สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ขอดเกล็ด ศาสตร์ค้า 2 เจ้าสัว ไกรสร - บุณยสิทธิ์

ขอดเกล็ด "ศาสตร์ค้า" 2 เจ้าสัว "ไกรสร - บุณยสิทธิ์"

โดย : สาวิตรี รินวงษ์

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




คัมภีร์ค้า"แสนล้าน" สายเลือดมังกร "ไกรสร จันศิริ" - "บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา"วิธีสร้างอาณาจักรธุรกิจอ ผ่าน "ประโยคเด็ด"สั้นๆแต่ชัดเจน

ในโอกาสครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน บรรดานักธุรกิจหลากหลายเข้าร่วมงานนี้ ในจำนวนนั้น คือ หนึ่งคือเจ้าของธุรกิจทูน่ากระป๋อง “เบอร์ 1 ของโลก” อย่าง "ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ หรือ ทียูเอฟ" อีกหนึ่งคือ “ผู้นำ”ธุรกิจอุปโภคบริโภครายใหญ่ในอาเซียน อย่าง "เครือสหพัฒน์"   โดยทั้งคู่ร่วมเผยเคล็ดลับการทำธุรกิจสไตล์เลือดมังกร ในหัวข้อ อนาคตธุรกิจไทยในยุคจีน และ AEC ของธุรกิจไทยระดับโลก

"เจ้าสัวไกรสร จันศิริ" ประธานกรรมการ ทียูเอฟ ในวัย 81 ปี เปิดฉากเล่าเส้นทางชีวิตของตัวเองว่า ไม่ต่างจากลูกหลานเลือดมังกรทั่วไป อากง (ปู่) มาจากจีนดินแดนใหญ่ หอบเสื่อผืนหมอนใบ มาตั้งรกรากอยู่ในไทย ทำมาหากินชนิดที่ทำทุกอย่าง ได้มาด้วย "น้ำพักน้ำแรง"

"อยู่เมืองจีนเราจนจริงๆ พ่อลำบากยากจนมาก ไม่มีข้าวกินต้องไปขอยืมเงินจากอาเจ๊ก(น้องชายพ่อ) อาเจ๊กให้ยืม แต่อาซิ่ม (ภรรยาน้องชายพ่อ) ไม่ยอม จุดเปลี่ยนทำให้ต้องล่องเรือมาไทย พ่อทำงานทุกอย่าง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ขณะที่ผมเริ่มทำงานในวัย 20 เศษๆ ทั้งส่งจดหมาย ทำกับข้าว เป็นเซลล์ สอนหนังสือ ทำบัญชีภาษาจีน" ไกรสร เล่า  

ต้องทำงานทุกอย่าง เพราะหิว !!

เขายังเล่าว่า สำหรับเขาธุรกิจเริ่มต้นจาก

"ศูนย์" (0) แถมยังเป็น "ศูนย์สามตัว" เสียด้วย  

ศูนย์ความรู้ เพราะไม่เคยเข้าเรียนหนังสือแม้แต่วันเดียว วันๆ มัวแต่กังวลทำงาน ศูนย์ทุน ไม่มีเงินทุน แต่เล่นแชร์ได้เงินมา 1 หมื่น กลายเป็นทุนประเดิมทำธุรกิจ และศูนย์เครดิต แม้ไม่เกเรแต่ยากจนก็เลยกลายเป็นคนไม่มีเครดิต

หลายคนไม่รู้ว่า ธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง ไม่ใช่เซ็กเตอร์แรกที่เขาจับ ธุรกิจแรกสุดจริงๆ คือ "นำเข้าสีพ่นรถยนต์" โดยร่วมทุนกับเพื่อนด้วยเงิน 4 หมื่นบาท (ไกรสร 1 หมื่นและเพื่อนอีก 2 คนรายละ 1.5 หมื่นบาท) เมื่อเพื่อนเห็นในความขยันขันแข็ง ก็ชวนไปเปิดอู่ซ่อมรถยนต์ย่านสะพานควายเพิ่มอีกธุรกิจ เรียกว่าขยับเป็นผู้จัดการตั้งแต่ 40 ปีก่อน ไม่เท่านั้นเพื่อนยังเห็นความขยัน ทำงานหนัก เลยชวนไปทำธุรกิจค้าผ้าที่สำเพ็ง ร่วมทุน 6-7 คน   

ทว่า "จุดเปลี่ยนของอาชีพ" เกิดขึ้นเมื่อได้รับจดหมายของเพื่อนรุ่นพ่อจากฮ่องกง ว่าต้องการให้ช่วยหา "วัตถุดิบกุ้ง" ประกอบกับมีคนเอ่ยปากให้สติทางธุรกิจว่า..

“ต่อไปโลกนี้จะมีแต่เรื่องของอาหารที่เป็นสำคัญ”  

เมื่อหากุ้งให้เพื่อนรุ่นพ่อได้สำเร็จ โดยความช่วยเหลือจากมิตรสหายรอบข้าง จากนั้นมา ไกรสรเอาจริงเอาจังกับธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งตั้งแต่บัดนั้น จนมีโรงงานอาหารทะเลแช่แข็ง โรงแรกเป็นของตัวเอง

โรงงานที่ว่า ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 790 ตารางวา มีคนงาน 50 คน ปีแรกโกยยอดขาย 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 32 ล้านบาท อัตราแลกเปลี่ยน 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) เวลาผ่านไป 38 ปี กิจการเติบใหญ่ ขยายอาณาจักรไปทั่วโลก มีพนักงานราว 3.5 หมื่นคน พร้อมวางเป้ายอดขาย 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.6 แสนล้านบาท) ในปีนี้

ขณะที่เป้าใหญ่ในปี 2563 ต้องการเห็นยอดขายแตะระดับ 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.56 แสนล้านบาท  

  ปัจจุบันทียูเอฟยังมีโรงงานกระจายอยู่หลายแห่งทั่วโลก เช่น สหรัฐ,ปาปัวนิวกินี, แคนาดา, เนเธอร์แลนด์, นอร์เวย์ และเวียดนาม ฯลฯ ขณะที่ตลาด “โอกาสทอง” ของทียูเอฟ วันนี้ยังส่องตรงไปที่ "จีน" ตลาดที่ไกรสรเอ่ยปากว่า “เข้าใจตลาดเป็นอย่างดี”  "

ในอดีตคนจีนไม่ชอบอาหารกระป๋อง เพราะเชื่อว่าใส่ยากันบูด" เขาใช้ศัพท์บ้านๆ ฉายภาพ

ทว่า ยุคนี้เปลี่ยนไป คนจีนรวยขึ้น “ของสดไม่พอกิน” คนมีเงินก็จะซื้ออาหารทะเลกิน ทำให้ “อาหารกระป๋อง” กลายเป็นความต้องการของตลาดขณะที่ยอดขายในจีนเติบโตมาก ลูกน้องรายงานว่ายอดขายเติบโต 15-20% แต่เราต้องการยอดขายที่มากกว่านี้ เลยต้องออกโรงกระตุ้นยอดขาย

โลกยุคนี้การโต “ทางลัด” เป็นยุทธวิธีค้าที่จำเป็น แม้แต่เจ้าสัวในวัย 81 ก็ยังไม่หยุดมองหา “โอกาส” โดยเขาระบุว่า..จะเห็นดีล (การเจรจา) ใหม่ๆ ของทียูเอฟเกิดขึ้นแน่นอน

“ตอนนี้ธุรกิจเรียงคิวมาขายให้ผมเยอะ แต่ผมจะซื้อหรือไม่ซื้อเท่านั้นเอง” ที่เป็นแบบนี้เพราะธุรกิจอาหารถูกมองว่าสิ่งเรื่องไม่สะอาด ลูกหลานส่วนใหญ่ไม่อยากทำต่อ ขณะที่เขาโชคดีที่มี “ทายาท” สานต่อธุรกิจ

“โชคดีลูกหลานเราทำ อายุ 16 ก็มาช่วยกุ้งปลาแล้ว เมื่อหลานปิดเทอมก็จะมาฝึกงานกับอากง คนอื่นได้ค่าแรง 300 หลานขอ 400 บาทต่อวันนะครับ” เขาเล่า

นอกจากธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง เจ้าสัวไกรสร ยังจับธุรกิจส่วนตัวใหม่ "เพาะพันธุ์ไข่มุกน้ำจืด" โดยร่วมทุนจับชาวจีน สัมปทานพื้นที่ 3,000 ไร่ในจังหวัดเพชรบุรี เพื่อเพาะเลี้ยงไข่มุก อนาคตจะยกระดับสร้างเป็น "โชว์รูม" จำหน่ายเครื่องประดับและทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไป

หลักการทำธุรกิจสำหรับเขา นอกจากพันธมิตรจะต้องมีองค์ความรู้แล้ว ยังต้องมาพร้อมกับ “เงินทุน” ซึ่งสำคัญมาก หากขาดองค์ประกอบข้างต้นจะบอกปัด เพราะเขาไม่ต้องการ “เสี่ยง !!”

ในภาวะบ้านเมืองเช่นนี้ ความเสี่ยง “การเมือง” เป็นเรื่องเลี่ยงยาก เจ้าสัวเลี่ยงที่จะตอบ โดยทิ้งท้ายประโยคสั้นๆ ว่า..

“เวลาค้าขายจะไม่พูดเรื่องการเมือง ฟังการเมืองได้ แต่พูดการเมืองไม่เป็น”    

อีกฟากของผู้ร่วมเสวนา คือเสี่ยใหญ่แห่งอาณาจักรสินค้าอุปโภคบริโภคเบอร์ 1 ของเมืองไทย และยักษ์ใหญ่ในอาเซียน อย่าง "เครือสหพัฒน์ฯ" ที่ผู้ดำเนินรายการ (สุทธิชัย หยุ่น) คำนวณยอดขายปัจจุบันว่า น่าจะแตะระดับ 3 แสนล้านบาท

แม้ว่า “เสี่ยบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ประธานเครือสหพัฒน์ จะคร่ำหวอดทางการค้ากับชาติ “ซามูไร” มานาน แต่ความเข้มข้นของการทำธุรกิจแบบเลือดมังกรยังเต็มเปี่ยมอยู่ในตัว โดยเฉพาะความเป็นคนอดทนต่อการประกอบกิจการ ซึ่งเป็น "ดีเอ็นเอ" ของนักธุรกิจเลือดมังกร

บุณยสิทธิ์ ยังเล่าว่า หากจะนับอายุการทำธุรกิจของตระกูลตั้งแต่รุ่นปู่จวบจนวันนี้ นับได้ 120 ปี แต่ยุคแรกปู่ค้าขายสินค้าเบ็ดเตล็ดเป็นหลัก กระทั่งธุรกิจสหพัฒน์มาเป็นรูปเป็นร่างในรุ่นพ่อ คือ ดร.เทียม โชควัฒนา

“การทำธุรกิจ ถ้าคิดว่าทำได้ แล้วหยุด จะไม่รวย แต่ตอนเราทำก็ไม่กล้าคิดนะว่าให้รวย” เขาเผยแก่นคิดธุรกิจ ก่อนจะย้ำว่า ทำงานต้องอดทน ยอมเสียสละ เพราะการขับเคลื่อนธุรกิจเหมือนการบ่มเพาะพันธุ์ไม้ บางพันธุ์อาจเติบโตเร็ว บางพันธุ์โตช้า

“เราต้องทำให้รู้ว่าต้นไม้ที่ปลูกใช้เวลากี่ปีกว่าสูงใหญ่ ถ้าคิดว่าต้นไม้ต้นนี้ใช้เวลา 100 ปี ก็ต้องอดทน ค่อยๆทำไปแล้วจะยั่งยืน” เสี่ยแสนล้านบอกเล่าเคล็ดลับ และว่า

“ผมไม่คิดว่าทำธุรกิจแล้วจะรวยทันที หายากเหลือเกิน”

ขณะที่ทุกคนมักจะมองไปที่ธุรกิจที่มีโอกาสคล้ายๆ กัน แต่สำหรับบุณยสิทธิ์ บอกว่า ต้องหา “ตัวอื่น” ที่คนอื่นไม่ทำ แล้วค่อยๆ ปลุกปั้น บางปีธุรกิจอาจจะไม่ทำอะไรเลยก็ได้ ผิดกับบางปีมีเรื่องให้สาละวนไม่หยุด การลงสนามจึงต้อง “เตรียมตัวให้พร้อม” อยู่เสมอ เพราะวันดีคืนดีกิจการเติบใหญ่ก็ต้องรับมือให้ได้ ขณะที่การขายสินค้าได้น้อย ก็ต้องอดทน

ศาสตร์การค้าไม่หยุดแค่นั้น เสี่ยบุณยสิทธิ์เล่าว่า เคยไปงานแสดงสินค้าที่เชียงราย บริเวณสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ เจอคนจีนเปิดร้านขายของใหญ่โตมโหฬาร เขาถามเจ้าของร้านว่า ถ้าขายไม่หมดจะทำอย่างไร คำตอบที่ได้รับคือ นำของมาขายในไทย ไม่หมดก็ส่งไปขายหาดใหญ่ ต่อด้วยมาเลเซีย สิงคโปร์ สะท้อนให้เห็นถึงการมองหาโอกาสอยู่เสมอ ไม่ย่อท้อ  

วันนี้จีนก้าวสู่การเป็นชาติ “มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ” ทำให้นานาประเทศต้องการค้าด้วยอย่างมาก เสี่ยบุณยสิทธิ์ หนุนให้ชาติไทยเกาะเกี่ยวจีนไว้ เพราะหากเขาได้ดี ย่อมพ่วงไทยให้ดีไปด้วย

แม้เสี่ยบุณยสิทธิ์ จะออกตัวว่า รู้จักจีนไม่มากนัก แต่เขายังประเมินว่า นี่คือตลาดที่น่าสนใจมาก เมื่อขนาดประชากรและตลาดใหญ่มหาศาลกว่าไทย 20 เท่า คือ “ขุมทรัพย์” ของการค้าไทย แต่ด้วยจีนเป็นชาติที่ “พัฒนาสินค้าได้เร็วมาก” เลียนแบบได้ชั่วพริบตา อาจทำให้การแข่งขันลำบาก การตั้งโรงงานฐานผลิตอาจไม่รอด การสิ่งสินค้าป้อนตลาดจึงอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า โดยเฉพาะสินค้าหมวดอาหาร และชิ้นส่วนขนาดเล็ก

นับถอยหลังสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) ในวันที่ 1 ม.ค.2559 เขายังชี้ว่า ธุรกิจไทยมีโอกาสมาก หากทำตัวให้แกร่ง ด้วยภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่กึ่งกลางอาเซียนตอนบน (กัมพูชา พม่า ลาว และเวียดนาม) เป็นดินแดนที่ผู้บริโภคนับถือศาสนาพุทธ ใช้จ่ายเป็นสกุล “บาท” โดยไม่ต้องแปลงสกุลเงิน เป็นปัจจัยเอื้อให้ไทยเป็นพี่เบิ้มในอาเซียนตอนบนได้ไม่ยาก หากพัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อจากไทยไปฮานอย ไซ่ง่อน ในเวียดนาม, ไปย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ ในพม่า, เชียงรายไปจีน ไทยจะเป็น “ศูนย์กลาง” ได้ อยู่ที่รัฐบาลจะเห็นจุดเด่นเหล่านี้ หรือไม่  

เสี่ยบุณยสิทธิ์ ยังมองโอกาสการค้าการลงทุนครบทุกมิติ ที่เป็นเช่นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะองค์ความรู้ด้านการขับขี่เครื่องบิน เมื่อเครื่องบินยกระดับสูงขึ้น เขาจะมองเห็นรอบด้าน ที่สำคัญก่อนการบินยังต้องเช็กลิสต์ทุกอย่างให้พร้อม ทั้งสภาพอากาศ เครื่องยนต์ฯ ต่อให้สะสมชั่วโมงบินนับพัน ก็จะไม่พลาดที่จะตรวจสอบความพร้อม เฉกเช่นการทำธุรกิจ

นี่คือวินัยของนักบินผู้ทำธุรกิจ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ขอดเกล็ด ศาสตร์ค้า 2 เจ้าสัวไกรสร บุณยสิทธิ์

view