สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พี่ขา..หนูลาก่อน : สัญญาณสื่อว่า น่าลาออก

พี่ขา..หนูลาก่อน : สัญญาณสื่อว่า น่าลาออก
โดย : พอใจ พุกกะคุปต์
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ช่วงวันหยุดยาว ถือเป็นวาระดีที่มืออาชีพได้นั่งพักใจ ได้ใคร่ครวญ เหลียวหลังแลหน้า มีเวลาไล่เรียงทั้งความเห็น และความรู้สึก เพื่อตรึกตรอง

มองอนาคตตน โดยเฉพาะพวกเราหลายคนที่มีปัญหาละม้ายคล้ายกัน

“เซ็งงาน!”

ในชีวิตความเป็นมืออาชีพ แทบทุกคนเคยฝัน เคยวางแผน เคยพยายาม เคยอยาก..เปลี่ยนงาน

ต่างกรรม ต่างวาระ ด้วยสาเหตุหลากหลาย

แต่ส่วนใหญ่มักระงับยับยั้งชั่งใจ และในที่สุด ก็หยุดอยาก เพราะคนส่วนใหญ่มักไม่ชอบความเปลี่ยนแปลง

โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสำคัญ คือการย้ายงาน ที่ไม่ควรหุนหันพลันแล่น ใช้เพียงอารมณ์เป็นตัวบ่มการตัดสินใจ

กระนั้นก็ดี..

หากมีเหตุสมควรต้องคิดเปลี่ยนงานอย่างจริงจัง มืออาชีพก็ควรตั้งสติ ตั้งใจดำเนินการอย่างสุขุมรอบคอบ เพื่อตอบโจทย์ทั้งตนเอง และองค์กร

อาจารย์ Tomas Chamorro-Premuzic ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาธุรกิจ Business Psychology แห่งมหาวิทยาลัยชื่อดัง Columbia University มีข้อแนะนำให้พี่ น้า อา หลาน ในที่ทำงานใช้ประกอบการพิจารณาว่า..ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่จะนั่งหางานใหม่อย่างเอาจริงเอาจัง

ทั้งนี้ การหางานใหม่กลายเป็นเรื่องธรรมดาในยุคปัจจุบัน LinkedIn ซึ่งเป็น social media โด่งดังสำหรับคนทำงาน ทำการวิจัยเรื่องนี้ ปรากฏว่า..
จากสมาชิกจำนวน 313 ล้านที่เขามี

25% เป็นมนุษย์มืออาชีพที่หางานอย่าง active หรืออีกนัยหนึ่ง ประกาศหาซึ่งๆหน้า อย่างตรงไปตรงมา...หางานคร้าบ

อีก 60% เป็นคนหางานแบบ passive หรือ เป็นคนทำงานปกติ มิได้ริเริ่มหางานใหม่ในเชิงรุก แต่หากมีที่ไหนดีโดนใจไปเสนอ ก็พร้อมสนอง มองลู่ทางใหม่

รวมกันแล้ว มีเหลือเพียง 15% ที่ไม่ปันใจให้ใครอื่น ขอยืนหยัดในงานเดิม

องค์กรและหัวหน้า กรุณาตื่นขึ้นมาเร่งดูใจคน สำรวจปัญหาภายในองค์กร ก่อนจะเสียคนดีๆ

เพราะเหตุสำคัญที่ทำให้คนมองหาที่ใหม่ มิใช่อื่นไกลที่ไหน.. “พี่หัวหน้างานโดยตรง”

จากการวิจัยของอาจารย์ ปัจจัยที่ทำให้คนทำงานเครียดสุดๆ อันดับแรก คือ..

“ความสัมพันธ์อันไม่ดีกับหัวหน้า”

75% ของคนทำงานระบุว่า ปัญหาหนักหน่วงสุดในการทำงาน คือ หัวหน้าหนูเอง

ทั้งนี้ อาจารย์ให้คำปรึกษาว่า อย่าด่วนใช้อารมณ์ชั่ววูบเป็นตัวตัดสินว่า ข้าขอลาออก!

แต่หากใคร่ครวญแล้วมามีสาเหตุเด่นชัด ก็..จัดไป

รุกหาที่ใหม่ได้..สมควร!

จากการวิจัยเรื่องการลาออก อาจารย์ชี้ว่า หากมีเหตุเข้าข่าย 5 ประเด็นนี้ ถือเป็นตัวบ่งชี้ว่า อาจน่าจะถึงเวลาหาใหม่

1.มีปัญหากับเจ้านาย

ก่อนอื่นใด ยามที่มีปัญหากับหัวหน้างาน ต้องพยายามหาสาเหตุว่าส่วนใดเกิดจากตัวเรา เช่น มาสายประจำ ทำพลาดเสมอ พลั้งเผลอขาดความรับผิดชอบ ฯลฯ ก็ต้องเร่งปรับที่ตน เพราะปัญหามิใช่อยู่ที่คนอื่น

ดิ้นรนไปอยู่กับใคร เขาก็ไม่ปราณี

แต่ เมื่อปรับแล้ว ก็ยังไม่ใช่ ยังไม่มีความสุข ยังทุกข์ทุกวัน ยังรู้สึกถูกกดดันโดยหัวหน้า แม้จะหารือกันหลายรอบ ก็ยังไม่ตอบโจทย์กันและกัน

ถือเป็นสัญญาณหนึ่งว่า น่าจะมองหาที่ใหม่ดีไหมน้อง

2.รู้สึกว่าไม่มีใครเห็นคุณค่า

ก่อนอื่นใด ต้องมั่นใจว่าเรามีคุณค่าต่องานก่อน

แต่เมื่อใดรู้สึกว่า แม้มีของดีๆให้ แต่เหมือนไร้ค่า ไม่มีราคา ไม่มีความหมายในที่ทำงาน หัวหน้าชมไม่เป็น ทำดีไม่มีคนเห็น

หรือสิ่งที่ทำเป็น ทำเก่ง กลับไม่ใช่สิ่งที่หน่วยงานต้องการ

อาจเป็นสัญญาณอีกหนึ่งตัว ที่สั่นระรัวลั่นเตือนภัยให้เรามองหาที่ใหม่

เพราะอยู่ไปก็บั่นทอนจิตใจ ตลอดจนกัดกินความมั่นใจในตนเอง

3.รู้สึกว่าทำงานไม่เต็มศักยภาพ

เมื่อใดที่บริบทงานส่งผลให้ฉันทำงานไปแบบเรื่อยๆ เฉื่อยแฉะ หลับตาทำได้ ไม่ต้องใส่ใจ ไม่ต้องใช้ความพยายาม

เมื่อนั้น คือสัญญาณว่า เรายังมี “ของ” อีกมาก แต่ไม่อยาก หรือไม่มีโอกาสใช้

เมื่ออยู่ไปแบบวันๆ ผลงานก็จะออกมาแกนๆ

เข้าวงจรอุบาทว์แบบลงตัว

คนไม่เห็นผลงาน (เพราะไม่ค่อยมีให้เห็น)

เลยไม่มีคำชื่นชม

หัวหน้าจึงมีเหตุผสมโรง ส่งสัญญาณว่า..คุณไม่ค่อยมีค่าสำหรับผมอะ

4.อยู่เพื่อเงินประการเดียว

มืออาชีพ เราเอาเวลามาทำงานเพื่อแลกกับหลายสิ่ง

เถียงไม่ได้ว่าหนึ่งในนั้น คือ ผลตอบแทน

เพราะเราต้องอยู่ ต้องใช้ มีใครๆ ที่เราต้องดูแล

กระนั้นก็ดี หากพี่ก็ไม่รัก เครียดอีกต่างหาก งานก็งั้นๆ อยู่แบบซังกะตาย เพียงเพราะรายได้ประการเดียว

ถือเป็นสัญญาณว่า เริ่มมองหาที่ใหม่ที่มีรายได้เช่นกันเถิด

5.ไม่ได้เติมความรู้และประสบการณ์ใหม่

จากการวิจัยคนทำงาน มืออาชีพที่ประสบความสำเร็จ และมีความสุขในที่ทำงาน คือ คนที่ได้เติบโต อาทิ มีงานใหม่ที่ได้เรียนรู้ ได้ประสบการณ์ใหม่เพิ่ม มีโอกาสในการพัฒนา หรือได้ตำแหน่งที่สูงขึ้น

น้ำนิ่ง เน่าง่าย ฉันใด

เรานิ่งเมื่อไร ย่อมมีโอกาสเน่าง่าย ฉันนั้น

สรุปว่า บางครั้ง การกล้าตัดสินใจก้าวใหม่ไปข้างหน้าในเวลาและบริบทที่เหมาะสม

ถือเป็นก้าวที่สำคัญและจำเป็นยิ่งของมืออาชีพ



สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พี่ขา หนูลาก่อน สัญญาณสื่อว่า น่าลาออก

view