สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คำพิพากษาคดีตัวอย่าง! ความผิดเกี่ยวกับศาสนา

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...เดชา กิตติวิทยานันท์

แฟนคอลัมน์ทนายคลายทุกข์ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ให้ผมไปค้นคว้าเกี่ยวกับคดีการกระทำความผิดเกี่ยวกับศาสนา เนื่องจากปัจจุบันมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับศาสนาจำนวนมาก เช่น แต่งกายเลียนแบบสงฆ์ ลบหลู่ศาสดา แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่อพระภิกษุ อันเป็นการกระทำที่กระทบต่อจิตใจของพุทธศาสนิกชน ผมได้ไปค้นคว้ามามีอยู่หลายคดีด้วยกัน รายละเอียดปรากฏตามตัวอย่างคดีดังต่อไปนี้

1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1807/2550

จำเลยแต่งกายเป็นภิกษุแล้วใช้เท้าข้างหนึ่งยืนอยู่บนฐานพระพุทธรูปปางห้ามญาติ โดยเท้าจำเลยอยู่บนส่วนหนึ่งของพระบาทพระพุทธรูป ยกมือขวาขึ้นเลียนแบบพระพุทธรูป แสดงท่าทางล้อเลียนถลึงตาอ้าปาก นอกจากจะเป็นการไม่เคารพต่อพระพุทธรูปแล้ว จำเลยยังได้แสดงตนเสมอกับพระพุทธรูป จึงเป็นการกระทำอันไม่สมควรและเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามพุทธศาสนา จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 206

2.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 736/2505

จำเลยขณะเป็นพระภิกษุ ได้ร่วมประเวณีกับหญิงในกุฏิของจำเลยบนเขาวัง จ.เพชรบุรี มีกุฏิพระใกล้เคียงหลายหลัง มีพระพุทธรูปพระฉายบนเขาวัง เป็นสถานที่ที่ประชาชนเคารพนับถือนั้นเห็นได้ว่าเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง แต่จะถือว่าเป็นการเหยียดหยามศาสนาตามความในมาตรา 206 ยังไม่ถนัด (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 16/2505)

3.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 846/2483

การขุดเจดีย์ซึ่งเป็นที่สักการะเขาในทางพุทธศาสนา แม้จะมุ่งเพื่อค้นหาทรัพย์ก็ดีก็มีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 172

4.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1109/2500

การแห่นาคไปวัดเพื่อจะทำการอุปสมบท เป็นการกระทำตามประเพณีนิยมของชนบางหมู่ยังไม่ถึงขั้นกระทำพิธีกรรมทางศาสนา ตามความหมายในมาตรา 173

5.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 392/2500

ชาวบ้านประชุมกันนมัสการถวายต้นดอกไม้และปราสาทผึ้งต่อพระภิกษุเจ้าอาวาส จำเลยเข้าไปด่าพระภิกษุ และเอาปราสาทผึ้งไปเตะเล่น เป็นความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 173 แต่ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 207 ซึ่งมีอัตราโทษเบากว่า

6.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1100/2516

จำเลยกระทำความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท เป็นทั้งความผิดลหุโทษและที่มิใช่ลหุโทษ แต่ชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนตั้งข้อหาในความผิดลหุโทษแต่บทเดียว แล้วเปรียบเทียบปรับไป ถือว่าเป็นการเปรียบเทียบที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ทำให้คดีเลิกกันอันเป็นเหตุให้สิทธินำคดีมาฟ้องระงับไป พนักงานอัยการมีสิทธิฟ้องจำเลยในความผิดที่มิใช่ลหุโทษอีกได้

คืนเกิดเหตุมีการชุมนุมกันกระทำพิธีสวดมนต์ทำบุญฉลองกระดูกผู้ตายตามพุทธศาสนาบนหอสวดมนต์ จำเลยขึ้นมาส่งเสียงเอะอะอื้อฉาวซ้ำยังกล่าวว่า พระนี่ยุ่งจริง พระไม่มีความหมายแล้วจำเลยนั่งลงใช้มือตบกระดาน 7-8 ครั้ง และชักปืนพกออกจากเอวมาถือไว้ หันปากกระบอกปืนมาทางพระ แล้วปืนตกลงยังพื้นหอสวดมนต์ การกระทำของจำเลยดังกล่าว ถึงแม้ผู้ที่ไปชุมนุมกันจะไม่มีปฏิกิริยาวุ่นวายขึ้นก็ตาม ก็ยังถือได้ว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 207

7.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1798/2542

ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 29 ที่ใช้บังคับอยู่ ณ วันที่ 25 มิ.ย. 2534 นั้น การสละสมณเพศเพราะถูกจับในข้อหาคดีอาญาแยกได้เป็น 3 กรณี คือ 1.เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราว และเจ้าอาวาสไม่ยอมรับตัวไว้ควบคุม พนักงานสอบสวนดำเนินการให้สละสมณเพศได้ 2.พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเห็นว่าไม่ควรปล่อยชั่วคราวและไม่ควรมอบตัว ให้เจ้าอาวาสรับตัวไปควบคุม ก็ดำเนินการให้สละสมณเพศได้ และ 3.พระภิกษุรูปนั้นไม่ได้สังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่งหรือเป็นพระจรจัด ก็ดำเนินการให้สละสมณเพศได้

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2534 ร้อยตำรวจโท ส. นำจำเลยไปมอบให้พนักงานสอบสวน โดยมี ก. แจ้งว่าจำเลยแต่งกายเป็นพระภิกษุโดยมิชอบและยุ่งเกี่ยวกับ พ.ภริยาของ ก. พนักงานสอบสวนจึงนำจำเลยไปพบเจ้าคณะเขตและพระภิกษุผู้ใหญ่อีกหลายรูปเพื่อสอบสวนจำเลย เมื่อไม่ได้ความชัดว่าขณะนั้นจำเลยจำพรรษา และสังกัดวัดใดแล้ว จำเลยได้ยินยอมสึกจากการเป็นพระภิกษุ โดยเปลื้องจีวรออกแล้ว แต่งกายด้วยชุดขาว

เมื่อกรณีเห็นได้แจ้งชัดว่าจำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญาและพนักงานสอบสวนไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราว ทั้งจำเลยมิได้สังกัดในวัดใดวัดหนึ่ง พนักงานสอบสวนจึงได้ดำเนินการให้จำเลยสละสมณเพศ โดยนำจำเลยไปพบเจ้าคณะเขตและพระภิกษุผู้ใหญ่อีกหลายรูปเพื่อทำการสึกจำเลยจากการเป็นพระภิกษุ การที่จำเลยยินยอมเปลื้องจีวรออกแล้ว แต่งกายด้วยชุดขาว เช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยได้สละสมณเพศแล้ว เพราะพระภิกษุที่ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยหรือต้องปาราชิก จะขาดจากการเป็นพระภิกษุทันที โดยเจ้าคณะเขตหรือเจ้าคณะตำบลหรือเจ้าคณะแขวงสามารถให้พระภิกษุรูปนั้นสึกได้โดยไม่ต้องกล่าวคำอำลาสิกขา การที่จำเลยยินยอมเปลื้องจีวรออก เมื่อต่อสู้คดีย่อมไม่เป็นเหตุให้จำเลยกลับมาเป็นพระภิกษุใหม่อีก ดังนั้น การที่ต่อมาจำเลยกลับมาแต่งกายเป็นพระภิกษุเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นพระภิกษุ จึงเป็นการกระทำที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208

ศาสนาทุกศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดี ดังนั้นคนดีไม่ควรลบหลู่ศาสนาหรือใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทำมาหากิน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คำพิพากษาคดีตัวอย่าง ความผิดเกี่ยวกับศาสนา

view