สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ลมหายใจค้าปลีก คอมมิวนิตี้มอลล์ (2)

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์เรื่องราวกับความคิด

คอลัมน์เรื่องราวกับความคิด โดย วิรัตน์ แสงทองคำ viratts.wordpress.com

สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ แสดงบทบาทในฐานะผู้บุกเบิกพัฒนาธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบใหม่ ๆ โดยใช้เวลาเพียงทศวรรษเดียว

เมื่อพิจารณาข้อมูลจำเพาะ แสดงพัฒนาการบริษัทหนึ่งที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับบริษัทลักษณะใกล้เคียงกัน คือ เซ็นทรัลพัฒนา (ซีพีเอ็น) ของกลุ่มเซ็นทรัล ให้ข้อมูลที่แตกต่างกันพอสมควร ซีพีเอ็นมีผลประกอบการ (2556) ที่ดีกว่ามาก มีรายได้มากถึงระดับ 20,000 ล้านบาท มีกำไรถึง 5,000-6,000 ล้านบาท แต่ทั้งนี้เมื่อพิจารณาเชิงพื้นที่พบว่า ซีพีเอ็นเป็นผู้สร้างพื้นที่ค้าปลีกในรูปแบบดั้งเดิมให้กับเครือเซ็นทรัล ในฐานะผู้เช่าหลักเพียงรายเดียวมากถึงประมาณ 1.4 ล้านตารางเมตร ขณะที่สยามฟิวเจอร์ฯปัจจุบันมีพื้นที่เช่าเพียงระดับ 4 แสนตารางเมตรให้กับผู้เช่าหลักหลากหลาย

ที่สำคัญมิติทางธุรกิจสยามฟิวเจอร์ฯนำเสนอรูปแบบธุรกิจค้าปลีก สะท้อนแนวโน้มและกระแสสังคมได้อย่างน่าทึ่ง

"บริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2537 โดยนายพงศ์กิจ สุทธพงศ์ และนายนพพร วิฑูรชาติ ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท เพื่อประกอบธุรกิจด้านการพัฒนาและบริหารศูนย์การค้าประเภทศูนย์การค้าแบบเปิด

ในปี 2538 บริษัทได้เปิดดำเนินการโครงการมาร์เก็ตเพลส บางบอน ซึ่งเป็นศูนย์การค้าชุมชน (Neighborhood Shopping Center) แห่งแรกของบริษัท โดยมีจัสโก้ ซุปเปอร์มาร์เก็ตเป็นผู้เช่าหลัก (Anchor)

ในปี 2539 บริษัทได้เปิดดำเนินการศูนย์การค้าชุมชนแห่งที่ 2 และ 3 ได้แก่ โครงการมาร์เก็ตเพลส ประชาอุทิศ และมาร์เก็ตเพลส สุขาภิบาล 3 โดยปัจจุบันมีจัสโก้ ซุปเปอร์มาร์เก็ต และท็อปส์ มาร์เก็ตเป็นผู้เช่าหลักตามลำดับ" ข้อมูลที่นำเสนอแนะนำบริษัทอย่างเป็นทางการ (จาก http://www.siamfuture.com/) มี Key Words ที่น่าสนใจ



ผู้ก่อตั้งและทีมบริหาร

นพพร วิฑูรชาติ (อายุขณะนั้นประมาณ 30 ปี) และ พงศ์กิจ สุทธพงศ์ (อายุขณะนั้นประมาณ 34 ปี) เป็นคนหนุ่มที่มีประสบการณ์ร่วมกันในฐานะวิศวกรยุคใหม่ มองโอกาสใหม่ ๆ ในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้นเช่นเดียวกันคนอื่น ๆ ในช่วงเวลาก่อนวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่

ทั้งสองทำงานอยู่ใน บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล เอนยิเนียริ่ง (ไออีซี) กิจการค้าเทคโนโลยีและสื่อสารเก่าแก่อยู่ใน เครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจีในปัจจุบัน) ช่วงหนึ่ง (2527-2533) ก่อนขายกิจการออกไป นพพร วิฑูรชาติ ทำงานเป็นวิศวกรในช่วงสั้น ๆ (2530-2533) จากนั้นเข้าสู่ธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัว มีฐานธุรกิจในฐานะเจ้าของตลาดเก่ามีนบุรี ถือเป็นการสร้างประสบการณ์สำคัญในการเรียนรู้ระบบเช่าอสังหาริมทรัพย์แบบคลาสสิก (ตั้งแต่ปี 2533) พัฒนาการดังกล่าวเชื่อมโยงไปสู่ธุรกิจค้าปลีกรูปแบบใหม่ นพพร วิฑูรชาติ เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นผู้บริหารหลัก (ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอ) ของสยามฟิวเจอร์ฯตั้งแต่ต้น

ส่วน พงศ์กิจ สุทธพงศ์ ทำงานที่ไออีซีอย่างต่อเนื่อง (2529-2537) ในฐานะผู้มีประสบการณ์เกี่ยวกับการสื่อสารไร้สายยุคแรก ๆ และเป็นผู้บริหารกิจการสมัยใหม่ ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทั้งทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีการสื่อสาร เขามีส่วนสำคัญในความเป็นไปของสยามฟิวเจอร์ฯในยุคก่อตั้งในฐานะผู้มีประสบการณ์ที่กว้างขวาง โดยเฉพาะว่าด้วยดีล (Deal) และเทคโนโลยีซึ่งมีความจำเป็นในการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ

เมื่อกิจการก้าวหน้าไปอีกระดับหนึ่ง สยามฟิวเจอร์ฯได้เสริมทีมบริหารนั่นคือ การมาของ อรณพ จันทรประภา ประธานกรรมการ และ สมนึก พจน์เกษมสิน กรรมการผู้จัดการ ทั้งสองมีประสบการณ์ร่วมกับผู้ก่อตั้งที่ไออีซีเช่นเดียวกัน อรณพ จันทรประภา มีประสบการณ์อย่างเข้มข้นที่เอสซีจี (2523-2533) ในฐานะผู้บุกบิกธุรกิจการค้าเกี่ยวกับเทคโนโลยี จากนั้นเป็นผู้บริหารไออีซียุคใหม่ (2533-2536) สามารถนำกิจการเข้าตลาดหุ้นในช่วงเวลาที่ดีที่สุดช่วงหนึ่ง ส่วนสมนึก พจน์เกษมสิน มีประสบการณ์ด้านบริหารการเงินกับไออีซีในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ (2534-2542) โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีประสบการณ์ท่ามกลางวิกฤตด้วย

สยามฟิวเจอร์ฯก้าวกระโดดครั้งสำคัญในช่วงเข้าตลาดหุ้นmaiในปลายปี2545และสามารถสู่ตลาดหลักได้ในต้นปี2547

เรื่องราวการสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ ๆ อย่างน่าทึ่ง สามารถมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ (สอดคล้องกับแนวความคิดการบริหารสมัยใหม่ โดยเฉพาะแนวคิด "10-year rule" หากสนใจโปรดอ่าน หนังสือ Under-standing Creativity โดย Piirto, J.)

ค้าปลีกรูปแบบใหม่

การดำเนินธุรกิจ "พัฒนาและบริหารศูนย์การค้าประเภทศูนย์การค้าแบบเปิด" (Open-air Shopping Center) เป็นการพัฒนาจากกรณีจุดเริ่มต้นที่กล่าวกันว่า Jusco แห่งญี่ปุ่นติดต่อเช่าที่ดินในรูปแบบดั้งเดิมของครอบครัว "วิฑูรชาติ" เพื่อสร้างห้างสรรพสินค้า นพพร วิฑูรชาติ มองเห็นโอกาสทางธุรกิจที่กว้างขึ้น เสนอแผนการพัฒนาพื้นที่ให้ Jusco เช่าในระยะยาว กลายเป็นโมเดลเริ่มต้นกิจการในรูปแบบใหม่ จากนั้นในเวลาต่อมาสยามฟิวเจอร์ฯเข้าเป็นสมาชิก International Council of Shopping Centers (ICSC) นับเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง ควรอ้างอิง ICSC แห่ง New York เป็นฐานข้อมูล ความรู้ ข่าวสารว่าด้วยธุรกิจค้าปลีกในกระแสโลก (โปรดพิจารณา http://www.icsc.org/) เชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับพัฒนาการธุรกิจสยามฟิวเจอร์ฯทั้งรูปแบบที่หลากหลาย โดยให้ความสำคัญกับการออกแบบ (Design) และยึดทำเลที่หลากหลายจากโอกาสที่เริ่มจากชานเมืองสู่ใจกลางเมือง ฯลฯ

ผู้เช่าหลัก (Anchor)

สยามฟิวเจอร์ฯมีโมเดลเหมือนกับซีพีเอ็นตรงที่มีผู้เช่าหลักเป็นแม่เหล็ก แต่ที่แตกต่างกันอย่างมากที่ซีพีเอ็นมีเพียงกลุ่มเซ็นทรัลเป็นผู้เช่าหลักเท่านั้น สยามฟิวเจอร์ฯกลับมีผู้เช่าหลักหลากหลาย รวมทั้งกิจการในกลุ่มเซ็นทรัลเอง (Tops Market) ในรูปแบบธุรกิจที่หลากหลายจากโมเดล Super Market กรณี Jusco, MaxValu, Villa Market, Tesco Lotus Express ไปจนถึงโมเดลเครือข่ายศูนย์บริการรถยนต์ B-Quik ที่สำคัญสยามฟิวเจอร์ฯได้พัฒนาสายสัมพันธ์จากผู้เช่าหลักมาเป็นผู้ร่วมทุน

-- ปี 2546 กลุ่มเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เข้าถือหุ้นในสยามฟิวเจอร์ฯโดยตรงในสัดส่วน 25% บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป มีเครือข่ายโรงภาพยนตร์เป็นธุรกิจหลักถึง 76 สาขา 479 โรง นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจลานโบว์ลิ่ง คาราโอเกะ ลานสเกตน้ำแข็ง อสังหาริมทรัพย์ และศูนย์สุขภาพ

-- ปี 2552 ลงทุนในโครงการ Mega Bangna ร่วมทุนกับ IKEA เครือข่ายธุรกิจระดับโลกแห่งสวีเดน ถือเป็นดีลสำคัญ หนึ่ง-การร่วมทุน นำกิจการที่มีชื่อเสียงระดับโลกเข้ามาเมืองไทย สอง-พัฒนารูปแบบค้าปลีกใหม่ที่มีขนาดใหญ่อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในเมืองไทย สร้างกระแสค้าปลีกรูปแบบใหม่

สยามฟิวเจอร์ฯกับพันธมิตรธุรกิจ เป็นโมเดลธุรกิจเฉพาะ จะสร้างโมเมนตัมพัฒนาการในขั้นต่อ ๆ ไป


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ลมหายใจค้าปลีก คอมมิวนิตี้มอลล์

view