สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ขุนคลังฮาร์ดคอร์แห่งกรีซ: ยานิส วารูฟาคิส

ขุนคลังฮาร์ดคอร์แห่งกรีซ: ยานิส วารูฟาคิส

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เมื่อ 7 วันที่แล้ว หลังการเลือกตั้งในกรีซ ทั่วโลกก็ได้รู้จักว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอันตรายท่านใหม่

นามว่า ดร. ยานิส วารูฟาคิส เขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในอังกฤษเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน ในช่วงแรกทำงานวิจัยทางทฤษฎีเป็นหลัก จากนั้นเมื่อกว่า 10 ปีก่อน เริ่มทำงานวิจัยกับบริษัทเอกชนด้านดิจิทัล และทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับนักการเมืองของกรีซ โดยเคยเป็นที่ปรึกษาให้กับนายกรัฐมนตรีกรีซคนก่อนด้วย และตัดสินใจลาออกเมื่อกรีซยอมทำตามนโยบายรัดเข็มขัดของยูโร โดยก่อนที่กรีซจะมีการเลือกตั้งเมื่อสัปดาห์ก่อนเพียง 3-4 เดือนได้มาทำหน้าที่เป็นกุนซือให้กับว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของกรีซ นายอเล็กซิส ซิปราส ในบทความนี้ จะขอกล่าวถึงแนวคิดของขุนคลังท่านนี้ ดังนี้


แนวทางของขุนคลังสมองใสท่านนี้ ประกอบด้วยบัญญัติ 3 ประการ ที่เขาตั้งใจว่าจะมาใช้ทดแทนแนวทางการรัดเข็มขัดของกรีซจาก Troika ซึ่งประกอบด้วย กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ ธนาคารกลางยุโรปและสภายุโรป ดังนี้


หนึ่ง วิกฤติธนาคาร แทนที่จะใช้วิธีสหภาพการธนาคาร โดยจะให้อำนาจการเพิ่มทุนไปรวมศูนย์อยู่ที่ธนาคารกลางยุโรปหรืออีซีบี นั่นหมายถึง ธนาคารของกรีซจะถูกกำกับแบบรวมศูนย์ที่อีซีบี โดยแบงก์กรีซที่จะเจ๊งจะต้องใช้เงินภาษีของรัฐบาลตนเองก่อนที่จะให้อีซีบีช่วยเหลือ ซึ่งนายวารูฟาคิสเห็นว่าทำให้การแก้ปัญหาเกิดความล่าช้า ซึ่งเห็นกันอย่างชัดเจนในปี 2012


โดยสำหรับนายวารูฟาคิส วิธีการที่เขาจะใช้กลับเป็นการแก้ปัญหาธนาคารแบบเป็นกรณีๆ ไป จะแก้โดยอนุญาตให้รัฐบาลของกรีซมีสิทธิ์ว่าจะให้ธนาคารกลางยุโรปเข้ามาช่วยเหลือหรือล้วงลูกหรือไม่ แล้วจึงให้ยูโรเข้ามาแก้ไขปัญหาในแบงก์ดังกล่าวด้วยการใส่เงินทุนเข้าไปและแต่งตั้งกรรมการธนาคารหรือบอร์ดเข้าไปดูแลเพื่อแก้ไขปัญหา หลังจากตบแต่งงบการเงินเสร็จแล้วจึงกลับนำมาขายในตลาดหลักทรัพย์ใหม่ ซึ่งมาตรการนี้ของขุนคลังกรีซสมองใสท่านนี้บอกว่าสามารถทำได้เลยทันที


จริงๆ แล้วผมก็ไม่แย้งกับแนวทางนี้ แต่ก็ใช้ได้แค่ในระยะเวลา 1-2 ปีนี้เท่านั้น


สอง วิกฤติหนี้สาธารณะ จะใช้นโยบายการแปลงหนี้แนวทางนี้ประกอบด้วยการแบ่งพันธบัตรของประเทศในยูโรออกเป็น 2 ส่วนประกอบด้วย หนี้รัฐบาลของประเทศนั้นที่มีปริมาณเท่ากับร้อยละ 60 ของจีดีพีของแต่ละประเทศ และส่วนที่สองซึ่งเป็นส่วนที่เกินจากมูลหนี้ดังกล่าว โดยนายวารูฟาคิสต้องการให้พันธบัตรในส่วนหลังสามารถแปลงเป็นหนี้ที่ถือว่าออกโดยธนาคารกลางยุโรปหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือค้ำประกันโดยอีซีบีนั่นเอง ซึ่งอัตราผลตอบแทนสามารถกำหนดโดยธนาคารกลางยุโรป ทั้งนี้ พันธบัตรดังกล่าวต้องไม่สามารถนำไปทำหน้าที่เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ โดยผู้ถือตราสารทางการเงินนี้สามารถไถ่ถอนจากประเทศในยุโรปนั้นเมื่อครบอายุ และเมื่อประเทศในยุโรปดังกล่าวเกิดมีปัญหาขึ้นมาก็ให้อีซีบีเข้ามาช่วยเหลือจากรายได้ของพันธบัตรนี้ โดยขุนคลังสมองใสรายนี้ยังระบุว่าต้องมีประเทศอย่างน้อย 9 ประเทศเข้าร่วมวงศ์ไพบูลย์จึงจะสามารถเริ่มต้นมาตรการนี้ได้


ทั้งนี้ มาตรการนี้จะเข้ามาแทน Outright Monetary Transactions’ programme (OMT) ที่ผูกการช่วยเหลือประเทศที่มีปัญหากับเงื่อนไขของ Troika ซึ่งนายวารูฟาคิสระบุว่าเป็นต้นเหตุที่ไม่มีประเทศไหนอยากที่จะใช้มาตรการนี้ เพราะไม่อยากถูกเงื่อนไขการรัดเข็มขัดรัดคอตาย


ผมคิดว่ามาตรการยูโรบอนด์ทำนองนี้ ไม่ผ่านนายใหญ่อย่างเยอรมันเป็นแน่แท้


สาม การลงทุนที่ยังไม่กระเตื้องของยุโรปและความไม่สมดุลของประเทศในยุโรป แก้ด้วย มาตรการการลงทุนและการกระจายความเจริญให้เท่าเทียมกัน


ในส่วนของการลงทุนด้วยเม็ดเงินใหม่ตามแนวทางของนายวารูฟาคิสนั้น คือการลงทุนใหม่ด้วยกองทุนการลงทุนแห่งยุโรปที่กำลังจะจัดขึ้นใหม่ในด้านการแพทย์ การศึกษา พลังงานสีเขียวและการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกซึ่งจะต้องไม่มีมาตรการรัดเข็มขัดเข้ามาทำให้การลงทุนดังกล่าวได้รับผลดีที่ลดลง ที่ดูแล้วถือว่ามาแปลก ก็คือไม่ให้นับการลงทุนต่างๆ ในงบรัฐบาลของประเทศต่างๆ ในยุโรป แต่จะให้ไปนับอยู่ที่งบการเงินของอีซีบี โดยอ้างว่าในกรณีของสหรัฐนั้น ยังไม่นับการออกพันธบัตรของกระทรวงการคลังมาเป็นหนี้ของรัฐเดลาแวร์หรือนิวยอร์ก โดยจากรูป จะพบว่าความแตกต่างของประเทศต่างๆ ในยุโรปมีความแตกต่างกันมากที่สุด นายวารูฟาคิสยังฟันธงว่าหากไม่มีการสนับสนุนเงินทุนจากส่วนกลางเลย ย่อมจะทำให้ยุโรปไม่สามารถเดินต่อไปได้นอกจากนี้ยังจะให้มีการตั้งกองทุนส่วนบุคคลมาช่วงลงทุนในประเทศต่างๆ ทั่วยุโรปอีกต่างหาก ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากในปัจจุบัน จะเอื้อให้มาตรการดังกล่าวไม่ได้มีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยสูงมากนัก


ผมว่าแนวคิดนี้ เป็นไปได้บางส่วนแต่ต้องมีการปรับอีกไม่น้อยกว่าที่ทุกฝ่ายจะสามารถยอมรับกันได้


โดยสรุป ขุนคลังคนใหม่ของกรีซมากับไอเดียที่แปลกใหม่ แต่จะตกม้าตายไหมคงต้องรอชมกันต่อ ส่วนตัวผมคิดว่ากรีซจะขี่กระแสการต้านมาตรการรัดเข็มขัดได้ก็แค่ช่วงนี้เท่านั้นครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ขุนคลังฮาร์ดคอร์ กรีซ ยานิส วารูฟาคิส

view