สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ตัวเลขว่างงานต่ำ ?

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์สามัญสำนึก โดย ชลาทิพย์ ถิรสุนทรากุล

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุถึงโครงสร้างแรงงานไทยช่วง 10 ปี (2547-2557) ว่า มีอัตราว่างงานค่อนข้างต่ำ โดยมีจำนวนการจ้างงานที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ผันผวนบ้าง ซึ่งเป็นไปในทิศทางบวก

เห็นข่าวตัวเลขอัตราว่างงานประเทศไทยทีไร สงสัยทุกครั้งว่าทำไมตัวเลขว่างงานถึงได้ต่ำแบบที่บางช่วงสวนทางกับจังหวะเศรษฐกิจไทย

บทวิเคราะห์ต่างประเทศส่วนหนึ่งให้ความสำคัญกับการนำตัวเลขว่างงานมาเป็นหนึ่งในปัจจัยประเมินภาวะเศรษฐกิจ หรืออ่านคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจ

สำหรับประเทศไทยที่สถิติตัวเลขว่างงานดูเหมือนไม่สามารถนำมาคำนวณเชื่อมโยงได้

ประเด็นนี้สอดคล้องว่า สำนักข่าวต่างประเทศอย่างบลูมเบิร์กก็สงสัย ซึ่งสิ้นปี 2557 อยู่ที่ 0.56% เป็นอัตราการว่างงานที่ "ต่ำที่สุดในโลก"

ย้อนดูสถิติก็พบว่าไทยมีอัตราว่างงานต่ำกว่า 1% ตั้งแต่ปี 2554 ส่วนสถิติสูงสุดอยู่ที่เดือนมกราคม 2544 อัตราว่างงานคือ 5.73%

ไขข้อข้องใจว่า ทำไมอัตราการว่างงานไทยจึงดูต่ำ...คำตอบที่บลูมเบิร์กอธิบายในทำนองว่า "วิธีการคำนวณและวัดสถิติ"

เนื่องจากไทยมีแรงงานภาคเกษตรมากกว่า 40% ซึ่งแรงงานเหล่านี้จะมีงานทำไม่เต็มวัน และยังว่างงานช่วงนอกฤดูกาลเพาะปลูก ซึ่งการจ้างงานไม่เต็มวันนี้ ประเทศไทยนับว่าเป็นการมีงานทำ และเป็นตัวเลขราว 0.5% จากทั้งหมด

ยกตัวอย่างว่า หากไม่ได้ถูกจ้างจากการเป็นพนักงานธนาคารอีกต่อไป แล้วกลับบ้านเกิดไปช่วยงานที่สวนของญาติอย่างน้อย 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เช่นนี้ถือว่าได้รับการจ้างงานแล้ว

ข้อสรุปของบลูมเบิร์กที่ว่า "ภาคเศรษฐกิจไทยนับรวมประชากรทุกคนที่ไม่ได้ทำงานในเซ็กเตอร์ใด ๆ ชัดเจนเข้าไปด้วย นับรวมคนขายของริมทาง คนขับแท็กซี่ และคนที่ทำงานอิสระ ซึ่งผู้ที่ทำอาชีพเหล่านี้ถือเป็นจำนวนตัวเลขที่คลุมเครือในทางเศรษฐกิจ และไทยก็นับรวมว่าเป็นผู้ที่ถูกจ้างงาน และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีสัญญาณใด ๆ ว่ารัฐบาลหรือผู้กำหนดนโยบายทางการเงินจะกังวลเกี่ยวกับตัวเลขการว่างงาน ตัวเลขนี้จึงจะยังคงต่ำต่อไป"

ทำให้ตั้งข้อสังเกตว่า ภาครัฐไทยให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ตัวเลขว่างงานมากน้อยแค่ไหน

ยกตัวอย่างในต่างประเทศใช้ตัวเลขว่างงานมาทำการวิเคราะห์เชื่อมโยงกับปัญหาสังคม เช่น กรณีการฆ่าตัวตาย โดยผลวิจัยในนิตยสารจิตวิทยา Lancet Psychiatry อ้างอิงตัวเลขการว่างงานเพื่อวิเคราะห์ว่าเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจฆ่าตัวตายแค่ไหน ผลออกมาว่า 1 ใน 5 ของการฆ่าตัวตายทั่วโลกเชื่อมโยงกับอัตราการว่างงาน โดยมีอัตราการฆ่าตัวตาย "เพิ่มขึ้น" ตามสภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ

นักวิจัยระบุว่า การค้นพบนี้นำไปสู่การให้ความสำคัญกับการป้องกันการฆ่าตัวตาย แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจในช่วงนั้นจะมีเสถียรภาพก็ตามที โดยยังเห็นว่า งานวิจัยเหล่านี้จะมีความจำเป็นและมีประโยชน์ ไม่เฉพาะในประเทศที่มีอัตราการว่างงานสูงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงประเทศที่มีอัตราการว่างงานต่ำด้วย

ดังนั้นเรื่องตัวเลขว่างงานจึงไม่ใช่แค่เรื่องตัวเลขมาโชว์ว่า "ตัวเลขต่ำ" แต่เป็นข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ปัญหาสังคมได้ด้วย

ย้อนกลับมาดูข้อมูลโครงสร้างแรงงานไทยที่ทีดีอาร์ไอออกมาพูด น่าสนใจที่ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่า "หากมองให้ลึกถึงปัญหาการว่างงานของประเทศไทยที่ผ่านมาที่ถือว่ามีอัตราการว่างงานน้อยลง แต่เมื่อเทียบสัดส่วนของการจ้างงานในตลาดแรงงานกลับเป็นสัดส่วนตรงกันข้ามกับผู้จบการศึกษาที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน เนื่องจากมีการผลิตบุคลากรของสถานศึกษาไม่สอดคล้องกับความต้องการในสาขาที่ขาดแคลน ส่งผลให้เกิดปัญหาแรงงานตึงตัวตามมา"

ดังนั้นตัวเลขว่างงานต่ำของไทยจึงไม่ได้ตอบโจทย์คุณภาพของแรงงานไทย และวิธีการวัดสถิติอัตราว่างงานไทยก็ไม่แน่ใจว่าจะสะท้อนสภาพความจริง และนำข้อมูลไปวิเคราะห์ต่อยอดเชื่อมโยงได้ในระดับไหน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ตัวเลขว่างงานต่ำ ?

view