สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

3 มุมมองนักวิชาการ-นักประวัติศาสตร์ นิธิ-ธเนศ-สุจิตต์ ศาสนากับการเมือง ชาตินี้เราคงแยกกันไม่ได้

จากประชาชาติธุรกิจ

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2558 กลุ่มสภาหน้าโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาทางวิชาการหัวข้อ "ศาสนากับการเมือง ชาตินี้เราคงแยกกันไม่ได้" โดยมีนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และการเมือง ประกอบด้วย ศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ศาสตราจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ์ และนายสุจิตต์ วงษ์เทศ โดยมีนักศึกษา ประชาชน และภิกษุสงฆ์ ให้ความสนใจเข้ารับฟังเสวนา

@"นิธิ"ระบุการผลักดันพ.ร.บ.ปกป้องพุทธฯลงโทษคนวิจารณ์ศาสนา-ห่วงใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง


ศาสตราจารย์นิธิ บรรยายให้หัวข้อ "ศาสนากับรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย" ว่า สถาบันต่างๆในสังคมมีความสัมพันธ์กันเชิงอำนาจ สถาบันทางศาสนาจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มอำนาจเเละอิทธิพลของกลุ่ม คนบางกลุ่ม ในขณะเดียวกันก็ริดรอนอำนาจของคนอีกกลุ่มหนึ่งด้วย การที่สังคมไทยได้รับอิทธิพลสำคัญจากพุทธศาสนาที่เป็นศาสนาที่สอนหรือเปิด โอกาสให้ทุกคนสามารถบรรลุนิพพานตามหลักศาสนาได้และมนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่ จะสามารถบรรลุสู่นิพพานได้เเสดงให้เห็นว่าหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนานั้นมี ความเสมอภาคของมนุษย์อย่างมากเเต่ทว่าหลักคำสอนดังกล่าวไม่ได้ถูกนำมาใช้ใน สังคมไทยเลยหลักคำสอนกลับถูกนำมาตีความให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมการเมืองเเละ สภาวะการณ์สังคมนั้นๆมากกว่า





พุทธ ศาสนาได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในสังคมเเละการเมืองโดยตรงผ่านพระสงฆ์ที่ เข้าไปมีอิทธิพลในวิถีชีวิตประจำวันของชาวบ้านความเลื่อมใสศรัทธาในตัวพระ สงฆ์จึงกลายเป็นที่มาของอำนาจทางศาสนาเเละบทบาทสำคัญที่ศาสนาเข้ามามีอำนาจ ในสังคมคือการที่ศาสนาเป็นผู้คุมการศึกษากล่อมเกลาให้คนในสังคมยอมรับว่า อะไรคืออำนาจกำหนดว่าประชาชนต้องยอมรับหรือไม่ยอมรับอำนาจนั้นอย่างไร

ศ.ดร.นิธิยังกล่าวถึงจุดพลิกผันที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนเเปลงอำนาจของศาสนาในสังคมไทยว่า

"เมื่อเกิดการปฎิรูปการศึกษา ใน สมัย ร.4-ร.5 ถือเป็นการดึงอำนาจการศึกษาออกจากมือของพระสงฆ์ เป็นการลดอำนาจเเละทำให้อิทธิพลขอพระสงฆ์หายไปเกือบ60% การที่รัฐจัดตั้งกระทรวงศึกษาธิการ เเละเเต่งตั้งครูที่เป็นฆราวาสมาสอนหนังสือเเทนพระสงฆ์นั้น เป็นการริดรอนอำนาจขององค์กรคณะสงฆ์ครั้งใหญ่ที่สุด อำนาจของพระสงฆ์ถูกเเทนทีด้วยอำนาจของภาครัฐที่เข้ามาควบคุม "

ความสัมพันธ์เชิงอำนาจนั้นไม่ได้ถูกกำหนดเป็นลายลักษณ์ อักษร เเต่ถูกกำหนดโดยวัฒนธรรมเสียมากกว่าเราไม่สามารถหาความเป็นอัตลักษณ์ที่ เเท้จริงได้เพราะมันเปลี่ยนเเปลงตลอดเวลาไม่หยุดนิ่งเเต่สิ่งที่ไม่เคย เปลี่ยนแปลงในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยเลยคือแม้ว่าวัฒนธรรมไทยเป็น วัฒนธรรมที่ยอมรับความหลากหลายทางศาสนาสูงแต่ก็ไม่ยอมรับความเสมอภาคทาง ศาสนาแม้จะมีเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนาอะไรก็ได้เเต่ก็ไม่ได้แปลว่าทุก ศาสนาจะเท่าเทียมกันสังคมไทยนั้นจะให้ความสำคัญกับพุทธศาสนาก่อนเช่นการให้ วันสำคัญทางพุทธศาสนาเป็นวันหยุดราชการ เป็นต้น

ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าคำสอนทางศาสนาเป็นเรื่องที่มีการเปลี่ยนแปลงโดยตลอด เช่น ในช่วงการรวมศูนย์อำนาจของรัฐไทยในสมัยร.5 ก็ใช้ศาสนาในการขยายวัฒนธรรมศสมัยใหม่สู่ชนบท เเละยังเป็นเครื่องมือทางอุดมการณ์ของรัฐในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อต่อต้านผู้ที่มีเเนวคิดเป็นคอมมิวนิสต์ โดยที่ทางองค์กรคณะสงฆ์ก็ได้ให้ความร่วมมือกับรัฐเผด็จการเป็นอย่างดี


"สืบมาจนถึงทุกวันนี้ องค์กรคณะสงฆ์ก็จะยอมรับใครก็ได้เข้ามาบริหารบ้านเมือง ด้วยวิธีใดก็ได้... เสมอมา "

ศ.ดร.นิธิ ยังกล่าวอีกว่า ในอดีตพระสงฆ์ไทยเป็นผู้ที่มีความสำคัญมากเพราะเป็นชนชั้นนำทางสังคม แต่ในปัจจุบันโดยส่วนตัวเห็นว่าองค์กรคณะสงฆ์ของไทยหมดพลังไปแล้ว เพราะสังคมไทยเปลี่ยนไป รัฐไทยก็มีความเข้มเเข็งมากขึ้น การที่จะรื้อฟื้นบทบาทของพระสงฆ์กลายเป็นเรื่องส่วนบุคคลของสำนักต่างๆ เช่น ธรรมกาย สันติอโศก เเละพระมหาวุฒิชัย วชิระเมธี เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่า มหาเถรสมาคม แทบจะไม่มีบทบาทใดๆแล้วในสังคมไทย เเละสิ่งที่น่ากลัวที่สุดขณะนี้คือการผลักดัน พ.ร.บ.ปกป้องพระพุทธศาสนา ซึ่งจะพยายามหาทางลงโทษคนที่วิพากษ์วิจารณ์ศาสนา ซึ่งอาจจะมีส่วนทำให้พุทธศาสนาหมดความศักดิ์สิทธิ์และหมดความสำคัญลง และในอนาคตอาจเกิดการต่อต้านและยิ่งจะทำให้พุทธศาสนากลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ง่ายขึ้นอีกด้วย





@นักวิชาการชี้ศาสนาถูกใช้เป็นเครื่องมืออุดมการณ์ในสังคม-ดึงสถาบันสงฆ์รับใช้นโยบายการเมือง


ศาสตราจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ์  ได้บรรยายในหัวข้อ "พุทธศาสนากับการเมืองไทย " ว่า ตั้งเเต่สมัยสุโขทัย พุทธศาสนาได้ถูกสถาปนาเป็นศาสนาแห่งรัฐ พ่อขุนรามคำเเหงขึ้นเป็นพระธรรมราชา เเล้วคติความคิดนี้ยังถูกนำมาใช้ในสมัยจอมพลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อตอบโต้ทัศนะประชาธิปไตยเเบบสังคมตะวันตก ว่ายังใช้ไม่ได้กับสังคมไทย ซึ่งจะเห็นได้ว่า "เเนวคิดเรื่อง ศาสนากับการเมืองที่มีมายาวนาน ตั้งเเต่ในยุคสมัยที่สถาบันการปกครองยังต่อสู้กับศาสนาผีนั้น ยังคงสามารถนำมาใช้อธิบายการเมืองไทยเเละชนชั้นปกครองของไทยในปัจจุบันได้"


มี การนำเอาพุทธศาสนามาอธิบายการเมืองการปกครองที่เรียกว่า"จักรวาลทรรศน์ พุทธ"(BuddhistCosmology)โดยในพระไตรปิฏกได้กล่าวถึงบท"อัคคัญญสูตร"ว่าด้วย การกำเนิดของวรรณะต่างๆแสดงให้เห็นว่า ชนชั้นปกครอง ได้เกิดขึ้นพร้อมวรรณะอื่นๆในสังคมด้วย การที่ชนชั้นปกครองต้องนำศาสนาเข้ามาอยู่ในระบบการปกครอง เพราะว่าต้องการควบคุมความคิดและสร้างความเป็นเหตุเป็นผล เเละยังต้องการให้ประชาชนนับถือและทำลายความเชื่อเรื่องผีซึ่งมีอยู่เดิม ด้วย




หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ที่จะมาเป็นหัวหน้าผู้ปกครองในยุคนั้นคือ ต้องเป็นผู้ปกครองที่ดูดี งดงาม น่าเชื่อถือและน่าเกรงขาม  อีกทั้งยังจะต้องเป็นเจ้าของที่ดิน มีความมั่งคั่งเเละเป็นที่รักของชุมชน เพราะได้เปลี่ยนสถานะการปกครองจากชุมชนเล็กๆ กลายมาเป็นชุมชนที่ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องมีการปกครองอย่างเป็นระบบ ส่วนการตัดสินใจเลือกผู้นำนั้นไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อำนาจการตัดสินใจนั้นยังจำกัดอยู่ในวงของชนชั้นสูงเท่านั้น

ศ.ดร. ธเนศ ได้กล่าวอีกว่า การที่ "บุญ"  มีความสอดคล้องกับอำนาจการเมือง เป็นพัฒนาการที่สำคัญของทฤษฏีเเละอุดมการณ์ทางการเมืองพุทธเป็นการจำแนกระหว่างรัฐกับชุมชนโจร  ระหว่างอำนาจที่เป็นธรรมเเละอำนาจที่ไม่ชอบธรรม  มีการกำหนดลักษณะของผู้มีบุญว่าต้องมีผิวพรรณดีเปล่งประกาย กษัตริย์ผู้ปกครองต้องเป็นผู้มีบุญบารมี เเละจะต้องเป็นผู้อุปถัมภ์ทำนุบำรุงศาสนาด้วย


"ในบางกรณีผู้ปกครองอาจจะอ้างบุญในการเข้ายึดอำนาจ หรือใช้การ"อ้างบุญ" เพื่อหาความชอบธรรมทางการเมืองได้"


โดยที่ "บุญแห่งอำนาจ" ได้เข้ามาเเบ่งหน้าที่พลเมืองอย่างเด็ดขาด ชนชั้นนำมีความชอบในหน้าที่การเมืองซึ่งรับรองว่าการอยู่ในฐานะที่สูงกว่า จะมีอำนาจเหนือกว่า นั้นถือเป็นความชอบธรรม ส่วนชาวบ้านนั้นต้องไม่มีความชอบในหน้าที่การเมือง ซึ่งส่งผลให้เกิดความเชื่อที่ว่าชาวบ้านต้องเป็นฝ่ายได้รับการให้ทาน ความช่วยเหลือเเละการสงเคราะห์จากชนชั้นปกครองเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง

ในส่วนของสังคมไทยในปัจจุบัน มีการนำเอาศาสนาเข้ามาเป็นอัตลักษณ์ของชาติเพื่อต่อสู้กับความเชื่อและ อุดมการณ์สมัยใหม่อื่นๆการเมืองกลายเป็นเรื่องของอำนาจในการจัดสรรผล ประโยชน์ รัฐสมัยใหม่ต้องมีความหลากหลายเกิดเป็นศีลธรรมแบบใหม่พลเมืองมี ส่วนร่วมในการเมืองการปกครองแต่ทว่าในปัจจุบันก็ยังพบการใช้เรื่องศาสนาใน การเป็นเครื่องมือทางอุดมการณ์ สถาบันสงฆ์เข้ามารับใช้นโยบายการเมืองรวมถึง มีการเสนอให้ใช้หลักศาสนาเข้ามาอยู่ในหลักการปกครองอีกด้วย






@นักประวัติศาสตร์ชี้ ความเชื่อ"ผี-พุทธ"ของสังคมไทย ส่งผลต่อโลกทัศน์-การเมืองปัจจุบัน


นายสุจิตต์ วงษ์เทศ บรรยายในหัวข้อ  "ศาสนาผีกับการเมือง" พร้อมด้วยการเปิดประโคมปี่พาทย์จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

นายสุจิตต์กล่าวว่า "ศาสนาผี" เป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ผู้คนนับถือศาสนาผีมาก่อนที่จะมีการเข้ามาของศาสนาพุทธรวมถึงศาสนาอื่นๆ มีผู้ปกครองคือ "หมอผีหรือหมอขวัญ" ที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าเผ่า ซึ่งเป็นผู้ที่มีพลังพิเศษสามารถติดต่อกับเหล่าภูตผี ผีบรรพชนเเละอำนาจเหนือธรรมชาติได้





ในอดีต หมอผีจะเป็นผู้หญิง สันนิษฐานจากการค้นพบเจ้าเเม่โคกพนมดี อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ที่พบโครงกระดูกเพศหญิง ที่ประดับประดาด้วยลูกปัดเปลือกหอยกว่าเเสนเม็ดเเละยังค้นพบหลักฐานอื่นอีกหลายเเห่ง แสดงให้เห็นว่าศาสนาผีมี "ผู้หญิงเป็นใหญ่" ผู้หญิงมีอำนาจทางการเมือง ปกครองชุมชนโดยมีผู้ชายเป็นบ่าวไพร่  อีกทั้งหมอผียังทำหน้าที่เป็นผู้นำทางพิธีกรรม สืบต่ออำนาจกันทางเครือญาติ เป็นกลุ่มชนชั้นปกครองที่มีอำนาจในการเข้าควบคุมทรัพยากรเเละความมั่งคั่งในชุมชนนั้นๆ

นัก วิชาการประวัติศาสตร์กล่าวต่อว่าเมื่อการเข้ามาของพุทธศาสนาที่ได้รับมาจาก อินเดียมาปะทะกับความเชื่อเรื่องศาสนาผีที่เป็นความเชื่อดั้งเดิมในภูมิภาค เอเชียอาคเนย์มีการต่อสู้เเละกำราบศาสนาเดิมสะท้อนให้เห็นจากตำนานที่เล่า ถึงการเสด็จมาของพระพุทธเจ้าเเล้วทรงปราบนาคซึ่งนาคเป็นสัญลักษณ์ของความ เชื่อเรื่องผีของคนพื้นเมืองจากนั้นหมอผีได้เริ่มปรับเปลี่ยนตัวเองมาเป็น นักบวชและจากที่ศาสนาผีที่มีผูัหญิงเป็นใหญ่ได้ถูกลดทอนอำนาจลงเเละเเทนที่ ด้วยพุทธศาสนาที่มีผู้ชายเป็นผู้มีอำนาจแทน 
อย่างไรก็ตามประเพณีและ พิธีกรรมทางพุทธศาสนาก็ยังคงมีอิทธิพลของศาสนาผีรวมอยู่ด้วยเช่นเมื่อชุมชน เติบโตกลายเป็นรัฐ พระเจ้าเเผ่นดินของรัฐนั้นๆก็ได้นำพิธีกรรมของศาสนาผีที่ เรียกว่าประเพณี12เดือนมาปรับปรุงให้เป็นพระราชพิธี 12เดือนในพุทธศาสนา เป็นต้น

"คนไทยทั่วไปคิดว่าตนนับถือศาสนาพุทธ เเต่ในบ้านเเละวัดก็มีศาลผี ศาลพระภูมิ เเล้วทรงเจ้าเข้าผีมากกว่าอย่างอื่น"


นายสุจิตต์ กล่าวด้วยว่า ทั้งพุทธศาสนาและศาสนาผี ต่างถูกชนชั้นปกครองนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมการเมืองเเละสังคมด้วย กันทั้งสิ้น  ประชาชนถูกปกครองภายใต้ความเชื่อเรื่องศาสนามาเป็นเวลานานศาสนาจึงมีอิทธิพล ต่อความคิดความเชื่อโลกทัศน์เเละการเมืองจากอดีตจนถึงปัจจุบัน



สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : 3 มุมมอง นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ นิธิ-ธเนศ-สุจิตต์ ศาสนากับการเมือง ชาตินี้เราคงแยกกันไม่ได้

view