สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เศรษฐกิจไทย-โอกาสท่ามกลางความท้าทาย โดย...ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

เศรษฐกิจไทย-โอกาสท่ามกลางความท้าทาย

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

อัตราการขยายตัวเฉลี่ยของเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอลงอย่างต่อเนื่อง เป็นประเด็นท้าทายที่น่าเป็นห่วง จากเดิมก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจไทยเคยโตเฉลี่ยร้อยละ 7-8 เริ่มชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 4-5 และล่าสุด หลังวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลก ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 2-3 อาจพูดได้ว่าศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (Potential growth) ลดลงเรื่อยๆ การเพิ่มสัดส่วนการลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะเป็นแม่แรงสำคัญในการยกระดับ Potential growth ของไทย

แต่น่ากังวลใจว่า การลงทุนของไทยที่ผ่านมายังไม่ฟื้นตัว ส่วนหนึ่งจากความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทย ในขณะเดียวกันภูมิคุ้มกันของระบบเศรษฐกิจแม้จะยังดีอยู่ ก็เริ่มมีความเปราะบางในบางด้าน โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้นการให้ความสำคัญกับการปรับตัวของโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ การปฏิรูประบบสถาบันภาครัฐ และการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน จึงจำเป็นอย่างมากที่จะช่วยให้ประเทศกลับมาเติบโตอย่างยั่งยืนและทั่วถึง

เข้าโค้งเปลี่ยนผ่านโอกาสท่ามกลางความท้าทาย

ในระยะกลางถึงยาวนั้น ประเทศไทยจะกลับมาเติบโตในระดับที่แข่งขันกับประเทศอื่นได้ จำเป็นต้องปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องของการปรับตัวด้านปัจจัยการผลิตต่างๆ ได้แก่ แรงงาน ทรัพยากร หรือทุน หรือที่เรียกกันว่า ด้านอุปทาน (Supply side)

ทั้งนี้ หากมองไปในอนาคตข้อจำกัดทางด้านอุปทาน (Supply constraints) จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านประชากร ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมวัยชราอย่างรวดเร็ว โดยได้เริ่มผ่านจุดที่ประชากรวัยแรงงานมีจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ก่อนที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกำลังจะมีขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 ธ.ค. 2558 นอกจากนี้อีกเพียงประมาณ 10 ปี นับจากการเปิดการค้าเสรีในอาเซียน ประชากรของไทยจะเริ่มลดลงเป็นประเทศแรกในกลุ่มอาเซียน ทางด้านทรัพยากร โดยเฉพาะแหล่งพลังงาน ประเทศไทยมีค่อนข้างจำกัด ยิ่งเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน จะเห็นว่าประเทศไทยมีแหล่งพลังงานที่น้อยกว่ามาก ในขณะที่ด้านการสะสมทุนของประเทศก็ยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งรวมถึงองค์ความรู้ เทคโนโลยีต่างๆ ของไทย ที่จะช่วยยกระดับผลิตภาพของการผลิต (Productivity) ก็ไม่มีการพัฒนาเท่าที่ควร

ดังนั้น การที่ประเทศไทยจะใช้ประโยชน์จากต้นทุนแรงงานราคาถูก ทรัพยากรและปัจจัยทุนเดิมๆ เพื่อขยายตัวอย่างในอดีตที่ผ่านมาคงจะเป็นไปไม่ได้แล้ว หากไทยยังจะใช้แนวทางการพัฒนารูปแบบเดิมๆ คงจะเห็น GDP ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3 ไปอีกใน 10 ปีข้างหน้า เทียบกับประเทศในภูมิภาคแล้ว เรียกได้ว่า ไทยจะโตแบบตกรถไฟ ขณะเดียวกันหากพิจารณาไปพร้อมกับการที่ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอีกไม่นาน อาจพูดง่ายๆ ได้ว่า เป็นประเทศที่จะแก่ก่อนรวย เพราะยังไม่ทันที่ไทยจะก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง ก็กลายเป็นประเทศที่ประชากรเข้าสู่สังคมวัยชราแล้ว รวมทั้งยังไม่ได้เตรียมการออมเพื่อชราภาพที่เพียงพอและทั่วถึงอย่างเป็นระบบ ซึ่งต่อไปจะทำให้เกิดปัญหาจนตอนแก่อีกด้วย

อย่างไรก็ดี หากประเทศไทยปรับกลยุทธ์การพัฒนาให้เหมาะสม ภายใต้ข้อจำกัดเหล่านี้ โดยการปฏิรูปและปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจให้อิงการเติบโตที่มาจากการเพิ่ม Productivity ควบคู่กับการพัฒนาอย่างทั่วถึง GDP อาจสามารถกลับมาโตได้เฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี ในอีก 10 ปีข้างหน้า

จะฉวยโอกาสท่ามกลางความท้าทายได้อย่างไร

เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเติบโตในอัตราดังกล่าวได้จริง ต้องเริ่มทำการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญตั้งแต่วันนี้ โดยภาคเอกชนซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของระบบเศรษฐกิจ ต้องปรับตัวภายใต้ข้อจำกัดด้านแรงงานและทรัพยากรอื่นๆ ด้วยการขยายการผลิตและตลาดไปต่างประเทศ การเพิ่มผลผลิตที่มีมูลค่าเพิ่ม ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศอย่างมีกลยุทธ์ รวมไปถึงการเติบโตอย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ ประเทศไทยควรฉวยโอกาสแรงหนุนจากกระแสแนวโน้มเศรษฐกิจและสังคมโลก (Mega trends) ที่จะช่วยให้เกิดการปรับตัวเชิงโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ ดังกล่าวใน 3 ด้านสำคัญ

แรงหนุนด้านแรก คือ ใช้โอกาสจากการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ (Connectivity) จากการรวมตัวกันของกลุ่มประเทศอาเซียน หรือ AEC ให้สูงที่สุด ทั้งการเพิ่มการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยในปัจจุบันการค้าการลงทุนระหว่างกันในภูมิภาค (AEC intra-regional trade) มีสัดส่วนค่อนข้างต่ำ เทียบกับกลุ่มประเทศอื่น เช่น NAFTA หรือ European Union นอกจากนี้ควรเร่งเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานระหว่างกันเพื่อเตรียมความพร้อมเป็นฐานการผลิตที่เสริมกันเป็นห่วงโซ่การผลิต (Supply chain) และยังเป็นโอกาสในการขยายตลาดไปสู่ AEC และภูมิภาคเอเชีย ซึ่งผู้บริโภคกำลังมีระดับรายได้สูงขึ้น

แรงหนุนด้านที่สอง คือ การใช้โอกาสจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (New Technology) อาทิ การสื่อสารและการทำธุรกรรมใหม่ๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต และระบบออโตเมชั่น ซึ่งไทยสามารถใช้โอกาสจากเทคโนโลยีเหล่านี้สนับสนุนการปรับตัวของภาคการผลิตและบริการ เพื่อลดการพึ่งพาแรงงาน ลดต้นทุน ยกระดับมูลค่าเพิ่มของผลผลิต ขยายตลาดและการให้บริการที่ทั่วถึง รวมถึงเร่งผลักดันระบบเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งต้องลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนามากกว่านี้ เพราะจะเป็นปัจจัยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไทยที่สำคัญ

แรงหนุนด้านที่สาม คือ การใช้โอกาสจากการพัฒนาเข้าสู่สังคมเมือง (Urbanization) ซึ่งจะมาพร้อมกับการสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ อาทิ การคมนาคม โทรคมนาคม โดยถือเป็นการลงทุนที่คุ้มต่อขนาดจากตัวเมืองที่จะใหญ่ขึ้น การลงทุนจำนวนสูงดังกล่าวจะเป็นโอกาสที่ภาครัฐจะเป็นแรงขับเคลื่อนการลงทุนที่สำคัญ โดยภาคเอกชนสามารถเร่งลงทุนตามกันไปได้ ทั้งนี้หากต้องการให้ประเทศขยายตัวได้เฉลี่ยร้อยละ 5 สัดส่วนการลงทุนต่อ GDP ต้องเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 28-30

ดังนั้น ภาคธุรกิจของไทยต้องฉวยโอกาสจากแรงสนับสนุนที่มาพร้อมกับ Megatrends ทั้ง 3 ด้าน เพื่อให้เกิดการปรับตัวภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ รวมถึงการยกระดับศักยภาพของตนเองและของประเทศโดยรวม

ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องอาศัยระบบสถาบันภาครัฐที่เข้มแข็ง (Strong institutions) ช่วยกำหนดกฎกติกาต่างๆ ร่วมด้วย อาทิ กระบวนการทางกฎหมาย การบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งจะช่วยสร้างขอบเขตและแรงจูงใจที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับภาคส่วนต่างๆ ในสังคมและเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ระบบสถาบันภาครัฐของไทย ยังไม่ได้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว และกลับบิดเบือนให้เกิดการใช้ทรัพยากรผิดที่ผิดทางด้วยในบางครั้ง ซึ่งเกิดจากแรงต้านหลักๆ 3 ด้าน ได้แก่

แรงต้านที่หนึ่ง คอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการยกระดับศักยภาพประเทศเป็นอย่างมาก ส่งผลให้โครงการหลายๆ โครงการของภาครัฐล่าช้า หรือหยุดลงกลางคัน เป็นภาระความเสียหายต่อประเทศชาติ เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว ภาครัฐควรกำหนดบทบาทและกติกาให้ชัดเจน ซึ่งหมายถึงการมีผู้รับผิดชอบ (Accountability) มีเป้าที่ชัดเจนและวัดได้จริง ลดการใช้ดุลยพินิจ และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องเพิ่มความโปร่งใสและเปิดเผยข้อมูล ตัวอย่างที่ดีที่ภาครัฐกำลังเริ่มนำมาใช้คือ สัญญาคุณธรรม (Integrity pact) ซึ่งเป็นกลไกป้องกันคอร์รัปชั่น ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของภาคคอร์รัปชั่น โดยมีการเปิดเผยข้อมูลในทุกขั้นตอนของโครงการ และเปิดให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการตรวจสอบโครงการ เพื่อสร้างความโปร่งใสและปิดช่องโหว่การทุจริต แต่จะสัมฤทธิผลได้ ต้องอาศัยทุกฝ่ายในการร่วมมือ

แรงต้านที่สอง ข้อจำกัดของระบบบริหารจัดการภาครัฐ โดยบทเรียนที่เห็นได้ชัด คือ รัฐวิสาหกิจที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นตามลำดับในระบบเศรษฐกิจไทย หากการให้บริการพื้นฐานที่สำคัญขาดคุณภาพ ประสิทธิภาพต่ำ ต้นทุนสูง ย่อมเป็นตัวถ่วงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวมไปด้วย ดังนั้นการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้สัมฤทธิผล วางโครงสร้าง กลไก และกติกาที่เหมาะสม เพื่อให้รัฐวิสาหกิจมีความเข้มแข็ง ทำในสิ่งที่ควรทำ ทำอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ และทำอย่างโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล จึงเป็นสิ่งจำเป็น

แรงต้านที่สาม การบิดเบือนกลไกตลาดที่ก่อให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรผิดที่ ผิดทาง ซึ่งอาจเกิดจากภาครัฐอุดหนุนราคาโดยไม่เหมาะสม หรือกำหนดกฎเกณฑ์ที่จำกัดการแข่งขัน เช่น ก่อให้เกิดความได้เปรียบ เสียเปรียบระหว่างกิจการของรัฐและของเอกชน หรือจำกัดการมีส่วนร่วมจากต่างประเทศในบางกิจการ ทั้งนี้การแข่งขันเป็นกลไกสำคัญให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงต้องอาศัยภาครัฐเพิ่มบทบาทกำกับดูแลนโยบายที่ส่งเสริมผลิตภาพมากขึ้น และหากจำเป็นต้องแทรกแซงกลไกตลาด ก็ควรมีกลไกบริหารจัดการที่รัดกุมและโปร่งใส เลี่ยงการอุดหนุนราคาในลักษณะที่บิดเบือนตลาดสูง มีภาระการคลังสูงและใช้งบต่อหัวสูง

นอกจากนี้ เพื่อให้การเติบโตแบบไม่สะดุด จำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะการป้องกันการก่อหนี้เกินตัว ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน โดยวางกรอบวินัยทางการเงินการคลัง เพื่อดำเนินนโยบายแบบมีความรับผิดชอบ และไม่ก่อหนี้เกินตัว พร้อมกับการปฏิรูประบบประกันสังคมให้ยั่งยืน และผลักดันการออมชราภาพของแรงงานนอกระบบอย่างจริงจัง

ท้ายสุดนี้ ช่วงเวลานี้เป็นโค้งสำคัญของประเทศไทย เราสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยภาคธุรกิจต้องรีบปรับตัวให้สอดคล้องกับกระแส Megatrends ที่จะนำไปสู่การปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ภาครัฐก็ต้องทำหน้าที่สนับสนุนและเอื้อให้เกิดการปรับตัวดังกล่าว โดยปฏิรูประบบสถาบันภาครัฐให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อลดข้อจำกัดและแรงต้านต่างๆ และทุกภาคส่วนต้องร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันให้เข้มแข็ง รองรับแรงเสียดทานได้ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ ยั่งยืน และทั่วถึง


ย้ำหน้าที่ธปท.รักษาเสถียรภาพศก.อย่างดีที่สุด

"ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" ผู้ว่าฯธปท. ย้ำหน้าที่แบงค์ชาติรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจอย่างดีที่สุด

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดมุมมอง "แนวโน้มเศรษฐกิจและงานในภารกิจ ธปท. ปี 2558" วานนี้ (5 ก.พ.) โดยมีรายละเอียดดังนี้

โดย นายประสาร ได้เปิดมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในปีนี้ รวมถึงภารกิจในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงินของ ธปท. ในระยะต่อไป และสรุปประเด็นความท้าทายที่สำคัญของปีแพะ 2558 นี้

สำหรับ แนวโน้มเศรษฐกิจปีนี้ และภารกิจของ ธปท. นั้น ประกอบด้วย 1. แนวโน้มเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย และแนวนโยบายของ ธปท. โดยเศรษฐกิจโลกปีนี้ ภาพรวมยังมีทิศทางขยายตัว โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดเศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัว 3.5% เพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยจากปีที่แล้วที่ 3.3%

"เศรษฐกิจโลกปีนี้จะถูกขับเคลื่อนโดยเครื่องยนต์ 3 ตัว ทว่าเครื่องยนต์แต่ละตัวทำงานได้ไม่เท่ากัน เครื่องยนต์ตัวแรกทำงานได้เต็มที่ คือ เศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี สะท้อนจากตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง จึงทำให้หลายฝ่ายคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายภายในครึ่งหลังปีนี้"

สำหรับเครื่องยนต์ตัวที่สองยังมีปัญหา ได้แก่ เศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งมีแนวโน้มอ่อนแอต่อไปในปีนี้ โดยยุโรปยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยด้านการเมืองระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่กรีซ รวมทั้งการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ล่าช้า ธนาคารกลางยุโรปจึงได้ผ่อนคลายนโยบายการเงินตั้งแต่กลางปีที่แล้ว และประกาศมาตรการคิวอีกเพิ่มเติม

ส่วนเครื่องยนต์ตัวที่สามยังพอไปได้ แต่ชะลอความเร็วลง คือ กลุ่ม Emerging Market โดยเศรษฐกิจจีน จะขยายตัวชะลอลงบ้าง เพราะคงเน้นรักษาสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการปฏิรูปเศรษฐกิจ แม้อัตราการขยายตัวน้อยลงไปบ้าง แต่ช่วยลดความเสี่ยงในภาคธนาคารและอสังหาริมทรัพย์

"จากที่กล่าวมา จะเห็นว่า เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวแตกต่างกันและแนวนโยบายการเงินแตกต่างกันมากขึ้น กระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย และตลาดการเงินโลกในปีนี้จึงมีความเสี่ยงที่จะผันผวน"

อีกปัจจัยหนึ่งที่จะมีบทบาทสำคัญในปีนี้ คือ ราคาน้ำมัน ซึ่งมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งจากสหรัฐ ประสบความสำเร็จในการผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน หรือ Shale Oil อุปทานน้ำมันโลกจึงเพิ่มขึ้นมาก ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมันจึงลดลงมาก ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ เพราะกลุ่มประเทศที่นำเข้าน้ำมัน ซึ่งเป็นผู้ได้ประโยชน์ มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันคิดเป็น 3 ใน 4 ของเศรษฐกิจโลก

สำหรับไทย ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมัน 10% ของจีดีพี จะได้รับประโยชน์เช่นกัน ผ่านค่าครองชีพที่ลดลงของภาคครัวเรือน ต้นทุนที่ลดลงของภาคธุรกิจและดุลการค้าที่ดีขึ้น ดังนั้นเศรษฐกิจโลกปีนี้ โดยรวมมีแนวโน้มเติบโตแบบช้าๆ ตลาดการเงินเสี่ยงผันผวน และราคาน้ำมันรวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อยู่ในระดับต่ำอีกระยะหนึ่ง

ส่วนเศรษฐกิจไทยปีนี้ มีแนวโน้มเป็นอย่างไร ผมขอตอบว่า กนง. ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ จะเติบโต 4% จากปีก่อน ซึ่งมีประเด็นที่สำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่

ประเด็นที่ 1. เศรษฐกิจไทยปีนี้ มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีอุปสงค์ในประเทศและภาคท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก การบริโภคภาคเอกชนจะค่อยๆ ฟื้นตัว ตามความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น ราคาน้ำมันที่ลดลง การจ้างงานและรายได้นอกภาคเกษตรที่ค่อยๆ ปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แม้มีปัจจัยถ่วงการบริโภคอยู่บ้าง จากราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำและหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ด้านการลงทุนภาคเอกชนค่อยๆ ฟื้นตัวในสาขาที่เกี่ยวข้องกับอุปสงค์ ภายในประเทศเป็นสำคัญ

ประเด็นที่ 2 การส่งออก คาดว่า จะปรับดีขึ้นจากปีก่อนแต่การเติบโตยังไม่สูงนัก เพราะปัจจัยลบต่อการส่งออกยังมีอยู่จากหลายส่วนทั้งจาก เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ยังไม่เข้มแข็ง มูลค่าการส่งออกหลายรายการลดลงตามราคาน้ำมัน ข้อจำกัดด้านการผลิตสินค้า HI-TECH และการสิ้นสุดสิทธิพิเศษทางภาษี GSP

อย่างไรก็ดี การส่งออกยังพอมีปัจจัยบวกอยู่บ้าง จากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่ดีขึ้น และตลาดกลุ่มประเทศ CLMV ขยายตัวต่อเนื่อง

ประเด็นที่ 3 การใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุน เป็นความหวังที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เราต้องทำความเข้าใจถึงพลวัต (Dynamism) ช่วงที่มีการปฏิรูปประเทศในมิติต่างๆ ด้านหนึ่งภาครัฐพยายามเร่งรัดเบิกจ่าย เพื่อให้มีเม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจ แต่อีกด้านหนึ่ง ภาครัฐพยายามผลักดันการปฏิรูปในหลายมิติ หนึ่งในนั้น คือ การต่อต้านคอร์รัปชัน

ส่วนปีนี้ ธปท. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อภาพรวม ลดลงตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ขณะที่การคาดการณ์เงินเฟ้อมีเสถียรภาพและแรงกดดันด้านอุปสงค์ยังมีไม่มาก ธปท. เริ่มทำนโยบายการเงินแบบใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปี 2543 ซึ่งที่ผ่านมาสามารถรักษาเสถียรภาพด้านราคาได้เป็นอย่างดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยลดลงจาก 4.4% ในช่วงก่อนหน้า เหลือเพียง 2.6% หลังจากใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

ที่สำคัญคือ กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ทุกฝ่าย สร้างความโปร่งใสในการดำเนินนโยบายการเงิน และภาคเอกชน ให้การยอมรับ และเพื่อพัฒนากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อต่อเนื่อง กนง. จึงเปลี่ยนมาใช้เป้าหมายใหม่ที่เป็นสากลมากขึ้นในปีนี้ จากเดิมที่เป็นเงินเฟ้อพื้นฐาน มาเป็นอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ซึ่งสอดคล้องกับความเข้าใจของประชาชนทั่วไป และสะท้อนค่าครองชีพได้ดี ซึ่งช่วยให้ยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อได้ดียิ่งขึ้น

ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยดังกล่าว ธปท. มีความมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่อย่างดีที่สุด เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของคนไทย ดังนั้นแนวนโยบายปีนี้ ธปท. เน้นนโยบายการเงินยังคงผ่อนปรนต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ขณะที่ยังคงสอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินระยะยาว นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน จะดูแลให้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจ มีเสถียรภาพไม่ผันผวนมากเกินไป แต่ไม่ฝืนกลไกตลาด นอกจากนี้ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย ที่อยู่ในระดับสูง เป็นภูมิคุ้มกัน ที่รองรับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายได้ดี

สำหรับด้านนโยบายสถาบันการเงิน จะมุ่งพัฒนาให้มีความมั่นคง และมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และสามารถรองรับความผันผวนได้ โดยปรับกระบวนการตรวจสอบอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น และสอบทานการทดสอบภาวะวิกฤติของธนาคารพาณิชย์ไทย เพื่อประเมินความพอเพียงของฐานะการเงิน

ส่วนประเด็นความท้าทายที่สำคัญนั้น ผมขอให้ความมั่นใจว่า เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว โดยฟื้นตัวไตรมาสต่อไตรมาส เติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งแรกของปี และจะชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี หลังจากการลงทุนของรัฐบาลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งยังไม่เข้มแข็งนักและข้อจำกัดด้านการผลิตของไทย จะทำให้การส่งออกขยายตัวไม่สูงเหมือนในอดีต

ผมขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ภาวะเศรษฐกิจการเงินปีนี้ ยังมีความไม่แน่นอน และเกิดความผันผวนได้ นักธุรกิจ และนักลงทุนไม่ควรประมาท ผมสนับสนุนให้ทุกท่านบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนจากทั้งอัตราแลกเปลี่ยน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และควรเร่งสร้างภูมิคุ้มกันโดยการปรับโครงสร้างทางการเงินให้มีความแข็งแกร่ง มีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนที่ต่ำลง

"บัณฑิต กล่าวว่า เราไม่ควรมองโลกในแง่ดีแต่เพียงอย่างเดียว แต่ควรมองโลกตามความเป็นจริง เพื่อรับมือความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นได้เสมอ และควรมองอนาคตไปข้างหน้าให้ยาวไกล"

ในระยะยาว ผมเห็นว่า มีความท้าทายที่สำคัญอยู่ 3 ประเด็น เรื่องแรก เราควรให้ความสำคัญกับการเติบโตของไทยในระยะกลางและระยะยาวมากขึ้น ปัจจุบันไทยอยู่ในช่วงปฏิรูป ซึ่งจะวางรากฐานของประเทศในอนาคต มาตรการปฏิรูปบางอย่าง จะมีต้นทุนในระยะสั้นเกิดขึ้นบ้าง เช่น การปรับโครงสร้างราคาพลังงาน การปฏิรูปภาษี การตรวจสอบคอร์รัปชัน ซึ่งชะลอการลงทุนภาครัฐไปบ้าง แต่การปฏิรูปเหล่านี้ จะส่งผลดีต่อประเทศในระยะยาว

เรื่องที่สอง สำหรับภาคครัวเรือนในระยะยาว การเพิ่มการออม รองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคตเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะระดับการออมปัจจุบันไม่เพียงพอต่อการจัดสวัสดิการในอนาคต และระดับการออมที่สูงขึ้น จะช่วยให้ครัวเรือนทนทานต่อแรงกระแทกทางเศรษฐกิจได้ดีขึ้นด้วย

เรื่องที่สาม ภาคธุรกิจระยะยาว การเพิ่มผลิตภาพการผลิต เป็นเรื่องสำคัญต่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืนของธุรกิจ ปัจจุบันเป็นโอกาสดีสำหรับการลงทุน เพราะดอกเบี้ยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ และดอกเบี้ยในตลาดตราสารหนี้ต่ำ และต้นทุนการนำเข้าสินค้าทุนจากญี่ปุ่นและยุโรปลดต่ำลงจากผลของค่าเงินอีกด้วยในส่วนของ ธปท. จะทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอย่างดีที่สุด และผลักดันงานพัฒนาเศรษฐกิจการเงินของประเทศเต็มที่ ขอให้ทุกท่านวางใจว่า เราจะยึดมั่นในหลักการ "ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ ติดดิน" พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศในปีนี้ เพื่อให้คนไทยทุกคนได้รับประโยชน์จากการพัฒนาทั่วหน้ากัน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เศรษฐกิจไทย โอกาส ท่ามกลางความท้าทาย ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

view