สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความร่วมมือทวิภาคีไทย

จากประชาชาติธุรกิจ

เมื่อไม่นานมานี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือที่คนไทยเรียกสั้น ๆ "จีน" เพื่อกระชับความสัมพันธ์และหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีจีน ซึ่งในฐานะที่ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมนั้น จีนพร้อมให้การสนับสนุนการนำเข้าสินค้าเกษตรของไทย และให้การส่งเสริมสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าวไทยซึ่งเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ

นอกจากนี้ จีนยังให้การสนับสนุนในเรื่องลดต้นทุนการผลิต อาทิ ค่าเช่านา ค่าปุ๋ย ทั้งนี้ ในความร่วมมือไทยกับจีนเพื่อส่งเสริมให้ไทยมีความแข็งแกร่งในการรองรับการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน

การเจรจาแบบทวิภาคี คือการเจรจาระหว่าง 2 ประเทศ เป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล เพื่อตอบสนองจุดประสงค์ของนโยบายในการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีกับมิตรประเทศ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกัน รวมทั้งการพัฒนาที่ยั่งยืนและสันติภาพระหว่างประเทศ

ในการเจรจาแบบทวิภาคีระหว่างไทยกับกลุ่มสมาชิกในอาเซียน ได้มีข้อสรุปที่สำคัญ อาทิ การประชุมความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยกับเวียดนามครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2556 ที่โรงแรมเดอะ เพนนินซูล่า กรุงเทพมหานคร ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการหารือเกี่ยวกับประเด็นความสัมพันธ์ทวิภาคีและระดับภูมิภาค อาทิ ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว การค้าการลงทุน ด้านแรงงาน ความร่วมมือปัญหาทะเลจีนใต้ อีกทั้งได้หาแนวทางการพัฒนาความเชื่อมโยงทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้ความสำคัญด้วยการเดินทางไปเยือนเวียดนามเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2557 เพื่อหารือทวิภาคีระหว่างไทยกับเวียดนาม ในความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการส่งเสริมมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับเวียดนามร่วมกันถึง 15,000 ล้านเหรียญ ภายในปี 2020

สำหรับการลงทุนของไทยในเวียดนาม ไทยได้สนับสนุนให้ภาคเอกชนไทยเข้าไปลงทุนในเวียดนาม และพร้อมกับอำนวยความสะดวกแก่แรงงานต่างด้าว ไทยได้เสนอให้เวียดนามมาร่วมมือในการดูแลสินค้าเกษตร ยกระดับราคาสินค้าในภูมิภาคอาเซียน เชิญชวนให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในเวียดนามมากยิ่งขึ้น

การได้เดินทางไปเยือนกัมพูชาของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2557 เพื่อเจรจากับ สมเด็จฮุน เซน ในการหารือทวิภาคีระหว่างไทยกับกัมพูชานั้น จุดประสงค์หลักเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาให้มากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน

ในบางพื้นที่ของกัมพูชามีความจำเป็นที่ต้องเปิดการค้าขายเพื่อที่จะพัฒนาประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนี้ ไทยได้เสนอให้กัมพูชาร่วมมือด้านพลังงานทางทะเลร่วมกัน การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ชายแดนที่ตรงข้ามปอยเปตของกัมพูชา อีกทั้งไทยจะรับซื้อสินค้าเกษตรของกัมพูชาในการนำมาแปรรูป เพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งสมเด็จฮุน เซน เองเห็นด้วยกับความร่วมมือด้านต่าง ๆ ของไทย

สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความเจริญและความพร้อมในทุกด้าน ท่านที่ได้อ่านบทความฉบับที่ผ่านมา คงจำได้ว่าไทยได้เข้าประชุมเอเชียกับยุโรปครั้งที่ 10 การประชุมร่วมกันครั้งนี้นายกรัฐมนตรีไทยได้หารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เรื่องความร่วมมือกันในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการทหาร อีกทั้งนายกรัฐมนตรีไทยได้ชี้แจงสถานการณ์ในประเทศไทยให้นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ทราบ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและอยากเห็นภาคเอกชนของสิงคโปร์เข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะด้านการแปรรูปสินค้าโภคภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

อาทิ ข้าว ยางพารา และน้ำตาล การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งระหว่างไทยกับสิงคโปร์ และเชิญชวนให้สิงคโปร์เข้ามาร่วมลงทุนในการพัฒนาการเชื่อมโยงระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างอาเซียน

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยได้ร่วมมือแบบทวิภาคีกับฟิลิปปินส์ โดยให้ความสำคัญในด้านความมั่นคง ฟิลิปปินส์มีความพร้อมที่จะสนับสนุนแนวทางแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ในการหาแนวทางสันติ รวมทั้งเน้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม ความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว

รัฐบาลไทยได้เสนอให้ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวจากไทยมากขึ้น และขอให้ยกเลิกมาตรการจำกัดการนำเข้าสินค้ากระจกจากประเทศไทย ฟิลิปปินส์เห็นด้วยในด้านความร่วมมือของไทย และพร้อมพิจารณารายละเอียดและหาแนวทางแก้ไข

ภาพรวมความร่วมมือแบบทวิภาคีระหว่างไทยกับประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นการส่งเสริมในการพัฒนาประเทศและพัฒนาเศรษฐกิจของไทย หากกล่าวถึงอุปสรรคของไทยนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันไป อาทิ อุปสรรคระหว่างไทยกับเวียดนามในการนำเข้าสินค้าของเวียดนามถูกผูกขาดโดยรัฐ กฎหมายระเบียบของเวียดนามมีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อย ๆ ทำให้นักธุรกิจไทยเกิดความสับสน อีกทั้งการไม่อนุญาตให้บริษัทต่างชาติเข้าไปประกอบธุรกิจนำเข้า-ส่งออกในเวียดนาม

ปัญหาระหว่างไทยกับสิงคโปร์นั้น มีมาตรการที่เข้มงวดเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศ ส่งผลให้ผู้ส่งออกไทยบางรายไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสุขอนามัยของสิงคโปร์ได้ในสินค้าบางประเภท และการเข้มงวดในการขออนุญาตให้แรงงานไทยเข้าไปทำงานภาคบริการในสิงคโปร์

สำหรับ ความร่วมมือแบบทวิภาคี มองได้ทั้งในแง่ของ "โอกาส" ในการพัฒนาประเทศ และช่วยลดอุปสรรคระหว่างประเทศคู่ค้า ส่วนอีกแง่หนึ่งนั้นความร่วมมือแบบทวิภาคีก็เป็นไปเพื่อแย่งชิงผลประโยชน์ของประเทศต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นภัยคุกคามเงียบของความร่วมมือในประเทศต่าง ๆ กับประเทศคู่ค้า ทำให้เกิดการทับที่ระหว่างกัน ส่งผลกระทบในแง่ผลประโยชน์ที่ซับซ้อน

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ ในความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก เป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือ เพื่อไม่ให้เกิดการเสียเปรียบทางการค้าในโลกอนาคต


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ความร่วมมือ ทวิภาคีไทย

view