สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปรับองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ธุรกิจสะท้อนปัญหาว่า ระบบการศึกษาไม่สามารถป้อนคนที่พร้อมทำงานได้ ทำให้ต้องเสียเวลาในการอบรมให้ความรู้เพื่อให้พนักงานใหม่สามารถทำงานได้

ภาคธุรกิจต้องเสียเวลาในการอบรมให้ความรู้เพื่อให้พนักงานใหม่สามารถทำงานได้ ไม่ต่ำกว่า 1–2 ปี

แสดงว่า ภาคธุรกิจจะต้องจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานใหม่ที่ยังไม่พร้อมในการทำงาน แต่กลับต้องเสียเวลาและทรัพยากรเพื่อทำให้พนักงานคนนั้นสามารถทำงานได้!

และในข้อเท็จจริงที่เป็นที่ยอมรับกันก็คือ เมื่อพนักงานใหม่พอที่จะใช้งานได้ ต่างก็จะลาออกเพื่อไปหางานที่ได้รับเงินเดือนดีกว่า เพราะสามารถทำงานเป็น

เรื่องดังกล่าว เป็นปัญหาไม่น้อยสำหรับภาคธุรกิจ ซึ่งธุรกิจขนาดใหญ่อาจมีทรัพยากรรองรับมากพอสำหรับการสูญเสียต้นทุนในการพัฒนาคนเหล่านี้ไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่สำหรับธุรกิจขนาดเอสเอ็มอีแล้ว เป็นเรื่องที่กระทบกับต้นทุนการทำธุรกิจมากพอสมควร

แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาเด็กจบใหม่จากมหาวิทยาลัย ไม่พร้อมที่จะทำงานได้ เป็นเรื่องที่องค์กรธุรกิจต้องหาวิธีแก้ไขด้วยตัวเอง

วิธีหนึ่งที่นิยมนำมาใช้กันก็คือ การสร้างระบบจัดการความรู้เพื่อให้องค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจสามารถถ่ายทอดไปยังพนักงานผู้ปฎิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ปัญหาก็ยังเกิดขึ้น เนื่องจากประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของบุคคลากร ไม่สามารถย่อยหรือรับองค์ความรู้ที่แฝงอยู่ในองค์กรได้

ดังนั้น แนวคิดของการพัฒนาองค์กรธุรกิจในสมัยใหม่นี้ก็คือ การพัฒนาให้พนักงานสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง เพื่อทำให้การปฏิบัติงานสามารถพัฒนาไปได้ตามระดับความรู้ของพนักงานที่สร้างขึ้นได้ด้วยระบบการเรียนรู้ของตนเอง

นักวิชาการในต่างประเทศที่ศึกษาวิจัยเรื่องการพัฒนาระบบองค์ความรู้ในองค์กรธุรกิจขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอี ได้สรุปความแตกต่างระหว่างเกี่ยวกับการสอนงานหรือการถ่ายทอดความรู้ในการทำงานระหว่างองค์กรขนาดใหญ่และเอสเอ็มอี ไว้ ดังนี้

1. ในธุรกิจระดับเอสเอ็มอี การบันทึกองค์ความรู้ต่างๆ ยังมีอยู่น้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นความรู้ที่ฝังอยู่ในตัวของพนักงานที่ทำงานมานาน หรือในตัวของเจ้าของธุรกิจ ความรู้เหล่านี้จะมีการถ่ายทอดไปยังพนักงานคนอื่น ก็ต่อเมื่อเจ้าขององค์ความรู้ ต้องการที่จะถ่ายทอด ซึ่งบ่อยครั้ง เจ้าขององค์ความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์หรือความชำนาญเฉพาะตัว ไม่มีความสามารถหรือทักษะในการถ่ายทอด

2. เนื่องจากองค์ความรู้ของเอสเอ็มอี ถูกฝังอยู่ในตัวบุคคลที่ทำงานมาด้วยความชำนาญ ดังนั้น องค์ความรู้เหล่านี้จึงผสมผสานกันระหว่างความรู้เชิงกว้างหรือความรู้ทั่วไป และความรู้เชิงลึกซึ่งเป็นทักษะชั้นสูง การที่บุคคลมีความรู้ในทั้ง 2 มิตินี้ จึงทำให้พนักงานที่จะมารองรับการถ่ายทอดมองเห็นแต่องค์ความรู้เชิงกว้าง ซึ่งบางครั้งอาจเป็นความรู้ทั่วๆ ไปหรือความรู้เบื้องต้น ทำให้มองไม่เห็นองค์ความรู้เชิงลึก จึงไม่สนใจที่จะเจาะประเด็นเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เชิงลึกเหล่านี้ออกมา

3. เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ จะมีแนวโน้มที่กลัวความลับหรือองค์ความรู้ที่ได้สะสมมารั่วไหลออกจากองค์กร ทำให้หวงหรือไม่ยอมถ่ายทอดความรู้ต่อไปให้พนักงานที่ยังไม่เชื่อใจว่าจะมีความซื่อสัตย์ภักดีต่อองค์กร ทำให้กระบวนการถ่ายทอดความรู้หยุดชะงักลง ทั้งๆ ที่บ่อยครั้ง สิ่งที่เอสเอ็มอีคิดว่าเป็นความลับของตนเองนั้น เป็นเรื่องที่ทุกคนก็ทราบกันดีอยู่แล้ว

4. เอสเอ็มอีส่วนใหญ่จะมีทรัพยากรไม่เพียงพอต่อการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ขึ้นมาเองในองค์กร หากต้องการองค์ความรู้ใหม่ที่จำเป็นสำหรับการสร้างสนวัตกรรม หรือเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของตนเอง ก็จะต้องไปพึ่งพาองค์ความรู้ภายนอกองค์กร ซึ่งมักจะมีต้นทุนสูง

5. เอสเอ็มอียังไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีเกี่ยวกับการจัดการองค์ความรู้ และไม่รู้ว่ามีเทคโนโลยีนี้อยู่ ในราคาหรือต้นทุนที่ไม่สูงนัก คำว่าเทคโนโลยีสำหรับเอสเอ็มอี มักจะคิดถึงเฉพาะเทคโนโลยีในการผลิตเท่านั้น จึงเสียโอกาสในการนำเทคโนโลยีการจัดการความรู้มาช่วยสร้างความแข็งแกร่งจะสร้างขีดควาสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจของตนเอง

ในเง่ขององค์กรธุรกิจเอสเอ็มอี การหาเครื่องมือต่างๆ ที่จะนำมาใช้ในการช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ส่วนตัวของพนักงานเก่าที่มีความชำนาญ มายังพนักงานใหม่ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จึงเป็นวิธีหนึ่งที่เจ้าของกิจการหรือผู้บริหารจะต้องให้ความสนใจ โดยเฉพาะการทำธุรกิจในอนาคตอันใกล้นี้

ปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจเอสเอ็มอี พัฒนาเข้าสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้และเชี่ยวชาญในธุรกิจที่ทำอยู่ ได้แก่

(1) การสนับสนุนและความเป็นผู้นำของฝ่ายบริหาร (2) การปรับค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรแห่งความอย่ากรู้ และการเรียนรู้ (3) การลงทุนในระบบไอทีเพื่อจัดเก็บและถ่ายทอดความรู้ทางธุรกิจและวิธีการทำงาน (4) การกำหนดกลยุทธ์และวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน (5) การปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรให้เหมาะสม

(6) การกำหนดกระบวนการและกิจกรรมในการทำงานใหม่ (7) การส่งเสริม สนับสนุน และให้แรงกระตุ้น (8) การจัดหาหรือการลงทุนในทรัพยากรที่เพียงพอ (9) ระบบการอบรม การสอนงาน และการให้ความรู้เพิ่มเติม (10) การมีระบบบริหารบุคคลที่เป็นกิจลักษณะ และ (11) การมีระบบติดตามและวัดผล

ลองเปรียบเทียบดูสถานการณ์ระหว่างการบริหารธุรกิจเอสเอ็มอีแบบเดิมๆ กับบรรายากาศใหม่ของการนำองค์กรเอสเอ็มอีไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้

จากองค์กรที่พนักงานทำงานด้วยความเกรงกลัวหัวหน้างานหรือเกรงกลัวต่อการทำงานผิดพลาด มาเป็นการทำงานด้วยความมั่นใจ มุ่งมั่น และสนุกกับการทำงาน การทำงานเพื่อรางวัลและสิ่งจูงใจหรือกลัวการลงโทษ กับ การทำงานด้วยแรงบันดาลใจ การฟังคำสั่ง และการทำงานด้วยความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ

การเคารพและรักษาระยะห่างกับหัวหน้างานหรือผู้บังคับบัญชา กับการทำงานด้วยความใกล้ชิด สนิทสนม และผูกพัน การเตรียมที่จะตอบแต่คำถาม กับ การตั้งใจที่จะถามคำถาม หรือ การมุ่งหวังแต่ผลงาน กับการมุ่งหวังต่อการเรียนรู้ใหม่ๆ

นี่คือความแตกต่างระหว่างเอสเอ็มอีอนุรักษ์นิยม กับเอสเอ็มอีที่พร้อมสำหรับการแข่งขันในสนามธุรกิจยุคใหม่



สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปรับองค์กร องค์กรแห่งการเรียนรู้

view