สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สูตรองค์กรยั่งยืน ข้ามยุค Post Modern

สูตรองค์กรยั่งยืน ข้ามยุค Post Modern
โดย : ประกายดาว แบ่งสันเทียะ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โลกสับสน Mass Media ถูกลดบทบาท แทนที่ด้วยยุค Post Modern กับพฤติกรรมผู้บริโภคสุดโต่ง องค์กรจะรับมืออย่างไร

โลกที่ถูกย่อให้เล็กลง ด้วยภูมิทัศน์สื่อ (Media Landscape) ในยุคดิจิทัล กำลังเข้ามาเปลี่ยนทั้ง "วิธีคิด" และ "วิธีทำธุรกิจ" ที่องค์กรทำเงิน ที่จะขายสินค้าแบบ "ฮาร์ดเซลล์" ไม่ได้อีกต่อไป

เมื่อผู้คนเสพสื่อหลากช่องทาง การโน้มน้าวใจผู้บริโภคด้วยสื่อหลัก (Mass Media) จึงไม่ถูก "ชี้นำความคิด" ผู้บริโภคให้ "เชื่อ" มากกว่าสิ่งที่ตัวเองสืบค้นผ่านโลกไซเบอร์

ก่อนจะเลือก "สิ่งที่ดีที่สุด" ให้ตนเอง แบบฉลาด รู้ทันสินค้า !!

ตามข้อมูลยังระบุว่า ในปี 2014 (พ.ศ.2557) คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตมากถึง 26 ล้านคน หรือ 38.8% คิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรกว่า 76 ล้านคน คนไทย 97 ล้านคนมีมือถือใช้ นั่นเท่ากับว่า บางคนมีมือถือ "มากกว่า 1 เครื่อง"

ขณะที่เครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เช่น เฟซบุ๊ค คนไทยใช้ถึง 26 ล้านคน ติดอันดับ 9 จากยอดผู้ใช้ทั่วโลก ขณะที่ไลน์ น้องใหม่มาแรงมีสัดส่วนคนใช้ 26 ล้านคน

นี่คือความเป็น ปัจเจก-แปลกแยก-แปรปรวน -ยากจะอ่านใจ ของผู้บริโภคยุคนี้ ไม่ต่างจาก "โลกใบใหญ่" เผชิญความผันผวนทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภาวะโลกร้อน และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ที่กระทบประเทศเล็กๆ บนแผนที่โลก อย่าง "ไทย" แบบยากจะตั้งรับ

หลายคนเรียกสังคมแห่งความสับสนวุ่นวายนี้ว่า ยุคหลังสังคมสมัยใหม่ (Post Modern) ยุคที่ "ผู้บริโภคเป็นใหญ่" ในการกำหนดทิศทางสินค้า ซ้ำยังเรียกร้องสิทธิ์ จากองค์กรธุรกิจ จากเครื่องมือสื่อสารที่เริ่มทรงอิทธิพล มีอำนาจเทคโนโลยีที่อยู่ในมือ (Power of Technology)

ฉะนั้นการจะสร้างธุรกิจให้ยั่งยืน แบรนด์จึงต้อง "หัก"บรรทัดที่เคยวัดแบบบริบทเดิมๆ ที่พุ่งเป้าหมายไปที่ "ลูกค้า" เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป เพราะมันมีอะไรมากกว่านั้น !!

ดร.พีรยา หาญพงศ์พันธุ์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มองแนวโน้มโลกมาสู่ไทยว่า ต่อไปการทำธุรกิจและสร้างอัตลักษณ์แบรนด์จะว่ากันได้ด้วยเรื่อง "ความสัมพันธ์" (Relationship) ในทุกๆ องคาพยพ (Stakeholders) ที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ ตั้งแต่ พนักงาน ผู้ถือหุ้น พันธมิตรการค้า ตัวแทนจำหน่าย ชุมชนรอบโรงงานบริษัท รวมถึงสังคมย่อย ไปจนถึงระดับประเทศ องค์กรต่างๆ คู่แข่ง ตลอดจน องค์กรพัฒนาเอกเอกชน (NGO) รวมถึง สื่อสารมวลชน

โดยทัศนะของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีต่อแบรนด์ จะสะท้อนภาพลักษณ์ว่า แบรนด์นี้เป็นคนดี คนร้าย นักสร้างภาพ หรือนักบุญ ฯลฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อยอดขาย ตามมา
ดังนั้น สิ่งที่ผู้บริโภคยุคนี้จะถามหา คือ การทำองค์กรให้เป็น "องค์กรคนดี"

"องค์กรที่อยู่ได้คือองค์กรที่ใส่ใจผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ยิ่งเป็นองค์กรที่ธุรกิจจ๋า สุดโต่ง หากไปเทคโอเวอร์ และหวังเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรก็ผิดแล้ว หากองค์กรนั้นมีผลประโยชน์ของสาธารณะก็ต้องบริการงานตามพันธกิจ เช่น องค์กรสื่อ"

ทว่า กว่าองค์กรจะขึ้นชื่อว่าเป็นคนดี จนไปถึงระดับการยอมรับต้องใช้เวลาสั่งสมการกระทำ หรือกรรมที่เคยทำมาตั้งแต่ครั้งอดีต จึงจะปรากฏความเป็นอัตลักษณ์ (Identity) แล้วค่อยทำให้คนเห็นภาพลักษณ์ (Image) ที่จะผุดขึ้นอยู่ในใจคน ก่อนจะส่งต่อมาสู่การเป็นตราสินค้า (Brand) และสุดท้ายคือชื่อเสียงขององค์กร (Reputation)

แต่ละก้าวที่เดินไปต้องใช้เวลา ความอดทน ตลอดเส้นทางการพัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่รู้จบ กว่าจึงจะได้มาซึ่งความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น เหมือนปลูกต้นไม้ที่ต้องทำต่อเนื่องและสม่ำเสมอ หยุดไม่ได้ เธอเปรียบเปรย

ดร.พีรยา บอกว่า แบรนด์ หรือองค์กรไหนอยากครองใจผู้บริโภค หรือผู้ส่วนได้ส่วนเสียยั่งยืนยาว จึงต้องทำหน้าที่เป็น "คุณอำนวย" (Facilitate) เปิดพื้นที่ สร้างเวที ให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมกันคิด ร่วมกันสร้าง (Co-Creation) ตัดสินใจแก้ไขปัญหาโครงสร้างของสังคม หรือแม้แต่ระดับประเทศ ร่วมกัน

“ในยุคโพสต์โมเดิร์น อำนาจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะมากขึ้น ดังนั้นการบริหารงานรูปแบบเก่าที่องค์กรเดินนำหน้า ปิดทางให้ stakeholders เข้าถึงประโยชน์และทรัพยากร สุดท้ายก็เกิดความไม่พอใจ ทางที่ดีที่สุดคือการให้อำนาจผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตัดสินใจกระโดดร่วมวง-ร่วมคิดและจัดสรรทรัพยากร”

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงเห็นวิถีธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีเว็บไซต์เป็นสื่อกลางรวมเหล่า Stakeholders ให้มาเจอกัน หากใครจับทิศทางได้ ก็เพียงทำตัวเป็น "คุณอำนวย” คอยเปิดทาง ให้คนทำธุรกิจ เช่น Ensogo เว็บไซต์ ขายคูปอง ที่เป็นศูนย์กลางรวบรวมส่วนลดต่างๆ ของผลิตภัณฑ์ ขายต่อให้คนที่ต้องการสินค้าสมนาคุณราคาพิเศษ

หรือ eBay เว็บไซต์ประมูลซื้อขายสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ต เติบโตจากการนำสิ่งของจากทั่วทุกมุมโลกมาขาย ทำให้คนซื้อและคนขายทั่วโลกมาเจอกันพอดี กลายเป็นตลาดนัดที่ใหญ่ที่สุดในโลกไปแล้ว

เทรนด์นี้เคลื่อนมาสู่ไทย ทำให้เว็บไซต์เล็กๆ เติบโตเป็นหนึ่งในจุดซื้อขายแลกเปลี่ยน เช่น ขายดีดอทคอม (www.kaidee.com <http://www.kaidee.com/>) เติบโตได้จากการเปิดพื้นที่ให้คนซื้อขายแลกเปลี่ยน ในลักษณ์ตัวเชื่อม (Connector)

นอกจากการเปิดพื้นที่ มิติที่ทำให้คนยอมรับองค์กรในเรื่อง "ความดีงาม" อย่างบริสุทธิ์ใจและยืนยาว เธอเผยว่า ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม หรือการพัฒนาความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR -Corporate Social Responsibility) องค์กรต้องไม่ทำเพียงแค่แจกของ เหมือนเอาอาหารป้อนใส่ปาก ซึ่งไม่ยั่งยืน แต่ต้องเปลี่ยนเป็นวิธี "ถ่ายทอดความรู้" แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำให้เขารู้จักการหาอาหาร มีกินตลอดไป

ดร.พีรยา ยังบอกว่า องค์กรธุรกิจทั่วไป เริ่มเห็นความสำคัญของการบริหาร Stakeholders ในบริบทที่กว้างขึ้น หลังจากได้รับบทเรียนราคาแพงตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ต้มยำกุ้ง ไล่มาจนถึงแฮมเบอร์เกอร์ไครซิส สะท้อนผลกระทบแบบ "เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว"

ตั้งแต่ปี 2006 (2549) เป็นต้นมา สัดส่วนองค์กรธุรกิจทั่วโลกกว่า 58% ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อม อีก 42% เป็นส่วนที่ยังไม่ทำ เริ่มกลายเป็นคนส่วนน้อยหากไม่ก้าวไปตามก็เตรียมตัวตกเทรนด์ได้ "ดร.พีรยา" ระบุเช่นนั้น ก่อนจะบอกว่า

เทรนด์ผู้บริโภคกลุ่มหนึ่ง เริ่มเกิดกระแสหันมาทวงถามจิตสำนึกและความตื่นตัวรักษ์โลก มองหาองค์กรที่เป็นคนดีโดยเนื้อแท้ (Authentic) เริ่มเด่นชัดขึ้น เพราะผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น สิ่งใดที่ผิดปกติต่อความเป็นแบรนด์ สามารถหยิบเรื่องราวมาเล่าและฟ้องด้วยภาพผ่านโซเชียลมีเดียได้ทันที

อย่างไรก็ตาม วิถีการทำกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม ถูกตีความแตกต่างกันออกไป องค์กรไทยส่วนใหญ่ยังเน้น "การตลาดแบบป้องกัน" รับมือรูปแบบรอให้เกิดปัญหาขัดแย้งแล้วค่อยตามไปสะสาง (Defensive)

ทว่า หากเป็นองค์กรที่คิดเรื่อง "คน" เป็นศูนย์กลาง ซึ่งมีการบริหารกลยุทธ์องค์กร จะทำงานเชิงรุก สร้างสัมพันธ์กับคนทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ

แม้เทรนด์นี้จะยังรางเลือนหากพูดกันที่ความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ของไทยที่ชูประเด็นแก้ไขปัญหาสังคมอย่างจริงจัง มีไม่กี่องค์กรไทยที่กล้าทำงานเชิงรุกโดยไม่มีประเด็นในเรื่องของผลประโยชน์ธุรกิจและแบรนด์เข้ามาเป็นเครื่องมือวัดความสำเร็จ

เธอยังกล่าวว่า กรณีศึกษาในสหรัฐอเมริกา เห็นชัดว่า ธุรกิจต้องหันมาคิดทำอะไรเพื่อสังคมโดยไม่ต้องถามหาว่า จะย้อนกลับไปสู่ธุรกิจได้อย่างไร เพราะลูกค้าหรือประชาชนจะเลือกสินค้าหรือแบรนด์นั้นเพราะองค์กรนั้นทำประโยชน์ให้กับสังคมมากกว่าทำเพื่อธุรกิจ

เช่นในสังคมอเมริกัน การเลือกซื้อสินค้า ความเชื่อมั่นแบรนด์ ไม่ได้ดูว่าพวกเขาจะได้ประโยชน์อะไรจากสินค้า แต่จะมองว่าองค์กรนั้นทำอะไรเพื่อสังคม เข้าตำราของศาสตราจารย์ ฟิลลิป คอตเลอร์ นักการตลาดระดับโลก ที่มองว่า "ทุกคนมีส่วนร่วมสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้นได้"

เช่น แมคโดนัลด์ ประกาศโครงการดูแลสุขภาพให้คนในสังคม เช่น ฉีดวัคซีน ทำฟันฟรี แม้แมคโดนัลด์ อาจจะถูกสังคมบางส่วนมองว่า อาหารที่ขายเข้าข่าย Junk food
แบรนด์ที่ชัดเจนที่สุดเกี่ยวกับการตระหนักถึงสังคม คือ "The Body Shop" องค์กรที่พูดถึงสังคมยั่งยืนมาตลอด ตั้งแต่ กระบวนการผลิตแพ็คเกจจิ้ง ส่วนผสมที่นำมาผลิตทุกอย่างต้องละลายในแม่น้ำ มีจิตสำนึก เพื่อไม่เป็นคนที่เพิ่มเติมขยะให้กับโลก

สำหรับเมืองไทย เทรนด์นี้เริ่มเคลื่อนเข้ามาในระดับเริ่มต้น เริ่มมีคนหลอมรวม "ตำราการตลาดกับการประชาสัมพันธ์" เข้าไว้ด้วยกัน สะท้อนว่าธุรกิจและสังคมมาบรรจบกันในตำรา แต่สำหรับหลักการ "ปฏิบัติ" ถือว่าองค์กรไทยจะเคลื่อนทัพสู่เทรนด์นี้ยังเป็นทางเลือก ไม่ใช่กระแสหลัก เหมือนฝั่งตะวันตก

ตัวเลขบริษัท Corporateregister.com ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลด้านการเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับความยั่งยืน พบว่า มีรายงานอยู่เกือบ 50,000 ฉบับ ที่ถูกเผยแพร่กว่า 10,000 แห่งทั่วโลก ในจำนวนนี้เป็นบริษัทจากไทยเพียง 231 ฉบับ หรือ 0.47% (ข้อมูล ณ เดือน ก.ค. 2556)

จากเดิมที่มอง CSR เป็นเรื่องของการประชาสัมพันธ์ซึ่งยังขาดมิติ เริ่มปรับกระบวนทัศน์ใหม่มาสู่การสานสัมพันธ์ทุกภาคส่วนให้ร่วมมือกัน

ด้าน ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการณ์ ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ หนึ่งในองค์กรที่จัดทำดัชนีด้านความยั่งยืน (Sustainability Index) ระบุว่า การจัดทำดัชนียั่งยืน เป็นการวิเคราะห์จากรายงาน รวมถึงแบบสอบถามและข้อมูลที่เปิดเข้าไป ซึ่งต้องยอมรับว่า บางครั้งขัดแย้งกับข้อกังขาของภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำให้สังคมรับรู้ เช่น การจัดการปัญหาน้ำมันรั่ว ที่อาจจะไม่ได้ใส่ในรายงานด้านความยั่งยืน แต่อย่างไรก็ตาม การพิจารณาก็อาจจะไม่ดูเหตุการณ์ที่เหนือการควบคุม แต่จะพิจารณาถึงวิธีการจัดการปัญหามากกว่า

ต้องยอมรับตามตรงว่า องค์กรไทยเพิ่งเริ่มต้นการสร้างความยั่งยืน เสมือนเป็นจุดเริ่มของการพัฒนาข้อมูลให้มีการเปิดเผย ขณะเดียวกันผู้บริหาร หรือผู้นำองค์กรก็ต้องตระหนักถึงประเด็นนี้ควบคู่กัน จึงขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืนแท้จริงตามเทรนด์โลกได้ในอนาคต

“การทำ CSR ทำให้องค์กรยั่งยืนมากขึ้น แรกเริ่มที่เอาจริงเอาจัง เปิดเผยข้อมูลนำไปสู่การจัดทำดัชนีในประเทศ บางบริษัททำข้อมูลดี แต่ต้องดูของจริงประกอบกัน ฉะนั้นองค์กรธุรกิจที่ทำข้อมูลดีแต่มีเหตุการณ์น้ำมันรั่ว กลับไม่มีรายงาน ถือว่ายังเป็นข้อจำกัดในการให้รางวัลที่ภาคประชาชนจะรู้ได้เอง หากความจริงขัดแย้งกับรางวัล รางวัลก็ไม่สามารถอ้างอิงได้หากเกิดปัญหา “

เขาสรุปสั้นๆ ว่า องค์กรที่ทำเน้นเรื่องความยั่งยืนจริงๆ คือองค์กรที่ทำตามที่พูด “Walk the talk “ องค์กรไทยจึงต้องเรียนรู้อีกมากเพื่อให้ความยั่งยืนถูกขยายความให้องค์กรตระหนักรู้ได้จริง !!!
----------------------------------
Connecting the dots..
จุดเชื่อมต่อปัจเจก

สำหรับกลวิธีการจัดสรรเครื่องมือ หรือพื้นที่ได้โดนใจผู้บริโภคก็ต้องไม่ลืมทำการบ้านด้วยการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคนี้ ที่มีความต้องการต่างกันสุดโต่ง

ดร.พีรยา หาญพงศ์พันธุ์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จำแนกผู้บริโภคในยุค Post Modern เมื่อคนเข้าถึงข้อมูล เทคโนโลยีและการสื่อสารช่วยให้คนธรรมดาสามัญมีพื้นที่ จึงเห็นเทรนด์ 4 ประเภท คือ คนยืนอยู่บนเหตุผลเป็นหลัก ตรงไปตรงมา (Rational) เป็นขั้วตรงข้ามกับ คนช่างอ่อนไหว (Emotional)

ส่วนอีกฝั่งคือ คนที่คิดถึงแต่ตัวตนของตัวเอง (Me) คนกลุ่มนี้ตัวเองเป็นใหญ่ รักอิสระ มีความเป็นตัวตนสูง แตกต่างกับ คนที่จิตสาธารณะ ชอบทำงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (We)

เราต้องแยกแยะความต้องการของคนทั้ง 4 กลุ่มเพื่อจะทำการบ้านถอดรหัสจัดหาความต้องการได้ตรงสอดคล้องกันกับความต้องการพื้นฐาน และคุณค่าที่คนทั้ง 4 กลุ่ม เช่น

กลุ่ม คนคิดเป็นเหตุเป็นผล มักต้องการวิธีแก้ไขปัญหา ขณะที่คนอ่อนไหว มักถามหาคุณค่า (Value) ที่ตัวพวกเขาจะได้รับไปทำให้เขาอ่อนไหวด้วยกลวิธีชักจูงใจสร้างอารมณ์ร่วม ผ่านเรื่องราว หรือคุณค่าที่คนเหล่านี้ยอมรับในใจ
ฉะนั้นการจัดทำแคมเปญเพื่อดึงเขาเหล่านี้มาเป็นพวก จึงแตกต่างกัน

ส่วนคนกลุ่ม Me เป็นคนที่มีความเป็นตัวตนสูงมากๆ ต้องการให้ตัวเองเป็น คนสำคัญ (somebody) มักให้ความสำคัญกับสุขภาพ การดูแลตัวเอง สิทธิมนุษยชน
ส่วนชาว We เห็นต่างกัน เพราะพวกเขาเน้น "ความสุข" ที่เกิดจากการทำเพื่อคนอื่น มีความสนุกสนานในชีวิต

ชนารี เลาหะพงษ์พันธ์ ที่ปรึกษาด้านการวางแผนกลยุทธ์แบรนด์และพฤติกรรมผู้บริโภค การจะเข้าถึงและเข้าใจผู้บริโภคได้นั้น ต้องเข้าไปเพื่อหาข้อมูลเชิงลึก (Insight) ของผู้บริโภคในแต่ละคนถึงความพึงพอใจและความชอบ คุณค่า ค่านิยม หรือสถานภาพทางสังคม ก่อนถอดรหัสกลยุทธ์ดึงกลุ่มคนเหล่านี้เข้ามามีส่วนร่วม ผูกสัมพันธภาพกับแบรนด์ อย่างกิจกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้น คือ การณรงค์รักษ์โลกผ่านกิจกรรมการปั่นจักรยานเป็นกลุ่ม ช่วยกันลดโรคร้อนที่แต่ละคนก็ทำอยู่แล้ว แต่เมื่อรวมกันเป็นกลุ่มก็จะมีพลัง

กลยุทธ์เรียกความสนใจต่อสาธารณะจากการถอดรหัส Insight แตกต่างกันรายบุคคล เรียกว่า ต้องตีข้อมูลเชิงลึกให้แตก แล้วหาก Unique selling point หรือ จุดขายร่วมของแต่ละคน เฉพาะกลุ่ม(Niche Market) ให้มากที่สุดถึงความต้องการเฉพาะตัว โดยดึงเข้ามาสู่ "จุดร่วมภาพใหญ่" ที่ตรงกัน

โดยภาพการแบ่งผู้บริโภคออกเป็น 4 ประเภท เริ่มต้นจาก ปัจเจคบุคคล ใส่ใจกับตัวตน (Me) , คนที่ให้ความสำคัญกับสังคม ความสุขสาธารณะ (We) ตีความให้เชื่อมโยงกันก็คือการขบคิดตีโจทย์ Me ให้แตกแล้วทำให้ทุกคนมารวมกันเป็น We ที่ไม่คิดเพียงประโยชน์ส่วนตัว แต่คิดถึงส่วนรวม

ส่วนคนประเภทคิดเป็นเหตุเป็นผล (Rational) ก็ต้องอธิบายถึงหลักการแก้ไขปัญหา การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้ชีวิตง่ายขึ้น หรือ การให้พื้นที่ร่วมกันคิด อธิบายเหตุผล เปิดพื้นที่ให้ร่วมเข้ามาคิด แบ่งปันการทำงาน หรือกิจกรรม สำหรับคนอารมณ์อ่อนไหว ใช้อารมณ์เป็นหลัก (Emotional) ก็ต้องหาจุดที่เจาะเข้าไปถึงความรู้สึกของคนเหล่านี้ ว่าหากจ่ายไปแล้ว สร้างคุณค่าอย่างไร เช่น ให้กับผู้ด้อยโอกาส หากทางเชื่อมต่อคนกับองค์กรผ่านคุณค่าเหล่านี้

เทรนด์ใหม่ที่เกิดขึ้นในยุคนี้ คือการเก็บข้อมูลผู้บริโภคที่มาใช้บริการซื้อสินค้าผ่านการเป็นสมาชิก เพราะข้อมูลจากตรงนี้นำไปต่อยอดหาจุดขายแบรนด์ได้อีกมหาศาล เช่น สตาร์บัค เล่นกับสมาชิกโดยการให้ของขวัญสุดพิเศษ ตามแต้มของการใช้จ่าย ยิ่งซื้อมากยิ่งยกระดับเป็นคนพิเศษ เป็นการต่อยอดทำให้สร้างความจงรักภักดีต่อแบรนด์ กาแฟตราสัญลักษณ์นางเงือก บ่อยครั้งที่จัดกิจกรรม เปิดพื้นที่รับฟังและนำสิ่งเหล่านี้มาปรับปรุงบริการของแบรนด์ ด้วยไอเดียเจ๋งๆ จากลูกค้า

นี่คือบทบาทที่ลูกค้ารู้สึกพอใจที่ได้เป็นคนออกแบบการบริการที่เขาได้รับ จนกระทั่งเกิดเป็นชุมชนเล็กๆ "คนคอเดียวกัน" โดยเฉพาะหากเพิ่มการเชื่อมกับคนโลคอล (ท้องถิ่น) กับแบรนด์โกลบอล (โลก) ทำให้แบรนด์สตาร์บัคพาตัวเองแทรกอยู่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน หรือประเทศที่ไปเปิดสาขา จากไอเดียคนในพื้นที่ เช่น การไปรับซื้อกาแฟจากดอยม่วนใจ๋ ในไทย

วิธีคิดของสถานการณ์วางตัว ที่องค์กรจะเป็นส่วนหนึ่งของ stakeholders คือการเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตเขา (Sense of Belonging) , ให้ความเป็นเจ้าของ (Sense of Ownership)

สิ่งเหล่านี้เกิดจากการเป็น Good Listening นักฟังที่ดี คอยจับประเด็นแต่ละเรื่องราว แล้วหยิบมาเล่น เรื่องเหล่านี้ออกมาจากข้อมูลความต้องการเชิงลึกของลูกค้า ก็ย่อมถูกใจเขา

นั่นคือกลวิธีเข้าใจผู้บริโภคลูกค้า

----------------------------------------
แนวคิดหลังสมัยใหม่ (Post-modern)
เป็นกระแสที่แสดงถึงปฏิกิริยาที่ตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงของการเติบโตของเศรษฐกิจและสังคม การถูกครอบงำด้วยสื่อและเทคโนโลยี ที่ทำให้การถ่ายเทข่าวสารข้อมูลอิทธิพลทางศิลปวัฒนธรรมกลายเป็นเรื่องล้าสมัย เพื่อย้อนกลับมาทบทวนความคิดและสำนึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจากผลของการพัฒนาในโลกสมัยใหม่
กระแสความคิดแบบยุคหลังสมัยใหม่ (Post-modern) เป็นกระแสที่เน้นการวิพากษ์และตั้งคำ�ถามต่อแนวคิดของความทันสมัยที่เป็นกระแสหลักในการพัฒนาโดยมีมุมมองสะท้อนถึงแนวคิดสมัยใหม่
ที่มา..วารสารสถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ (สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สูตรองค์กรยั่งยืน ข้ามยุค Post Modern

view