สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สกุลเงินในภูมิภาคเอเชีย...อ่อนค่าจริงหรือ

สกุลเงินในภูมิภาคเอเชีย...อ่อนค่าจริงหรือ
โดย : อาสา อินทรวิชัย

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




3-4 เดือนที่ผ่านมา นักลงทุนในตลาดต่างพูดถึงการปรับลงของราคาน้ำมัน

แต่ประเด็นล่าสุดที่นักลงทุนต่างพูดถึงคือ อัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัว และการแข็งค่าของค่าเงินในโซนเอเชียโดยเฉพาะกลุ่มที่เรียกว่า “Asia-10”

หลังจากเหตุการณ์ Lehman crisis ที่สร้างความเสียหายให้แก่ระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างรุนแรงตั้งแต่ปลายปี 2008 นั้น FED เข็นมาตรการ QE ออกมาหลายรุ่นจนถึงปี 2013 และเนื่องจากการทำ QE คือ การเพิ่มประมาณเงินเข้าสู่ระบบ (เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง และกดให้ดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ในระดับต่ำ) USD จึงอ่อนค่าลงอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ภายในระยะเวลาเพียง 2 ปีเศษจากปี 2009 จนถึงกลางปี 2011 ดัชนี USD Index ซึ่งเป็น Trade-weighted basket ของเงินดอลลาร์ เทียบกับสกุลอื่นๆ ปรับตัวลงจาก 89 จุด เหลือเพียง 72 จุด

เมื่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง FED จึงตัดสินใจทำ Tapering หรือทยอยลดปริมาณเงินที่อัดฉีดเข้าระบบตั้งแต่ต้นปี 2014 เรื่อยมา กอปรกับในช่วงกลางปีเดียวกันนี้เองที่ตัวเลขการจ้างงาน และการผลิตของสหรัฐฯ ได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง เรียกได้ว่า ค่าเงินดอลลาร์ มีการแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วเทียบกับเกือบทุกสกุลเงิน ดัชนี USD Index ปรับตัวจากระดับ 80 สู่ระดับ 94.8 ในปัจจุบันในเวลาเพียง 14 เดือน



การแข็งค่าของ USD อาจทำให้เรารู้สึกว่า ค่าเงินบาท (และสกุลเงินอื่นในเอเชีย) อ่อนค่าเมื่อเทียบกับ USD แต่จริงๆ แล้ว ค่าเงินในเอเชียอาจจะไม่ได้อ่อนค่าอย่างที่เราคิดและรู้สึกกัน นักเศรษฐศาสตร์บางท่านได้เริ่มตั้งข้อสังเกตว่า การพิจารณาเปรียบเทียบกับเพียง USD เพียงสกุลเดียวนั้น อาจทำให้เกิดความคลาดเคลื่อน อีกนัยหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบค่าเงินในกลุ่ม Asia-10 กับตะกร้าของ 3 สกุลเงิน (Tri-Currency Basket) ซึ่งประกอบด้วย USD EUR และ JPY แล้ว พบว่ากลับมีทิศทางแข็งค่าอย่างมาก (หรือ กล่าวได้ว่า เมื่อเทียบกับ USD แล้ว ค่าเงินใน Asia-10อ่อนค่าน้อยกว่า EUR และ JPY เมื่อเทียบกับ USD) ลองพิจารณาค่าเงินวอนของเกาหลี ตั้งแต่เดือน ก.ค. 2014 KRW อ่อนค่า -6% เทียบกับ USD แต่แข็งค่า +13% เมื่อเทียบกับ EUR และ +9% เมื่อเทียบกับ JPY ในกรณีของประเทศไทยนั้น ค่าเงินบาทแข็งค่า +10% ใน Tri-currency term และ +6.5% ในมุมของ Real Effective Exchange Rate หรือ REER นั่นเอง

ในกรณีของประเทศสิงคโปร์นั้น Singapore Dollar หรือ SGD อ่อนค่าลง -7.5% vs. USD แต่เมื่อพิจารณาด้วย Concept ของ Tri-currency basket (USD, EUR และ JPY) แล้ว SGD ยังแข็งค่า +3.5% นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ธนาคารกลางเห็นว่ายังมี Room ให้ SGD อ่อนค่าลงได้ จึงปรับ Slope หรือ Band ของ Singapore Dollar ลงในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ค่าเงินสกุลอื่นๆ ในเอเชียก็แข็งค่าเฉลี่ย +7.1% ในมุมของ Tri-currency basket แต่ยังมีอีก 2 สกุลที่ต้องกล่าวถึงคือ เงินหยวน และ HKD เพราะแข็งค่าที่สุดใน Tri-currency (USD, EUR, JPY) term และมากกว่าสกุลอื่นในเอเชียอีก 11-12% On top เนื่องจากเป็นสกุลที่ผูกค่าเงินไว้กับ USD ...คำถามต่อไปคือ ธนาคารกลางของจีนจะต้องre-peg หยวนให้อ่อนค่าเช่น กรณีของประเทศสิงคโปร์หรือไม่

การแข็งค่าของค่าเงินเป็นดาบสองคมเสมอ ค่าเงินที่แข็งทำให้อัตราเงินเฟ้อต่ำ และเพิ่มกำลังซื้อเนื่องจากลด pressure จาก import prices (ใช้เงินเม็ดน้อยลงในการนำเข้าสินค้า) ในขณะเดียวกันก็ทำให้การส่งออกของประเทศไม่สามารถแข่งขันได้เพราะแพงขึ้นในสกุลเงิน USD .... ท้ายที่สุดก็จะทำให้ GDP ถดถอยและรายได้ลดลง หากพิจารณาในมุมของการชะลอตัวของ CPI แล้ว การลดลงอย่างรวดเร็วของอัตราเงินเฟ้อในระยะเวลา 7-8 เดือนที่ผ่านมากว่า 1 ใน 3 นั้น ย่อมสร้างความกังวลให้แก่ผู้ดำเนินนโยบายของประเทศใน Asia-10 อย่างแน่นอน

ในกรณีของ CPI ประเทศไทยเดือนม.ค. ซึ่งติดลบทั้ง YoY (เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า) และ MoM (เทียบกับเดือนก่อนหน้า) นั้น สังเกตได้ชัดเจนว่า ผลของการ Pass-through ของราคาน้ำมันที่ลดลง ไปสู่หมวดยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้ตัวเลขหมวดนี้ติดลบสูงถึง 11.25% เทียบกับเดือนม.ค. ปี 2013 และเมื่อมองไปข้างหน้า แม้ CPI เดือน ก.พ.จะเติบโตที่อัตรา +0.42% ต่อเดือน อัตราเงินเฟ้อ Headline inflation (ของเดือน ก.พ. และมี.ค.) จะยังคงติดลบการเปรียบเทียบแบบ Year-on-Year ... คงไม่ถูกนักหากจะสรุปว่า Headline inflation หรือ CPI ที่ลดลงนั้น มาจากราคาน้ำมันที่ลดลง เพียงอย่างเดียว เพราะการแข็งค่าของสกุลเงินของกลุ่มประเทศใน Asia-10 นั้นส่งผลให้ Inflation ชะลอตัวลง ไม่น้อยไปกว่าผลจากราคาน้ำมันเลย

สัดส่วนการส่งออกเทียบกับ GDP ของประเทศในกลุ่ม Asia-10 อยู่ในสัดส่วน 25-35% ค่าเงินของกลุ่มนี้ที่แข็งขึ้นอย่างต่อเนื่องย่อมส่งผลต่อสถานะ Current account และทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง ต้องไม่ลืมว่า ราคาน้ำมันที่ลดลง 60% นั้น บนฐาน 3% ของ GDP เทียบได้เพียง 1.8% ในขณะที่การแข็งค่าของเงิน +10% บนฐาน Export ที่ 30% ของ GDP นั้นคิดเป็น 3.0% หากมองในมุมนี้ ถือว่าผลของราคาน้ำมัน ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ น้อยกว่าผลจากการแข็งค่าของสกุลเงินในกลุ่ม Asia-10

คาดว่า การประชุมกนง.ในเดือน มี.ค. นี้จะเป็นครั้งที่นักลงทุน และเทรดเดอร์วาง Position สำหรับ “CUT (ดอกเบี้ย)” แม้กว่าครึ่งจะไม่คิดเช่นนั้นก็ตาม


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สกุลเงิน ภูมิภาคเอเชีย อ่อนค่า จริงหรือ

view