สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สิ้นยุค เตี่ย สู่ยุค เสี่ย

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์สามัญสำนึก โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่าปัจจุบันผู้บริหารยุคเตี่ย หรือผู้ที่เกิดในช่วงปี 2489-2507 กำลังทยอยลงจากตำแหน่ง เพื่อให้ผู้บริหารยุคเสี่ย หรือผู้ที่เกิดในช่วงปี 2508-2522 กำลังขึ้นมา

ซึ่งผู้บริหารยุคเตี่ยกับยุคเสี่ยมีความแตกต่างกันมาก

ทั้งในเรื่องของความขยัน อดทน ซื่อสัตย์ในส่วนของตัวเอง รวมไปถึงเรื่องสายสัมพันธ์ทางธุรกิจกับกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ สำคัญมากไปกว่านั้นคือใจ

เพราะยุคเตี่ยใช้ใจบริหาร

ถูกก็ชมด้วยใจ

ผิดก็ตำหนิด้วยใจ

หรือจะแบ่งสรรผลประโยชน์ให้กับพนักงาน ลูกน้อง ก็จะมาดูว่าผลประกอบการเป็นอย่างไรบ้าง กำไรมากก็ให้มากหน่อย กำไรน้อยก็ให้น้อยหน่อย

ซึ่งลูกน้องทุกคนเข้าใจได้

เพราะตลอดเวลาที่ทำงานด้วยกัน เห็นอยู่แล้วว่าธุรกิจในปีนั้น ๆ สภาพการณ์เป็นอย่างไร ฉะนั้น จึงไม่แปลกใจเลยว่าลูกน้อง หรือพนักงานที่ทำงานกับคนในยุคเตี่ยจึงมีความเคารพ และศรัทธาเตี่ยมากน้อยแค่ไหน

เพราะเตี่ยบริหารลูกน้องเหมือนเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน

รู้จักกันแม้กระทั่งลูกหลาน

แต่เมื่อวันหนึ่งที่เตี่ยต้องลงตำแหน่ง แล้วให้เสี่ยขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้บริหารแทน สิ่งต่าง ๆ ที่เตี่ยสร้างมาจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรค่อย ๆ จางหายไป

ทั้งนั้นอาจเป็นเพราะเสี่ยในวัยเด็กมีโอกาสเรียนหนังสือในโรงเรียนดี ๆ มีเพื่อนฝูงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ทั้งยังมีโอกาสไปเรียนหนังสือในต่างประเทศ

ซึมซับกับตำราฝรั่ง

รับความคิดแบบทุนนิยมมา

จนทำให้เสี่ยลืมคิดไปว่าสิ่งที่เตี่ยสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบครอบครัวไม่มีความเป็นมืออาชีพ เพราะโลกธุรกิจทุกวันนี้แข่งขันกันรุนแรง ดังนั้น หากเราไม่รุก รบ เร็ว โอกาสเพลี่ยงพล้ำจะมีสูงได้

เสี่ยจึงผ่าตัดองค์กร

ปรับโครงสร้างการบริหารใหม่ทั้งหมด

เพื่อให้คนรุ่นใหม่ขึ้นมาทำงานแทน

พร้อมกับประกาศนโยบายเดินหน้าธุรกิจอย่างเต็มกำลัง เพื่อหวังในอนาคตข้างหน้าว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังเปลี่ยนแปลงในยุคของตัวเองจะต้องสัมฤทธิผลในเร็ววัน

โดยลืมคิดไปว่าหัวใจหลักของการสร้างองค์กรอยู่ที่คน

หากเสี่ยทำลายคนในอดีตเพื่อสร้างคนในปัจจุบันอย่างไม่มีศาสตร์ในการบริหาร นั่นเท่ากับเสี่ยได้ทำลายจุดแข็งของตัวเองเสียแล้ว

เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับประเทศไทย

หากในยุโรป สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศทุนนิยมเต็มตัว เขาก็ตระหนักในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะเขาเห็นว่าการสร้างองค์กรให้เกิดความยั่งยืน ต้องสร้างคนในแต่ละรุ่นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้งานกันอย่างลงตัว

ประเทศจีนก็เช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ องค์กรต่าง ๆ ในยุโรป สหรัฐอเมริกา และหลายประเทศในเอเชีย จึงสร้างกลุ่มคนที่มีความสามารถ (Talent Pool) ขึ้นมากลุ่มหนึ่ง

กลุ่มนี้จะมีกี่คนขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กรมีคนเก่งมาสมัครงานมากน้อยแค่ไหน

เขาเลือกคนกลุ่มนี้ไว้

จากนั้นจะพัฒนาคนกลุ่มนี้ในระยะเวลาเดียวกับที่ธุรกิจจะเติบโตในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อให้คนกลุ่มนี้เข้ามาอยู่ในส่วนของการสร้างแผนการสืบทอดตำแหน่ง (Succession Plan)

ทั้งนั้นเพื่อสร้างคนกลุ่มนี้ไปสานต่อนโยบายในต่างประเทศ

ในประเทศ

ทั้งยังสร้างเพื่อรองรับอนาคต หากทายาททางธุรกิจไม่สามารถบริหารงานได้ คนที่อยู่ในแผนการสืบทอดตำแหน่งก็จะถูกคัดเลือกขึ้นมา

โดยมีคณะกรรมการบริหารของบริษัทเป็นผู้พิจารณาว่าจะให้ใครขึ้นมาทดแทน

เพราะเขามององค์กรสำคัญกว่าลูกหลานเจ้าของบริษัท

ด้วยเหตุนี้ หลาย ๆ องค์กรในต่างประเทศจึงมีอายุยืนยาวเป็นร้อย ๆ ปี

กลับมาที่ประเทศไทยอีกครั้ง ตอนนี้หลาย ๆ องค์กรเริ่มมีเสี่ยเข้ามาบริหารงานกันมากขึ้น บางองค์กรเดินตามนโยบายเตี่ย แต่พัฒนาพลิกแพลงไปตามสภาพเศรษฐกิจ

บางส่วนทำได้ดี

บางส่วนยังเกิดปัญหา

ถามว่าเป็นเพราะอะไร ?

คำตอบง่าย ๆ คือเสี่ยมีความเชื่อมั่นตัวเองมากเกินไป เลือกฟังเฉพาะคนของตัวเอง พูดคุยกับกลุ่มของตัวเอง

เพราะฉะนั้น กรอบความคิดจึงเหมือนม้าลำปาง มองไปทางเดียว ไม่รอบด้าน

ถูกเป็นผิด ผิดเป็นถูก

จนทำให้องค์กรเดินไปด้วยความสั่นไหว และในที่สุด จะเกิดความระส่ำ ไม่มีใครกล้าแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา พนักงานส่วนใหญ่จึงเลือกนิ่งมากกว่าพูด

เลือกหุบปากมากกว่าแสดงความคิดเห็น

เพราะรู้อยู่แล้วว่าพูดไปก็ไม่มีประโยชน์ สู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดีดีกว่า บางทีอาจทำให้ช่วยต่ออายุงานยืนยาวได้ ซึ่งจากการไปฟังสัมมนา พูดคุยกับกูรูทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลกับหลาย ๆ คน ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าผู้บริหารยุคเสี่ยกำลังเผชิญปัญหาการยอมรับจากคนในองค์กร

ผมถามกลับไปว่ามีทางแก้ไหม ?

เขาบอกว่ามี เพียงแต่เขาจะเอาด้วยหรือเปล่าล่ะ

ถ้าเอาด้วย แล้วมองย้อนกลับไปเส้นทางเดิมที่เตี่ยทำผ่านมาจะพบว่าการสร้างความร่วมมือให้กับคนในองค์กรยอมทำงานถวายหัวไม่มีอะไรที่ซับซ้อนเลย

ผมถามเขาว่าอะไร ?

"ใจ" คำเดียวครับ เขาตอบ

ใช่ ใจเท่านั้นที่จะทำให้ผิดเป็นถูก

โกรธเป็นเมตตา

ว่าแต่เสี่ยจะทำได้หรือเปล่าล่ะ ?


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สิ้นยุค เตี่ย สู่ยุคเสี่ย

view