สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปากท้องรากหญ้า

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ สามัญสำนึก โดย พัฒนพันธุ์ วงศ์พันธุ์

ไม่ง่ายเลยจริง ๆ


ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งเรื่องการเมือง และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาปากท้อง กำลังยกขบวนมารุมล้อมรัฐบาล

ผลพวงจากปัญหาเศรษฐกิจโลกมีผลโดยตรงถึงสถานการณ์การส่งออก สงครามค่าเงินของมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก ทั้งสหภาพยุโรป หรือแม้แต่ญี่ปุ่น กดดันให้ค่าเงินบาทไทยแข็งขึ้น กลายเป็นว่าสินค้าไทยแพงกว่าประเทศอื่น ๆ

จากที่ตั้งความหวังกับตัวเลขส่งออก ชักไม่แน่เสียแล้ว

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพิ่งแถลงเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า แรงกดดันจากราคาน้ำมันอาจส่งผลให้การส่งออกต่ำกว่าเป้าหมาย 1% ที่ตั้งไว้ แต่ ธปท.ก็หวังว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่กลับมารุ่งโรจน์จะทำให้การส่งออกดีขึ้น

ขณะที่สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือฯ เห็นคล้าย ๆ แบงก์ชาติ ปรับลดประมาณการใหม่ จากที่คิดว่าปีนี้ส่งออกจะเพิ่มขึ้น 2.5% ปรับลดลงเหลือ 1.5%

ฟากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มองในภาพใหญ่ว่า ผลจากสถานการณ์การส่งออกที่เกิดขึ้นทำให้ประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้น่าจะขยายตัวในราว 3.9% จากเดิมเคยคาดการณ์ไว้เดิมที่ 4.1%

ล่าสุด เหตุระเบิดหน้าสยามพารากอนเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เขย่าความเชื่อมั่นเข้าอีกอย่างจัง

เพราะนี่คือศูนย์กลางการช็อบปิ้งหมายเลข 1 ของประเทศ เป็นแหล่งที่นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกมักบรรจุอยู่ในโปรแกรม

แม้ว่าที่ผ่านมา รัฐบาลความพยายามสร้างความเชื่อมั่นทุกทาง ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว เพื่อดึงผู้บริโภคกลับมาใช้เงินซื้อหาข้าวของอีกหน

แต่กลับกลายเป็นว่าสถานการณ์ไม่ค่อยเป็นใจเท่าไหร่

กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เพิ่งเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน จากกลุ่มตัวอย่าง 1,143 คน ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

มีถึงร้อยละ 58.4 มีปัญหารายได้ไม่ค่อยเพียงพอกับรายจ่าย หรือกว่าครึ่งของประชากรทั้งหมด ในจำนวนนี้มีร้อยละ 19.7 รายได้ไม่พอกับรายจ่าย

ถามถึงรายได้ ค่าครองชีพ และราคาสินค้าในปัจจุบัน มีผลต่อการตัดสินใจใช้จ่ายอย่างไร ส่วนใหญ่ร้อยละ 71.1 ระบุว่าใช้จ่ายอย่างระวัง ซื้อแต่ของจำเป็น ขณะที่ร้อยละ 20.9 ใช้จ่ายเหมือนเดิม ที่เหลือร้อยละ 7.8 ไม่ค่อยใช้จ่าย เน้นเก็บออม

เมื่อกรุงเทพโพลล์ถามว่า "ราคาน้ำมันที่ลดลง ทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในภาพรวมถูกลงหรือไม่" ส่วนใหญ่ร้อยละ 74.0 บอกว่า ราคาเท่าเดิม ขณะที่ร้อยละ15.0 บอกว่าแพงขึ้น

ถามอีกว่าอยากให้รัฐบาลดูแลสินค้าอะไรมากที่สุด คำตอบคือ ของสด หมู เห็ด เป็ด ไก่ (ร้อยละ 36.3) รองลงมาคือ ของใช้ สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก (ร้อยละ 23.9) และอาหารตามสั่ง (ร้อยละ 19.5)

รากหญ้าคือเรื่องที่ภาครัฐรอช้าไม่ได้

ต้องเร่งแก้ไขโดยเร่งด่วน

มองบริบทของรัฐบาลในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นการใส่เงินอีกก้อนใหญ่ โดยมีเป้าหมายต้องการให้เงินไปถึงชาวไร่ชาวนา การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปเร่งรัดการทำงานถึงกระทรวงเกษตรฯ ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรด้วยตัวเอง

เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลมีเป้าหมายต้องการแก้ไขเรื่องปากท้องรากหญ้า ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสินค้าเกษตรตกต่ำ

เช่นเดียวกับที่มองว่าปากท้องกับการเมืองคือเรื่องเดียวกัน

หนึ่งในทีมที่ปรึกษารัฐบาลยอมรับที่ผ่านมารัฐบาลขาดยุทธศาสตร์ทำงาน ทำให้การจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังมีปัญหา เช่นเดียวกับปัญหาเกียร์ว่างของข้าราชการบางส่วนที่เกิดขึ้น ทำให้งานต่าง ๆ ไม่บังเกิดผลเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร

นายกรัฐมนตรีรู้ด้วยว่าหากแก้เรื่องปากท้องรากหญ้าไม่ได้ จะกลายเป็นกระแสทางการเมืองในท้ายที่สุด


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปากท้องรากหญ้า

view