกฤติเศรษฐกิจจนต้องไปขอความช่วยเหลือจากสหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟเมื่อปี 2556 การช่วยเหลือนั้นมีเงื่อนไขหลายอย่างยังผลให้ชาวไซปรัสต้องรัดเข็มขัดและใช้หนี้ไปจนถึงลูกหลานเช่นเดียวกับชาวกรีก

เรื่องของกรีซและไซปรัสคงบ่งชี้ได้เป็นอย่างดีว่า การเดินลงเหวนั้นทำได้หลายวิธี ประชาชนจะต้องมีความระมัดระวัง อย่าหลงกลนักการเมืองมักง่ายเพราะผลร้ายมักจะตกกับตนและลูกหลาน มิใช่กับนักการเมือง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กรีซ ไซปรัส ทางลัดสู่ห้วงเหว

view