สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แท็กซี่เอื้ออาทร ขึ้นศาลแพ่งไกล่เกลี่ยคดีฟ้องแบงก์เอสเอ็มอี ผิดสัญญาส่งมอบรถ

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

      ASTV ผู้จัดการ - “กลุ่มโชเฟอร์แท็กซี่เอื้ออาทร” ขึ้นศาลแพ่งไกล่เกลี่ยคดีฟ้องธนาคารเอสเอ็มอี ชดใช้เงิน 194 ล้าน ฐานผิดสัญญาส่งมอบรถยนต์ไม่ตรงสเปก แต่ตกลงกันไม่ได้ หลังขอให้โอนกรรมสิทธิ์และปลดหนี้ค้างชำระ ศาลแพ่งนัดอีกครั้ง 28 ก.ย.นี้
       
       ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (3 ก.ย.) ศาลนัดไกล่เกลี่ยคดีผู้บริโภค หมายเลขดำ ผบ.764/2558 ที่นายสุทธิสันต์ คชเสนี อายุ 53 ปี และพวก ผู้ขับแท็กซี่โครงการเอื้ออาทร ปี 2547 รวม 108 คน ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือธนาคารเอสเอ็มอี เป็นจำเลยเรื่องผิดสัญญาการส่งมอบรถไม่ตรงตามข้อตกลงโครงการพัฒนาแท็กซี่ไทย หรือโครงการแท็กซี่เอื้ออาทร ปี 2547 ที่สนับสนุนทางการเงิน วงเงิน 4,500 ล้านบาท ให้ผู้ประกอบการแท็กซี่มิเตอร์ มีโอกาสเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แท็กซี่โดยไม่มีเงินดาวน์ โดยขอให้ธนาคารชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ทั้ง 108 รายๆ ละ 1.8 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 194,400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
       
       อย่างไรก็ตาม การไกล่เกลี่ยในวันนี้ฝ่ายโจทก์ได้มีข้อเสนอให้ธนาคารจำเลยโอนกรรมสิทธิ์รถ ยนต์ และให้ปลดหนี้การผ่อนชำระค่างวดรถของโจทก์ 108 ราย ที่แต่ละรายมีจำนวนแตกต่างกัน
       
       ขณะที่นิติกร ผู้แทนธนาคารจำเลยไม่สามารถปฏิบัติต่อข้อเสนอของโจทก์ได้ทันทีซึ่งต้องนำเสนอฝ่ายบริหารเพื่อพิจารณาตามขั้นตอน
       
       ศาลพิจารณาแล้ว จึงให้นัดไกล่เกลี่ยอีกครั้งในวันที่ 28 ก.ย.นี้ เวลา 09.00 น.
       
       นายสุทธิสันต์ คชเสนี หนึ่งในกลุ่มแท็กซี่เอื้ออาทร กล่าวว่า พวกตนเดือดร้อนจากการใช้รถมานาน เพราะมีค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงสูง และไม่มีผู้โดยสารกล้าเรียก ทำให้มีภาระหนี้สิน พวกตนต้องผ่อนชำระค่างวดเดือนละ 12,000 บาท แต่การขับรถแท็กซี่มีรายได้วันละ 1,000 บาท เมื่อหักค่าน้ำมันแล้วรายได้ไม่เพียงพอเลี้ยงครอบครัว โดยรถส่งมอบให้นั้นผิดสเปก ครั้งแรกตกลงจะส่งมอบรถยนต์โตโยต้าอัลติส รุ่นเจ ต่อมาอ้างว่ารถผลิตไม่ทันต้องรออีก 2 ปี พวกตนจึงจำต้องรับรถชนิดแวนเชื้อเพลิงดีเซลมาขับ ก่อนหน้านี้พวกตนเคยไปยื่นหนังสือถึงหัวหน้า คสช.และเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรีมาแล้วเพื่อขอความอนุเคราะห์ให้ปลดหนี้
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ในการเดินทางมาศาลนั้น กลุ่มแท็กซี่ได้ขับรถแท็กซี่เขียว-เหลืองประมาณ 80 คัน ที่ได้รับการส่งมอบจากโครงการดังกล่าวมาจอดบริเวณหน้าศาลแพ่งด้วย
       
       สำหรับคดีนี้ กลุ่มแท็กซี่เอื้ออาทรยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า เมื่อช่วงปี 2547-2548 รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้จัดทำโครงการแท็กซี่เอื้ออาทร หรือโครงการพัฒนาแท็กซี่ไทย ให้ผู้มีรายได้น้อยผ่อนรถแท็กซี่สาธารณะเขียว-เหลือง ชนิดนั่งไม่เกิน 7 คนเป็นของตนเอง โดยไม่มีการวางเงินดาวน์ กับธนาคารเอสเอ็มอี จำเลย ซึ่งตกลงอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.5 ต่อปี ให้ผ่อนชำระเดือนละ 12,000 บาทต่อเดือน โจทก์ทั้ง 108 รายได้เข้าร่วมโครงการและยังมีประชาชนอื่นสนใจเข้าร่วมโครงการทั้งหมดกว่า 1,000 ราย โดยสัญญาตกลงว่าจะส่งมอบรถยนต์โตโยต้าอัลติส เอ็นจีวี ชนิดเติมเชื้อเพลิงน้ำมันเบนซิน และสามารถติดตั้งระบบก๊าซธรรมชาติอัดได้ แต่เมื่อถึงเวลาจำเลยกลับไม่ส่งมอบรถยนต์ดังกล่าว กลับส่งมอบ รถยนต์อีซูซุ ไทยรุ่ง ชนิดรถแวนใช้เชื้อเพลิงดีเซลซึ่งเป็นรถที่มีขนาดใหญ่ ทำให้โจทก์ประสบปัญหาสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง มีค่าใช้จ่ายสูง และผู้บริโภคไม่กล้าเรียกรถ ทำให้ขาดรายได้ เมื่อโจทก์ได้ทักท้วงไปยังจำเลยก็จะเปลี่ยนเครื่องยนต์ให้ แต่ก็ยังไม่ดำเนินการ ขณะที่รถยนต์มีอายุการใช้งานตามระเบียบขนส่งทางบกอีกเพียง 3 ปี และก็ไม่ได้ปฏิบัติตามคำมั่นที่จะให้รถวิ่งบริการรับ-ส่งผู้โดยสารท่า อากาศยานสุวรรณภูมิ หรือให้ทุนการศึกษาบุตร รวมทั้งไม่ติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอื่น จึงฟ้องเรียกค่าเสียหาย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แท็กซี่เอื้ออาทร ศาลแพ่งไกล่เกลี่ยคดี แบงก์เอสเอ็มอี ผิดสัญญา ส่งมอบรถ

view