สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ประสาร ตอบโจทย์ร้อน ค่าบาท-เงินฝืด-ดอกเบี้ยนโยบาย

จากประชาชาติธุรกิจ

เหมือนเป็นธรรมเนียมประจำปีภายในต้นศักราชใหม่ "ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดเซ็กชั่นรวมมิตรบอกเล่าการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทย และภารกิจของ ธปท.ปีใหม่ 2558 โดยในปีนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ก.พ. ณ ห้องวงกลม ชั้น 2 อาคาร 2 ที่เพิ่งผ่านการปรับปรุงให้เอี่ยมอ่องทันสมัยมากขึ้น พร้อมกับประเด็นฮอต ๆ ดังนี้

อย่าฝืนธรรมชาติค่าเงิน

คำถามแรกที่ถูกโยนถึงกัปตันทีมฝั่งผู้ดูแลนโยบายการเงินคือ สถานการณ์ค่าเงินบาทในปัจจุบัน เหมาะสมเพียงพอต่อการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการส่งออกของไทยเพียงใด เมื่อคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กำลังจะขอเข้าพบหารือเรื่องค่าเงินในเช้าวันที่ 11 ก.พ.นี้

"ดร.ประสาร" กล่าวว่า เมื่อดูค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐนับตั้งแต่ต้นปีถึงเช้าวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้น 0.86% ขณะที่ถ้าเทียบกับสิ้นปี 2556 ถึงเช้าวันที่ 4 ก.พ.แข็งค่า 0.74% ดังนั้น ตอนนี้เงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก

อย่างไรก็ตาม หากเทียบเงินบาทกับสกุลเงินบางประเทศ เช่น ยูโรหรือเยน ยอมรับว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมากกว่า เนื่องจากเงินยูโรและเยนอ่อนค่าลงมามากเพราะทั้ง 2 แห่งดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายสุด ๆ ส่วนเงินบาทเทียบกับค่าเงินรูเบิล รัสเซีย หรือดอลลาร์ ออสเตรเลีย ก็แข็งค่ากว่าเพราะ 2 ประเทศนั้นประสบปัญหาพิเศษจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งเป็นรายได้หลัก มีราคาตกต่ำ จึงทำให้ค่าเงินของเขาอ่อน

"ถ้าตั้งโจทย์ว่าอยากให้ค่าเงินอ่อน คำถามคือ จะทำอย่างไร และจะทำอย่างไรให้ยั่งยืนด้วย ถ้าให้ (ธปท.) ไปทำอะไรที่ฝืนธรรมชาติ แล้วคนไม่เชื่อ หรือทำแล้วอาจสูญเปล่า หรือมีผลให้เฉพาะคนเฉพาะกลุ่มได้ประโยชน์ ก็อาจไม่ใช่ทางออกที่ดี เช่น กรณีสวิตเซอร์แลนด์ที่ก่อนหน้านี้พยายามยันให้ฟรังก์สวิสเทียบยูโรอ่อนค่า ถึงที่สุดก็อั้นไม่อยู่จนต้องปลดล็อก แล้วตอนนี้ฟรังก์สวิสก็แข็งค่าขึ้นกว่าก่อนหน้ามาก อันนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งสะท้อนถึงการฝืนธรรมชาติ"

ชี้เงินเฟ้อต่ำ-ย้ำไม่ใช่เงินฝืด

ประเด็นต่อมาคือ ความกังวลจะเกิดภาวะเงินฝืดในระดับโลก เช่น สิงคโปร์ ที่เงินเฟ้อติดลบ แล้วประเทศไทยจะเผชิญปัญหาเดียวกันหรือไม่ "ดร.ประสาร" อธิบายว่า ขณะนี้ ธปท.ใช้กรอบอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคิดเฉลี่ยรายปี และก็เพิ่งผ่านมาเพียง 1 เดือน ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ 0.41% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังเป็นบวกอยู่ที่ 1.64% ขณะที่ภาวะเงินฝืด (Deflation) นั้นคือ คำอธิบายภาวะเศรษฐกิจที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัว อุปสงค์ไม่มี ราคาสินค้าติดลบ ค่าจ้างแรงงานตก เกิดการว่างงาน ซึ่งประเทศไทยรวมถึงหลายประเทศในเวลานี้ไม่ได้เกิดสิ่งดังกล่าว

ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้นในไทยเวลานี้เรียกว่า "ภาวะเงินเฟ้อต่ำ" (Low Inflation) เพราะราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นปัญหาจากฝั่งอุปทานมากกว่า

"ตอนนี้เศรษฐกิจไม่ได้หดตัว แต่ขยายตัวด้วยซ้ำ อย่าง ธปท.คาดจีดีพีปีนี้โต 4% กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ให้ 3.5% ซึ่งนี้เป็น Growth (การเติบโต) ไม่ใช่การหดตัว ขณะเดียวกัน ราคาสินค้าก็ยังเพิ่มขึ้น ซึ่งดูได้จากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ที่ 1% กว่า ๆ ไม่ได้ลดลงเลย ดังนั้น จึงไม่ใช่ภาวะเงินฝืด"

ดอกเบี้ย 2% หนุนจีดีพีโต 4%

ประเด็นสุดท้ายคือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงไว้ที่ระดับ 2% ในปัจจุบันเพียงพอต่อการสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือไม่

"ดร.ประสาร"ในฐานะประธาน กนง.ชี้แจงว่า นโยบายการเงิน (ดอกเบี้ย) ในปัจจุบันเพียงพอสำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ ธปท.ประมาณการว่าจีดีพีจะโต 4% ด้วยแรงหนุนจากการบริโภคในประเทศที่จะเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่ลดลง ทำให้กำลังซื้อดีขึ้นแม้ว่าจะมีสมมุติฐานว่าในครึ่งหลังของปี ราคาน้ำมันดิบโลกจะขึ้นมาอยู่ที่ 60-70 ดอลลาร์/บาร์เรลก็ตาม พร้อมกันนี้ยังคาดว่าจะมีแรงหนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐ การท่องเที่ยวด้วย

ดังนั้น นโยบายการเงินในปัจจุบันนั้นเพียงพอสำหรับการขยายตัวที่ระดับ 4% และหากในระยะข้างหน้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจแตกต่างออกไปจากสมมุติฐานที่คาดกันไว้นี้ นโยบายการเงินก็ยังมี "Spec" (พื้นที่) ที่จะผ่อนคลายได้มากกว่านี้ แต่สิ่งที่คำนึงถึงพร้อม ๆ กับการใช้นโยบายการเงิน คือ การส่งผ่านนโยบายเข้าสู่ระบบจะทำได้อย่างมีประสิทธิผลหรือไม่

เนื่องจากดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% ปัจจุบันก็ถือว่าค่อนข้างต่ำแล้ว และการส่งผ่านนโยบายไปที่ตลาดเครดิตหรือสถาบันการเงินก็ยังมีข้อจำกัดจากความระมัดระวังในการให้สินเชื่อ และระดับหนี้ครัวเรือนที่ยังสูงอยู่

"อีกอย่างที่ต้องคำนึงถึง คือ ผลข้างเคียงจากการทำนโยบายการเงินผ่อนคลายหรือดอกเบี้ยต่ำ คืออาจทำให้ประชาชนเก็บออมลดลง คนมีเงินออมอาจคิดเอาเงินไปลงหุ้นดีกว่าฝากแบงก์ที่ได้ดอกเบี้ยเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยเทียบว่าตลาดหุ้นปีที่แล้วขนาดมีเหตุการณ์วุ่นวาย ดัชนียังขึ้นไปถึง 20% เป็นต้น" ดร.ประสารกล่าว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ประสาร ตอบโจทย์ร้อน ค่าบาท เงินฝืด ดอกเบี้ยนโยบาย

view