สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Swiss National Bank ทำอะไร

Swiss National Bank ทำอะไร

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เมื่อวันที่ 15 มกราคม ที่ผ่านมา ธนาคารกลางของสวิตเซอร์แลนด์ (Swiss National Bank ; SNB)

“เซอร์ไพรส์” ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนด้วยการยกเลิกการกำหนดค่าของเงินสวิสฟรังก์ของตนเมื่อเทียบกับเงินยูโรที่อัตรา 1.20 ฟรังก์ต่อ 1 ยูโร ที่ได้ใช้มาตั้งแต่กลางปี 2011 เหตุการณ์นี้ถือว่ามีผลกระทบต่อตลาดการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้คนนักลงทุนในตลาดหุ้นบ้านเราและทั่วโลกอยู่มากในตอนนั้น แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีผู้คนมากนักที่เข้าใจและวิเคราะห์ให้มากขึ้นถึงผลกระทบในระยะเวลาต่อไป ผมจึงขอถือโอกาสนี้อธิบายให้ท่านผู้อ่านมีความเข้าใจในเรื่องนี้ให้มากขึ้นนะครับ

นอกเหนือจาก โอวัลติน, นาฬิกาโรเล็กซ์, ทะเลสาบที่สวยงามและผู้คนที่ช่างมีระเบียบวินัยแล้ว สวิสก็ยังเป็นประเทศหนึ่งที่มีระบบการเงินที่แข็งแกร่งและเป็นแบบฉบับอันหนึ่งของโลก ในช่วงที่ยูโรโซนกำลังมีวิกฤติค่าเงินยูโรตกต่ำนั้น เงินจำนวนมากก็ได้หลั่งไหลไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ส่งผลทำให้ตั้งแต่ปี 2010 ต้นปี ซึ่งค่าเงินฟรังก์อยู่ที่เพียงประมาณ 0.7 ยูโร (ประมาณ 1.43 ฟรังก์ต่อ 1 ยูโร) ผลของเงินทุนไหลเข้าทำให้เงินฟรังก์มามีค่าเทียบเท่า (parity) กับเงินยูโรในกลางปี 2511 เพื่อเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของผู้ส่งออก ซึ่งหมายรวมถึงอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น การท่องเที่ยวที่ทำเงินรายได้ให้กับระบบเศรษฐกิจของสวิส SNB จึงตัดสินใจ "peg” เงินของตนเอาไว้ที่ 1.20 ฟรังก์ต่อ 1 ยูโร โดยหวังว่าวิกฤติใน EU น่าจะดีขึ้นตามลำดับ และจะส่งผลทำให้เงินยูโรนั้นมีค่ากระเตื้องขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของ EU

การ peg เงินไว้เช่นนั้น ทางหนึ่งก็เป็นการช่วยเหลือภาคธุรกิจที่เป็นเสาหลักของตนได้ แต่อีกทางหนึ่งเมื่อทิศทางของเงินยูโรไม่เป็นไปตามคาด ก็ย่อมส่งผลทำให้เงินสวิสฟรังก์ของตนเองมีค่าที่อ่อนเกินกว่าความเป็นจริง การ”ยืนให้ชก”เช่นนี้ ย่อมทำได้เพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น และเมื่อสมมุติฐานไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง กล่าวคือ EU ไม่กระเตื้อง หนำซ้ำยังแย่แบบมองไม่เห็นฝั่ง SNB ก็ต้องยอม “cut loss” แล้วยกเลิกการกำหนดค่าดังกล่าว คงไม่ต้องพูดถึงว่าปฏิกิริยาแรกที่ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนจะทำอย่างไรต่อข่าวนี้ เพราะว่าหลังจากนั้นเพียงไม่นาน ค่าเงินฟรังก์ก็แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วทะลุระดับ parity และป้วนเปี้ยนอยู่แถวระดับ parity อยู่ระยะเวลาหนึ่ง ขณะที่เขียนบทความนี้เรียกได้ว่าฝุ่นหายตลบแล้ว ค่าของเงินยูโร/สวิสฟรังก์ ก็อยู่ที่ประมาณ 1 ยูโรเท่ากับประมาณ 1.04-1.05 ฟรังก์ และค่าของเงินฟรังก์เมื่อเทียบกับดอลลาร์ก็มาอยู่ที่ประมาณ 1 ดอลลาร์ แลกได้น้อยกว่า 1 ฟรังก์ (ประมาณ 0.92 ฟรังก์เท่านั้น)

แน่นอนผู้ที่ได้ประโยชน์จากตอน peg ที่ 1.20 ฟรังก์ ตอนนี้ก็กลับมาเสียประโยชน์ แต่สิ่งที่ SNB แน่วแน่มากและต้องขอชมก็คือ การมีวินัยอย่างเคร่งครัด ที่หากเห็นว่า การที่ค่าเงินฟรังก์มีท่าทีที่จะอ่อนเกินไป และไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง ก็ต้องยอม (ชิงลงมือ) ไม่ปล่อยให้เงินตัวเองมีค่าไปตามนโยบายที่ค่อนข้าง rigid ยอมโดนด่าบ้าง แต่ไม่ยอมให้เกิดเหตุการณ์ "เจ๊งคามือ” เกิดขึ้น การแข็งค่าของสวิสฟรังก์ย่อมต้องบีบบังคับให้ผู้ส่งออกต้องปรับตัวอยู่พอควร แต่หากมองในมุมกลับกัน หากยังคงดื้อดึงไม่ยกเลิกการกำหนดค่าดังกล่าว ก็หมายถึงจะต้องยอมเพิ่มปริมาณเงินให้มากขึ้นอย่างไม่จำกัด ส่งผลทำให้ภาคส่วนอื่นๆ ของระบบเศรษฐกิจได้รับกระทบ ทางด้านเทคนิคแล้ว การปล่อยครั้งนี้เพื่อให้เวลากับตนเองและผู้อื่นกล่าวคือให้เวลากับผู้ประกอบการสวิสเอง และตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ค่าของเงินสวิสฟรังก์ก็มาเริ่มนิ่งอยู่ที่ระดับปัจจุบันตามที่ได้เรียนข้างต้น และหากในอนาคต หากมีความไม่แน่นอนใน EU เกิดขึ้นอีก ก็ไม่ต้องเสียเงินเสียทองกับการไป peg เงินตนเอง ปล่อยให้ตลาดเป็นตัวกำหนดค่าที่ควรเป็น และปรากฏการณ์ “Hot Money” ก็คงจะไม่เกิด ส่งผลทำให้การเคลื่อนไหวของค่าเงินสะท้อนสภาวะที่แท้จริงของระบบเศรษฐกิจ การแทรกแซงหลังจากนั้นก็สามารถกระทำได้ในจังหวะและเหตุการณ์ที่เหมาะสม ในกรณีนี้ก็คือการเข้าซื้อเงินยูโรและเงินดอลลาร์ ในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งผมเชื่อว่า SNB ก็ทำอยู่แล้ว

ผมส่วนตัวเห็นว่าวิกฤตของอัตราแลกเปลี่ยนนั้นมีขนาดที่แตกต่างกันระหว่างค่าเงินที่แข็งไป (ในกรณีนี้) กับค่าเงินที่อ่อนไป (กรณีของยูโรหรือเงินบาทเมื่อปี 2540) ค่าเงินแข็งไปน่าจะมีความวิกฤตที่น้อยกว่าค่าเงินที่อ่อนไป หากผมจะเปรียบเทียบ ค่าเงินแข็งเกินเหมือนเราเป็นเศรษฐีเปิดประตูบ้านมีเงินกองมาทับถมคนเปิด ค่าเงินที่อ่อนไปมีแต่เงินไหลออกนอกบ้านไม่มีอะไรเหลือ แต่ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์แบบเศรษฐีหรือยาจก สิ่งที่ต้องเรียนรู้ก็คือ ต้องรู้จัก "ยอม” ไม่ดื้อดันทุรัง คิดว่าตัวเองเก่ง ประวัติศาสตร์ก็มีให้เราเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

อีกประการหนึ่งก็คือไม่ว่าจะแข็งหรืออ่อน (เกินไป) ย่อมมีผลกระทบทั้งได้และเสีย ดังนั้นผู้ประกอบการและผู้ดำเนินนโยบายต้องเห็นและจับจังหวะของโอกาสในการบริหารจัดการความเสี่ยงของตน ผู้ประกอบการเองต้องมีวินัย และต้องไม่โลภ พยายามเน้นในเรื่องที่เราถนัดจะดีกว่าไปนั่งเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน ผู้ดำเนินนโยบายเองก็คงต้องกล้าๆ หน่อย (proactive) ในการตัดสินใจทำอะไร เช่นเดียวกัน ตัวอย่างก็มีให้เห็นให้ทำความเข้าใจอยู่โดยทั่วไป

ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเป็นตลาดที่มีความอ่อนไหวต่อข่าวคราวมากถึงมากที่สุด การดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดจะถูก "ทำโทษ” โดยตลาดและมักจะเกิดความเสียหายอย่างมากตามมา และเป็นเรื่องที่ยากจะอธิบายให้ผู้คนฟังแล้วเข้าใจ ดังนั้น ผู้คนโดยมากมักจะเสียหายไปแล้วก่อนที่จะรับรู้ว่าอะไรเกิดขึ้น การเตรียมตัวแต่เนิ่น ๆ มักจะให้ผลดีมากกว่าผลเสียในระยะยาวนะครับ สุดท้ายความเห็นทั้งหลายทั้งปวง เป็นความเห็นส่วนตัวทั้งสิ้น และโปรดใช้วิจารณญาณด้วยครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : Swiss National Bank ทำอะไร

view