สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทำไม เฟด อยากสวนกระแส

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ระดมสมอง

โดย ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร, พีรพรรณ สุวรรณรัตน์

ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศยุติมาตรการ QE กระแสการติดตามความเคลื่อนไหวของเฟดต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Funds Rate) อยู่ในความสนใจของทุกประเทศทั่วโลกมาโดยตลอด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจทั่วโลกซบเซาเช่นนี้ซึ่งทำให้หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมเฟดถึง "อยากขึ้นดอกเบี้ย" สวนกระแสเศรษฐกิจโลกในเวลาเช่นนี้

ในทางทฤษฎีแล้ว อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ ต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น จึงทำให้ผู้ประกอบการ ขาดแรงจูงใจ ในการลงทุนขยายกิจการ ขณะเดียวกัน ก็ทำให้ประชาชน อยากฝากเงินมากกว่าเก็บเป็นเงินสด หรือนำเงินมาใช้ เศรษฐกิจจึงชะลอความร้อนแรงลง และราคาสินค้าและบริการหรือเงินเฟ้อก็ลดลงตามไปด้วย ดังนั้น นโยบายการเงินลักษณะนี้จึงมักออกมาในยามที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังขยายตัวในระดับที่ร้อนแรงเกินไป



สำหรับสหรัฐอเมริกาหากถามว่าเวลานี้เหมาะสมหรือยังที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจตอบไม่ได้ว่าเหมาะสมหรือไม่ แต่หากให้ตอบในทางทฤษฎี เวลานี้เฟดสามารถทำได้ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้นแล้ว โดยเฉพาะตลาดแรงงานซึ่งมีอัตราการว่างงานล่าสุดเดือนสิงหาคมเพียงร้อยละ 5.1 ของกำลังแรงงานรวมที่เฟดเรียกสถานการณ์นี้ว่า การทำงานเต็มอัตรา สะท้อนว่าเศรษฐกิจในเวลานี้รุ่งเรืองเต็มศักยภาพ ต่างจากเศรษฐกิจของประเทศอื่นที่ยังคงอยู่ในภาวะซบเซา

คำถามต่อมาคือ เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาดีอย่างที่ว่า แล้วทำไมเฟดถึงยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ FOMC ครั้งล่าสุดเมื่อ 16-17 กันยายนที่ผ่านมา

นางเจเนต เยลเลน ประธานเฟดได้ให้คำตอบไว้รวม 2 ข้อ คือ 1) อัตราเงินเฟ้อปัจจุบันยังคงมีแนวโน้มอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ร้อยละ 2 ไปอีกระยะหนึ่ง แม้ว่าจะเป็นสถานการณ์ชั่วคราวจากราคาน้ำมันและราคาสินค้านำเข้าที่ตกต่ำ แต่เฟดก็จะประเมินสถานการณ์ดังกล่าวเป็นระยะ เพราะการขึ้นดอกเบี้ยจะมีผลให้อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำมากเกือบร้อยละ 0 ลดลงไปอีก

2) เนื่องจากความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่มีในระดับสูง ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเงินของโลกจึงมีผลต่อการตัดสินใจของเฟดเช่นกัน โดยเมื่ออัตราดอกเบี้ยสหรัฐเพิ่มขึ้นจะทำให้มีเงินทุนไหลกลับเข้าตลาดการเงินของสหรัฐเพิ่มขึ้น ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าอันมีผลเสียต่อการส่งออกสหรัฐ ขณะเดียวกัน ก็ทำให้ตลาดการเงินโลกผันผวน

เห็นได้ชัดจากนางเยลเลนกล่าวว่า การชะลอปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสภาพเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ เพียงเท่านี้ก็ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นสำคัญ ๆ อย่างดาวโจนส์ และ S&P 500 ปิดตลาดติดลบแห่งละร้อยละ 1.6-1.7

ด้วยเหตุนี้ เฟดจึงไม่อาจผลีผลามขึ้นอัตราดอกเบี้ยในยามที่ยังไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจของตนเองและของโลกพร้อมเพียงพอต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามแม้ว่าที่ประชุมFOMC จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ย แต่กรรมการในที่ประชุม FOMC ส่วนใหญ่ 13 ใน 17 คนยังคงลงความเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ ณ สิ้นปีนี้ ควรมีอัตราเพิ่มขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน

รวมถึง นายเดนนิส ล็อคฮาร์ท ประธานเฟดสาขาแอตแลนตา ก็ออกมาให้สัมภาษณ์เช่นกันว่า เขาหวังจะเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกภายในปีนี้ ซึ่งนำไปสู่คำถามสำคัญว่า "ทำไมสหรัฐอเมริกาจึงอยากสวนกระแสขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงเวลานี้"

คำตอบแรกคืออัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐในขณะนี้อยู่ในระดับที่ต่ำเกินไป โดยอยู่ในระดับที่เกือบร้อยละ 0 มากว่า 7 ปีแล้ว นับตั้งแต่ต้นปี 2552 หรือตั้งแต่สหรัฐประสบวิกฤตซับไพรม เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐในขณะนี้ปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ จึงไม่น่าแปลกใจที่เฟดจะอยากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกลับเข้าสู่อัตราปกติ

คำตอบที่สองคือสหรัฐในเวลานี้ไม่เหลือกระสุนสำหรับใช้ประคับประคองเศรษฐกิจในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำอีกแล้ว เพราะอัตราดอกเบี้ยนโยบายขณะนี้อยู่ในระดับต่ำมาก และสหรัฐเองก็ไม่เคยลดอัตราดอกเบี้ยมาอยู่ในระดับติดลบมาก่อน นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายจึงไม่อาจนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในยามฉุกเฉินได้อีก ขณะเดียวกัน หนี้สินภาครัฐของสหรัฐอเมริกาก็อยู่ในระดับสูงติดเพดานมาเป็นเวลานาน จนอาจเกิดภาวะ "รัฐบาลปิดทำการ" (Government Shutdown) อีกครั้งในช่วงปลายปีนี้

การเร่งใช้จ่ายภาครัฐหรือนโยบายการคลังแบบขาดดุล จึงอาจไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมของสหรัฐอีกเช่นกัน ทางเลือกเดียวจึงต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัวได้ดี เพื่อเก็บกระสุนไว้ใช้ในอนาคตยามจำเป็น

อีก เหตุผลหนึ่ง คือ การรักษาเสถียรภาพในตลาดการเงินของสหรัฐ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐที่ปรับตัวดีขึ้น อาจทำให้นักลงทุนหัวใสบางส่วนเริ่มใช้ประโยชน์จากต้นทุนการกู้ยืมที่ต่ำ เตี้ยเพียงเพื่อลงทุนเก็งกำไรในสินทรัพย์ต่างๆซึ่งอาจผลักดันให้เกิด "ภาวะฟองสบู่" หากเฟดเพิกเฉยต่อสถานการณ์ดังกล่าว เหตุการณ์นี้อาจผลักดันให้สหรัฐอเมริกากลับไปประสบปัญหาวิกฤตการเงินอีกครั้ง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงอาจเป็นทางเลือกที่สวนกระแส แต่ช่วยป้องกันสหรัฐจากปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นเช่นกัน

ความจำเป็นดังกล่าว จึงทำให้สหรัฐไม่อาจละทิ้งแนวคิดการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของตนเองไปได้ แม้ว่าแนวคิดดังกล่าวจะสวนกระแสทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ธนาคารกลางหลายประเทศใช้มาตรการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

แน่ นอนว่าเราไม่อาจยับยั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจและเสถียรภาพการเงิน โลกภายหลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้แต่เฟดอาจช่วยลดระดับความรุนแรงได้ ด้วยแนวทางแบบ "พบกันครึ่งทาง" หรือเฟดมีการประกาศแนวทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ชัดเจนว่าจะขึ้นเมื่อ ไหร่ มีอัตราดอกเบี้ยเป้าหมายอยู่ที่เท่าไหร่ และมีช่วงเวลาดำเนินการยาวนานเพียงไร เพียงเท่านี้ตลาดโลกก็จะสามารถประเมินสถานการณ์และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง ครั้งนี้ได้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลกได้มาก

สำหรับเศรษฐกิจไทยเองซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจเปิดก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการสวนกระแสของสหรัฐอเมริกาได้เช่นกัน เราจึงจำเป็นต้องติดตามและเตรียมความพร้อมอย่างใกล้ชิดในการรับผลกระทบจากนโยบายนี้ ซึ่งจะมาถึงในระยะเวลาอันใกล้นี้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ทำไม เฟด อยากสวนกระแส

view