สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จาก เวนิสน้อยถึง เวนิสตะวันออก

จาก เวนิสน้อยถึง เวนิสตะวันออก

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ในช่วงนี้ มีข่าวใหญ่หลายเรื่องซึ่งคงกลบเรื่องราวน่าสนใจที่เกิดขึ้นในเวเนซุเอลาเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว

นั่นคือ รัฐบาลจับกุมกลุ่มพ่อค้าในข้อหาจงใจทำให้ลูกค้าต้องต่อแถวรอซื้อสินค้าเป็นเวลานาน รัฐบาลอ้างว่า พ่อค้ารวมหัวกับฝ่ายค้านสร้างสถานการณ์เพื่อหวังให้ประชาชนเกลียดชังรัฐบาลโดยการลดจำนวนช่องจ่ายเงินในร้านค้า พ่อค้าแย้งว่า ปัญหาอยู่ที่สินค้าขาดตลาดเพราะไม่สามารถนำเข้าได้ในภาวะที่ไม่ค่อยมีเงินตราเนื่องจากราคาน้ำมันตกต่ำและเศรษฐกิจถดถอย หลังจากนั้นเพียงข้ามวัน รัฐบาลอเมริกันกดดันรัฐบาลเวเนซุเอลาเพิ่มขึ้นด้วยการประกาศงดออกวีซ่าให้ชาวเวเนซุเอลาที่อเมริกาสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับความฉ้อฉลและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง สองเรื่องนี้จะมีความเกี่ยวเนื่องกันหรือไม่อย่างไรไม่เป็นที่ประจักษ์ แต่ปัญหาของเวเนซุเอลาและการเป็นไม้เบื่อไม้เมากับอเมริกามีมานาน เหตุการณ์ทั้งสองจึงอาจมองได้ว่าเป็นอาการต่อเนื่องของโรคเรื้อรัง

เวเนซุเอลาซึ่งแปลว่า “เวนิสน้อย” เนื่องจากย่านที่ฝรั่งไปพบครั้งแรกมีบ้านเรือนของชาวพื้นเมืองสร้างไว้กระจัดกระจายอยู่ตามริมน้ำคล้ายเมืองเวนิสไม่น่าจะมีปัญหาสาหัสเนื่องจากเพียบพร้อมด้วยทรัพยากรสารพัดอย่างรวมทั้งน้ำมันปิโตรเลียมปริมาณมหาศาล แต่น้ำมันดูจะเป็นตัวสร้างปัญหามากกว่าจะเป็นพรสวรรค์จนปราชญ์ชาวเวเนซุเอลาคนหนึ่งถึงกับเรียกมันว่า “อุจจาระของปีศาจ” (Devil’s Excrement) ไม่เฉพาะน้ำมันเท่านั้นที่มักสร้างปัญหา ทรัพยากรอย่างอื่นก็เช่นกัน ฝรั่งเรียกการเชื่อมโยงกันนั้นว่าเป็น “คำสาปของทรัพยากร” (Resource Curse) เวเนซุเอลามีทรัพยากรมากมาย คำสาปจึงร้ายแรงมาก (ที่มาของปัญหาของเวเนซุเอลาและของประเทศที่มีน้ำมันปริมาณมหาศาลหาอ่านได้ในหนังสือชื่อ “เล่าเรื่องเมืองน้ำมัน” ซึ่งดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com)

โดยสรุป ชนชั้นผู้นำและผู้กำนโยบายผลาญรายได้จากการขายน้ำมันทุกวิถีทางรวมทั้งนโยบายประชานิยมแบบเลวร้าย การไม่ควบคุมการใช้จ่ายของรัฐบาล การปล่อยให้รัฐวิสาหกิจเป็นอิสระจนจะใช้จ่ายอย่างไรก็ได้ และการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่โดยไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ นอกจากนั้น ทุกชนชั้นของชาวเวเนซุเอลายังผลาญน้ำมันกันอย่างสนุกมืออีกด้วย ทั้งนี้เพราะน้ำมันในเวเนซุเอลาราคาถูกยิ่งกว่าน้ำเปล่า ดังที่คอลัมน์นี้พูดถึงเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2557 ชาวเวเนซุเอลาซื้อหาน้ำมันชั้นดีได้ในราคาลิตรละ 35 สตางค์ตามอัตราแลกเปลี่ยนของรัฐบาล แต่ถ้าคิดราคาตามอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดมืดจะเป็นลิตรละราว 3 สตางค์ ราคาต่ำขนาดนี้ไม่มีที่ไหนในโลกแม้แต่ในซาอุดีอาระเบียซึ่งตอนนี้ผลิตน้ำมันได้มากกว่าเวเนซุเอลาและสะสมเงินจากการขายน้ำมันที่เหลือใช้ไว้ได้ถึงใกล้ 8 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนเวเนซุเอลานอกจากจะไม่มีเงินสะสมเช่นนั้นแล้ว ยังเคยล้มละลายจนต้องไปขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

เป็นที่ทราบกันดี ไอเอ็มเอฟมีเงื่อนไขเมื่อให้ใครยืมเงินโดยเฉพาะในด้านการกดดันรัฐบาลและประชาชนให้รัดเข็มขัดโดยตัดการใช้จ่ายลง มาตรการของไอเอ็มเอฟอยู่ในกรอบแนวคิดที่มักเรียกกันว่า “ฉันทามติแห่งวอชิงตัน” อันมีอเมริกาเป็นหัวเรือใหญ่ที่ชักใยอยู่เบื้องหลัง เนื่องจากเรื่องนี้เป็นที่รู้กันโดยทั่วไป ฉะนั้น รัฐบาลและประชาชนที่ต้องรัดเข็มขัดมักโทษไอเอ็มเอฟและอเมริกา ทั้งที่ต้นตอของปัญหาคือตนเอง เรื่องนี้จึงเป็นหนึ่งในประเด็นที่ทำให้เวเนซุเอลาเป็นไม้เบื่อไม้เมากับอเมริกามานาน

อาจเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า เวเนซุเอลาเป็นหนึ่งในหลายประเทศละตินอเมริกาที่มีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจเรื้อรัง แต่นักการเมืองในประเทศเหล่านั้นมักไม่มองว่านโยบายของตนเป็นต้นตอของปัญหา หากเลือกมองว่าอเมริกาคือต้นเหตุ หลายประเทศจึงมักสนับสนุนคิวบาให้ยืนหยัดต่อสู้กับอเมริการวมทั้งเวเนซุเอลาด้วย (ตอนนี้คิวบากับอเมริกากำลังจะคืนดีกัน ประเทศที่สนับสนุนการต่อต้านอเมริกาจะทำอย่างไรต่อไปยังไม่เป็นที่ประจักษ์) ท่ามกลางการโยนความผิดทุกอย่างให้อเมริกานี้ มีนักคิดกลุ่มหนึ่งซึ่งเสนอว่า ชาวละตินอเมริกันควรส่องกระจกชะโงกดูเงาตัวเองมากกว่าจะไปกล่าวโทษอเมริกาว่าเป็นต้นตอของปัญหาของตน คนกลุ่มนี้ได้เขียนหนังสือออกมาเล่มหนึ่งซึ่งมีชื่อเรื่องในฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Guide to the Perfect Latin American Idiot หรือ “แนะนำชาวละตินอเมริกันไร้ปัญญา” (หนังสือเล่มนี้มีบทคัดย่ออยู่ในเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนาเช่นกัน)

เมืองไทยคล้ายเวเนซุเอลาในด้านการมีทรัพยากรสำหรับด้านการเกษตร แต่มีน้ำมันน้อยกว่ามากหากดูตามข้อมูลของทางการ แต่เรื่องนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างเข้มข้นเพราะบางคนเชื่อว่าเมืองไทยมีน้ำมันปริมาณมหาศาล จะมีน้ำมันเท่าไรคงไม่สำคัญนักเพราะหากน้ำมันนำไปสู่การดำเนินนโยบายในแนวของเวเนซุเอลา ยิ่งพัฒนาก็จะยิ่งยากจน กรุงเทพฯ ถูกมองว่าเป็นเสมือนเวนิสตะวันออก แต่ ณ วันนี้ ยังไม่มีใครพูดถึงเรื่องการเกษตรของเวเนซุเอลากับของไทย

ประเด็นน่าสนใจในเรื่องนี้อยู่ที่ชาวไทยมักยังไม่ทิ้งถิ่นฐานบ้านเดิมที่เคยทำเกษตรกรรมเป็นหลักหลังจากอพยพเข้าไปทำมาหากินในเมือง เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ชาวเมืองส่วนหนึ่งจึงกลับไปอยู่บ้านเดิมได้ชั่วคราว ส่วนชาวเวเนซุเอลาที่อพยพเข้าไปหากินในเมืองมักตัดขาดถิ่นฐานในชนบท พวกเขาจึงอดอยากเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เรื่องนี้น่าจะชี้ให้เห็นความสำคัญของการส่งเสริมการคงไว้ของความโยงใยอย่างใกล้ชิดระหว่างชุมชนเมืองกับชนบท ส่วนจะทำอย่างไร ขอฝากไว้เป็นการบ้านเพื่อนำมาระดมสมองกันในโอกาสหน้า


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เวนิสน้อย เวนิสตะวันออก

view