สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ จากวิกฤตการณ์

จากประชาชาติธุรกิจ

โดย วีรพงษ์ รามางกูร

วิกฤตการณ์เศรษฐกิจทุกครั้งย่อมมีทั้งข้อเสียและข้อดี เมื่อคราวที่เศรษฐกิจซบเซาเป็นเวลานานหลังวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่ 2 เมื่อปี 2520 ธุรกิจทุกแห่งมีปัญหา สถาบันการเงิน รวมทั้งธนาคารทุกแห่งมีปัญหาหมด จนประเทศของเราต้องลดค่าเงินบาทและต้องเปลี่ยนระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรา จากที่กำหนดอัตราตายตัวไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐ มาเป็นระบบตรึงค่าเงินบาทไว้กับตะกร้าเงินที่มีเงินตราหลายสกุล ณ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2528 เมื่อราคาน้ำมันลดลง อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกลดลงจากที่เคยสูงถึงร้อยละ 20 เศรษฐกิจของเราได้โอกาสเปลี่ยนโครงสร้างเป็นเศรษฐกิจที่นำโดยการส่งออก หรือ Export led Economy เหมือนกับญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ ฮ่องกง และสิงคโปร์

เราอาศัยอานิสงส์ของการปรับเปลี่ยนโครงสร้างที่เกิดขึ้นด้วยความไม่ตั้งใจ เพราะวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนั้น ต่อมาปี 2540 จึงเกิดวิกฤตการณ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากการขยายตัวเศรษฐกิจที่สูงเกินไป เกิดการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดติดต่อกันหลายปี แทนที่เราจะปล่อยให้ค่าเงินของเราเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง เรากลับตรึงค่าเงินไว้กับตะกร้าเงินที่มีดอลลาร์สหรัฐเป็นส่วนใหญ่ถึง 85 เปอร์เซ็นต์ เป็นโอกาสให้กองทุนเก็งกำไรเข้าโจมตีค่าเงินบาท แทนที่จะลดค่าเงินลง กลับไปต่อสู้จนทุนสำรองระหว่างประเทศหมด จนต้องเข้าโครงการช่วยเหลือของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข "การรัดเข็มขัด" อย่างเข้มงวดจนธุรกิจทุกอย่างอยู่ไม่ได้ เช่นเดียวกับการขึ้นดอกเบี้ยไปถึงร้อยละ 19-20 ในช่วงก่อนวิกฤตการณ์ครั้งแรก โครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศก็ถูกบังคับให้ต้องปฏิรูป



การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยเกิดขึ้นทั้งในแง่นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยยกเลิกข้อจำกัดต่าง ๆ ที่เคยกำหนดโดยสำนักงานส่งเสริมการลงทุน โดยการเปิดเสรีไม่เฉพาะแต่การค้าระหว่างประเทศเท่านั้น แต่เปิดเสรีในเรื่องการเป็นเจ้าของกิจการ ยกเลิกกำแพงภาษีที่คุ้มครองอุตสาหกรรมในประเทศเกือบจะโดยสิ้นเชิง เปิดเสรีในตลาดการเงิน ไม่ว่าจะเป็นตลาดเงินหรือตลาดทุน ยกเลิกข้อจำกัดในเรื่องการถือหุ้น ไม่เฉพาะอุตสาหกรรมที่ได้รับบัตรส่งเสริม แต่เปิดเสรีสำหรับสัดส่วนของการถือหุ้นของต่างประเทศในสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารพาณิชย์ การเพิ่มทุนจึงสามารถทำได้ ทำให้ธนาคารพาณิชย์สามารถขยายสินเชื่อและดำรงอยู่ได้ แต่สัดส่วนของผู้ถือหุ้นต่างประเทศมีมากขึ้น บริษัทเงินทุนถูกยกเลิกไปเหลือแต่ธนาคารพาณิชย์

โครงสร้างทางเศรษฐกิจของทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคการเงินจึงเปลี่ยนไป มีการแยกตลาดเงินหรือธนาคารพาณิชย์ออกจากตลาดทุน คือตลาดตราสารหนี้และตลาดทุน ตลาดตราสารหนี้ขยายตัวขึ้น ผู้ลงทุนในโครงการต่าง ๆ สามารถระดมทุนโดยการออกหุ้นกู้ผ่านตลาดทุนได้มากขึ้น ส่วนตลาดพันธบัตรรัฐบาลยังเป็นตลาดที่จำกัด เพราะปริมาณพันธบัตรรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลออกยังมีน้อย มีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด อัตราการออมภายในประเทศสูงกว่าอัตราการลงทุน มีเงินออมสะสมยาวนานต่อเนื่องติดต่อกันมาถึง 17 ปี เงินออมส่วนหลังจึงออกไปลงทุนในตลาดพันธบัตรของรัฐบาลต่างประเทศ

กรณีวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ทำให้อุตสาหกรรมทุกส่วนเกิดความเสียหาย ดำรงอยู่ไม่ได้ ต้องปรับโครงสร้างกันใหม่ทั้งหมด ทั้งเครื่องจักรและผู้ถือหุ้น ทั้งนโยบายการพัฒนาประเทศและนโยบายการคุ้มครองสถาบันการเงิน ขณะเดียวกันก็เป็นการปรับโครงสร้างของภาคเกษตรกรรมด้วย

การที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างหนักและรวดเร็วจาก 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 50-55 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเริ่มต้นและแข็งขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 40-42 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐมาเป็นเวลานาน ทำให้ราคาสินค้าเกษตรทุกตัวราคาสูงขึ้นเท่าตัว การผลิตเพื่อการส่งออกสินค้าเกษตรก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน เพราะชาวนา ชาวไร่ ชาวสวนของเรา ตอบสนองต่อรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากราคาเป็นอย่างดีอยู่แล้ว

การที่รายได้ของเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นชาวนาข้าว ชาวไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง และชาวสวนยาง มีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะค่าเงินอ่อนลง ก็เป็นฐานให้เกิดการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอย่างขนานใหญ่ ประกอบกับการแข็งของค่าเงินเยนของญี่ปุ่น ที่มีค่าแข็งขึ้นจาก 140 เยนต่อดอลลาร์ มาเป็น 80 เยนต่อดอลลาร์ ทำให้อุตสาหกรรมหลักของญี่ปุ่นหลาย ๆอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ จักรยานยนต์ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ต้องย้ายฐานการผลิตออกจากญี่ปุ่นมาที่ประเทศไทย แม้จะไปที่เกาหลีใต้ ไต้หวัน และจีนบ้างก็เป็นส่วนน้อย เพราะเหตุผลทางประวัติศาสตร์ที่ขมขื่นระหว่างกัน ประเทศไทยจึงได้รับผลประโยชน์จากการที่ค่าเงินเยนแข็งมากกว่าที่อื่น

แม้การโยกย้ายอุตสาหกรรมออกจากญี่ปุ่นจะไปที่มาเลเซียและอินโดนีเซียบ้าง ก็ไม่มากเท่ากับที่มาประเทศไทย เพราะประเทศเหล่านั้นมีทัศนคติที่ไม่สู้จะเป็นมิตรกับญี่ปุ่น หรือแม้แต่ชาติอื่น ไม่เฉพาะเรื่องความขมขื่นที่เคยถูกญี่ปุ่นยึดครองระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เท่านั้น ยังมีปัญหาเรื่องวัฒนธรรม ศาสนา เป็นสังคมที่วัฒนธรรมแข็ง หรือ "Hard Culture" ส่วนไทยเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมความอ่อนหรือ "Soft Culture" แม่บ้านชาวญี่ปุ่นสามารถติดตามมาอยู่กับสามีได้ในตึกคอนโดฯ มีห้องใหญ่กว้างขวาง มีสังคมแม่บ้านญี่ปุ่นที่อบอุ่น ที่สำคัญกรุงเทพฯมีโรงเรียนชั้นประถม และชั้นมัธยมตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาฯของญี่ปุ่นได้อย่างเสรี มีคุณภาพสูงเทียบเท่ากับโรงเรียนประถมและมัธยมในญี่ปุ่น เพราะครูดี ๆ มีชื่อเสียงนิยมวนเวียนมาสอนที่โรงเรียนญี่ปุ่นในกรุงเทพฯเสมอ ทำให้ผู้บริหารชาวญี่ปุ่นพยายามดิ้นรนให้การลงทุนของบริษัทแม่ของตนมาลงทุนที่ประเทศไทย ด้วยเหตุผลในเรื่องคุณภาพชีวิตของครอบครัวของตน อีกทั้งแรงงานไทยในยุคหลัง ๆ ก็เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริหารชาวญี่ปุ่น ผู้บริหารชาวญี่ปุ่นก็เป็นที่ชื่นชอบของแรงงานชาวไทย ระยะหลัง ๆ ผู้บริหารก็ดี วิศวกรก็ดี นักบัญชีก็ดี ก็ล้วนเป็นคนไทยทั้งนั้น ก็เลยไปกันได้ดี บรรยากาศเช่นนี้ไม่มีในประเทศทั้งในเอเชียตะวันออกและประเทศในกลุ่มอาเซียน ประเทศไทยจึงถูกจัดเป็น "เขตญี่ปุ่น" Japanese Zone หรือ "เขตเงินเยน" หรือ Yen Zone เป็นโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนใคร โดยไม่มีใครสังเกตได้

ธุรกิจอุตสาหกรรมของไทยกับญี่ปุ่นจึงผูกเข้าด้วยกันอย่างสนิทแนบแน่น แม้ชิ้นส่วนอะไหล่ หรือสินค้าสำเร็จรูปของไทยจะแพงกว่าของประเทศอื่น ๆ บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นก็ยินดีซื้อจากประเทศไทย เหมือน ๆ กับที่ซื้อในประเทศญี่ปุ่นเอง

การที่การส่งออกสินค้าและบริการจากประเทศไทยหดตัวแทนที่จะขยายตัว ผู้ที่ได้รับความกระทบกระเทือนมากที่สุดจึงเป็นบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น สาเหตุเนื่องจากเงินบาทแข็งกว่าเงินในภูมิภาค ค่าจ้างแรงงานของเราสูงกว่าประเทศอื่น เพราะประสิทธิผลของแรงงานไทยสูงกว่าแรงงานของประเทศอื่นในภูมิภาค ค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงของไทยจะยิ่งสูงขึ้นไปอีกในอนาคตโดยกลไกตลาด ไม่ใช่นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ

เทคโนโลยีนั้นจะเปลี่ยนได้ก็ด้วยการลงทุนเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ การที่อุตสาหกรรมจะเปลี่ยนเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีใหม่ก็ต้องมีวิกฤตการณ์ที่ผลักดันให้อยู่อย่างเดิมไม่ได้

เครื่องจักรเก่าของไทยบัดนี้ล้าสมัยไปแล้ว เพราะเกิดขึ้นหลังวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งเมื่อ 18-19 ปีที่แล้ว ถึงเวลาต้องโละออกไปยังประเทศที่ระดับการพัฒนาต่ำกว่าไทย เช่น พม่า เขมร บังกลาเทศ แต่เวียดนาม อินโดนีเซีย มีนโยบายไม่รับเครื่องจักรเก่าหากจะขอบัตรส่งเสริมการลงทุน

วิกฤตการณ์การส่งออกของเราเป็นสัญญาณว่า ความสามารถในการแข่งขันของไทยต้องได้รับการปฏิรูปเทคโนโลยี ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็โดยการเปลี่ยนเครื่องจักร

นโยบายของรัฐบาลจึงไม่ควรมุ่งไปที่การหวังจะให้การส่งออกฟื้นตัว หรือให้อุตสาหกรรมฟื้นตัวผ่านราคาสินค้าจากภาคเกษตรกรรมที่จะปรับตัวสูงขึ้น โดยหวังว่าตลาดภายในประเทศจะฟื้นตัวจากรายได้ครัวเรือน แต่ควรมุ่งไปในทางสนับสนุนการเปลี่ยนเครื่องจักร การเปลี่ยนเทคโนโลยี ย้ายเครื่องจักรเก่า เทคโนโลยีเก่าไปประเทศเพื่อนบ้าน การรักษาอุตสาหกรรมเก่าไว้โดยการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามชายแดนเป็นนโยบายที่ไม่ได้ผล ต้นทุนสูง ต้องขนส่งวัตถุดิบจากมาบตาพุดไปชายแดน ผลิตแล้วต้องขนส่งกลับมาท่าเรือมาบตาพุดเพื่อส่งออก ทำให้ต้นทุนสูงและไม่ได้ผล ควรมีมาตรการภาษีลดหย่อนให้ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนเครื่องจักร มุ่งสู่อุตสาหกรรมการผลิตของแพง ผลิตสินค้าที่ซื้อขายกันในตลาดระดับบน ใช้แรงงานน้อยแต่มีคุณภาพ อาจจะมีอัตราการว่างงานสูงขึ้น ค่าจ้างแรงงานสูงขึ้นก็ได้ แต่มีระบบสวัสดิการที่เข้มแข็ง

เราจึงจะก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ จากวิกฤตการณ์

view