สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความเหลื่อมล้ำในเศรษฐกิจโลก

ความเหลื่อมล้ำในเศรษฐกิจโลก

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้และความมั่งคั่งในเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มแย่ลง

เดือนที่แล้วในการประชุม World Economic Forum ที่สวิตเซอร์แลนด์ องค์กรต่อต้านความยากจนของอังกฤษหรือ อ็อกซแฟม (Oxfam) ได้เปิดเผยประมาณการความเหลื่อมล้ำในเศรษฐกิจโลก โดยประเมินว่า ปีหน้า 2016 ประชากรที่ร่ำรวยสุดหนึ่งเปอร์เซ็นต์แรกของโลกจะมีความมั่งคั่งรวมกันมากกว่าครึ่งหนึ่งของความมั่งคั่งทั้งหมด โดยช่วงห้าปีที่ผ่านมา แม้เศรษฐกิจโลกจะประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจรุนแรง ความมั่งคั่งของกลุ่มประชากรที่ร่ำรวยที่สุด หนึ่งเปอร์เซ็นต์แรกของโลกก็ไม่ได้ลดลง แต่เพิ่มขึ้นจากสัดส่วนร้อยละ 44 ของความมั่งคั่งของโลกปี 2009 เป็นร้อยละ 48 ปี 2014 ขณะที่อีกแปดสิบเปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกนับจากกลุ่มคนที่จนที่สุดขึ้นมามีสัดส่วนความมั่งคั่งรวมกันเพียงแค่ร้อยละ 5.5 ของความมั่งคั่งของโลก นี่คือปัญหา

ในทางเศรษฐศาสตร์ปัญหาด้านการกระจาย (Distribution) เป็นอีกมิติหนึ่งของปัญหาเศรษฐกิจนอกเหนือจากปัญหาการเจริญเติบโต (Growth) ดังนั้น ข้อมูลที่ออกมาก็ตอกย้ำความสำคัญของปัญหาด้านการกระจายที่มีอยู่ในเศรษฐกิจโลกขณะนี้ คือ หนึ่ง ความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้และความมั่งคั่งในเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มแย่ลง สอง ช่วงห้าปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกเกิดปัญหารุนแรง ความเหลื่อมล้ำยิ่งมีมากขึ้น โดยวิกฤติเศรษฐกิจได้ส่งผลกระทบมากสุดต่อกลุ่มคนชั้นกลางและผู้มีรายได้น้อย สาม ความสนใจที่จะแก้ปัญหาการกระจาย ไม่ค่อยมีการพูดถึง เทียบกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ และถ้าปัญหายิ่งรุนแรงมากขึ้น ก็อาจเป็นจุดอ่อนที่จะนำไปสู่การเกิดปัญหาสังคม และปัญหาการเมืองที่รุนแรงตามมาได้ วันนี้จึงอยากแสดงความเห็นเรื่องนี้ เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยเองก็ไม่ต่างกับปัญหาในเศรษฐกิจโลก

นักธุรกิจและนักการเมืองสายอนุรักษนิยม มักจะไม่ชอบพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำ เพราะมองความเหลื่อมล้ำว่าเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นภายใต้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ที่ต้องมีผู้ชนะและผู้แพ้ ซึ่งฝ่ายผู้ชนะชนะเพราะเป็นเจ้าของทุนหรือปัจจัยการผลิตที่สามารถสร้างการเติบโตของรายได้ ในอัตราที่สูงกว่าฝ่ายผู้แพ้ ที่มักไม่ใช่เจ้าของทุน แต่ทำงานเป็นลูกจ้างมีรายได้หลัก จากเงินเดือนที่มักเพิ่มในอัตราที่ต่ำกว่ามาก ความแตกต่างในอัตราการเติบโตของรายได้ของสองกลุ่มนี้ ทำให้ความเหลื่อมล้ำมีมากขึ้น

ปีที่แล้ว นักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส โธมาส ปิเก็ตตี้ (Thomas Piketty) ได้วิเคราะห์เรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า ความเหลื่อมที่มีมากขึ้นเป็นผลจากที่ผลตอบแทนจากสินทรัพย์หรือความมั่งคั่งที่ได้จากการลงทุน เติบโตในอัตราที่สูงกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งความหมายคือ อัตราเพิ่มของรายได้ของคนส่วนใหญ่ ซึ่งมาจากค่าจ้างแรงงานแต่ละปี จะเพิ่มขึ้นในอัตราใกล้เคียงกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่กลุ่มคนซึ่งเป็นเจ้าของทุน รายได้ส่วนใหญ่จะมาจากการลงทุน และผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งก็คือรายได้ จะขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าค่าจ้างแรงงานมาก ข้อเท็จจริงนี้นำไปสู่อัตราการเพิ่มของรายได้ของคนสองกลุ่มที่แตกต่างกัน และถ้าความแตกต่างสะสมมากขึ้นๆ ความเหลื่อมล้ำก็ยิ่งมากขึ้น โดยเฉพาะถ้าเศรษฐกิจไม่มีกลไกด้านนโยบายที่จะลดทอนความแตกต่างดังกล่าว ข้อมูลจากการศึกษาของ Piketty ชี้ว่าความเหลื่อมล้ำในเศรษฐกิจโลกได้เพิ่มขึ้นมากตั้งแต่หลังช่วงปี 1980’s เป็นต้นมา และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

อะไรเป็นปัจจัยที่ได้ทำให้ความเหลื่อมล้ำในเศรษฐกิจโลกมีมากขึ้นหลังปี 1980’s ผมคิดว่าคงมีหลายปัจจัย แต่ที่สำคัญจริงๆ ก็คือ

หนึ่ง ระบบโลกาภิวัตน์ หรือ Globalization ที่ทำให้การค้าขายและการลงทุนไม่มีพรมแดน เงินออมจากประเทศหนึ่งสามารถนำไปลงทุนในอีกประเทศหนึ่งได้อย่างเสรี ขับเคลื่อนโดยนโยบายเปิดเสรีด้านการค้าและการลงทุน พัฒนาการนี้นำไปสู่การไหลเข้าออกของเงินทุนระหว่างประเทศในจำนวนมหาศาล และนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้น ทั้งในมิติเศรษฐกิจโลก และในมิติของประเทศที่เงินทุนไหลเข้า กล่าวคือ

ในมิติเศรษฐกิจโลก การเปิดเสรีได้นำไปสู่การเติบโตของการลงทุนข้ามพรมแดน ทำให้นักลงทุนที่ลงทุนในต่างประเทศสามารถเสาะหาผลตอบแทนจากการลงทุนในอัตราที่สูงกว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศของตนเอง นำไปสู่ความแตกต่างในการเติบโตของรายได้ระหว่างคนที่นำเงินไปลงทุนต่างประเทศ กับคนในประเทศที่ทำงานและรายได้เติบโตใกล้เคียงกับการขยายตัวเศรษฐกิจ รวมถึงเทียบกับคนในประเทศอื่นที่ไม่ได้ประโยชน์จากการลงทุนข้ามพรมแดน นี่คือ กลไกที่อธิบายว่าทำไมโลกาภิวัตน์มีผลให้ความเหลื่อมล้ำในเศรษฐกิจโลกมีมากขึ้น เพราะให้ประโยชน์กับคนกลุ่มต่างๆ ไม่เท่ากัน

อีกมิติก็คือ ประเทศที่เงินทุนต่างประเทศไหลเข้า เช่น ประเทศไทยที่คนท้องถิ่นที่ได้ประโยชน์จากการไหลเข้าของเงินทุน ก็จะจำกัดอยู่เฉพาะกับผู้ที่ได้ประโยชน์จากการลงทุนที่เงินต่างประเทศเข้ามาลงทุน เช่น หุ้นหรือผู้ที่เป็นเจ้าของกิจการที่ได้ประโยชน์จากเงินทุนต่างประเทศไหลเข้า ทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่เป็นรายได้ของคนกลุ่มนี้ขยายตัวในอัตราที่สูงกว่ารายได้ประชาชาติหรือรายได้ของคนส่วนใหญ่ คนกลุ่มนี้มักเป็นผู้ที่มีฐานะดีอยู่แล้ว ทำให้คนที่มีฐานะยิ่งมั่งคั่งมากขึ้นจากรายได้ที่เติบโตสูงกว่ารายได้ของคนส่วนใหญ่ นำมาสู่ความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้น กรณีของประเทศไทยก็คล้ายกัน เช่น ปีที่แล้ว เศรษฐกิจโตไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ แต่ผลตอบแทนจากการลงทุน เช่น หุ้นเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 15

ปัจจัยที่สอง ที่หนุนให้ความเหลื่อมล้ำในเศรษฐกิจโลกมีมากขึ้นก็คือ นโยบายที่อาจเอื้อสร้างการเติบโตให้กับรายได้จากการลงทุนมากกว่ารายได้จากการทำงานโดยไม่ตั้งใจ ตัวอย่างเช่น มาตรการคิวอี ที่อัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบการเงินเพื่อฟื้นเศรษฐกิจในจำนวนมหาศาล สภาพคล่องเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในรูปของการขยายสินเชื่อให้แก่ภาคธุรกิจ แต่ถูกนำไปลงทุนในตลาดการเงินเพื่อหาผลตอบแทน ผลักดันราคาสินทรัพย์ทางการเงิน เช่น หุ้น ให้ปรับสูงขึ้น สร้างผลตอบแทนให้กับการลงทุนในอัตราที่สูงมากขึ้นไปอีก เทียบกับเศรษฐกิจ อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ มาตรการภาษีก็มักจะเก็บภาษีจากรายได้ที่มาจากการลงทุนในรูปแบบที่ผ่อนปรนกว่าภาษีที่เก็บจากการทำงาน หรือค่าจ้างเงินเดือน ทำให้ผู้ที่เป็นเจ้าของทุน มักจะมีภาระภาษีน้อยกว่าคนทำงานที่มีรายได้จากเงินเดือน ที่ต้องเสียภาษีเต็ม และถ้าระบบภาษีไม่มีกลไกลดความเหลื่อมล้ำ เช่น ภาษีมรดก ความเหลื่อมล้ำในสังคมก็ยิ่งมากขึ้น

ปัจจัยที่สาม ที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำมีมากขึ้น ก็คือ คนที่ร่ำรวยที่เป็นเจ้าของทุนสามารถที่ใช้อำนาจเงินที่มีอยู่สร้างการเข้าถึงโอกาสทั้งในการทำธุรกิจ การลงทุน และอำนาจทางการเมือง เพื่อปกป้องหรือขยายโอกาสความมั่งคั่งของตนได้ง่ายกว่าคนที่ไม่มีฐานะ รวมถึงคนที่มั่งคั่งจากการทำผิดกฎหมาย ที่สามารถใช้อำนาจเงินสร้างการเข้าถึงอำนาจการเมือง เพื่อคุ้มครองตนเอง เช่น เสียภาษีไม่ถูกต้องมาตลอด หากินกับการทุจริตคอร์รัปชัน สร้างการผูกขาดทางธุรกิจโดยอาศัยนโยบายรัฐ วิ่งเต้นสัมปทานต่างๆ โดยไม่มีการแข่งขัน สิ่งเหล่านี้ทำให้ความมั่งคั่งยืนอยู่ได้ หรือต่อยอดไปสู่ความมั่งคั่งที่มากขึ้นสำหรับคนบางกลุ่ม ทำให้ความเหลื่อมล้ำในเศรษฐกิจยิ่งมากขึ้น

พลวัตของสามปัจจัยนี้ คือ กลไกส่วนหนึ่งที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจโลกเพิ่มมากขึ้น และถ้าแนวโน้มมีต่อไป ไม่มีการแก้ไข ประวัติศาสตร์ก็ชี้ชัดเจนว่า ในที่สุดความรุนแรงของปัญหาก็จะเป็นปัจจัยที่จะสะดุดการเติบโตของระบบทุนนิยม อย่างที่เคยเกิดขึ้น ผ่านการเกิดสงคราม เช่น กรณีสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง หรือเกิดปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศรุนแรง เช่น กรณีของเหตุการณ์อาหรับสปริงในตะวันออกกลาง แต่ที่น่าห่วงก็คือกลุ่มคนที่มีฐานะตระหนักในความเสี่ยงเหล่านี้เป็นอย่างดี ไม่อยากให้เกิดการสะดุดขึ้น อยากร่วมแก้ไขปัญหา แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะการแก้ไขต้องแก้ที่ระบบ ต้องแก้ทั้งสามปัจจัยที่ได้พูดถึง ซึ่งคนรวยคนเดียวหรือสองคนทำไม่ได้ ต้องร่วมกันเป็นกลุ่มแบบ Collective Action ที่ต้องแก้การทำงานของระบบทุนนิยมให้เป็นระบบที่แชร์ประโยชน์กับคนหมู่มากมากขึ้น (Inclusive) ซึ่งดูเป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้น


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจโลก

view