สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชี้ 10 จุดเปลี่ยนประเทศไทยกระทบตลาดแรงงานยุค AEC

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

       แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย ชี้ 10 จุดเปลี่ยนประเทศไทยกระทบตลาดแรงงานยุค AEC รวบรวมพันธมิตร 6 สถาบันการศึกษาชั้นนำ เดินหน้าสานต่อ “โครงการพัฒนาทุนมนุษย์สู่สังคมแห่งอนาคต” มุ่งเน้นสำรวจความพร้อมรับมือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และเจาะลึก ศักยภาพแรงงานไทย ทั้งนักศึกษาและบัณฑิตใหม่ ที่พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างมีคุณภาพ ตรงตามความต้องการตลาดอย่างแท้จริง
       
       มร.ไซมอน แมททิวส์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย แถบตะวันออกกลาง และเวียดนาม แมนพาวเวอร์กรุ๊ป กล่าวว่า หากวิเคราะห์ถึงสถานการณ์แรงงานไทยกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ในปัจจุบันนี้ อย่างที่ทราบดีประเทศไทย มีฐานการผลิตที่ต้องพัฒนาศักยภาพขึ้นไป ทั้งในด้านของเทคโนโลยี นวัตกรรม หรือแม้กระทั้ง แรงงานจากมนุษย์ จุดนี้ต้องยอมรับว่า เทคโนโลยีในการผลิตสินค้าต่างๆ ระดับโลก มีการเดินหน้า และพัฒนาศักยภาพไปมาก ตัวอย่างเช่น ฐานการผลิตในประเทศจีน และไต้หวัน ที่มีการพัฒนาเทคนิค และอีเล็กทรอนิกส์ ที่เรียกได้ว่า ก้าวล้ำ นำประเทศไทยอยู่มาก
       
       อีกทั้งประเทศไทยเริ่มมีข้อจำกัดบางประการ เช่น อัตราค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงาน อันเป็นอุปสรรคในการขยายธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างรวดเร็ว ทำให้ข้อได้เปรียบด้านแรงงานที่เคยมีจำนวนมากและราคาถูกทยอยหมดไป
       
       ในด้านการศึกษาก็เช่นกัน ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการใช้งบประมาณด้านการศึกษาค่อนข้างสูง แต่ผลลัพธ์สวนทางกับเงินลงทุน เม็ดเงินไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 คือ เงินเดือนของครู อีกร้อยละ 20 ใช้ในด้านการศึกษา แต่หากแยกสัดส่วนของเมืองหลวงและต่างจังหวัดออกจากกัน ผลลัพธ์ที่ได้ คือ การศึกษาในเฉพาะกรุงเทพถือว่าอยู่ในมาตรฐานที่ดี คนกรุงเทพมีการศึกษาค่อนข้างสูง สามารถเทียบเท่ากับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย แต่หากนำอัตราส่วน คนกรุงเทพ 4-5 ล้านคนมารวมกับประชากรประเทศไทยทั้งหมด ค่าเฉลี่ยทางด้านการศึกษาถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ดังนั้น ต้องมีการให้ความสำคัญกับการศึกษาของประชากรต่างจังหวัดให้มาก เพื่อการพัฒนาก้าวหน้าเทียบกับเพื่อนบ้านต่อไป

    
ชี้ 10 จุดเปลี่ยนประเทศไทยกระทบตลาดแรงงานยุค AEC
        นางสาวสุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด แมนพาวเวอร์กรุ๊ป กล่าวว่า อัตราความต้องการแรงงานจบใหม่ สามารถแยกเป็น 3 ส่วน คือ ระดับปริญญาตรี มีอัตราจบการศึกษาที่ 300,000 คน มีความต้องการแรงงานเพียงร้อยละ 50 ส่งผลให้มีจำนวนผู้ว่างงานในระดับปริญญาตรีถึงปีละ 150,000 คน ก่อให้เกิดแรงงานว่างานสะสมปีละ 400,000 คน ระดับอาชีวะ (ปวช,ปวส) มีอัตราจบการศึกษาที่ 300,000 คน แต่มีความต้องการแรงงานเพียงร้อยละ 60 (หรือ 180,000คน) เข้าสู่ตลาดแรงงานร้อยละ 30 (90,000 คน) เรียนต่อสายสามัญร้อยละ 70 (210,000 คน)
       
       แรงงานที่เป็นที่ต้องการ 4 อันดับ คือ 1.ช่างกลโรงงาน 2. ช่างเชื่อม 3. ช่างไฟฟ้า 4. การโรงแรมและการท่องเที่ยว ระดับมัธยมปลาย มีการเข้าสู่ตลาดแรงงานเพียงร้อยละ 5 ถือว่าน้อยมาก เนื่องจากอายุน้อย และขาดทักษะที่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งอัตราความต้องการดังกล่าวข้างต้น เกิดจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ ที่มีแรงส่งมาราวกับลูกโซ่ เพราะเมื่อมีการชะลอการลงทุน การชะลอการจ้างงานก็เกิดขึ้น เมื่อมีการไม่ตัดสินใจลงทุน การจำกัดการจ้างงาน (Freezeคน) จึงตามมา
       
       นางสาวสุธิดากล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะทำให้เกิดจุดเปลี่ยนของประเทศไทยต่อเทรนด์ตลาดแรงงาน คือ 1. การพัฒนาสร้างค่านิยมคนรุ่นใหม่รับ AEC 2. การย้ายฐานการผลิตเพื่อลดต้นทุนไปยังประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า ทำให้เกิดอุปสงค์แรงงานเพิ่มขึ้นในประเทศนั้นๆ 3. เกิดการฟื้นฟูประสิทธิภาพแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม 4. แรงงานทำงานได้หลากหลาย (Multi - Tasking Skill) 5. การผสมผสานของวัฒนธรรมก่อให้เกิดการปรับตัวเข้ากับผู้ร่วมงานที่มีความหลากหลายทั้งทางเชื่อชาติ ภาษา และวัฒนธรรม
       
       6. แรงงานที่มีทักษะทางภาษาได้เปรียบในการได้รับเลือกเข้าทำงาน โดยเฉพาะภาษาอังกฤษและภาษาอาเซียน ซึ่งธุรกิจที่ต้องการผู้ที่มีทักษะภาษาหลากหลาย ได้แก่ ธุรกิจนำเข้า และส่งออก, ธุรกิจท่องเที่ยว เป็นต้น 7. การโยกย้ายแรงงาน ระหว่างประเทศแปรผันตามผลตอบแทน 8. ตลาดผู้บริโภคใหญ่ และหลากหลายทำให้การเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศจะมีมากขึ้นในลักษณะบูมเมอแรง 9. การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรทำให้ประชากรในวัยแรงงานลดจำนวน 10. เทรนด์อาชีพคนรุ่นใหม่ นิยมทำธุรกิจส่วนตัว หรืองานอิสระ ทำให้คนสู่ตลาดแรงงานลดลง
       
       จากความสำเร็จใน 2 ปีที่ผ่านมา แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ดำเนินการต่อยอด “โครงการพัฒนาทุนมนุษย์สู่สังคมแห่งอนาคต ปี 2015” ขึ้น ซึ่งภาพรวมจากการจัดโครงการฯ ในปี 2556 ที่ผ่านมา จากจำนวน 3,750 คน ผู้สำเร็จการศึกษาร้อยละ 85 มีงานทำ หรือประกอบอาชีพอิสระ ศึกษาต่อ ร้อยละ 12 เพียงร้อยละ 3 เท่านั้น ที่ไม่มีงานทำ โดยในปีนี้ มีการร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรภาคการศึกษาชั้นนำรวมทั้งสิ้น 6 สถาบันการศึกษา อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีไทย - ญี่ปุ่น และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
       
       “ปีนี้เรามุ่งเน้นการพัฒนาหลักสูตรการศึกษา แบบเจาะลึกในแต่ละสาขาวิชา เพื่อการก้าวหน้าทันกระแสโลกที่เปลี่ยนไป อีกทั้งความพร้อมในการรับมือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี ซึ่งแมนพาวเวอร์กรุ๊ป หวังว่าโครงการฯ จะเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหาการอัตราการว่างงานของนักศึกษาจบใหม่ได้ ไม่มากก็น้อย” นางสาวสุธิดา กล่าวทิ้งท้าย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : จุดเปลี่ยนประเทศไทย กระทบตลาดแรงงาน ยุค AEC

view