สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

น้ำไหลเปลี่ยนใจปลา เงินตราและเวลาเปลี่ยนใจคน (1)

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ Thai Startup Cafe
โดย พงศ์พีระ ชวาลาธวัช www.facebook.com/thaistartupcafe


จากตอนที่แล้วเราได้ทำการบ้าน 6 ชิ้น ก่อนจะไปหานักลงทุน ตอนนี้เรามาคุยกันเรื่อง แหล่งเงินทุน กันจ้า ขอย้ำว่าคนที่ไม่เคยอ่านตอนก่อน ๆ ขอให้กลับไปอ่านตอนก่อนหน้าที่ เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (prachachat.net) หรือจากเพจของผมก่อนครับ

แหล่งเงินในที่นี้หมายถึง Startup นะครับ ไม่ใช่บริษัทระดับองค์กร ซึ่งสามารถระดมทุนได้ 2 แหล่งใหญ่ คือ โลกแห่งความจริง และ โลกเสมือน ในตอนที่ 1 นี้เรามาเริ่มต้นการระดมทุนจากแหล่งเงินของ โลกแห่งความจริง กันก่อน

1.Bootstrap หรือใช้เงินตัวเองในการเริ่มต้นธุรกิจ ซึ่งน่าจะเป็นวิธีดั้งเดิมและเรียบง่ายที่สุด วิธีนี้มีข้อดีเยอะมาก เช่น ถ้านักลงทุนมาเห็นว่าธุรกิจของเราเริ่มจากการลงทุนของเราเอง และสามารถเดินไปต่อได้ สร้างกำไรได้ ยิ่งจะทำให้ผู้ลงทุนสนใจอยากลงทุนมากเป็นพิเศษ เพราะตัวผู้ก่อตั้งได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีความจริงจังในตัวธุรกิจจริง และมีความเชื่อมั่นในธุรกิจมากพอที่จะลงเงินตัวเองไปก่อนลดความเสี่ยงให้แก่นักลงทุน

อีกหนึ่งเหตุผลที่เป็นเรื่องดี คือ Startup ถ้าใช้เงินผู้ก่อตั้งเองและสามารถทำกำไรได้จริง ก็แทบไม่ต้องไประดมทุนอีก สู้เก็บแรงและเวลาไปพัฒนาธุรกิจและเก็บกำไรเอาไว้เองดีกว่า

เชื่อหรือไม่ว่าธุรกิจที่ลงทุนเองแล้วสามารถดำเนินธุรกิจได้เองนั้น มักจะเป็นเป้าหมายของนักลงทุนอันดับต้น ๆ 2.เพื่อนและครอบครัว น่าจะเป็นแหล่งที่ใครหลาย ๆ คนเริ่มระดมทุนเลยทีเดียว ตัวผู้เขียนเองก็ผ่านมาแล้วทั้งเงินตัวเองและเงินครอบครัว สามารถพูดได้เต็มปากว่าเป็นการระดมทุนที่ง่าย แต่เวลาใช้คืนไม่หมดสักทีครับ จนอยากใช้คำว่า ทดแทนบุญคุณ กันเลยทีเดียว

3.กู้ธนาคาร เป็นอีกวิธีในการระดมทุนครับ อย่าคิดว่าถ้ากู้ธนาคารแล้วเราจะไม่ใช่ Startup ตัว "คุณต๊อบ" สาหร่ายเถ้าแก่น้อยเองก็กู้เงินธนาคารในตอนเริ่มกิจการเหมือนกัน ทราบหรือไม่ว่าการที่เราระดมทุนจากผู้ลงทุนบางรายนั้นก็ไม่ต่างจากกู้ธนาคาร เพียงแต่เราเอาหุ้นบริษัทไปให้ผู้ลงทุนทันที แถมยังต้องคืนเงินเขาตลอดอีกด้วย ถ้าเงื่อนไขมากกว่านี้บางทีกู้ธนาคารอาจเป็นทางออกที่สบายใจกว่า เผลอ ๆ จะทำให้ธุรกิจโตได้แบบไม่ต้องให้หุ้นบริษัทกับใคร

4.สายสัมพันธ์ส่วนตัว ซึ่งในกรณีนี้ไม่ได้นับ "เพื่อน" เข้ามารวมด้วยครับ กลุ่มบุคคลพวกนี้ได้แก่ เพื่อนของคนในครอบครัว หรือคนที่รู้จักกันอีกที กลุ่มคนพวกนี้มีระดับการระดมทุนในระดับง่ายถึงปานกลาง เนื่องจากไม่รู้จักเราดีมาก แต่เชื่อเราพอประมาณจากการแนะนำต่อ

5.สายสัมพันธ์ทางธุรกิจ ในกรณีนี้หมายถึงบริษัทที่ทำงานกับเราอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าลูกค้ากันก็ตาม เช่น ถ้าบริษัทของเราทำ Application สำหรับการรีวิวการท่องเที่ยวแล้วมีโฆษณาจากบริษัทนำเที่ยว วันดีคืนดีคุณอาจลองไปคุยเพื่อขอระดมทุนจากบริษัทนำเที่ยว ซึ่งถ้าบริษัทนำเที่ยวเห็นว่า Application ของคุณช่วยธุรกิจของเขาได้จริง ก็มีความเป็นไปได้สูงที่เขาอยากลงทุนด้วย ความยากในการระดมทุนอยู่ในระดับปานกลาง เนื่องจากถ้าความสามารถของธุรกิจคุณไม่ดีพอที่จะแสดงให้คู่ค้าเห็นความสามารถก็แทบจะเลิกคิดได้เลยครับ

6.InvestmentBrokerหรือตัวกลางในการหาผู้ลงทุนเพื่อนำมาลงทุนกับบริษัทของคุณ โดยมีเงื่อนไขค่า Commission แล้วแต่จะตกลงกับทางตัวแทนผู้หาเงินลงทุน ระดับความง่ายของการระดมทุนค่อนข้างง่ายถึงปานกลาง เนื่องจากทางผู้แทนจะรู้จักนักลงทุนอิสระที่มีความต้องการจะลงทุนเฉพาะด้านอยู่แล้ว ทำให้ตัวผู้แทนสามารถเลือกผู้ลงทุนที่มีความสนใจมาพูดคุยได้ทันที โดยที่ทาง Startup ไม่ต้องเสียเวลาในการหาผู้ลงทุนเท่าไหร่นัก ซึ่งในเมืองไทยบริษัทที่ทำทางด้านนี้ เช่น บจ. IPFUND www.ipfundasia.com เป็นต้น

7.Angel Investor คือนักลงทุนอิสระที่มีเงินและมองหาลู่ทางที่จะกระจายความเสี่ยงพอร์ตการลงทุน ซึ่งธุรกิจ Startup นั้นก็เป็นอีกพอร์ตหนึ่งที่มีความเสี่ยงและผลตอบแทนที่สูงมาก เหมาะกับการที่นักลงทุนจะศึกษาและลงทุนในอัตราประมาณ 25% ของพอร์ตทั้งหมดสำหรับนักลงทุนรายย่อย (วงเงินประมาณ 1-10 ล้านบาท) และสำหรับนักลงทุนที่มีวงเงิน 25% เกิน 10 ล้านขึ้นไปอาจจะสามารถเพิ่มอัตราส่วนของพอร์ต Startup ได้ตามต้นทุนและประสิทธิภาพของพอร์ตเดิมที่มีอยู่

จากประสบการณ์ ผู้เขียนมักจะเจอผู้ลงทุนอิสระโดยบังเอิญ จากการเล่าเรื่อง Startup และ Pitch สั้น ๆ เพียงแต่ถ้าเป็นนักลงทุนอิสระรายย่อยอายุไปทางอาวุโส อาจมีแนวโน้มที่จะรับคอนเซ็ปต์ของ Startup ได้ยากหน่อย เนื่องจากยังดูเลื่อนลอยเกินไป เพราะถ้า Startup ล้มก็คือเงินแทบจะสูญตามไปด้วย เพราะฉะนั้น แทบจะไม่แบ่งพอร์ตมากลุ่ม Startup เท่าไหร่นัก ต่างกับนักลงทุนอิสระรุ่นใหม่ที่พร้อมจะรับความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง

ในเมืองไทยมีกลุ่ม Angel Investor กลุ่มหนึ่งได้รวมตัวกันในนาม Angel Club กับทาง ก.ล.ต. ซึ่งทางผู้เขียนเองได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ พอจะเล่าได้ว่าในอนาคตกลุ่มนี้น่าจะมีบทบาทช่วยขับเคลื่อน Startup เป็นอย่างดี ทางกลุ่มเองดูมีความต้องการ Startup ที่มีความสามารถในการหาเงินได้จริง รวมไปถึง Application ที่มี Traction (ผลตอบรับ) ที่สามารถวัดได้ชัดเจน ไม่ใช่ Startup ที่อยู่ในระดับไอเดียพื้นฐาน

8.Incubator หรือ Accelerator คือองค์กรที่เข้ามาช่วยพัฒนา Startup ที่ได้ผ่านการกรองมาระดับหนึ่งแล้วว่าตัวธุรกิจและผู้ก่อตั้งมีอนาคต สามารถพัฒนาเพิ่มมูลค่าและความสามารถได้ ทั้งนี้ ยังให้ Seed Fund (เงินทุนสำหรับการเริ่มธุรกิจ) ในจำนวน 3 แสนถึง 3 ล้านบาท พร้อมทั้ง Connection กับทางคู่ค้าในอนาคตอีกด้วย เหมาะสำหรับ Startup ในระดับไอเดียพื้นฐานไปจนถึงระดับเริ่มต้นธุรกิจมาแล้ว 1-2 ปี

ในเมืองไทยองค์กรที่ทำทางด้านนี้ ได้แก่ www.intouchcompany.com/invent/ ของ AIS ซึ่งเป็นทั้ง Incubator และ Venture Capital ในองค์กรเดียว Dtac เองก็มี Dtac Accelerate Program เหมือนกัน ทางทรูก็มีทรู อินคิวบ์ incube.truecorp.co.th และ บจ. IP Incubator (www.ipfundasia.com) ที่โฟกัสในเรื่องการพัฒนา Startup ที่มีเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยีเชิงลึกเข้ามาเกี่ยวข้อง

แหล่งเงินทุนยังไม่จบง่าย ๆ ผู้เขียนเองพอมานั่งเขียน กลุ่มผู้พร้อมจะลงทุนก็ตกใจเหมือนกันว่า ประเทศไทยเองก็มีกลุ่มที่พร้อมจะลงทุนมากเหมือนกัน แต่กลับมีคนบ่นว่าเมืองไทยหาเงินลงทุนยาก ความเห็นส่วนตัวผมว่าหาเงินลงทุนยากคือเรื่องหนึ่ง แต่การหาธุรกิจที่ดีที่นักลงทุนจะลงทุนสักธุรกิจนี่ มันยากยิ่งกว่าเสียอีก

คุณผู้อ่านครับ คุณเป็นคนหนึ่งที่มี Startup ที่ดีหรือเปล่า ?


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : น้ำไหล เปลี่ยนใจปลา เงินตรา เวลาเปลี่ยนใจคน (1)

view