สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เท1.3แสนล้าน ไม่พอดันเศรษฐกิจฟื้น

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล็อตใหญ่ของทีมเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่ด้วยความรวดเร็ว สร้างความมั่นใจทางเศรษฐกิจขึ้นมาได้ไม่น้อย

มาตรการที่ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ถือว่าตรงจุดและมุ่งช่วยผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจมากที่สุด โดยมีวงเงินรวมกันถึง 1.36 แสนล้านบาท ประกอบไปด้วย 3 มาตรการสำคัญ ได้แก่

มาตรการแรก ปล่อยกู้ให้กับกองทุนหมู่บ้านแบบไม่คิดอัตราดอกเบี้ย 2 ปี เพื่อให้ไปปล่อยกู้ต่อกับสมาชิก

มาตรการที่สอง เป็นการแจกเงินให้กับตำบลแห่งละ 5 ล้านบาท เป็นวงเงินรวม 3.6 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดไปดำเนินการโครงการที่สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลและดำเนินการได้เร็ว เพื่อเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากอีกแรงหนึ่ง

มาตรการสุดท้าย เป็นการเร่งลงทุนโครงการมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาท วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท เป็นโครงการที่อยู่ในงบประมาณปี 2559 แล้ว 1.6 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 2.4 หมื่นล้านบาท จะเป็นโครงการใหม่ที่เสนอเติมเข้ามาให้เต็มวงเงิน

มาตรการทั้งหมดเมื่อหักเงินการลงทุนที่อยู่ในงบประมาณปี 2559 อยู่แล้ว 1.6 หมื่นล้านบาท ก็จะมีเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 1.3 แสนล้านบาท ที่จะไหลหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ฉุดการบริโภคและการลงทุนให้ฟื้นตัวได้ระดับหนึ่ง

จากการประเมินของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) การใส่เงินกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากเช่นนี้จะเกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 2-3 รอบนั้นหมายความว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจริง 2-3 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการให้เกิดมากที่สุด เพราะจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เพิ่มถึง 0.2-0.3% แม้ว่าดูเป็นตัวเลขไม่มาก แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวและผันผวนมาก การขยายตัวที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยก็ถือว่าเป็นของที่ล้ำค่าสำหรับรัฐบาล

ส่งผลให้รัฐบาลพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อลงมือทำให้เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจกว่าแสนล้านบาทหมุนได้เร็วและมากรอบที่สุด โดยมีการผ่อนผันการจัดซื้อจัดจ้างสำหรับโครงการที่ไม่ถึง 2 ล้านบาท ไม่ต้องประมูลแบบอีบิดดิ้งและอีมาร์เก็ตที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ ออกเป็นการชั่วคราวถึงสิ้นเดือน มี.ค. 2559 เพื่อเร่งผลักดันเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจให้เร็วเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวจะส่งผลดีกับเศรษฐกิจระยะสั้นเท่านั้น นอกจากนี้รัฐบาลยังต้องระวังผลกระทบข้างเคียงที่ตามมา คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่จะเร่งตัวสูงขึ้นถึงแม้ว่าจะปลอดดอกเบี้ยก็ตาม ซึ่งจะเป็นทางตันทำให้รัฐบาลไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากเพิ่ม โดยส่งเสริมให้คนเป็นหนี้มาใช้จ่ายอีกต่อไป

แม้แต่ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ยังมองว่า มาตรการช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ แต่อย่างไรก็ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังก็ยังต่ำกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากการส่งออกที่ทรุดหนักและมีสัดส่วนมูลค่าที่หายไปมากกว่าเม็ดเงินจากการกระตุ้นหลายเท่าตัว ซึ่ง ธปท.อยู่ระหว่างการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลงอีกครั้ง

ดังนั้น ปัญหาต่อไปคือ การเร่งการลงทุนภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนให้มารับไม้ต่อให้ได้ ไม่เช่นนั้นมาตรการกระตุ้นที่ออกมาก็เสียเปล่า จะออกมาเพิ่มก็มีข้อจำกัดทั้งเรื่องเงินและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่จะตามมา

แต่เมื่อมองไปข้างหน้าจะเห็นว่าการเร่งการลงทุนภาครัฐไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ๆ ที่จะเป็นตัวดึงการลงทุนภาคเอกชนได้มาก เนื่องจากยังติดขัดพิจารณาไม่ลงตัว ทั้งรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วปานกลาง ซึ่งทั้งหมดไม่เดินหน้า ยังวนเวียนอยู่กับการศึกษาความเป็นไปของโครงการเสียส่วนใหญ่

ที่ผ่านมาก็เห็นได้ชัด หากไปพิจารณาจากการตั้งงบประมาณกู้เงินในปี 2558 ที่จะทำโครงการดังกล่าวลงทุนขนาดใหญ่หลายโครงการ แต่ผลสุดท้ายต้องตัดทิ้ง รัฐบาลปรับแผนการกู้เงินลดลงกว่า 1 แสนล้านบาท เนื่องจากโครงการทำไม่ได้ตามที่วางแผนไว้ ดังนั้นการที่จะเร่งลงทุนขนาดใหญ่ให้เกิดภายในปีนี้เป็นไปได้ยาก คาดว่าทำได้อย่างเร็วก็ปีหน้า กว่าจะเร่งลงทุนลงเสาเข็มก็อาจจะกินเวลาไปถึงปลายปี ส่งผลให้ความหวังที่จะให้การลงทุนภาครัฐขนาดใหญ่มารับไม้ต่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องยาก

ขณะที่การดึงการลงทุนเอกชนก็ไม่ได้ง่ายน้อยไปกว่ากัน เพราะตราบใดที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวชัดเจนการลงทุนภาคเอกชนก็จะเป็นงูกินหางอย่างนี้ตลอดไป เศรษฐกิจดีเมื่อไรถึงจะลงทุน เห็นได้ชัดจากการอนุมัติส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI จำนวนหลายแสนล้านบาท แต่มีการลงทุนจริงน้อยมาก เพราะเอกชนรอความแน่นอนทางเศรษฐกิจ

แม้แต่ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ก็ออกมายอมรับนักลงทุนที่ได้รับอนุมัติจาก บีโอไอ ไม่มีทางลงทุนหากยังเห็นว่าเศรษฐกิจไม่มีอนาคต ดังนั้นรัฐบาลจึงเตรียมออกมาตรการก๊อกสองกระตุ้นการลงทุนเอกชน โดยให้แรงจูงใจด้านภาษีสำหรับผู้ประกอบการที่จะลงทุนภายในปีนี้หรือไม่เกินกลางปีหน้า หากซื้อเครื่องจักรมาลงทุนก็จะได้ลดภาษีมากกว่า 1 เท่า ซึ่งอยู่ระหว่างให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังศึกษาว่าจะได้มากน้อยขนาดไหน

การดำเนินการดังกล่าวก็เป็นทางเลือกที่ดี แต่การดำเนินการก็มีผลข้างเคียงตามมาไม่น้อย การลดภาษีทำให้รายได้ของรัฐบาลลดลง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมารายได้ของรัฐบาลต่ำกว่าเป้ามาตลอด ล่าสุดปีงบประมาณ 2558 ที่จะปิดหีบอีกไม่ช้าก็ต่ำกว่าเป้าถึง 1.6 แสนล้านบาท ทีมเศรษฐกิจก่อนหน้านี้ต้องให้คลังขอให้รัฐวิสาหกิจส่งเงินเพิ่มมาโปะให้การต่ำเป้าน้อยลง

สำหรับปีงบประมาณ 2559 เศรษฐกิจที่ยังไม่มีท่าทีฟื้นตัว ประมาณการได้ว่าการเก็บรายได้หนีไม่พ้นต่ำกว่าเป้าอีก การลดหย่อนภาษียิ่งเป็นการซ้ำเติมการเก็บรายได้ของประเทศ เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องชั่งน้ำหนักว่าจะได้คุ้มเสียหรือไม่

นอกจากนี้ การลดหย่อนภาษีดังกล่าวอาจจะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม เป็นการช่วยนักลงทุนรายใหญ่มากกว่ารายย่อยรายเล็ก เพราะรายใหญ่สายป่านยาวกว่าก็ฉวยโอกาสได้มากกว่า ขณะที่รายเล็กไม่มีเงินทุนถึงอยากลงทุนเพื่อให้ได้ลดหย่อนภาษีก็ทำไม่ได้

ดังนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลเข็นออกมาครั้งนี้ช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ชั่วคราวเท่านั้น ยังไม่เพียงพอทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นอย่างแข็งแรง ตราบใดที่การลงทุนภาครัฐขนาดใหญ่เร่งไม่ขึ้น และการลงทุนภาคเอกชนยังหลบภัยรอให้เศรษฐกิจดีขึ้นก่อนแล้วค่อยเริ่มลงทุน ขณะที่ยากระตุ้นเศรษฐกิจก็ต้องระวังว่าจะเกิดผลกระทบที่ไม่พึ่งประสงค์ตามมาหรือไม่


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เท1.3แสนล้าน ไม่พอ ดันเศรษฐกิจฟื้น

view