สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชงรื้อใหญ่กม-ปิโตรเลียม

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวเศรษฐกิจภาครัฐ โพสต์ทูเดย์


ชงรื้อใหญ่กม.ปิโตรเลียม

ในขณะที่ฟากฝั่งรัฐบาลคือ กระทรวงพลังงานเร่งผลักดันการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 โดยเปิดทางให้นำระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) มาใช้เป็นทางเลือกควบคู่กับระบบให้สัมปทานปิโตรเลียมที่ใช้เพียงรูปแบบเดียวมาตั้งแต่ปี 2514

ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอผลการศึกษาการแก้ไขกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ให้ สนช.รับทราบ

“ตอนที่เราจัดทำกฎหมายปิโตรเลียมปี 2514 คนที่รู้เรื่องมีน้อย จึงให้ฝรั่งมาช่วยเขียน ช่วยออกแบบและเกิดระบบการให้เปิดสัมปทานขึ้นมา ซึ่งรัฐมนตรีในช่วงนั้นยังเคยบอกว่า “ที่เราทำกันนี้จะต้องถูกด่าในวันหน้า” เมื่อวันนี้เรามีความรู้มากขึ้น ดังนั้นนอกจากวิธีให้สัมปทานแล้ว เราเสนอให้นำระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) มาใช้เป็นทางเลือกและเสนอรูปแบบใหม่ที่เป็นทางเลือกที่ 3 ในอนาคต คือ ในยุคที่เรารู้ข้อมูลชัดเจนว่ามีที่ไหนมีปิโตรเลียมบ้าง ก็ควรใช้วิธีจ้างผลิต” พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ แถลงต่อที่ประชุม สนช.

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคณะกรรมาธิการฯ จะเห็นว่าการให้มีระบบสัมปทานเป็นสิ่ง “จำเป็น” เพื่อจูงใจให้บริษัทน้ำมันข้ามชาติเข้ามาประมูลและร่วมลงทุนในพื้นที่ปิโตรเลียมที่มีความเสี่ยงไม่คุ้มค่าในการผลิตเชิงพาณิชย์

แต่ภาครัฐต้องสามารถเข้าไปตรวจสอบและควบคุมการตัดสินใจในส่วนที่เกี่ยวข้องได้มากขึ้น เช่น แผนงานสำรวจขั้นต่ำรวมไปถึงการอนุมัติแผนพัฒนาพื้นที่และกำหนดราคาปิโตรเลียม

ขณะที่การนำระบบแบ่งปันผลผลิตมาใช้นั้น คณะกรรมาธิการฯ เสนอว่า กรรมสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมจะเป็นของรัฐหรือบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งผู้ประกอบการจะอยู่ในฐานะผู้รับสัญญา ซึ่งต้องแบกรับความเสี่ยงที่เกิดจากการสำรวจ ขุดเจาะและผลิต โดยผลประโยชน์ที่ได้จะแบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย

1.ค่าภาคหลวงปิโตรเลียม ซึ่งเป็นของภาครัฐตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ 2.ค่าใช้คืนทุน คือ ในกรณีที่ผู้ประกอบการพบปิโตรเลียมจะคืนทุนค่าใช้จ่ายในการสำรวจ พัฒนาและผลิตปิโตรเลียมให้กับผู้ประกอบการในรูปของ “น้ำมัน” แต่ต้องไม่เกินสัญญาที่กำหนดไว้ และ 3.ก๊าซหรือน้ำมันส่วนกำไร จะเป็นส่วนที่รัฐและผู้ประกอบการแบ่งปันผลประโยชน์กันตามที่กำหนดในสัญญา

“เราเสนอให้ตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติมากำกับดูแลกรณีพีเอสซี แม้ว่าจะยังมีการต่อต้าน เพราะบ้านเรายังไม่เคยมี แต่เราได้ศึกษาประสบการณ์จากประเทศต่างชาติว่า โครงสร้างคร่าวๆ ควรต้องมีอะไรบ้าง แต่หากจะตั้งจริงต้องศึกษาอีกครั้งว่าบ้านเราพร้อมแค่ไหน” พล.อ.สกนธ์ กล่าว

ทั้งนี้ ผลศึกษายกตัวอย่างกรณีมาเลเซีย เมียนมา และเวียดนาม ที่นำระบบแบ่งปันผลผลิตมาใช้ โดยสรุปว่าการทำสัญญาลักษณะนี้มีความยืดหยุ่น เหมาะสมกับประเทศไทยที่มีศักยภาพแหล่งปิโตรเลียมบนบก ในทะเล และพื้นที่ทับซ้อนที่มีศักยภาพการผลิตที่หลากหลาย

“เมื่อมีการผลิตได้น้อย รัฐในฐานะเจ้าของผลผลิตก็มอบค่าใช้จ่ายคืนทุนให้แก่ผู้รับสัญญามาก ความเสี่ยงของผู้รับสัญญาจึงน้อยลง...เมื่อมีผลผลิตมาก รัฐก็ได้มาก” รายงานระบุ

บรรทัดสุดท้ายของข้อเสนอของคณะกรรมาธิการฯ คือ แก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม โดยเพิ่มทางเลือกการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในไทยเป็น 3 รูปแบบ คือ ระบบสัมปทาน ระบบแบ่งปันผลผลิตและระบบจ้างผลิต ตลอดจนสร้างความโปร่งใส แก้ปัญหาผูกขาดของระบบสัมปทาน

ทว่า คณะกรรมาธิการฯ สะท้อนข้อกังวลกรณีนำระบบแบ่งปันผลผลิตมาใช้ เช่น ความไม่โปร่งใสในการคัดเลือกผู้ประกอบการ จึงเสนอเปิดประมูลการให้ส่วนแบ่งผลประโยชน์แก่รัฐ รวมทั้งให้ภาคประชาชนร่วมเป็นคณะกรรมการปิโตรเลียมและตรวจสอบการใช้อำนาจของภาครัฐได้

ขณะที่ พรายพล คุ้มทรัพย์ ผู้ช่วย รมต.พลังงาน มองว่า ระบบพีเอสซีเหมาะที่จะนำมาใช้กับแหล่งปิโตรเลียมที่มีปริมาณสำรองสูง ต้นทุนผลิตต่ำและมีความเสี่ยงน้อย ซึ่งจะทำให้ภาครัฐมีรายได้มากกว่าระบบสัมปทาน แต่จุดด้อยการนำระบบพีเอสซีมาใช้ในไทย คือ หากภาครัฐเรียกร้องผลประโยชน์สูงเกินไป ก็จะไม่เกิดการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม โดยเฉพาะไทยที่มีศักยภาพในการผลิตปิโตรเลียมต่ำ แม้ว่าแหล่งปิโตรเลียมจะดูใหญ่ แต่ก็เป็นระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับแหล่งผลิตระดับโลก

“ข้อด้อยจริงๆ ของการนำระบบพีเอสซีมาใช้ในไทย คือ จุดอ่อนเรื่องทุจริตจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์ต่างๆ ที่ภาครัฐต้องเข้ามาร่วมตัดสินใจ ทำให้นักการเมืองหรือข้าราชการเข้ามาแทรกแซงหรือหาประโยชน์ได้” พรายพล ระบุ

นอกจากนี้ ในส่วนข้อเสนอการปรับปรุงแก้ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมนั้น คณะกรรมาธิการฯ เสนอว่า ได้จัดทำข้อเสนอแนะเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มค่าภาคหลวงและผลตอบแทนพิเศษหรือโบนัส เสนอแก้ไขใน 9 ประเด็น และ 2.กลุ่มภาษีเงินได้มีข้อเสนอแก้ไขใน 15 ประเด็น

“ระบบภาษีเราค่อนข้างไม่ชัดเจน” พล.อ.สกนธ์ สรุป


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ชงรื้อใหญ่ กม.ปิโตรเลียม

view