สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เกม Takeover

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ คิดวิเคราะห์แยกแยะ โดย วีระพงษ์ ธัม www.facebook.com/10000Li


ผมประชุมผู้ถือหุ้นปีนี้ กระแสหลักที่พูดถึงกันอย่างต่อเนื่องค่อนข้างมาก คือการครอบครองกิจการ หรือการ Takeover ธุรกิจ ซึ่งหมายถึงการที่บริษัทหนึ่งเข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่อีกบริษัทหนึ่ง บางครั้งเราก็เรียกในภาษาทางการเงินว่า Merger and Acquisition (M&A) แม้ว่าการเข้าซื้อกิจการในแต่ละแบบอาจมีความแตกต่างในประเด็นเรื่องกฎหมายบ้าง แต่ล้วนมีความหมายใกล้เคียงกันในเชิงเศรษฐกิจของบริษัท ในฐานะนักลงทุนผมคิดว่าทั้งหมดเป็นเรื่องเดียวกัน และเป็นกระแสที่เกิดขึ้นในตลาดทุนไทย ซึ่งนักลงทุนควรจะปรับตัวเพราะมันจะเกิดบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ

การซื้อกิจการนั้นเป็นข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งแน่นอนว่าถ้าบริษัทเราเป็นผู้ซื้อ ผู้บริหารย่อมเล่าให้ฟังถึงโอกาสมากมายที่บริษัทจะสามารถทำกำไรได้ในอนาคต

หลายๆ ครั้งการ Takeover ก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงามนั่นคือ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทจำนวนมาก เช่น Disney ซื้อ Pixar และทำให้ Disney สามารถสร้างตัวการ์ตูนอย่าง Toy Story, Nemo, Cars มาเป็นขวัญใจเด็ก และเพิ่มมูลค่าในทุกช่องทางของบริษัทได้ หรือการที่ Exxon ซื้อ Mobil ก็ช่วยให้สามารถขึ้นมาเป็นผู้นำธุรกิจ Oil & Gas ของโลก หรือบริษัท P&G ซื้อบริษัทใบมีดโกน Gillette ก็ช่วยต่อเติมความแข็งแรงในเรื่องความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ และยังช่วยให้สามารถต่อรองกับ Retailer ได้ดียิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันการซื้อกิจการที่ล้มเหลวก็มีมากเช่นกัน และผมคิดว่ามีมากกว่าที่สำเร็จด้วยซ้ำ เช่น การที่บริษัท Daimler Benz ซื้อ Chrysler เพื่อหวังเข้าตลาดสหรัฐอเมริกา แต่ก็ต้องล้มเหลวอย่างหนัก เนื่องจาก "วัฒนธรรม" ของสองบริษัทที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง หรือการที่บริษัทสื่ออย่าง AOL ซื้อ Time Warner ก็ไม่ได้ช่วยให้เกิด Synergy อะไร ซ้ำร้ายการซื้อขายเกิดขึ้นในช่วง Internet Bubble ทำให้ราคาที่ AOL ต้องจ่ายซื้อ Time Warner แพงเกินไป กระทั่งต้องล้มเหลว

ดังนั้น ด้วยองค์ประกอบหลาย ๆ อย่าง ทำให้การซื้อกิจการที่ประสบความสำเร็จนั้นข้อจำกัดที่นักลงทุนควรพิจารณาอย่างรอบคอบ และไม่ควรจะเชื่อผู้บริหารง่ายจนเกินไป ซึ่งผมคิดว่าส่วนสำคัญที่สุดเรื่อง Takeover นั่นคือการเกิด "Synergy" หรือการที่ 1+1 ต้องได้ผลลัพธ์มากกว่า 2

เหตุผลที่เราต้องพิจารณา Synergy เป็นหลักใหญ่ เนื่องจากโอกาสที่บริษัทจะสามารถ Takeover บริษัทอื่น ๆ ในราคาถูกนั้นมีน้อย ผู้ขายย่อมอยากขายในราคาแพงที่สุด ถ้าไม่มีเหตุผลบางอย่าง เช่น เหตุผลทางการเงิน ส่วนการเกิด Synergy นั้นสามารถเกิดขึ้นได้ในหลาย ๆ ส่วน เช่น ทำให้บริษัทมี Economies of Scale/Scope ดีขึ้น สามารถลดต้นทุนบางอย่างได้ ขยายสินค้าได้หลากหลายขึ้น และสิ่งที่ต้องคิดมากกว่านั้นคือการ Synergy ต้องเกิดขึ้นในเงื่อนไขที่ไม่ยากจนเกินไป เพราะการ Synergy ที่ได้ผลดีมักจะสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ของการควบรวมธุรกิจ นั่นหมายถึงทรัพยากรบางอย่างของบริษัทสามารถนำไปช่วยอีกบริษัทได้ทันที ซึ่งส่วนมากจะต้องอยู่ในธุรกิจที่ใกล้เคียงกันมาก เพราะใช้ทรัพยากรร่วมกันได้ และสามารถตัดลดต้นทุนส่วนที่ซ้ำซ้อนได้ ดังนั้น การ Takeover ธุรกิจที่แตกต่างกันมาก ๆ ย่อมหา Synergy ได้ยากกว่า

ปัจจัยความสำเร็จอีกมิติหนึ่ง ซึ่งอาจจะสำคัญกว่าคือ เรื่องทรัพยากรคน ว่าเพียงพอหรือไม่ และผู้บริหารมีความสามารถที่จะจัดการได้หรือไม่ รวมไปถึง "พนักงาน" ตั้งแต่ฝ่ายบริหารรวมไปถึงพนักงานระดับปฏิบัติการ ซึ่งจะต้องทำงาน "ร่วมกัน" ได้ใน "วัฒนธรรมใหม่" และมี "ความสุข" กับสิ่งที่เกิดขึ้น

บริษัทที่มีการทำ M&A มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกคือ Berkshire Hathaway ของบัฟเฟตต์

บัฟเฟตต์บอกเสมอว่า หน้าที่ของตัวเองคือทำให้ผู้บริหารบริษัทที่ Takeover มาทำงานอย่างมีความสุขกว่าเดิม ถ้าบริษัทสองบริษัทจะต้องมีการทำงานร่วมกันมาก ปัจจัยเรื่องคนก็เป็นปัจจัยสำคัญมาก ไม่เช่นนั้นการ Takeover อาจจะทำให้องค์กรต้องสูญเสีย "คนเก่ง" บางคนออกไป หรือทำให้เคลื่อนตัวได้ยากในระยะยาว แม้ว่าจะดูเติบโตได้อย่างรวดเร็วในระยะสั้น

สิ่งสุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือ จำไว้ว่าการ Takeover ไม่ใช่เรื่องยาก และมันก็ไม่ใช่ข่าวดีอะไรขนาดนั้น เหมือนคุณจะซื้อรถหรือซื้อบ้าน ซื้อง่ายมาก แค่กำเงินในจำนวนที่เพียงพอไปหาผู้ขาย แต่ "คำถามที่สำคัญกว่า" คือซื้อมาแล้วสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือขายทำกำไรได้หรือไม่นั้น ยากกว่าหลายเท่าตัว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เกม Takeover

view