สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับก้าวสู่อุตสาหกรรมยุคที่สี่

เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับก้าวสู่อุตสาหกรรมยุคที่สี่
โดย : ดร.บวร ปภัสราทร

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ไม่ว่าจะพร้อมหรือไม่พร้อมก็ตาม เราไม่อาจยืนนิ่งอยู่กับวันวาน ในขณะที่โลกก้าวสู่วันหน้าได้

ในขณะที่เราไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นผู้กำหนดทิศทางในวันหน้าของโลกได้ ความไม่พร้อมสำหรับทิศทางใหม่จึงทำให้ตัวเราด้อยค่าลงไปเรื่อยๆ ไม่มีใครหยุดรอคนที่ไม่พร้อมที่จะก้าวตามกระแสการเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าเรายังต้องอาศัยคนอื่นในการสร้างรายได้มาเลี้ย'ดูชีวิตของเรา เรายังอยากได้เงินจากแปะ แล้วบรรดาสารพัดแปะท่านบอกว่าท่านจะใช้สี่จี แต่เราจะใช้โทรศัพท์บ้านตามเดิม คงยากที่จะทำให้แปะอยากทำมาหากินกับเราอีกต่อไป


จะเชื่อมากหรือน้อยก็ตาม แต่วันหน้าเราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และไม่ได้หมายความเพียงแค่โรงงานเปลี่ยนแปลงไป แต่หมายถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมจะเปลี่ยนไปหมด เพียงแต่ว่าเราจะได้เห็นกันในบ้านเมืองเรา หรือต้องข้ามน้ำข้ามทะเลไปเห็นในบ้านอื่นเมืองอื่น ที่สำคัญไปกว่านั้นคือในวันที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างชัดเจนนั้น เรายังมีค่าสำหรับอุตสาหกรรมยุคที่สี่อยู่ต่อไปหรือไม่ เราจะทำงานเคียงข้างแปะ หรือเป็นได้แค่คนซื้อของจากแปะ หรือแย่ลงไปกว่านั้นคือเป็นแค่คนที่ยืนดูแปะและพรรคพวกมีกินมีใช้อย่างผาสุก การเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับอุตสาหกรรมยุคที่สี่ไม่ได้มีอะไรเสียหายสำหรับเราในวันนี้ แต่อาจช่วยให้เรายังมีคุณค่าในวันที่เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นแล้ว


ว่ากันว่ามีทักษะที่ต้องเตรียมไว้มีสามด้านคือ ทักษะบุคคล ทักษะกระบวนการหรือระเบียบวิธี และทักษะสังคม ว่ากันว่าทักษะที่มีบทบาทมากที่สุดในอุตสาหกรรมยุคที่สี่คือทักษะสังคม ได้แก่ การที่สามารถเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดีได้กับทุกคน รวมทั้งคนที่คิดต่างเห็นต่าง อุตสาหกรรมวันหน้าแพ้ชนะกันด้วยนวัตกรรม ซึ่งนวัตกรรมเกิดขึ้นได้ดีกว่าในวงการที่มีหลากหลายความคิด ดังนั้น จึงต้องทำงานกันให้ได้ท่ามกลางความคิดเห็นที่แตกต่าง การเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดีรวมไปถึงสามารถสร้างความน่าเชื่อถือไว้วางใจในหมู่คนที่ทำงานด้วยกันด้วย ไม่ใช่แค่รู้จักทักทายกันไปวันหนึ่งๆ แต่ต้องทำงานด้วยกันอย่างไว้วางใจกันได้ และเมื่อไว้วางใจกันแล้วก็ต้องมีทักษะในการแบ่งปันความรู้ รู้ตัวว่าอะไรต้องแบ่ง อะไรต้องเก็บ แบ่งความรู้แค่ไหนที่ต่างคนต่างได้ประโยชน์โดยที่หน่วยงานได้คุณค่าใหม่ๆ จากประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการแบ่งบันความรู้ระหว่างเพื่อนร่วมงานอย่างเหมาะสม อุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมยอมรับความแตกต่างทางความคิด จึงเน้นทักษะในการหาข้อสรุปจากความคิดเห็นที่แตกต่างนั้น แต่เป็นข้อสรุปจากความพยายามที่จะสรุปของทุกคน ไม่ใช่ข้อสรุปจากการยอมรับความเห็นของคนใหญ่โตในหน่วยงานนั้น อุตสาหกรรมยุคที่สี่รวมการความคิดเห็นที่แตกต่างให้กลายเป็นข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ได้ ดังนั้นถ้าวันนี้ใครคิดว่าต้องให้คนมีความคิดเหมือนกันสิบประการร้อยประการ แต่ไม่ต้องการความคิดที่แตกต่างสองสามประการ คนนั้นไม่เหมาะที่จะทำงานในสภาพที่ใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนคุณค่าใหม่ๆ


ทักษะระเบียบวิธีการ หรือบางคนเรียกรวมๆ ว่าทักษะกระบวนการนั้น ไม่ได้เน้นทักษะสำหรับการทำงานประจำ แต่เน้นทักษะในการบริหารจัดการความรู้ ใช้ความรู้เก่ามาประยุกต์กับบริบทใหม่ได้ ใช้ความรู้ของเพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่ความรู้ของคนอื่นมาดัดแปลงใช้กับงานของเราได้ ทักษะนี้คล้ายๆ กับที่รู้จักกันในบ้านเราว่า R2R ที่ท่านประธานคณะกรรมการอุดมศึกษาท่านหนึ่งได้แนะนำให้คนในวงการสาธารณสุขได้นำมาใช้ในการปรับปรุงการทำงานประจำ และต่อมาก็ขยายวงเข้ามาสู่วงการอุดมศึกษา ทักษะนี้ทำให้คนทำงานไม่ได้ทำงานไปวันหนึ่งๆ โดยไม่สังเกตว่าอะไรบ้างที่เป็นปัญหาให้การงานไม่ได้ผลดี จึงช่วยให้มีการปรับปรุงการทำงานกันอยู่ตลอดเวลา แต่คราวนี้ไม่ได้จำกัดขอบเขตการแสวงหาวิธีการที่ดีกว่าเพียงเฉพาะที่ตนรู้ตนคิดตนเห็นได้เท่านั้น ยังต้องเปิดกว้างที่จะยอมรับความรู้จากคนอื่นมาเติมเต็มอีกด้วย


การทำ R2R แบบอุตสาหกรรมยุคที่สี่นั้นต้องเกี่ยวข้องกับความรู้จากบุคคลภายนอกค่อนข้างมาก และมักไม่ได้มาฟรีๆ เหมือนการวิจัยพื้นฐานที่กระทำกันอยู่ จึงจะไม่ประสบความสำเร็จได้เลยหากไม่มีระเบียบวิธีที่จะสื่อสารระหว่างกันที่ดี ไม่มีระเบียบวิธีที่ดีสำหรับการเจรจาต่อรองกันอย่างเป็นระบบ ไม่มีวิธีการในการวัดผลความคืบหน้าในการเจรจาตกลงกันนั้น ทักษะนี้ท่านใดค้าขายเก่งๆ อยู่แล้วคงบอกว่าง่ายมาก แต่ต้องเน้นว่าไม่ใช่แค่เจรจาต่อรองในเรื่องเดิมๆ ไม่ใช่แค่เซียนวาทะ ต้องเจรจาตกลงกันให้ได้ความรู้ที่ได้มาแล้วเราก็มีคุณค่าใหม่ๆ เกิดขึ้น คนให้เราก็ได้ประโยชน์อื่นนอกเหนือไปจากเงินทองที่เราซื้อความรู้นั้น


ทักษะบุคคลที่สำคัญที่ต้องมีคือคิดเป็น วิเคราะห์เป็น เสี่ยงเป็น ทำงานโดยใช้ความคิด โดยมีการวิเคราะห์ โดยกล้าที่จะเสี่ยงอย่างชาญฉลาด ไม่ใช่ทำงานตามที่สั่ง หรือทำงานไปแก้ตัวไปในแต่ละวัน ซึ่งว่าไปแล้วแทบทุกคนในบ้านเราก็มีทักษะนี้กันอยู่แล้ว เพียงแต่วงการของท่านจะยอมให้ท่านใช้ทักษะนี้มากน้อยเพียงใด หรือใช้ในทางที่ทำให้เกิดคุณค่าใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ได้หรือไม่เท่านั้น


ทักษะทั้งสามจะเป็นประโยชน์กับชีวิตของเราแน่ๆ แต่จะเป็นประโยชน์กับหน่วยงานของเราหรือไม่นั้น ขึ้นกับคนที่เป็นผู้นำ คงไม่มีใครรับรองได้ว่าอดีตผู้นำที่ยิ่งใหญ่ในอดีตจะทำได้ดีเท่ากับผู้นำธรรมดาๆ คนหนึ่งในปัจจุบันที่มีบริบทแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับอดีต


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เตรียมตัวให้พร้อม ก้าวสู่อุตสาหกรรมยุคที่สี่

view