สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทีโอทีแห้ว ศาลปกครองยกฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายภาษีสรรพสามิต 38,996 ล้านบาท

ทีโอทีแห้ว ศาลปกครองยกฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายภาษีสรรพสามิต 38,996 ล้านบาท

จากประชาชาติธุรกิจ

ทีโอทีแห้ว ศาลปกครองยกฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายภาษีสรรพสามิต 38,996 ล้านบาทจากกระทรวงการคลัง ชี้มติ ครม.ให้เก็บภาษีสรรพสามิตหักจากส่วนแบ่งสัมปทานชอบด้วยกฎหมายแล้ว แม้ทีโอทีรายได้ลดแต่เป็นหน่วยงานรัฐต้องสนองนโยบายแก้ไขภาพรวมเศรษฐกิจ คำพิพากษาศาลฎีกาคดีอดีตนายกใช้อ้างไม่ได้เพราะข้อเท็จจริงและประเด็น วินิจฉัยต่างกัน

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2558  ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 1545/2554  คดีหมายเลขแดงที่ 1439/2554  ซึ่งบมจ.ทีโอที ได้ยื่นฟ้องกระทรวงการคลัง (ในฐานะตัวแทนคณะรัฐมนตรี) ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้ อำนาจตามกฎหมาย

คดีดังกล่าว ทีโอทีได้อ้างว่าได้รับความเสียหายจากการที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเมื่อ 28 ม.ค. 2546 เรื่อง การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากบริการ และมติเมื่อ 11 ก.พ. 2546 เรื่องการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากบริการโทรคมนาคม เนื่องจากมติดังกล่าวได้ทำให้คู่สัญญาสัญญาสัมปทานเกี่ยวกับโทรศัพท์ภายใน ประเทศกับ 3 บริษัทเอกชน ได้แก่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(เอไอเอส)  บริษัท ซี.พี.เทเลคอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ปัจจุบันคือ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น) และบริษัท ไทยเทเลโฟนแอนด์เทเลคอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ปัจจุบันคือ บมจ.ทีทีแอนด์ที) สามารถหักภาษีสรรพสามิตบริการโทรคมนาคมออกจากส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาสัมปทาน ที่คู่สัญยาต้องนำส่งให้ทีโอที ซึ่งต่อมาเมื่อ 23 ม.ค. 2550 คณะรัฐมนตรีได้มีมติยกเลิกมติครม. ทั้งสองมติดังกล่าว

โดยทีโอทีได้ ระบุว่า การออกมติ ครม. เมื่อ 28 ม.ค. 2546 และ 11 ก.พ. 2546 ทำให้ทีโอทีได้ส่วนแบ่งรายได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็นรวมเป็นเงินกว่า 38,996 ล้านบาท แบ่งเป็นตามสัญญาสัมปทานเอไอเอส 36,816 ล้านบาท ทรู คอร์ปอเรชั่น 1,479 ล้านบาท ทีทีแอนด์ที 700 ล้านบาท ทั้งศาลฏีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเคยวินิจฉัยว่า การออกมติดังกล่าวเป็นการกระทำเอื้อประโยชน์ให้เอกชนของอดีตนายกรัฐมนตรี จึงขอให้ศาลสั่งให้กระทรวงการคลังชดใช้ค่าเสียหายพร้อมด้วยดอกเบี้ย 7.5% ให้ทีโอทีด้วย

เมื่อศาลปกครองกลางได้วิเคราะห์ข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า การออกพระราชกำหนดให้เก็บภาษีสรรพสามิตเป็นผลเนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ที่ทำให้รัฐต้องหารายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐบาลที่จะกระทำได้  ขณะที่การออกมติ ครม. ดังกล่าว ถือเป็นอำนาจของครม. ในการพิจารณาปรับโครงสร้างรายได้ของรัฐ โดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค เพราะหากให้เอกชนรับภาระทั้งหมด ก็จะมีการผลักภาระไปให้ผู้บริโภค รัฐจึงหาทางชดเชยโดยเลือกที่จะลดรายได้ในส่วนของผลประโยชน์ตอบแทนที่เอกชน ต้องจ่ายให้คู่สัญญาภาครัฐ ซึ่งทีโอทีผู้ฟ้องก็เป็นองคาพยพหนึ่งของรัฐ นอกจากนั้นทั้งเอไอเอส ทรูคอร์ป และทีทีแอนด์ที ก็ไม่ได้รับประโยชน์จากนโยบายของครม. ในการกำหนดแนวทางการหักภาษีสรรพสามิต เนื่องจากค่าตอบแทนตามสัมปทานที่ทั้งสามบริษัทต้องจ่ายให้ทีโอที ก็เท่ากับค่าภาษีที่เอกชนต้องจ่ายให้กรมสรรพสามิต

และไม่ได้ทำให้ รัฐเสียประโยชน์แต่อย่างใด เพราะภาษีสรรพสามิตที่รัฐได้รับจากเอกชนโดยตรงสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ทันที โดยไม่ต้องรอรับเงินปันผลจากทีโอที ดังนั้น มติ ครม. 28 ม.ค. 2546 และ 11 ก.พ. 2546 จึงเป็นมติที่ชอบด้วยกฎหมาย

แม้ทีโอทีจะมีรายได้ จากส่วนแบ่งสัมปทานที่ลดลง แต่เมื่อเป็นองคาพยพของรัฐ จำเป็นต้องปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นได้ตระหนักดีอยู่แล้วว่า การดำเนินการดังกล่าวทำให้รายได้ของทีโอทีลดลง แต่มีผลให้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและเกิดประโยชน์โดยรวมต่อประเทศ จึงถือว่า ครม.ใช้ดุลพินิจโดยชอบแล้ว จึงไม่เป็นการละเมิดผู้ฟ้องคดี และกระทรวงการคลังผู้ถูกฟ้องจึงไม่จำเป็นต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

ส่วน กรณีที่ทีโอทีอ้างคำพิพากษาของศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการ เมืองในกรณีของอดีตนายกรัฐมนตรีนั้น ศาลเห็นว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีที่อัยการสูงสุดได้ยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สิน ของอดีตนายกรัฐมนตรีผู้ถูกกล่าวหาตกเป็นของแผ่นดิน โดยอ้างว่าได้ปฏิบัติหน้าที่และใช้ใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์ต่อ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่นและบริษัทในเครือ 5 กรณี ซึ่งมีกรณีมติ ครม. เกี่ยวกับภาษีสรรพสามิตด้วย จึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า อดีตนายกรัฐมนตรีมีพฤติการณ์เอื้อประโยชน์ตามที่อัยการกล่าวอ้างหรือไม่

ใน ขณะที่คดีนี้มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า การที่ครม. มีมติทั้งสองครั้งเป็นการกระทำละเมิดต่อทีโอทีผู้ฟ้องคดีหรือไม่ คดีที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง จึงมีข้อเท็จจริงและประเด็นที่ต้องวินิจฉัยแตกต่างจากคดีนี้ ข้ออ้างของทีโอทีจึงไม่อาจรับฟังได้ ส่วนข้ออ้างอื่นๆ ของทีโอทีในประเด็นอื่นๆ ไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้อง


จี้ทีโอทียื่นโนติสเรียก7หมื่นล.-ตรวจเช็กทรัพย์สินสัมปทาน

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

"ไอ ซีที" จี้ "ทีโอทียื่นโนติสเรียก 7.2 หมื่นล้านแก้สัญญา "เอไอเอส" รักษาสิทธิ์ก่อนสัมปทานหมดอายุ พร้อมทำแผนตรวจรับ-บริหารทรัพย์สินให้เสร็จก่อน "กสทช." ประมูลคลื่นใหม่ ยอมรับแต่ไร้อำนาจห้ามแคทฟ้องล้มประมูล

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า ได้เรียกผู้บริหารของ บมจ.ทีโอที เข้ามาชี้แจงเกี่ยวกับการดำเนินการเรียกร้องสิทธิ์ตามกฎหมายจากการแก้ไขสัญญาสัมปทาน ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลความผิดมาแล้ว โดยฝ่ายบริหารทีโอทีแจ้งว่าขณะนี้ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อให้เตรียมดำเนินคดี และได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกันแล้ว

"ได้กำชับให้ทีโอทีรายงานความคืบหน้าแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรทุกสัปดาห์พร้อมทั้งให้ฝ่ายกฎหมายทีโอทีเร่งพิจารณายื่น

โนติส เรียกค่าเสียหายในระหว่างที่อัยการกำลังเตรียมฟ้อง เพื่อรักษาสิทธิ์ก่อนสัมปทานเอไอเอสจะสิ้นสุด 30 ก.ย.นี้ แต่ยังไม่ได้รายงานตัวเลขความเสียหายเป็นทางการแต่ใกล้เคียงที่มีการเปิดเผยก่อนหน้านี้"

และ ให้ทีโอทีเร่งรัดในการเตรียมตรวจรับโอนทรัพย์สินตามสัญญาสัมปทานเพื่อเตรียม พร้อมรับการสิ้นสุดของสัมปทานพร้อมเร่งทำแผนบริหารทรัพย์สินมาให้ชัดเจน เพราะจะกระทบต่อเนื่องไปถึงคลื่นความถี่ 900 MHz โดยทุกอย่างรวมถึงการตรวจรับทรัพย์สินต้องให้เสร็จก่อนการประมูลคลื่นของ กสทช.

แหล่งข่าวจาก บมจ.ทีโอที เปิดเผยว่า มูลค่าความเสียหายที่ทีโอทีได้ทำหนังสือส่งถึงสำนักงานอัยการสูงสุด คำนวณตั้งแต่การแก้ไขสัญญาปี 2544 ถึง มิ.ย. 2558 มีทั้งสิ้น 72,035 ล้านบาท แบ่ง 61,280 ล้านบาท เป็นค่าเสียหายที่เกิดจากการแก้สัญญาครั้งที่ 6 คือการปรับลดส่วนแบ่งรายได้จากบัตรเติมเงิน (พรีเพด) (การแก้ไขสัญญาครั้งที่ 6) จากเดิมกำหนดไว้เป็นขั้นบันไดในอัตรา 10-30% ของรายได้ โดยปรับใหม่เหลือ 20% ของรายได้ตลอดอายุสัมปทาน และอีก 10,755 ล้านบาทเป็นความเสียหายจากการแก้ไขสัญญาครั้งที่ 7 คือการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม (โรมมิ่ง) กับ ดิจิตอลโฟนในเครือเอไอเอส ทำให้ทีโอทีขาดรายได้

ขณะที่ตัวเลขความเสียหายที่ทีโอทีเคยสรุป ณ ปี 2553 มูลค่าความเสียหายจากการแก้ไขสัญญาพรีเพดอยู่ที่ 66,000 ล้านบาท ส่วนแก้สัญญาโรมมิ่งอยู่ที่ 17,000 ล้านบาท

รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันเดียวกัน (28 ก.ย. 2558) บอร์ด บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) มีการประชุมเพื่อกำหนดท่าทีต่อการจัดประมูลคลื่น 1800 MHz ที่ กสทช.จะดำเนินการในวันที่ 11 พ.ย.นี้

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หากสุดท้ายบอร์ดตัดสินใจว่าจะยื่นฟ้อง กสทช.เพื่อขอให้ระงับการประมูล ทางกระทรวงไอซีทีก็คงไม่สามารถห้ามได้ เพราะเป็นอำนาจการตัดสินใจของบอร์ด ซึ่งเข้าใจได้ว่าบอร์ดจำเป็นต้องพิจารณาเรื่องนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้โดนกล่าวหาว่า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะแคทยังโต้แย้งในประเด็นเรื่องการมีสิทธิ์ในคลื่น 1800 MHz ถึงปี 2568

"แต่ถ้าแคทจะฟ้อง แคทก็ต้องตอบสังคมให้ได้ว่า มีเหตุผลอะไร เพราะแคทเพิ่งทำเรื่องขอคืนคลื่น 4.8 MHz ให้นำกลับไปรวมประมูล ถ้าคัดค้านการประมูลก็เท่ากับค้านกันเอง"

แหล่ง ข่าวจาก บมจ.กสท โทรคมนาคม เปิดเผยว่า ฝ่ายบริหารได้เสนอให้บอร์ดยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ระงับ การประมูลของ กสทช.เนื่องจากหลังสิ้นสุดสัมปทานระหว่างแคทกับทรูมูฟและดีพีซีเมื่อ ก.ย. 2556 แคทยื่นฟ้อง กสทช.ที่ออกประกาศ มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดสัมปทานหรือสัญญาการให้บริการ โทรศัพท์เคลื่อนที่ ทำให้แคทไม่สามารถดำเนินการเกี่ยวกับลูกค้าได้ตามเงื่อนไขในสัมปทานที่ระบุ กับเอกชนรวมถึงยังได้ต่อสู้ในประเด็นสิทธิ์ในการใช้คลื่น1800 MHz ด้วย และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล หากกระบวนการประมูลคลื่นของ กสทช.ยังเดินต่อจะกระทบสิทธิ์ที่ยื่นฟ้องไว้จึงต้องให้บอร์ดกำหนดทีท่า

ด้าน พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ แคท เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดล่าสุด (28 ก.ย.) ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยจะทำหนังสือหารือถึง ครม.และอัยการสูงสุดเพื่อให้มีการกำหนดท่าทีที่ถูกต้อง เพราะไม่ได้มีเจตนาจะขัดขวางการประมูล แต่บอร์ดก็มีหน้าที่ตามกฎหมาย

ส่วนความคืบหน้าในการขออัพเกรดบริการ 4G บนคลื่น 850 MHz ทาง กสทช.อนุมัติแล้ว รอเพียงหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ทีโอทีแห้ว ศาลปกครอง ยกฟ้องคดี เรียกค่าเสียหาย ภาษีสรรพสามิต ล้านบาท

view